xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์​หนุ่มฆ่าตัวตาย​ ครอบครัววอนเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จุนโกะ ทาคาชิมะ มารดาของชินโก ทาคาชิมะ แพทย์ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเมื่อปีที่แล้ว ชูรูปถ่ายของเขาในงานแถลงข่าวที่โอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2023
เอ็นเอชเครายงาน ​(25​ ส.ค.)​ ครอบครัวของแพทย์วัย 26 ปี ในญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเมื่อปีที่แล้ว หลังจากทำงานล่วงเวลามากกว่า 200 ชั่วโมงในหนึ่งเดือน ได้ร้องขอให้มีการแก้ไขปัญหาวัฒนธรรมการทำงานหนัก

ทาคาชิมะ ชินโก เคยทำงานเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองโกเบ เมื่อเขาปลิดชีพตัวเองเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค

ทนายความของครอบครัวระบุ ทาคาชิมะทำงานล่วงเวลามากกว่า 207 ชั่วโมงในเดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต และไม่มีวันหยุดเลยเป็นเวลา 3 เดือน

ตามรายงานข่าว โรงพยาบาลโคนันเมดิคัลเซ็นเตอร์​ (Konan Medical Center)​ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก่อนหน้านั้นในเดือนมิถุนายน หน่วยตรวจแรงงานของรัฐบาลตัดสินว่า​ การเสียชีวิตของเขาเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเนื่องจากการทำงานที่ยาวนานของเขา โดยเน้นย้ำถึงความกดดันอันใหญ่หลวงที่มีต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ตามการระบุของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการทำงานหนัก ความกดดันสูงจากหัวหน้างาน และเรียกร้องจงรักภักดีต่อบริษัท

ความเครียดและสุขภาพจิตที่ตามมายังทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "คาโรชิ" หรือ "การเสียชีวิตจากการทำงานหนัก" ซึ่งนำไปสู่การออกกฎหมายเพื่อป้องกันการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากชั่วโมงทำงานที่มากเกินไป

ในการแถลงข่าวครอบครัวของทาคาชิมะกล่าวแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของเขา

“ลูกชายของฉันจะไม่ได้มีชีวิตเป็นหมอใจดี และจะไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยและช่วยเหลือสังคมได้แล้ว” เธอกล่าวเสริม “อย่างไรก็ตาม ฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานของแพทย์จะดีขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียนี้ขึ้นอีกในอนาคต”

ในงานแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศูนย์การแพทย์โคนันได้ตอบโต้กลับ “มีหลายครั้งที่ (แพทย์) ใช้เวลาศึกษาด้วยตัวเองและหลับนอนตามความต้องการทางสรีรวิทยาของพวกเขา” โฆษกคนหนึ่งกล่าว “เนื่องจากมีอิสระในระดับที่สูงมากจึงไม่อาจกำหนดเวลาทำงานได้แน่นอน"

โฆษกโรงพยาบาลกล่าวว่า “เราไม่ยอมรับว่ากรณีนี้เป็นการทำงานล่วงเวลา”

คดีผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักหลายคดีกลายเป็นหัวข้อข่าวระดับชาติและนานาชาติตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นสรุปคดีในปี 2560 ว่านักข่าวการเมืองวัย 31 ปีรายหนึ่ง ซึ่งเสียชีวิตในปี 2556 ประสบภาวะหัวใจล้มเหลวจากการใช้เวลาทำงานนานหลายชั่วโมง เธอทำงานล่วงเวลา 159 ชั่วโมงในเดือนก่อนที่เธอจะเสียชีวิต

ปัญหาการทำงานหนักยังคงมีสูงโดยเฉพาะในภาคสาธารณสุข​ การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2559 พบว่าแพทย์โรงพยาบาลมากกว่าหนึ่งในสี่ทำงานมากถึง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ 5% ทำงานมากถึง 90 ชั่วโมง และ 2.3% ทำงานมากถึง 100 ชั่วโมง

รายงานอีกฉบับที่ตีพิมพ์ในปีนี้โดยสมาคมวิทยาลัยการแพทย์แห่งประเทศญี่ปุ่น พบว่าแพทย์มากกว่า 34% มี​ "ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาพิเศษในระดับที่เกินขีดจำกัดสูงสุดที่ 960 ชั่วโมงต่อปี"

การปฏิรูปกฎหมายแรงงานและกฎระเบียบล่วงเวลาในปี 2561 มีความคืบหน้าเล็กน้อย โดยรัฐบาลรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า​ จำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อปีต่อพนักงานหนึ่งคน “ปรับลดลงทีละน้อย” อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนชั่วโมงทำงานจริงจะลดลง แต่ชั่วโมงทำงานล่วงเวลาก็มีความผันผวนตลอดหลายปีที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น