คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน จำกันได้ไหมคะว่าตอนเด็กๆ พ่อแม่เราเคยสอนอะไรบ้างที่ประทับใจมาจนบัดนี้ ไม่นานมานี้ฉันได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวที่คนญี่ปุ่นได้พากันเล่าถึงสิ่งดีที่สุดที่พ่อแม่เคยสอน เลยเก็บเอามาฝากกันสัปดาห์นี้ค่ะ
“เลือกหนทางที่ยากเข้าไว้”
อดีตนายกรัฐมนตรีโคอิซุมิ จุนอิจิโร่ เคยสอนลูกชายสองคนว่า “ให้เลือกหนทางที่ยากที่สุดไว้เสมอ” อย่างเช่นถ้ามีบันไดเลื่อน ลิฟต์ และบันได ให้เลือกเดินขึ้นบันไดเอา อะไรที่ไม่อยากทำก็ต้องทำ เช่น เวรทำความสะอาดห้องเรียน เป็นต้น
ท่านยังสอนอีกด้วยว่า “อย่ายืนอยู่เหนือคนอื่น” สมมติในชั้นเรียนมีการเลือกหัวหน้าทีมหรือกรรมการนักเรียน ก็ไม่จำเป็นต้องยกมืออาสา เพราะอย่างไรก็คงมีเพื่อนที่อยากเป็นอยู่แล้ว แต่ให้คิดว่าเราจะช่วยซัปพอร์ตอะไรเพื่อนได้บ้าง
สาเหตุที่สอนอย่างนั้นก็เพราะว่า ใครๆ ต่างมองว่าลูกชายทั้งสองเป็นลูกนักการเมือง คงได้รับการตามใจจนเคยตัว ถ้าลูกๆ ไม่อดทนทำในสิ่งที่ยาก ที่ไม่อยากทำ และไม่ช่วยเหลือคนอื่น ทั้งสองก็จะไม่ได้มีคุณค่าอันใดในสายตาคนอื่น และจะไม่ได้รับการยอมรับแม้กระทั่งจากเพื่อนด้วย
ลูกคนโตบอกว่าแม้ตอนเด็กๆ จะถูกอบรมมาอย่างเข้มงวด แต่พอโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็รู้สึกขอบคุณที่คุณพ่อเลี้ยงมาแบบนั้น ปัจจุบันเขาเป็นนักแสดง ส่วนน้องชายเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ทั้งสองต่างก็เป็นคนดี นิสัยค่อนข้างจะถ่อมตน และคิดทำอะไรเพื่อคนอื่น
กำลังใจให้ก้าวไปข้างหน้า
ยามที่รู้สึกชีวิตติดขัด ไม่รู้จะหาทางออกไปจากจุดนี้อย่างไรดี บางทีคำพูดชวนให้ฉุกคิดก็ทำให้เราหลุดออกจากวังวนแบบนี้ได้อย่างง่ายดาย ดังเช่นคำพูดเหล่านี้ของพ่อแม่
“เวลากลุ้มใจส่วนใหญ่เป็นเพราะสมองว่างงาน ลุกขึ้นเดินซะ ถ้าไม่มีแรงจะลุกขึ้นยืนล่ะก็ ต่อให้ต้องคลานก็ออกไปจากตรงนี้ซะ สิ่งที่ห้ามทำที่สุดเลยก็คือ ‘คิดมาก’ ต่อให้ลูกไม่รู้ว่าจะไปไหนดีก็ต้องออกเดิน แต่ถ้ายังไงก็อยากได้จุดหมายปลายทางล่ะก็ ให้เดินมาถึงที่ที่พ่ออยู่ ถ้าพ่อตายไปแล้วก็มาหาที่หลุมศพ”
“ความอิจฉาเป็นใจที่สกปรกอันดับ 1 เลย ถ้าลูกอิจฉาคนอื่นละก็ หัดพยายามด้วยตัวเองแล้วไขว่คว้ามาสิ”
“อย่ายอมแพ้ต่อโลกใบนี้ มีชีวิตอยู่อย่างคนคิดบวกให้ได้ ยังไงก็ขอให้ขยับตัวไว้ อย่าอยู่นิ่ง”
เพื่อนสนิทชาวญี่ปุ่นเคยพูดกับฉันไว้คล้ายๆ แบบนี้ค่ะ เธอบอกว่า “ถ้ามีเวลาจะมานั่งกลุ้มอยู่ล่ะก็ ลงมือทำอะไรสักอย่างสิ”
จากตอนแรกที่ฉันรู้สึกมืดมน พอได้ยินคำนี้ปุ๊บก็ตาสว่าง นึกได้ว่าตัวเองกำลังนั่งจับเจ่าทำเรื่องไร้ประโยชน์อยู่ หันมาคิดว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง และลงมือทำทันที
ตอนฉันไปอยู่ต่างประเทศครั้งแรกเคยมีช่วงที่เหงาและท้อแท้กับภาษาและชีวิตที่ไม่คุ้นเคย เลยโทร.ไปหาพี่ซึ่งอยู่ต่างประเทศเหมือนกัน พี่ก็พูดอย่างเข้าอกเข้าใจว่า “มาอยู่ต่างประเทศมันไม่ง่ายหรอก ไม่ง่ายเลย แต่เครียดไปแล้วมันช่วยให้อะไรดีขึ้นไหม ถ้าเครียดแล้วอะไรๆ ดีขึ้นก็เครียดไปเถอะ แต่ถ้าเครียดแล้วมันไม่ได้ช่วยให้อะไรขึ้นเลย แล้วจะเครียดไปทำไม? เสียเวลา”
พี่พูดอย่างนั้นแล้วก็หัวเราะ ฉันคิดในใจว่า “จริงด้วย!” แล้วพริบตานั้นความเครียดก็กระเด็นหายไป จากนั้นมาเมื่อไหร่ที่เครียด
พอนึกถึงคำพูดนี้ ฉันจะได้สติ แล้วก้าวต่อไปข้างหน้า
อยู่เคียงข้างเวลาลูกอ่อนแอ
เรื่องนี้ประทับใจมากเลยค่ะ มีคนญี่ปุ่นเล่าว่าสมัยเขาเป็นเด็ก มีอยู่วันหนึ่งไม่อยากไปโรงเรียนเอามากๆ เลยรวบรวมความกล้าบอกพ่อว่า “ผมไม่อยากไปโรงเรียน…” ซึ่งคำพูดแบบนี้สำหรับเด็กหลายคนไม่ใช่เรื่องที่พูดได้ง่ายนัก เพราะกลัวจะโดนพ่อแม่ดุด่าและตำหนิ
แต่คุณพ่อท่านนี้กลับตอบว่า “งั้นพ่อก็…หยุดงานด้วยดีกว่า เดี๋ยวพ่อพาไปกินข้าวร้านอร่อยๆ ละกันนะ แต่ตอนนี้ลูกเล่าให้พ่อฟังเท่าที่เล่าได้ในรถหน่อยสิ ว่ามีเรื่องอะไรหรือ”
คนเป็นลูกเล่าว่าคำพูดนี้ทำให้เขาดีใจมากเหลือเกิน เขาบอกว่าสิ่งที่ต้องการที่สุดเวลาเป็นทุกข์ ไม่ใช่คำพูดบอกว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่เป็นการที่อีกฝ่ายพร้อมจะรับฟังความรู้สึกของเขานั่นเอง
สาววัยทำงานคนหนึ่งเล่าให้แม่ฟังถึงความทุกข์ในที่ทำงาน แม่บอกว่า “ลูกไม่ใช่คนเก่งกาจ เลยอาจจะใช้เวลาทำงานมากกว่าคนอื่น และคงเจออุปสรรคหลายอย่าง แต่การที่ลูกผ่านประสบการณ์แบบนี้ก็ทำให้ลูกได้รู้อย่างหนึ่งนะ อย่างเวลาที่มีใครสักคนเจ็บปวดแบบเดียวกับลูก ลูกจะเข้าใจเขาได้ดีกว่าใคร” เธอบอกว่าพอนึกถึงคำพูดนี้ของแม่ทีไร ก็จะรู้สึกว่าได้รับการปลอบประโลมไปเสียทุกที
คุณป้าชาวญี่ปุ่นเคยสอนฉันไว้ตอนที่ทุกข์ใจมากๆ ว่า “ชีวิตคนเรามันไม่ได้มีแต่ความสุขอย่างเดียวหรอก” น้ำเสียงนั้นเจือด้วยเมตตา และบ่งบอกว่าท่านเองก็ผ่านอะไรมาเยอะ เข้าใจอะไรต่อมิอะไรดี พอฉันเห็นข้อเท็จจริงว่าโลกเป็นแบบนี้แหละ ก็เลยยอมรับความจริงได้ง่ายขึ้น และก้าวต่อไปข้างหน้าได้
ไม่คาดหวังกับลูก
มีหลายคนมากเลยค่ะที่เล่าว่าการที่พ่อแม่ให้อิสระกับเขาในการเป็นตัวของตัวเอง ทำให้พวกเขาได้รับความรักความอบอุ่นอย่างเต็มที่ และเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี
สาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเล่าว่าก่อนที่เธอจะมีลูก พ่อของเธอสอนว่า “อย่าคาดหวังกับลูกนะ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม มันจะสร้างภาระ” แม้พ่อเธอจะจากไปแล้ว แต่คำสอนของพ่อก็ช่วยค้ำจุนเธอไว้อย่างยิ่งยามที่เธอเลี้ยงดูลูก
ชายคนหนึ่งเห็นพ่อไม่เคยออกไปจากบ้านเกิด เลยได้เรียนรู้จากพ่อว่าชีวิตควรจะมีทางเลือกหลายทาง ไม่จำกัดตัวเองอยู่ในกรอบ ดังนั้นพอเขามีลูกแล้ว ก็เลยไม่ไปบังคับลูก แต่คอยช่วยแนะให้ลูกมองเห็นทางเลือกอื่นๆ อีก จึงทำให้ลูกๆ เติบโตมาเป็นเด็กที่มีคุณภาพมาก
พ่อแม่บางคนก็สอนลูกว่า “ถึงลูกจะไม่ได้ดีเด่นอะไรนัก หรือทำได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับคนอื่นก็ไม่เป็นไร ขอให้ลูกไม่ไปก่ออาชญากรรมแค่นั้นก็พอ นอกนั้นลูกอยากทำอะไรก็ทำเถอะ”
อีกครอบครัวหนึ่งสอนลูกว่า “ถ้าลูกมีความสุข นั่นแหละตอบแทนบุญคุณพ่อแม่แล้ว” คำพูดนั้นทำให้คนเป็นลูกสาวได้มานั่งคิดจริงจังว่าสำหรับเธอแล้วความสุขคืออะไร แล้วนั่นก็ทำให้เธอหันมาใส่ใจดูแลตัวเองให้ดีที่สุด
คุณแม่อีกคนมาแนวตรงกันข้าม คือบอกลูกว่าอย่าคาดหวังกับแม่ “พ่อแม่ก็เป็นคนเหมือนลูก มีเวลาที่อ่อนแอ มีเวลาที่ทำพลาด แล้วก็เพิ่งเคยเลี้ยงลูกเป็นครั้งแรกด้วย ไม่ได้รู้อะไรมากนักหรอก เราโตไปพร้อมๆ กันนะ” คำพูดนี้ทำให้ลูกรู้สึกว่าแม่ตรงไปตรงมา เธอสามารถคุยกับแม่ได้ และยังได้เห็นด้วยว่าแม่สู้ชีวิตแบบคนคิดบวก อะไรที่ทำได้ก็ลงมือทำเต็มที่เสมอ
สอนให้เป็นคนดี
มีอยู่คนหนึ่งตอนเด็กๆ เคยไปทำท่าทางล้อเลียนคุณลุงแถวบ้าน ซึ่งเป็นโรคกระดูกและมีก้อนใหญ่ๆ งอกขึ้นมาบนหลัง เขาเลยโดนคุณพ่อตำหนิและอบรมอย่างเข้มงวดว่า “อย่าได้เอาเรื่องที่คนอื่นเขาไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ มาหัวเราะเล่นหรือเล่าเป็นเรื่องขำขัน” ตั้งแต่นั้นมาเขาก็จำใส่ใจ และไม่เคยทำแบบนั้นอีกเลยตลอดชีวิต
“แม่ฉันสอนไม่ให้ไปล้อเลียนรูปลักษณ์ภายนอกของคนอื่น เพราะตอนเด็กๆ แม่เองก็เคยโดนและเจ็บปวดมาจนทุกวันนี้ ทำให้ฉันเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเด็ดขาด พอมีลูกฉันก็สอนลูกแบบนี้ด้วย”
“อย่าพูดเรื่องไม่ดีของคนอื่น ถ้าคนอื่นเขาพูดก็ไม่ต้องไปร่วมวงกับเขาด้วย เฉยๆ ไว้”
มีคนหนึ่งพ่อสอนว่า “เรื่องอะไรที่ตัวเองไม่อยากโดนกระทำ ก็อย่าไปทำกับคนอื่น” เขาเล่าว่าได้รับประโยชน์จากคำสอนนี้มากเป็นพิเศษตอนเข้าสู่วัยทำงาน และก็ได้สอนลูกหลานอย่างนี้ต่อกันมาจนถึงรุ่นที่ 4 แล้ว
“ประหยัดกับขี้เหนียวมันคนละเรื่องกัน ต่อให้ลูกร่ำรวยแค่ไหน ถ้าขี้เหนียวอยู่ ก็แสดงว่าใจลูกยากจนข้นแค้นมาก”
สอนให้รู้จักกล่าวคำทักทาย
คนญี่ปุ่นดูจะให้ความสำคัญกับการทักทายมากทีเดียว จนเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นเด็กเล็กๆ กระทั่งก่อนวัยอนุบาลรู้จักพูดสวัสดีกับผู้ใหญ่ อย่างเพื่อนฉันพอจูงมือลูกชายตัวน้อยเดินผ่านป้อมตำรวจ ก็จะบอกลูกว่า “สวัสดีคุณตำรวจหรือยัง” เด็กน้อยก็จะส่งเสียงเจื้อยแจ้วว่า “โอ-มา-วา-หริ-ซัง! คน-นิ-จิ-วะ” (คุณตำรวจ! สวัสดีครับ) ใครเห็นก็เอ็นดู ส่วนคุณตำรวจก็ตะเบ๊ะให้ ทักทายตอบอย่างร่าเริง
หลายคนบอกว่าการที่พ่อแม่สอนพวกเขาให้รู้จักทักทาย เป็นสิ่งที่พวกเขาจดจำมาจนทุกวันนี้
“รอยยิ้มกับคำทักทายเป็นของที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อ แล้วก็น้อยคนที่จะไม่พอใจเวลามีคนมาทักทายด้วยรอยยิ้ม ใครจะว่าอะไรเราก็ช่างเถอะ ทำไว้ให้เป็นนิสัยแล้วดีเอง”
“ลูกจะเป็นคนบ้าๆ บอๆ งี่เง่าแค่ไหนก็แล้วแต่ แม่ไม่ว่า ขอให้ลูกเป็นคนที่เก่งในการทักทายคนอื่นและรู้สึกขอบคุณคนอื่นเป็นก็แล้วกัน” แม้คำพูดนี้จะทำให้คนเป็นลูกรู้สึกทะแม่งๆ แต่เขาก็นึกขอบคุณที่แม่สอนเขาแบบนี้ เพราะแม้ทุกวันนี้เขาก็ยังไม่ใช่คนฉลาด แต่เขาก็มีชีวิตที่มีความสุข มีคนดีๆ อยู่รอบตัว และสนุกกับการทำงานทุกวัน คงเป็นเพราะเขาได้บ่มเพาะอัธยาศัยที่ดีติดตัวตามที่แม่สอน เลยดึงดูดเพื่อนดีๆ และสิ่งดีๆ มาไว้รอบตัวนั่นเอง
ยุคนี้มีหลายคนบอกว่าเด็กไม่เชื่อฟังและเคารพผู้ใหญ่กันเท่าไหร่แล้ว ก็คงเป็นเพราะสังคมเปลี่ยนไปจากเดิมมาก และเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเสียด้วย แต่หากพ่อแม่สามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกได้ พร้อมทั้งให้ความรักความอบอุ่น ไม่เลี้ยงลูกด้วยอารมณ์และความคาดหวัง อย่างน้อยก็คงช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างคนที่มีพัฒนาการทางจิตใจที่ดี และกลายเป็นคนที่มีคุณภาพได้ไม่มากก็น้อย
แล้วเพื่อนผู้อ่านล่ะคะ มีคำพูดดีๆ ของคุณพ่อคุณแม่ที่ยังจำกันได้ไหม เล่าให้ฟังบ้างนะคะ สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.