xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม! ละครเกาหลีถึงมาแรงแซงละครญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”


สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ฉันกับสามีเพิ่งเริ่มดูละครเกาหลีเมื่อปีสองปีนี้เอง เราตื่นตาตื่นใจกันมาก จนแทบจะหมดความสนใจละครญี่ปุ่นไปโดยปริยาย แล้วก็นึกสงสัยว่าอะไรกันนะที่ทำให้ละครเกาหลีมาแรงแซงโค้งจนได้รับความสนใจไปทั่วโลก แล้วทำไมละครญี่ปุ่นถึงไปไม่ถึงจุดนั้นบ้าง เลยเป็นที่มาของบทความวันนี้ค่ะ

เมื่อก่อนเรา 2 คนไม่เคยนึกอยากดูละครเกาหลีเลย ยิ่งได้ยินเพื่อนบอกว่าดูแล้วติดงอมแงม เลยยิ่งไม่อยากดูเข้าไปอีก ขนาดพี่ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเกรงขามยังบอกว่าติดละครเกาหลี ฉันก็นึกว่าเขาคงดูละครสำหรับผู้ใหญ่กระมัง แต่ผิดคาด เขาบอกว่า “เปล่า ละครโรแมนติกคอมเมดีนี่แหละ” ฉันเลยร้องฮ้าด้วยความรู้สึกไม่อยากเชื่อ และไม่คิดว่าจะมีวันนั้นกับตัวเองเลย

วันหนึ่งสามีมาบอกว่าดาราตลกญี่ปุ่นที่เราชอบพูดถึงละครเกาหลีเรื่อง Itaewon Class ด้วยความชื่นชม เราเลยลองดูไปหนึ่งตอนแบบไม่ได้คิดอะไร แล้วพบว่าเนื้อหามีความเข้มข้น น่าติดตาม และมีจุดพลิกผันที่ชวนให้ตกตะลึง พอดูจบเราหันมามองหน้ากันตื่นๆ ว่า “ละครเกาหลีนี่มันขนาดนี้เลยเหรอ!?” ซึ่งพอเทียบกับละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่เคยดูแล้ว รู้สึกว่าห่างชั้นกันลิบลับแบบตามไม่ทันเลย


แม้ญี่ปุ่นจะก๊อบปี้เรื่องนี้ทำออกมาเป็น Roppongi Class แต่มีความเหลื่อมล้ำกับต้นฉบับมาก จนคนญี่ปุ่นพากันวิพากษ์วิจารณ์แง่ลบ เพราะนอกจากเนื้อหาจะไม่เข้ากับบริบทสังคมญี่ปุ่นแล้ว ฝีมือการแสดงไม่โดดเด่น เนื้อหาก็ตัดทอนให้สั้นลงเยอะ อีกทั้งยังไม่ได้ใส่ใจกับรายละเอียดในการนำเสนอเท่าต้นฉบับด้วย เลยมีคนหาว่าเหมือนละครถูกๆ

พอฉันดู Itaewon Class จบไม่ได้คิดจะดูอะไรต่อ แต่สามีดันเอาดาราโปรดมาล่อ “ซาโต ทาเครุ บอกว่าดารานำแสดงเรื่อง Extraordinary Attorney Woo ฝีมือการแสดงเยี่ยมยอดมากแหละ” ฉันคิดว่านักแสดงมีฝีมืออย่างเขายังชื่นชม แสดงว่าดาราเกาหลีคนนี้ต้องเก่งมากทีเดียว ฉันเลยเผลอติดกับ และในที่สุดเรื่องนี้ก็กลายมาเป็นละครโปรดในดวงใจ เดี๋ยวนี้พอดูละครญี่ปุ่นกลับจืดสนิทเสียแล้ว

ยุคนี้ละครเกาหลีไม่ได้ดังอยู่แค่ในเอเชีย แต่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก ซึ่งสาเหตุใหญ่ๆ น่าจะมีอยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ การตลาดที่เน้นส่งออกและยืดหยุ่นในการเผยแพร่ เปลี่ยนรูปแบบการผลิตละคร ความแพร่หลายของสตรีมมิ่งออนไลน์ทั่วโลก และคุณภาพการผลิตละคร


การตลาดที่เน้นส่งออกและยืดหยุ่นในการเผยแพร่

ว่ากันว่าหลังเกาหลีใต้เจอพิษวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ.2540 คิดกันว่าจะเอาอย่างไรดีให้เศรษฐกิจอยู่รอด และด้วยความที่ประชากรก็น้อย เลยมุ่งเน้นไปที่การ “ส่งออก” ความบันเทิงไปต่างแดน เมื่อเวลาผ่านไป การวางนโยบายอย่างแยบยลกับลงทุนด้านการตลาด ทำให้ละครเกาหลีประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่รอบรู้เรื่องเกาหลีใต้เล่าว่า ในช่วงแรกนั้นเกาหลีใต้ส่งออกละครให้ประเทศในเอเชียออกอากาศได้แบบแทบจะฟรี คือละครตอนหนึ่งอาจจะคิดเงินแค่ 300 เหรียญเท่านั้นเอง คือไม่ได้หวังมากนักว่าจะขายได้ในต่างประเทศ แต่ไหนๆ เศรษฐกิจในตอนนั้นเข้าทำนองว่าไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ก็เลยแบบ เอ้า! ลองขายดู เผื่อฟลุกอะไรประมาณนั้น ไม่ได้จริงจังเท่าไหร่

ต่อมาพอละครเกาหลีได้รับความนิยม ราคาส่งออกละครจึงขยับสูงตาม เกาหลีใต้หันมาทุ่มเทกับการตลาดเชิงรุกและสร้างความร่วมมือในการจัดจำหน่ายไปทั่วโลก อีกทั้งยังมีการพัฒนาเนื้อหาให้น่าสนใจในหมู่ผู้ชมหลากหลาย พร้อมให้เสียงพากย์และซับไตเติลในหลายภาษา จึงยิ่งทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้กว้างขวางขึ้นทั่วโลก

เปลี่ยนรูปแบบการผลิตละคร

สถานีโทรทัศน์มักจะมีแนวทางการผลิตละครที่ยึดติดกับดาราคนเดิมๆ ทำให้พัฒนาคอนเทนต์รูปแบบใหม่ได้ยาก เกาหลีใต้จึงหันมาตั้งเครือข่ายเคเบิลทีวี 3 แห่ง ทำให้ไม่ต้องผูกขาดการผลิตละครและออกอากาศกับสถานีโทรทัศน์อีก โดยเครือข่ายเคเบิลทีวีจะให้ความสำคัญกับคอนเซ็ปต์ละครและการคัดเลือกนักแสดง คุณภาพของละครจึงดีขึ้นมาก จนทำให้ละครโทรทัศน์ในยุคนั้นดูล้าหลังอย่างเห็นได้ชัด


ความแพร่หลายของสตรีมมิ่งออนไลน์ทั่วโลก

ในเมื่อละครเกาหลีได้รับความนิยมในต่างแดนอยู่ก่อนแล้ว พอมีสตรีมมิ่งออนไลน์อย่างเน็ตฟลิกซ์และอื่นๆ เกิดขึ้น ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้ละครเกาหลีต่อตรงกับผู้ชมทั่วโลกได้ง่าย ยิ่งขยายฐานความนิยมได้กว้างไกลกว่าเดิมมาก นอกจากนี้ การสตรีมมิ่งละครเกาหลีบนเน็ตฟลิกซ์ไปพร้อมกับการออกอากาศในเกาหลีใต้เองทำให้ผู้ชมทั่วโลกรับชมได้พร้อมกันโดยไม่ต้องรอนาน และป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ไปด้วยในตัว ไม่เพียงเท่านั้นการที่เน็ตฟลิกซ์โปรโมตละครเกาหลีผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียหลายแขนงยิ่งทำให้คนสนใจอยากดู และไม่พลาดละครเกาหลีเด็ดเรื่องใหม่ๆ ที่น่าติดตาม

คุณภาพของการผลิตละคร

ละครเกาหลีนั้นได้ชื่อว่าทุ่มทุนสร้างอย่างยิ่ง ว่ากันว่าลงทุนราว 200 ล้านเยนโดยเฉลี่ยต่อตอน แต่สถานีโทรทัศน์ญี่ปุ่นจะลงทุนราว 30 ล้านเยนต่อตอน ต่างกันเกือบ 10 เท่าเลยทีเดียว ความต่างของการทุ่มทุนสร้างทำให้ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งกล่าวว่า ละครเกาหลีไปไกลกว่าละครญี่ปุ่นอย่างเทียบกันไม่ติด เพียงแค่ฉากบู๊ของเรื่องสควิดเกมอันโด่งดัง ก็ทำเอาละครญี่ปุ่นกลายเป็นละครโรงเรียนไปเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ละครเกาหลียังคอนเทนต์ดีเยี่ยม น่าสนใจ มีความหลากหลาย เนื้อหาและการสื่ออารมณ์มีความเป็นสากล จึงเข้าถึงความรู้สึกผู้ชมได้ดีแม้ว่าจะต่างวัฒนธรรมกัน และแม้หนึ่งตอนจะยาวเป็นชั่วโมง แต่เรื่องราวไม่ได้ลากยาวอ้อยอิ่งไปเรื่อยๆ นอกจากมีจังหวะจะโคนพอดีแล้ว ยังมีสถานการณ์พลิกผันน่าติดตาม โดยส่วนตัวแล้วฉันชอบตรงความสมดุลของเนื้อเรื่อง อย่างโรแมนติกคอมเมดีสนุกๆ ก็มีส่วนที่เนื้อหาจริงจังแต่ไม่หนักเกินรับ และส่วนที่ตลกก็เป็นมุกตลกที่ธรรมชาติมาก บางเรื่องขำทุกตอนเลย

เสน่ห์อีกอย่างของละครเกาหลีที่ใครๆ พากันชื่นชม คือความสามารถอันเหนือชั้นของนักแสดง ที่เล่นได้อย่างเป็นธรรมชาติและสมจริงจนดูเหมือนไม่ได้กำลังแสดงอยู่ ว่ากันว่าแม้ตัวประกอบเองก็มีความสามารถในการแสดงไม่ด้อยไปกว่านักแสดงนำเลย บทความหนึ่งของญี่ปุ่นอธิบายว่าละครที่ฉายในเกาหลีจะไม่มีโฆษณาคั่น ทำให้ดูได้ต่อเนื่องและอินกับเรื่องเต็มที่ การแข่งขันเรื่องเรตติ้งผู้ชมเลยดุเดือดมาก เพราะฉะนั้นต่อให้นักแสดงจะเป็นไอดอล ก็ต้องมีความสามารถในการแสดงสูง สวยหล่ออย่างเดียวไม่ได้


ทำไมคุณภาพละครญี่ปุ่นยังไปไม่ถึงจุดนั้น

ญี่ปุ่นไม่ได้มีมุมมองเรื่องการส่งออกละครไปต่างแดนจริงจังแบบเกาหลีใต้ เมื่อมองเฉพาะกลุ่มผู้ชมชาวญี่ปุ่น จึงลงทุนน้อยกว่า เนื้อหาก็เน้นสื่อกับคนญี่ปุ่น ซึ่งบางทีคนต่างชาติดูแล้วไม่เข้าใจ เลยไม่อิน เช่น คนญี่ปุ่นมีนิสัยไม่พูดหรือแสดงความรู้สึกตรงๆ แต่ถ่ายทอดด้วยวิธีอื่นอ้อมๆ แบบเป็นที่รู้กัน หรือไม่ก็คอยสังเกตอีกฝ่ายและเดาใจให้ถูก ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีในวัฒนธรรมอื่น

ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือสถานีโทรทัศน์ญี่ปุ่นมีอิทธิพลสูง อีกทั้งสปอนเซอร์ยังมีบทบาทเด่นในการผลิตรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นมาช้านาน จึงอาจส่งผลอย่างมากต่อเนื้อหาของละครและการเลือกตัวนักแสดง โดยอาจเลือกดาราที่กำลังมาแรงแต่ความสามารถในการแสดงไม่เด่น เน้นกลุ่มผู้ชมสาวๆ เพื่อหวังผลประโยชน์ทางการค้า (โฆษณาคั่นละครมักนำเสนอโดยดารานำแสดง) จึงมีส่วนทำให้เนื้อหาละครญี่ปุ่นไม่เข้มข้น ขาดความหลากหลาย และยึดติดรูปแบบเดิมๆ คอนเทนต์แบบนี้จึงแข่งขันในตลาดโลกยาก

การผูกขาดลิขสิทธิ์ละครญี่ปุ่นโดยสถานีโทรทัศน์ญี่ปุ่น ยังทำให้การเผยแพร่ต่อมีเงื่อนไขเยอะ การส่งออกละครญี่ปุ่นจึงมีข้อจำกัดมากไปด้วย เคยมีคนญี่ปุ่นในมาเลเซียที่อยากนำเข้าบันเทิงของญี่ปุ่น แต่เนื่องจากมีการควบคุมเยอะ ทำให้การดำเนินการล่าช้ามาก ต่างกับเกาหลีที่ยืดหยุ่นกว่า บันเทิงของเกาหลีจึงเผยแพร่ในมาเลเซียได้อย่างรวดเร็ว

นักเขียนสารคดีชาวญี่ปุ่นเสนอว่า ละครญี่ปุ่นจะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ต้องสลัดเงื่อนไขและข้อจำกัดทั้งหลายเหล่านี้ที่ทำให้ละครญี่ปุ่นไม่เติบโต รวมทั้งต้องทุ่มเทให้กับการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ ที่ฉีกแนวไปจากเดิมด้วย

ช่วงนี้เริ่มเห็นละครญี่ปุ่นทางเน็ตฟลิกซ์ทยอยออกมานิดหน่อย บางเรื่องทำออกมาได้ดีทีเดียว ฉันคิดว่าญี่ปุ่นเองก็มีละครดีหลายเรื่อง และนักแสดงเก่งๆ ก็มีเยอะ แต่ที่ผ่านมาอาจติดเรื่องเงินทุนและข้อจำกัดหลายอย่างในการผลิตละครโทรทัศน์ ถ้าเน็ตฟลิกซ์เห็นศักยภาพของญี่ปุ่นและลงทุนสร้างละครญี่ปุ่นออกมามากขึ้น เราคงมีโอกาสเห็นละครญี่ปุ่นที่แหวกแนวไปจากเดิมมากขึ้น และน่าติดตามกว่าละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นที่เราเคยดูกันนะคะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น