xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นจะทำอย่างไร เมื่อประชาชนนับล้านคนต้องทนทุกข์กับ “ลองโควิด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”

ทั่วโลกสิ้นสุดการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว แต่อดีตผู้ติดเชื้อจำนวนมากยังเผชิญกับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะกลางและระยะยาวที่เรียกกันว่า “ลองโควิด” ญี่ปุ่นกำลังเร่งวิจัยและหาวิธีการฟื้นฟูสุขภาพของประชาชน

ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากพบว่า สุขภาพของตนเองไม่เหมือนเดิม แม้ว่าจะหายป่วยแล้วมานานหลายเดือน บางคนยังมีอาการตกค้างนานเป็นปีๆ นี่ไม่เพียงบั่นทอนสุขภาพของผู้คน แต่ยังจะส่งผลต่อระบบสาธารณสุขของประเทศด้วย

องค์การอนามัยโลกจำแนกอาการหลังหายจากโรคโควิด-19 ไว้ว่า ตามปกติแล้ว อาการของลองโควิดปรากฏขึ้นในช่วง 3 เดือนนับตั้งแต่ที่เริ่มป่วยเป็นโควิด-19 อาการเหล่านั้นจะคงอยู่ไปอย่างน้อย 2 เดือน และเป็นอาการที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ

อาการลองโควิดที่พบได้มาก คือ เหนื่อยล้า หายใจไม่อิ่ม ความจำผิดปกติ สมาธิสั้น และปัญหาเกี่ยวกับการรับกลิ่นและรับรส อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่พบว่า อดีตผู้ป่วยบอกว่ามีอาการต่างๆ มากถึง 50 อาการ ส่วนความถี่ของอาการลองโควิดที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด

ผลการวิจัยในญี่ปุ่นพบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อ 32.3% บอกว่า มีอาการตกค้างนาน 6 เดือนหลังหายจากโควิด 30.5% มีอาการหลังหายแล้ว 12 เดือน และ 25.8% มีอาการตกค้างนานถึง 18 เดือน


คณะวิจัยยังพบว่า ปัญหาเรื่องการรับรส ผมร่วง และสมาธิสั้น มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่า ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโควิดแล้วมีอาการปานกลางหรืออาการหนักมักจะมีอาการหายใจไม่อิ่ม ไอ และรู้สึกอ่อนล้า เป็นอาการเรื้อรัง

ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ เมื่อผู้ป่วยแสดงอาการบางอย่างหลังจากติดเชื้อไวรัส ก็ยากมากที่จะวินิจฉัยว่าอาการเหล่านั้นเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือเป็นอาการจากสาเหตุอื่นๆ

นพ.โมริโอกะ ชินอิจิโร แพทย์ประจำโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์และสาธารณสุขนานาชาติแห่งญี่ปุ่น ระบุว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่รู้แน่ชัดว่าทำไมถึงมีอาการลองโควิด และยังไม่รู้ว่าอาการเหล่านี้ก่อตัวขึ้นมาอย่างไร จำเป็นต้องตรวจผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อตัดสินว่าอาการที่ผู้ป่วยเผชิญนี้เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสโคโรนาจริงหรือไม่ จากนั้นก็หาทางรักษา

“ลองโควิด” เกิดขึ้นได้อย่างไร

ผลการวิจัยของแพทย์ชาวญี่ปุ่นพบว่า อาการตกค้างหลังจากติดเชื้อโควิด-19 อาจจะมีสาเหตุมาจาก

- ไวรัสหรือเศษของไวรัสที่แตกออกมายังคงอยู่ในร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบเป็นระยะเวลานาน
- ระบบภูมิคุ้มกันซึ่งตามปกติแล้วจะคอยปกป้องร่างกายของเรา กลับมาโจมตีร่างกายตัวเองหลังจากที่ติดเชื้อ
- อวัยวะที่เสียหายจากการติดเชื้อต้องใช้เวลานานเพื่อเยียวยา
- ไวรัสโรคอื่นๆ ที่อยู่ในร่างกายอยู่แล้วถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวจากการติดโควิด-19

แอนติเจนของเชื้อไวรัส หรือ RNA จะยังคงอยู่ในหลายส่วนของร่างกาย ถึงแม้จะผ่านไปหลายเดือนหลังจากติดเชื้อแล้วก็ตาม การวินิจฉัยว่าเป็น “ลองโควิด” จริงๆ หรือไม่จึงเริ่มต้นมาจากจุดนี้


คณะวิจัยใช้วิธีตรวจเลือดของผู้ป่วยเพื่อหาระดับของฮอร์โมนที่ชื่อว่า คอร์ติซอล ฮอร์โมนดังกล่าวทำหน้าที่คอยกดระบบภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบ ระดับของคอร์ติซอลในเลือดจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่คนเราตื่นนอนตอนเช้า ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและความดันเลือดเพิ่มขึ้น และทำให้เรารู้สึกกระฉับกระเฉง

การวิจัยพบว่า ระดับคอร์ติซอลในเลือดของผู้ที่เป็นลองโควิดในช่วงตื่นนอนนั้นมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นลองโควิดอย่างมาก

ญี่ปุ่นรักษา “ลองโควิด” อย่างไร

ขณะนี้ที่ญี่ปุ่นใช้การรักษาตามอาการ แต่มีการวิจัยโดยใช้วิธีการรักษาที่หลากหลาย เช่น การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง ซึ่งใช้ให้ผลดีกับอาการทางประสาท รวมทั้งการใช้ยาบางชนิด


นอกจากนี้ ยังมีการบำบัดด้วยการถูแรงๆ ในจมูกโดยใช้ก้านสำลี ซึ่งช่วยบรรเทาหลายอาการที่เกี่ยวเนื่องกับลองโควิด แต่ว่าปัจจุบันยังไม่มีการรักษาสำหรับอาการลองโควิดแบบเฉพาะเจาะจง

แพทย์ในญี่ปุ่นยังพบว่า ผู้ป่วยโรคไขข้อรูมาตอยด์อาจมีอาการแย่ลงหลังติดเชื้อไวรัสโคโรนา และบางคนมีภาวะซึมเศร้า เนื่องจากความกังวลจากสุขภาพที่ย่ำแย่ลงของตัวเอง ผลการวิจัยชี้ว่า ผู้คนช่วงวัย 40-50 ปี ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา ไม่สามารถกลับไปทำงานได้โดยเร็วหลังจากที่หายแล้ว บางคนต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของตัวเอง

ถึงแม้ตอนนี้ญี่ปุ่นจะก้าวข้ามโควิดไปแล้ว แต่ว่าผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของประชาชนยังหลงเหลืออยู่ไม่รู้จะนานแค่ไหน ยังไม่รวมผลกระทบจากวัคซีนโควิด เรื่องเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกให้นักเรียนในญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าชดเชยมาจนถึงทุกวันนี้.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น