สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว ช่วงนี้มีเรื่องที่แชร์กันใน SNS ญี่ปุ่น โดยมีหนุ่มคนหนึ่งเป็นพนักงานใหม่อายุยังไม่มาก มาปรึกษาว่าถูกหัวหน้างานรุ่นลุงชวนไปเที่ยวสถานบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ ที่มีสาวๆ มาบริการ ซึ่งจริงๆ แล้วหนุ่มคนนั้นไม่อยากไปแต่ไม่สามารถปฏิเสธหัวหน้าได้ เขารู้สึกไม่ดีมากๆ มีคนมาคอมเมนต์กันมากมาย ส่วนใหญ่ก็เข้าใจหนุ่มคนนั้นที่ไม่อยากไปแต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธหัวหน้าที่มีอายุมากกว่าได้
ซึ่งปฏิกิริยาตอบกลับของคนที่มาคอมเมนต์ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับชายหนุ่ม แล้วถ้าถามว่ามีคนที่มาคอมเมนต์แนว "ชายหนุ่มโชคดีจังที่มีหัวหน้าดีๆ แบบนี้ อยากไปด้วยจริงๆ!" ไหม ก็มีบ้างแต่น้อยมากเมื่อเทียบกับคนที่บอกว่าเห็นด้วยกับหนุ่มคนนั้น และมีคนสูงอายุมาคอมเมนต์ในแนวที่ว่าจริงๆ แล้วที่หัวหน้าพาไปเพราะว่าเอ็นดูลูกน้องใหม่ เห็นว่าลูกน้องน่ารักหัวอ่อนก็เลยอยากพาไปเปิดหูเปิดตาต่างหาก อย่างไรก็ตาม อย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้การทำงานในบริษัทญี่ปุ่นมีประเด็นเรื่อง Generation Gap หรือช่องว่างระหว่างวัยเกิดขึ้นมากเหมือนกันครับ
ซึ่งถ้าลองมาคิดดู หัวหน้างานที่ว่าคงจะมีอายุราวๆ 50 ปีขึ้นไปเกือบๆ จะ 60 ปี ถ้าย้อนกลับไปตอนที่รุ่นลุงเหล่านั้นเข้ามาทำงานใหม่ๆ คนญี่ปุ่นสมัยนั้นนิยมพารุ่นน้องออกไปตะลุยราตรี พวกหัวหน้างานจะพาไปเที่ยวแบบนี้เหมือนกัน ทำให้คนรุ่นนั้นสนิทสนมกับรุ่นพี่มากๆ รุ่นน้องจะรู้สึกขอบคุณรุ่นพี่ รู้สึกดีใจที่ได้ไปกับหัวหน้างานหรือรุ่นพี่ และทำเช่นนี้ต่อๆ กันมา ความสัมพันธ์ที่ดีเกิดจากการได้ไปเที่ยวลักษณะนี้ด้วยกันนั่นเอง
ผมเองมีรุ่นพี่ที่ผมนับถืออยู่ซึ่งรุ่นพี่คนนี้เป็นคนดี แต่เขายังยึดติดกับความคิดที่ว่า รุ่นพี่ต้องพารุ่นน้องเที่ยวจึงจะทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พอมาถึงยุคปัจจุบันผมได้ยินว่าเด็กใหม่ๆ ที่เข้าไปทำงานที่เดียวกับที่ผมเคยทำงานนั้นมีความสัมพันธ์ไม่ค่อยดีกับรุ่นพี่นัก แต่ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับรุ่นพี่อาจจะเป็นเพราะว่ามีความห่างเหินกัน หรืออาจจะใช้คำสั่งการหรือไม่มีทักษะการบริหารงานหรือเรื่อง Generation Gap ก็ได้ที่ทำให้เข้ากันไม่ได้ แต่รุ่นพี่ที่ผมนับถือยังยืนยันว่าเพราะหัวหน้างานไม่พาเด็กใหม่ไปสังสรรค์สถานบันเทิงต่างหากนี่คือมุมมองของเขา แต่คนรุ่นใหม่จะออกแนวชายหนุ่มที่มาระบายใน SNS มากกว่าคือเขาไม่ได้อยากไปสถานบันเทิงกับรุ่นพี่ที่ทำงานแต่เพื่องานก็เลยจำใจไปด้วย
ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่อง 弥勒世 Mirukuyū เขียนโดย 馳星周 Hase Seishū คนเดียวกับคนที่เขียนเรื่อง マンゴー・レイン Mango rain นวนิยายที่ใช้ฉากในเรื่องคือกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับชายหญิงตัวเอกที่หลบหนีมาเฟียไทย เรื่องจะพาไปในสถานที่ต่างๆ ตามย่านที่มีรถไฟฟ้า มีฉากไล่ยิงวิ่งหนีตามรถไฟฟ้า ย่านไชน่าทาวน์ต่างๆ เป็นต้น และยังเขียนเรื่อง Sleepless town 不夜城 Sleepless town ด้วยครับ
Hase Seishū เป็นฉายาของ Toshihito Bandō นักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียง เขาเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนนวนิยายอาชญากรรมยากูซ่า แนว ノワール小説 Noir novels (Noir เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า "ดำ" คือ "นวนิยายดำ" หรือ "นวนิยายมืด") นวนิยายหรือภาพยนตร์ที่จัดอยู่ในประเภท Noir novels นั้นจะสื่อเรื่องราวออกมาโดยใช้แสงและสีมืดทึบหรือขาวดำเป็นหลักแสดงให้เห็นถึงด้านมืดในใจมนุษย์ แต่เรื่องราวที่เกิดในเรื่องไม่ได้บ่งบอกว่าใครดีใครเลวที่สุด จะสื่อว่าทุกๆ คนมีปมและเป็นเสมือนปุถุชนทั่วไปมีทั้งดีและเลว และตีแผ่เรื่องราวด้านมืดของสังคมอย่างเรื่อง Sleepless town เกี่ยวกับการหนีมาเฟียจีน ใช้ฉากที่ย่านชินจูกุโตเกียวอ่านสนุกมากครับ
ส่วนเรื่อง 弥勒世 Mirukuyū เนื้อเรื่องน่าจะเกิดขึ้นประมาณปี ค.ศ.1970 ช่วงที่ยังมีค่ายทหารอเมริกันที่เกาะโอกินาวา พระเอกของเรื่องทำงานเกี่ยวกับสื่อ เป็นนักเขียนหนังสือพิมพ์ เขาอยากได้กรีนการ์ดของอเมริกาจึงทำงานลับเป็นนักสอดแนมให้กองทัพอเมริกาด้วย และเขียนข่าวเชียร์กองทัพเป็นพิเศษ แต่ด้วยคนท้องถิ่นค่อนข้างจะต่อต้านกองทัพและทหารอเมริกาอยู่แล้วถึงแม้ว่าจะมีการเขียนชมหรือมีสื่อโฆษณาชื่นชมอะไรหลายอย่างกลับไม่ทำให้คนท้องถิ่นเห็นด้วย มิหนำซ้ำยังออกมาต่อต้านและขับไล่กองทัพอเมริกาเสียมากกว่า ที่จริงเนื้อเรื่องยาวมากแต่เขียนได้สนุกมาก ทำให้ผมอ่านจนจบได้เพราะว่ามันมีเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับกองทัพค่อนข้างเยอะ และมีตัวละครใหม่ๆ เข้ามาสร้างสีสันในเนื้อเรื่องและส่วนใหญ่มีเสน่ห์ในตัวเองมาก
แต่ว่าต่อมาพระเอกกลับใจมาขับไล่อเมริกาด้วย แต่เขาต้องการความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิทคนหนึ่งซึ่งทำงานเป็นนักดนตรีในคาเฟ่ของค่ายทหารอเมริกัน ซึ่งนักดนตรีคนนี้เป็นที่ชื่นชอบของพวกทหารในกองทัพอเมริกันมาก เพียงแต่เพื่อนพระเอกจะทำงานอยู่ในแวดวงธุรกิจกลางคืน เมื่อพระเอกที่เป็นนักเขียนต้องการจะให้เพื่อนช่วยจึงต้องนัดเจอเพื่อนแต่ว่าถ้าเจอเพื่อนในสถานที่ที่เพื่อนอยู่คงจะต้องเข้าไปสถานเริงรมย์ ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้อยากไปเท่าไหร่นัก แต่ช่วยไม่ได้เพราะต้องทำงาน .. เรื่องยังมีต่อ แต่ว่า ณ จุดนี้นี่เองที่ทำให้เห็นว่ามีผู้ชายญี่ปุ่นหลายคนที่ไม่ได้อยากจะเข้าไปเที่ยวกลางคืนอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ถ้าต้องทำงานก็ช่วยไม่ได้
คือถ้าดูจากเรื่องนี้และในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ Generation Gap ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ซึ่งถ้าพูดถึงความรู้สึกของเด็กหนุ่มใน SNS เขาไม่ค่อยอยากจะทำกิจกรรมเหมือนกับรุ่นพี่ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งผมเข้าใจเขามากๆ เลย และคนญี่ปุ่นที่อายุน้อยกว่า 40 ปี จะไม่ค่อยถือประเพณีที่จะต้องไปเทกแคร์ดูแลหัวหน้าอีกแล้ว ไม่ต้องมาคอยรินเหล้าและคอยบริการหัวหน้าเหมือนคนรุ่นลุงสมัยก่อนแล้ว วันนี้เล่าสู่กันฟังครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ