xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นรับมือ “น้ำท่วมเมือง” อย่างไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

ช่วงนี้เป็นฤดูมรสุม หลายประเทศเผชิญภัยพิบัติจากน้ำท่วมที่หนักหนาสาหัสกว่าในอดีตเพราะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ทำให้เกิดพายุถี่ขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น แม้แต่ในเมืองใหญ่ๆ ที่มีระบบระบายน้ำที่ดี ก็ยังไม่อาจรับมือน้ำท่วมที่เกิดจากการระบายไม่ทันได้

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศเผชิญกับพายุหลายลูกติดๆ กัน ทำให้เมืองสำคัญหลายแห่งเกิดน้ำท่วม น้ำท่วมในเมืองแตกต่างจากน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นตลิ่งหรือทำนบกั้นน้ำพังทลาย แต่น้ำท่วมในเมืองส่วนใหญ่แล้วที่เกิดจากการระบายไม่ทัน เพราะอิทธิพลของพายุทำให้มีฝนตกกระหน่ำต่อเนื่องข้ามวันข้ามคืนยาวนานหลายสิบชั่วโมง ปริมาณน้ำฝนมากเกินกว่าระบบระบายน้ำของเมืองจะรองรับได้

หลังจากฝนตกหนัก การดูดซับน้ำในพื้นที่ตัวเมืองซึ่งมีคอนกรีตอยู่เป็นจำนวนมากนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย น้ำจึงไหลเข้าไปในท่อระบายน้ำและระบบระบายน้ำใต้ดิน เมื่อเกิดฝนตกหนักในช่วงเวลาอันสั้นจะไม่สามารถระบายน้ำต่อไปได้ น้ำจึงล้นออกมาจากท่อระบายน้ำที่มีฝาปิด ทำให้เกิดน้ำท่วมเพราะระบายน้ำไม่ทัน และถึงแม้จะเป็นพื้นที่ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเกิดน้ำท่วม ก็อาจมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกน้ำท่วมเพราะการพัฒนาพื้นที่เมืองไปขัดขวางการระบายน้ำ

กระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค คมนาคม และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ระบุว่า น้ำท่วมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแค่ร้อยละ 36 ที่เกิดจากน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นตลิ่ง ขณะที่ร้อยละ 64 เกิดน้ำท่วมเพราะระบายน้ำไม่ทัน

สภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติจากภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดฝนตกหนักรุนแรงมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ฝนตกหนักต่อเนื่องมากกว่า 50 มิลลิเมตรในช่วง 1 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับทศวรรษที่แล้ว


ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการวางผังเมือง และจะมีการจัดทำ “แผนที่ภัยพิบัติ” ที่บอกเส้นทางการอพยพหนีภัยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม โดยแผนที่ภัยพิบัติที่มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องน้ำท่วม จะทำขึ้นโดยอิงจากสมมติฐานที่ว่าทำนบกั้นน้ำพังเสียหายหรือน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และในเมืองสำคัญยังมีแผนที่ภัยพิบัติที่แยกต่างหาก ที่เน้นเหตุน้ำท่วมที่เกิดจากการระบายน้ำไม่ทัน แผนที่ดังกล่าวจะแสดงให้เห็นพื้นที่ที่อาจเกิดน้ำท่วมเมื่อการระบายน้ำหยุดชะงัก ตลอดจนพื้นที่อพยพหลบภัย และข้อมูลอื่นๆ

พื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเมือง

การพัฒนาเมืองที่มีความซับซ้อน ทำให้ผู้คนยากที่จะประเมินว่าพื้นที่ไหนเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมจากการระบายน้ำไม่ทัน ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นชี้ว่า พื้นที่เสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วมในเมืองคือ
1.พื้นที่ราบตามแนวแม่น้ำ
2.พื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมในอดีต
3.ชั้นใต้ดิน และที่จอดรถที่อยู่ใต้ดิน

พื้นที่ใต้ดินอันตรายอย่างยิ่งเมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำที่ระบายไม่ทันจะไหลบ่าลงมาอย่างรวดเร็วจนผู้คนอาจจะหนีไม่ทัน หลายคนคงเคยเห็นภาพน้ำไหลบ่าตามบันไดลงชั้นใต้ดิน น้ำที่ลึกแค่ 50 เซนติเมตรจะมีแรงดันน้ำมาก 100 กิโลกรัม จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเดินขึ้นบันไดสวนทางกับน้ำที่ไหลลงมา และหากด้านนอกประตูมีน้ำท่วมอยู่ที่ระดับ 30 เซนติเมตร แม้เป็นผู้ใหญ่ก็ยากที่จะเปิดประตูได้ ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตเพราะติดอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ แม้ว่าระดับน้ำท่วมจะไม่สูงมากก็ตาม


อุโมงค์ ทางลอด และถนนที่ลอดผ่านใต้ทางด่วนหรือทางรถไฟมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ เพราะทางเหล่านี้อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นถนน น้ำจะไหลเข้ามาและเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว จนทำให้รถจมอยู่ในน้ำได้

บนถนนที่ถูกน้ำท่วม น้ำอาจไหลเข้ารถยนต์ได้เมื่อระดับน้ำลึกราว 30 เซนติเมตร ทำให้เครื่องยนต์หยุดทำงาน รถที่ถูกน้ำท่วมจะไม่สามารถเปิดประตูได้เพราะแรงดันน้ำ หรืออาจเปิดกระจกหน้าต่างไม่ได้เพราะเกิดปัญหากับระบบไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อฝนตกหนักควรเลี่ยงทางลอดและอุโมงค์ และขอแนะนำให้เตรียมค้อนไว้ในรถเพื่อใช้ทุบกระจกหน้าต่างในกรณีที่รถถูกน้ำท่วม

ทางการหลายเมืองในญี่ปุ่นได้ใช้ระบบอัตโนมัติที่จะปิดการจราจรในอุโมงค์และทางลอดเมื่อเกิดฝนตกหนัก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในอุโมงค์


แปลงพื้นที่ต่างๆ ให้รองรับน้ำท่วมยามเกิดภัยพิบัติ

กรุงโตเกียวซึ่งมีระบบรถไฟใต้ดินและสิ่งก่อสร้างหนาแน่น ได้ดัดแปลงพื้นที่ใต้ดินเพื่อให้รองรับน้ำที่ระบายไม่ทันเมื่อเกิดฝนตกหนัก โดยสร้างสวนสาธารณะ สนามเทนนิส และสนามกีฬาของโรงเรียนให้ต่ำกว่าระดับพื้นดิน เพื่อใช้เป็นที่กักเก็บน้ำในกรณีที่เกิดน้ำท่วม

เขตซูงินามิ ในกรุงโตเกียว ได้สร้างอุโมงค์เก็บน้ำใต้ดินที่อยู่ลึกลงไป 43 เมตรบริเวณใต้ถนนวงแหวนหมายเลข 7 อุโมงค์เก็บน้ำนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 12.5 เมตร ยาว 4.5 กิโลเมตร ที่ตั้งของอุโมงค์เก็บน้ำใต้ดินนี้อยู่ใกล้กับแม่น้ำคันดะ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของกรุงโตเกียวและเคยไหลบ่าหลายครั้งในอดีต เมื่อแม่น้ำไหลบ่าเกินกว่าระดับที่กำหนดไว้ อุโมงค์เก็บน้ำนี้จะช่วยกักเก็บน้ำและป้องกันความเสียหายบริเวณด้านบน โดยออกแบบมาให้กักเก็บน้ำได้เทียบเท่ากับสระว่ายน้ำขนาด 25 เมตร จำนวน 1,800 สระ

ทางการกรุงโตเกียวยังมีแผนจะติดตั้งอุปกรณ์ปิดกั้นเพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมในอุโมงค์รถไฟใต้ดิน โดยจะดำเนินการให้ได้ภายในปี 2040 และคาดว่าจะใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการก่อสร้างนี้ประมาณ 30,000 ล้านเยน ขณะนี้การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นแล้วในบางพื้นที่


ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีระบบระบายน้ำอย่างดี แต่ยังตระหนักว่าจำเป็นต้องเตรียมการป้องกันน้ำท่วมทุกครั้งก่อนเกิดฝนตกหนัก แต่ว่าสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ที่น้ำ “รอการระบาย” ทุกครั้งเมื่อเกิดฝนตกนั้น มีผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ที่จริงแล้วกรุงเทพฯ มีคูคลองมากมายที่ช่วยระบายน้ำได้ แต่ว่าคูคลองกลับเต็มไปด้วยขยะ หรือพูดได้ว่า กรุงเทพฯ น้ำท่วมเพราะขยะ ซ้ำยังไม่มีการเตรียมพร้อมก่อนฝนตก หากเป็นเช่นนี้ต่อให้มีอุโมงค์ระบายน้ำ หรือเครื่องสูบน้ำที่ดีแค่ไหนก็ช่วยป้องกันน้ำท่วมเมืองไม่ได้อย่างแท้จริง.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น