เกียวโดนิวส์ (11 ก.ย.) เดือนนี้ถือวาระครบรอบ 10 ปี ความสำเร็จนับตั้งแต่กฤษฎีกาเมืองได้กำหนดกฎเกณฑ์ใหม่สำหรับผู้ประกอบการแผงขายอาหารรถเข็นในเมืองฟุกุโอกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น
แม้แผงขายอาหารรถเข็น (ยะไต 屋台) จะมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้รับความนิยมและแพร่หลายมากในยุคเมจิ (ค.ศ.1868-1912) โดยพัฒนาเป็นรถเข็นขายของที่ทำด้วยไม้ ครั้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยะไตก็ยังเป็นที่นิยมเนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อดีตทหารและคนอื่นๆ จำนวนมากที่เดินทางกลับประเทศได้ประกอบอาชีพยะไตเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่รถเข็นขายอาหารถูกยกเลิกภายใต้แรงกดดันจากกองบัญชาการยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยอ้างถึงความกังวลเรื่องสภาพสุขอนามัย
ต่อมา การจัดโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ที่กรุงโตเกียว รัฐบาลญี่ปุ่นยังออกกฎระเบียบเข้มงวดขึ้นจำกัดการตั้งร้านยะไต
อย่างไรก็ตาม ในฟุกุโอกะ ผู้ดำเนินการได้ก่อตั้งสมาคมการค้าและรณรงค์ให้ดำเนินการเจรจากับรัฐบาลและฝ่ายอื่นๆ ตลอดมา ประมาณปี 1965 มีแผงขายอาหารมากกว่า 400 แห่งในเมือง ทำให้การใช้ทางเท้าของผู้คนและการทิ้งสิ่งปฏิกูลกลับกลายเป็นปัญหา
กฎระเบียบยะไตเข้มงวดขึ้นอีกในปี1995 รัฐบาลท้องถิ่นได้ตัดสินใจไม่อนุญาตให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ส่งผลทำให้จำนวนผู้ค้าลดลง
จนกระทั่ง 10 ปีที่แล้ว เนื่องจากเมืองนี้มองว่ายะไตมีความสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ต่อมาจึงออกกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2013 โดยกำหนดให้ต้องแสดงราคาอาหารอย่างชัดเจน และปฏิบัติตามชั่วโมงการใช้งานบนถนนในเมือง ตั้งเวลาทำการตั้งแต่ 17.00 น. ถึงตี 4 ของวันรุ่งขึ้น
กฎหมายใหม่ฟื้นคืนชีพการดำเนินการแผงลอยอีกครั้ง ทว่าเจ้าของร้านค้าดั้งเดิมอายุมากขึ้น จึงเริ่มมีการอนุญาตธุรกิจยะไตรายใหม่เข้ามาในเมืองตั้งแต่ปี 2016
ปัจจุบันโคมไฟสีแดง "อะกะโชชิน" ของย่านแผงอาหารฟุกุโอกะ เป็นส่วนหนึ่งของสถานบันเทิงยามเย็นจนค่ำคืนในเขตฮากาตะของเมือง มีรถเข็นตั้งแผงขายอาหารมากกว่า 100 แผงเรียงรายตามถนน แม้ยังไม่มากเท่าจุดสูงสุดในอดีต แต่ก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาที่นี่เพื่อสัมผัสถึงฤดูร้อนที่ญี่ปุ่น กับเมนูราเม็ง เท็มปูระ และเกี๊ยวซ่า รวมทั้งมีบริการเบียร์ เหล้า สาเก และโชจู
นิวยอร์กไทม์ส เคยจัดอันดับระบุ "52 สถานที่น่าไปในปี 2023" โดยมีฟุกุโอกะอยู่ในอันดับที่ 19
จากข้อมูลของฮิโรมิ ทานากะ วัย 50 ปี เจ้าของแผงลอย ลูกค้าของเขาเกือบร้อยละ 40 เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และลูกค้าชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเร็วๆ นี้ หลังยกเลิกมาตรการห้ามกรุ๊ปทัวร์ไปญี่ปุ่นภายใต้สถานการณ์โควิด-19
“ลูกค้าจำนวนมากรอให้เราเปิดแผงขายอาหาร” ทานากะพูดขณะเช็ดเหงื่อออกจากคิ้ว
ทาคายูกิ มุคาเอะ วัย 49 ปี หัวหน้าสมาคมร้านอาหารเคลื่อนที่ในฟุกุโอกะ แสดงความยินดีกับ "ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมของการส่งเสริมแผงขายยะไตของสำนักงานฟุกุโอกะ"
รายงานข่าวระบุว่า ในภูมิภาคอื่นๆ ของญี่ปุ่น ยะไตยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นอีกด้วย
ในเมืองโอบิฮิโระ ฮอกไกโดบนเกาะหลักทางตอนเหนือสุดของญี่ปุ่น หมู่บ้านแผงขายอาหารได้รับความนิยมมาตั้งแต่ปี 2544 ร้านเสิร์ฟเมนูอาหารป่า เนื้อสัตว์ป่า เช่น กวางและหมีสีน้ำตาล แม้แต่ในฤดูหนาวก็มีคนมาประมาณ 7,000 คนในแต่ละคืน
ในเมืองคุเระ จังหวัดฮิโรชิมา ทางตะวันตกของญี่ปุ่น ก็สนับสนุนการมียะไตบนถนนสายหนึ่ง
ยูสุเกะ นากาทานิ ศาสตราจารย์ด้านนโยบายเศรษฐกิจที่ Bunri University of Hospitality กล่าวความเห็นเกี่ยวกับแผงขายอาหารในฟุกุโอกะว่า "เคยมีพื้นที่สีเทาอยู่บ้าง เช่น แนวทางปฏิบัติทางบัญชีที่ไม่ชัดเจน แต่เนื่องจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จึงเป็นจุดท่องเที่ยวที่ผู้มาเยือนญี่ปุ่นสามารถชมชิมได้อย่างสบายใจ”