xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นมีหมออัจฉริยะดุโหดแบบในมังงะ จริงๆ หรือเปล่า?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว ที่ญี่ปุ่นมีละครชุด (ละครซีรีส์) เรื่องหนึ่งที่ออกอากาศมายาวนานต่อเนื่องเป็นสิบปีแล้วคือ เรื่อง ด็อกเตอร์เอ็กซ์ หรือที่เพื่อนๆ น่าจะเคยได้ยินชื่อไทยว่าหมอซ่าส์พันธุ์เอ็กซ์ เรื่องนี้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทีวีอาซาฮิ ทุกวันพฤหัสบดีช่วงกลางคืนตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 เรื่อยมา ถือว่าเป็นละครซีรีส์ที่ค่อนข้างได้รับความนิยมมากอยู่นะครับ แต่ได้ข่าวมาว่าจะหยุดฉายแล้วผมก็แปลกใจ แต่ที่จริงผมไม่เคยดูเวอร์ชั่นทีวีเลยครับ เคยอ่านจากมังงะเรื่องด็อกเตอร์เอ็กซ์ เล่ม 1 เท่านั้นก็ไม่ได้ติดตามต่อ

บทละครของหมอซ่าส์พันธุ์เอ็กซ์ ออกแบบให้ตัวละครหลักมีความเก่งอัจฉริยะ หนักแน่น เป็นตัวของตัวเอง ดูดุโหด มีวลีประจำตัวคือ "ฉันไม่ทำ" และ "ฉันไม่เคยผิดพลาด" เป็นคนที่ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ไม่สนใจเรื่องราวในอดีต เป็นคนที่มองไปข้างหน้าและเดินตามเส้นทางของตนเอง เป็นคุณหมอที่มีความอิสระและมีสิทธิพิเศษมากกว่าแพทย์ประจำโรงพยาบาลทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่มีหมอที่มีลักษณะบุคลิกแบบนี้อย่างแน่นอนในโรงพยาบาลรัฐของญี่ปุ่น


ซึ่งคิดว่าบุคลิกแบบนี้มีแรงบันดาลใจมาจากมังงะเกี่ยวกับแพทย์อีกเรื่องที่มีคาแร็กเตอร์แนวเดียวกัน คือเรื่อง Black Jack ブラック・ジャック การ์ตูนมังงะผลงานของ โอซามุ เท็ตซึกะ ในเรื่องเกี่ยวกับหมอที่เรียกชื่อตัวเองว่า "แบล็กแจ็ก" จะใส่เสื้อคลุมสีดำ มีหน้าตาที่หล่อเหลาเอาการ แต่เป็นหมอเถื่อนเนื่องจากไม่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปการรักษา เขามักจะเรียกเก็บค่ารักษาแพงมหาศาลจากคนรวย จนหลายคนคิดว่าเขาเป็นหมอหน้าเลือด ทว่าในการรักษาบางครั้งก็ไม่รับค่าตอบแทนใดเลยขึ้นอยู่กับอุปนิสัยของผู้ป่วย หมอแบล็กแจ็กเป็นผู้มีความสามารถสูงส่ง หรือบอกได้ว่าเป็นศัลยแพทย์อัจฉริยะคนหนึ่งเลยทีเดียว

หมอแบล็กแจ็กคือเก่งมากแต่ว่าเจ้าอารมณ์กับคนไข้ เรื่องแบล็กแจ็กไม่มีลิขสิทธิ์ด้วย เป็นหมอที่เก่งมากคือประมาณรวยแค่ไหนถ้าคนไข้นิสัยไม่ดีก็ไม่ช่วย แต่ว่าเด็กที่ไม่มีเงินกลับช่วยไม่คิดเงินอะไรแบบนี้ กลุ่มคนที่อ่านจะเป็นพวกพนักงานบริษัท ซาลารีแมน ซึ่งจริงๆ จะมาใช้อารมณ์มากก็ไม่ดีนะครับ


โอซามุ เท็ตซึกะ คนเขียนแบล็กแจ็กซึ่งตอนแรกๆ ได้รับความยอดนิยมมาก แต่พอความนิยมค่อยๆ ลดลง พอดีกับตอนนั้นมี Golgo 13 ที่กำลังเริ่มได้รับความนิยม เขาจึงนำ Golgo 13 ไปเป็นแรงบันดาลใจเพื่อมาเขียนต่อประมาณว่าเวอร์ชันแบบ Golgo 13 เป็นหมอที่ค่อนข้างจะเก่งแต่เจ้าอารมณ์มาก และคนก็กลับมาสนใจกันมากอีกครั้ง เป็นข้อสังเกตว่าหรือคนทั่วไปจะนิยมชมชอบบุคลิกแนวนี้นะครับ

ล่าสุด ที่ผมอ่านได้จนจบคือมังงะเรื่อง ブラックジャックによろしくภาษาอังกฤษคือ Say hello to Blackjack เป็นมังงะที่เขียนโดย Shuho Sato ที่แสดงให้เห็นสถานการณ์ปัจจุบันของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและสถานพยาบาลในญี่ปุ่นแบบเรียลจริงๆ กว่าเรื่องด้านบน


ซึ่ง Say hello to Blackjack ถูกตีพิมพ์ต่อเนื่องในนิตยสารแล้วยังถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์แบบซีรีส์ สะท้อนสังคมญี่ปุ่นหลายแง่มุม เช่น การที่ตัวเอกเติบโตผ่านความไร้สาระของระบบการฝึกอบรมทางคลินิก การดูแลทางการแพทย์ที่บิดเบี้ยวของสํานักการแพทย์ ความขัดแย้งของระบบประกันสุขภาพ และความขัดแย้งกับผู้ป่วยและครอบครัว เป็นต้น โดยเฉพาะเล่มที่ 9 ถึง 13 พรรณนาถึงการฝึกจิตเวชของตัวละครหลัก ที่มักจะถูกมองว่าเป็นปัญหามาเป็นเวลานานในญี่ปุ่นและถือเป็นข้อห้ามและไม่สามารถพูดบอกออกมาได้ และปัญหาที่ซับซ้อนและสังคมของการดูแลสุขภาพจิต ที่ถูกนำเสนอผ่านภาพวาดในมังงะค่อนข้างชัดเจน จนซีรีส์ถูกระงับนานกว่าหนึ่งปี และจากฉบับที่ 8 ของปี 2007 ซีรีส์ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "Say hello to New Blackjack" จนกระทั่งซีรีส์จบสมบูรณ์ในฉบับที่ 33 ในปี 2010


ทำไมผมชอบมังงะเรื่อง ブラックジャックによろしく(Say hello to Blackjack) หรือ คุณหมอมือใหม่หัวใจเกินร้อย เพราะเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่บรรยายเกี่ยวกับวงการแพทย์สมัยใหม่ของญี่ปุ่นและของโลก โดยเจาะลึกด้านศีลธรรม ที่ขัดกันกับวินัยหรือกฎของโรงพยาบาล หรือทั้งวงการแพทย์เลยทีเดียว มีความเรียลและสนุกในความคิดผม เพราะว่าเป็นคุณหมอธรรมดาที่ทำงานในโรงพยาบาลแบบหมอญี่ปุ่นทั่วไป แม้ว่าอาชีพหมอที่ญี่ปุ่นต้องมีใบประกอบโรคศิลปถึงจะการันตีรายได้ว่าไม่ต่ำกว่าปีละ 2,500,000 บาท (เทียบเป็นเงินไทยในช่วงปัจจุบันที่เงินเยนอ่อน) ถึงแม้ว่าจะมากเป็นสองเท่าของพนักงานบริษัททั่วไป แต่จริงๆ.ถือว่าน้อยอยู่มาก ว่ากันว่าถ้าหมออยากจะเป็นเศรษฐีมีเงินจริงๆ ต้องออกมาประกอบอาชีพของตัวเองหรือเปิดคลินิกส่วนตัวแบบเอกชนไปเลยครับ เพราะว่าถ้าเป็นหมอแต่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลรัฐบาลก็คือการเป็นพนักงานองค์กรที่คล้ายๆ พนักงานบริษัทซาลารีแมนนี่เองแค่ดูจะไฮคาสต์ขึ้นมาหน่อย


ผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติกล่าวว่าแพทย์คืออะไรกันแน่?! ในขณะที่เรากล้าที่จะเผชิญกับความขัดแย้งและปัญหาทางการแพทย์ต่างๆ ของโรงพยาบาล สถานการณ์ปัจจุบันของการดูแลทางการแพทย์ฉุกเฉินในญี่ปุ่น และสถานการณ์ปัจจุบันของระบบหลักสูตรของสํานักงานแพทย์ของมหาวิทยาลัยได้รับการอธิบายในเรื่องนี้อย่างเปิดเผย

หมอที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐบาลทั่วไปยังถือว่าไม่มีอิสระในตัวเอง ต้องทำตามกฎข้อบังคับขององค์กรไม่ต่างจากพนักงานบริษัท ทำให้บางคนแค่ทำตามหน้าที่ไม่ได้ง้อคนไข้มากนัก ตรงข้ามกับหมอที่มาเปิดคลินิกของตัวเอง เป็นกิจการของตัวเองจะไม่ง้อคนไข้ก็ไม่ได้ และจะต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่สามารถใช้อารมณ์กับลูกค้าได้ เรื่องนี้ก็สะท้อนสังคมญี่ปุ่นได้ดี วันนี้เล่าสู่กันฟัง พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น