xs
xsm
sm
md
lg

คนญี่ปุ่นทำอย่างไรถ้าอึดอัดใจเมื่อถูกฝากซื้อของจากต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก tabicoffret.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ไม่กี่วันก่อนฉันมีโอกาสได้อ่านเรื่องราวของทั้งคนญี่ปุ่นและคนไทยที่ลำบากใจกับการถูกฝากซื้อของเวลาไปต่างประเทศ วันนี้เลยหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ฉันแทบไม่เคยเจอเพื่อน หรือคนรู้จักชาวญี่ปุ่นที่ฝากซื้อของกันเลย บางทีถามว่าจะเอาอะไรไหม ก็มักจะตอบกันว่า “ไม่ต้องหรอก ไปเที่ยวให้สนุกนะ” อย่างมากที่สุดก็ฝากซื้อขนมแค่อย่างสองอย่างซึ่งหาได้ทั่วไป และมักเป็นเพื่อนที่สนิทกันมาก เลยทำให้รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นไม่ค่อยจะฝากซื้อของจากต่างประเทศกัน

แต่แม้จะไม่มีคนฝากซื้ออะไร ถ้าเป็นที่ทำงานก็เป็นธรรมเนียมที่รู้กันว่าอย่างไรต้องมีของฝาก ต่อให้เจ้าตัวไปต่างจังหวัดด้วยเรื่องงานของบริษัทเองก็ตาม เพราะคนญี่ปุ่นมองว่าระหว่างที่เจ้าตัวไม่อยู่ทำให้คนอื่นที่เหลือต้องทำงานเพิ่ม 

ทีนี้ถ้าถามว่าคนญี่ปุ่นมีฝากซื้อของเวลาคนรู้จักไปต่างประเทศบ้างไหม ก็ตอบว่ามีเหมือนกันค่ะ แต่อาจจะไม่เอิกเกริกเท่าไหร่ และถ้าไม่สนิทกันจริงๆ โดยมากไม่ค่อยจะฝากกันหรือบางคนต่อให้สนิทก็ยังเกรงใจอยู่ดีตามสไตล์คนญี่ปุ่นที่ถือคติไม่รบกวนคนอื่น ส่วนคนที่ไม่ได้อยู่ในข่ายนี้เลยก็มีเช่นกัน

ฝากซื้อของทั้งที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน
มีคุณแม่ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในอเมริกาคนหนึ่ง (ต่อไปนี้จะเรียกว่าคุณเอ)​ จะกลับไปญี่ปุ่นช่วงคริสต์มาสถึงปีใหม่ คุณบีซึ่งเป็นคนรู้จักของเธอบอกว่า “คุณซีเขารู้ว่าคุณจะกลับญี่ปุ่น เลยฝากมาบอกให้คุณช่วยซื้อของกลับมาให้หน่อย” พร้อมทั้งให้เงินสดกับรายการซื้อของยาวเป็นหางว่าว

คุณเอกับคุณซีไม่เคยเจอกัน แต่ลูกๆ รู้จักกัน คุณเอก็ตกใจว่าไม่เคยเจอหน้ากันด้วยซ้ำ ฝากซื้อของกันได้ด้วยหรือ แถมยังฝากเงินมาพร้อมสรรพเหมือนจะบอกว่าเธอมีหน้าที่ต้องซื้อให้อีกด้วย

ภาพจาก shop.nestle.jp
คุณเอเลยเครียด เธอเล่าว่าจะกลับไปเยี่ยมบ้านทีต้องบินข้ามทวีปไปสิบกว่าชั่วโมง แถมยังเหนื่อยจากอาการเจ็ตแล็ก พอไปถึงญี่ปุ่นต้องใช้เวลาอยู่กับครอบครัวตัวเอง ต้องไปเยี่ยมครอบครัวพ่อแม่สามี ต้องไปธุระธนาคาร และอื่นๆ อีก ถ้ามีเวลาอยากจะเจอเพื่อนบ้าง แค่นี้เวลาก็ไม่พอแล้ว ถ้าต้องไปตามหาซื้อของ มีภาระกับการจัดของลงกระเป๋า และสัมภาระก็จำกัดน้ำหนักด้วยนั้น…

เธอถามตัวเองขึ้นมาว่า “เราต้องเสียสละสิ่งเหล่านี้เพื่อคนที่ไม่เคยเห็นหน้าด้วยหรือ” แล้วฝากคุณบีกลับไปบอกคุณซีว่า “ฉันมีธุระปะปังเยอะน่ะ ไม่รู้จะมีเวลาไหม” ต่อมาเธอถามคุณบีว่าคุณซีว่าอย่างไรบ้าง ได้คำตอบว่า “เขาบอกว่าคุณกลับไปเยี่ยมบ้านทั้งที จะไม่ไปซื้อของเลยหรือ?” คุณเอเธอเลยขำๆ ประมาณว่า "เอากับเขาสิ"

อ่านเรื่องนี้แล้วเลยนึกถึงเรื่องที่เพื่อนคนไทยในญี่ปุ่นเล่าให้ฟัง ตอนนั้นแม่เธอทราบว่าคนญี่ปุ่นซึ่งพอรู้จักกันห่างๆ จะกลับมาญี่ปุ่น เลยจะฝากเขาหิ้วของจากไทยเอามาให้เธอ เธอต้องห้ามแม่ไว้โดยให้เหตุผลว่าคนญี่ปุ่นเขาไม่ไปรบกวนคนอื่นกันแบบนั้น แม่เธอไม่เข้าใจ บอกว่าคนญี่ปุ่นคนนั้นเขาคงไม่แล้งน้ำใจถึงเพียงนั้นหรอก เธอต้องอธิบายอีกว่า “ปัญหาไม่ใช่เรื่องน้ำใจ แต่เป็นเรื่องความเกรงใจ คนญี่ปุ่นเขาถือ”

ที่จริงเรื่องฝากหิ้วของนั้นยังอาจนำไปสู่อันตรายโดยไม่คาดคิดได้นะคะ หลายคนน่าจะเคยได้ยินกันมาบ่อยว่าบางคนถูกตำรวจจับด้วยข้อหามียาเสพติดในครอบครองแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เพราะไปรับฝากของให้คนอื่นบ้าง มีคนฝากถือกระเป๋าบ้าง ยินยอมแชร์น้ำหนักกระเป๋าเดินทางของคนอื่นมาในชื่อของตัวบ้าง บางทีคนที่ทำให้เราถูกจับก็เป็นคนรู้จักกันนี่เอง หรือไม่ก็เป็นคนที่เพิ่งเจอหน้าคุยกันถูกชะตา หรือเป็นคนสูงอายุที่ดูไร้เรี่ยวแรง ทีนี้พอถูกจับแล้วก็ตัวใครตัวมัน จึงต้องระวังเรื่องนี้ให้มาก

ภาพจาก shop.nestle.jp
ทำไมฝากซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมไม่ได้

สาวญี่ปุ่นอีกรายหนึ่งได้ข่าวว่าคนในที่ทำงานเธอจะไปเที่ยวต่างประเทศ เลยฝากซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมที่อยากได้มานาน เพราะซื้อที่โน่นถูกกว่า แต่โดนอีกฝ่ายปฏิเสธ เธอถามกลับว่าทำไม อีกฝ่ายบอกว่าจะไปดูสถานที่ธรรมชาติ คงไม่มีเวลาไปซื้อของหรอก เธอยังไปสืบรู้มาอีกว่าอีกฝ่ายมีโปรแกรมอิสระหนึ่งวัน ทำไมจะไปซื้อของให้ไม่ได้ แล้วเงินเธอจะจ่ายคืนให้ ไม่ได้ให้ซื้อฟรีนี่นา

เธอไปเล่าในกระทู้แห่งหนึ่งด้วยความไม่เข้าใจ และขอความเห็นว่าทำอย่างไรอีกฝ่ายจึงจะยอมซื้อมาให้ จึงโดนถล่มหนักว่าเธอเป็นคนเช่นไรถึงได้คิดแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง จนไม่รู้จักเกรงใจผู้อื่นเช่นนี้ พร้อมให้เหตุผลประกอบว่า

“เพื่อนร่วมงานคุณมีอิสระ 1 วันก็จริง แต่เขาไม่ได้มีหน้าที่ต้องสละเวลานั้นเพื่อคุณนะ คุณลองเอาค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศหารด้วยเวลาเป็นชั่วโมงดูสิ ค่าใช้จ่ายมีทั้งค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าเตรียมการอะไรต่างๆ อีก แล้วคุณจะขอให้เขาซื้อของให้ดื้อๆ โดยไม่ต้องช่วยหารค่าพวกนี้เลยหรือ?”

“ถ้าคุณเป็นคนออกค่าเดินทางทั้งหมดให้เขายังว่าไปอย่าง แต่คุณกะจะจ่ายเฉพาะค่าของที่ฝากซื้อใช่ไหม แล้วต่อให้เขามีโปรแกรมอิสระ 1 วันมันก็แป๊บเดียวเอง เขาย่อมอยากใช้เวลาเที่ยวให้เต็มที่ ถ้าคุณอยากได้ของมากก็เดินทางไปเอง หรือซื้อออนไลน์เอาสิ”

“ทำไมคนที่เขาจ่ายเงินตัวเองไปเที่ยวจะต้องเจียดเวลาอันมีค่าเพื่อคนอื่นด้วย อีกอย่างกระเป๋าที่คุณจะฝากซื้อก็กินพื้นที่กระเป๋าเดินทางเขา ทำให้เขาใส่ของฝากตัวเองไม่พออีก”

ภาพจาก chanto.jp.net
ความลำบากของคนถูกฝากซื้อของ

ฉันนึกย้อนไปถึงสมัยที่เพื่อนคนไทยคนหนึ่งมาเที่ยวญี่ปุ่น เธอบอกว่าเพื่อนร่วมงานและญาติๆ ฝากซื้อของหลายอย่าง ฉันเลยพาไปหาซื้อ ซึ่งกว่าจะหาของแต่ละอย่างได้นั้นต้องมีการเดินทางไปไกลจากที่พัก หรือไกลจากย่านที่เธอตั้งใจจะไปเที่ยว จึงเสียค่ารถไฟเยอะ และหมดเวลาไปเป็นวันๆ

และในที่สุดเธอเอ่ยปากขึ้นมาว่า “ไม่นึกเลยนะว่าการซื้อของฝากมันจะไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด นึกไม่ถึงว่าบางอย่างมันต้องดั้นด้นไปหา เสียเวลาอะไรเยอะแยะเลย ที่ผ่านมาเราเคยฝากคนอื่นซื้อของโดยไม่ได้นึกถึงเรื่องพวกนี้ ไม่รู้เลยว่ารบกวนเขาขนาดนี้ ต่อไปจะไม่ฝากใครซื้อของแล้ว”

ของฝากซื้อนั้นถ้าเป็นของที่หาง่ายจากร้านทั่วไป นิดๆ หน่อยๆ ก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นของที่ต้องเที่ยวเสาะหา ราคาแพง หรือชิ้นใหญ่คงจะลำบากคนถูกรับฝากมากพอดูเหมือนกัน อย่างเพื่อนฉันคราวนั้นโดนฝากซื้อตุ๊กตาตัวใหญ่ขนาด 1 เมตร ลืมถามเหมือนกันว่าเธอเอากลับไปอย่างไร

ในกลุ่มคนที่ลำบากใจกับการถูกฝากซื้อของนั้นมีหลายรายทีเดียวค่ะที่เจอประสบการณ์แบบเข็ดขยาดไปเลย เช่น ซื้อมาแล้วอีกฝ่ายรับไปฟรีๆ (ลักษณะนี้มีเยอะมากจนน่าตกใจ) หากคนไหนไม่กล้าทวงเงินคืนอาจจะโดนฝากซื้ออีกหลายหน คนไทยบางคนแนะว่าให้ป้องกันตัวด้วยการให้อีกฝ่ายแลกเงินมาให้พอล่วงหน้า ถ้าเจอของที่ว่าจะซื้อให้ ถ้าไม่เจอก็ไม่ซื้อ และถ้าหากเหลือเงินจะทอนเป็นเงินสกุลต่างประเทศ

แต่บางคนก็เจอคนฝากซื้อที่ไม่ให้เงินมาก่อน แล้วพอซื้อมาให้ตอนราคาสินค้าขึ้นหรือค่าเงินสูงขึ้น คนฝากซื้อก็ปฏิเสธไม่รับของเอาดื้อๆ นอกจากนี้ คนรับฝากยังเจอปัญหาอื่นๆ อีก เช่น ซื้อมาผิดแบบ เงินที่รับฝากไว้สูญหาย ของที่สั่งออนไลน์ไว้ให้ส่งมาผิด ไม่มา หรือชำรุด อาจต้องรับเคราะห์แบกภาระเหล่านี้เพิ่มด้วย


ทำอย่างไรถ้าอึดอัดใจยามถูกฝากซื้อของ

บทความหนึ่งของญี่ปุ่นบอกว่า หากเจอลูกช่างตื๊อหรือถูกเอาเปรียบแล้วยอม ก็จะมีคราวหน้าตามมา จึงแนะให้ปฏิเสธอย่างชัดเจนแต่แรกไปเลย ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกไม่สบายใจไปเรื่อยๆ และเกิดปัญหาความสัมพันธ์ได้ แม้กับคนที่สนิทสนมยังอาจควรปฏิเสธชัดเจนแต่ต้น เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลัง

มีคนหนึ่งแนะวิธีปฏิเสธไว้น่าฟัง โดยอาจจะบอกว่า “ขอโทษด้วยนะ ก่อนนี้เคยมีประสบการณ์ไม่ดีมากๆ กับการรับฝากซื้อจนกลัวไปเลย ตั้งแต่นั้นมาเลยไม่รับฝากซื้อของให้ใครอีกนะ” ซึ่งการพูดแบบนี้ฟังดูสุภาพและรักษาน้ำใจ

ในบทความยังเสริมว่า หากการปฏิเสธทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง ก็แสดงว่าอีกฝ่ายเห็นเราเป็นเพียงคนที่ “ใช้งานง่ายตามสะดวก” เท่านั้นเอง ให้คิดว่าดีแล้วที่ได้ตัดความสัมพันธ์กับคนแบบนั้น ในโลกนี้ยังมีคนอีกมากที่เข้ากับเรา ไม่จำเป็นต้องฝืนคบหากับคนที่ไม่เข้ากันก็ได้

ฉันคิดว่าเรื่องจะรับฝากซื้อของหรือไม่นั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากๆ และคล้ายกับอุปนิสัยคนด้วย คือแต่ละคนจะมีเส้นของตัวเองว่าจุดนี้ได้/จุดนี้ไม่ได้ บางคนถือสาในเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ถือสาในอีกเรื่องหนึ่ง บางคนอาจชอบรับฝากซื้อ บางคนเฉยๆ บางคนอึดอัดใจ คงจะเป็นการดีถ้าเรามีน้ำใจเคารพจุดยืนของกันและกัน ไม่ก้าวก่ายอีกฝ่ายจนเกินงาม จะได้รักษาความสัมพันธ์ไว้ บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่นนะคะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น