xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อญี่ปุ่นหยุดอยู่กับที่ เพราะสะดุด "ความสมบูรณ์แบบ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่เมื่อตั้งใจจะทำอะไรแล้วก็พยายามจะให้ออกมาดีที่สุด และในขณะเดียวกัน ถ้ารู้ว่าจะทำได้ไม่สมบูรณ์แบบแล้ว ก็อาจถึงกับไม่ยอมลงมือทำเลยทีเดียว ความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วไปตั้งแต่ในหมู่ประชาชนทั่วไป จนถึงระดับองค์กร ส่งผลให้ญี่ปุ่นพัฒนาช้ากว่าที่ควรจะเป็น และพลาดโอกาสยืนอยู่แนวหน้าของเวทีโลกในหลายด้านด้วย

ต้องสมบูรณ์แบบอย่างไร้ที่ติ

คงไม่เป็นการกล่าวเกินไปหากจะบอกว่า “เป็นเรื่องปกติที่สิ่งต่างๆ จะเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ” คือมาตรฐานตามปกติของญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น รถไฟและรถเมล์ที่มาตรงเวลาเป๊ะ หีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่ดูเรียบร้อยไม่มีรอยบุบรอยยับ ผักผลไม้ที่งามแต้ และขนาดเท่ากันแทบทุกลูก เป็นต้น แม้คนญี่ปุ่นเองเมื่อมองตนเทียบกับคนชาติอื่นๆ แล้วยังรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นฝักใฝ่ความสมบูรณ์แบบในแทบทุกเรื่อง

สิ่งหนึ่งที่คนญี่ปุ่นมักยกตัวอย่าง ได้แก่ เรื่องที่ว่าทำไมคนญี่ปุ่นพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพราะกลัวที่จะพูดผิดไวยากรณ์หรือออกเสียงผิด ต่อให้เรียนมามากแค่ไหน แต่พอถึงเวลาก็ไม่กล้าพูดแม้แต่คำเดียว แม้ในยามฉุกเฉิน คนญี่ปุ่นบางคนถึงกับพูดไว้เลยว่าคนญี่ปุ่นจะไม่มีวันพูดภาษาอังกฤษได้ ถ้ายังคงแสวงหาความสมบูรณ์แบบอย่างนี้

ภาพจาก english24cebu.com
คนญี่ปุ่นมีความเชื่อลึกๆ ว่าตัวเองต้องคอยทำตัวให้ไร้ที่ติเพื่อให้คนอื่นและสังคมพอใจ เลยกลายเป็นว่าต่างคนต่างเรียกร้องความสมบูรณ์แบบจากกันและกันไปด้วย หากตัวเองทำอะไรพลาดขึ้นมาก็จะโทษตัวเอง และความผิดพลาดอาจทำให้คนอื่นหมดความไว้เนื้อเชื่อใจ เราจึงมักเห็นการแถลงข่าวขอโทษขอโพยต่อสังคมเวลาบริษัทหรือคนดังมีข่าวในแง่ลบ หรือเวลารถไฟมาช้าหนึ่งนาทีก็ต้องขอโทษผู้โดยสารหลายครั้งหลายหน

ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งตั้งโรงเรียนขึ้นเพื่อสอนเด็กๆ ในแนวทางที่ต่างออกไป เขาบอกว่าคนญี่ปุ่นถูกผูดมัดไว้กับความคิดที่ว่า “ห้ามแสดงความไม่สมบูรณ์แบบออกมา” และ “ห้ามพลาด” ซึ่งเขาอยากบอกกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ว่า “ความไม่สมบูรณ์แบบเป็นเรื่องปกติ!” และอยากให้แสดงตัวตนที่ไม่สมบูรณ์แบบออกมาโดยไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นความผิด แล้วต่อไปทักษะในการลงมือทำ การตัดสินใจ การสื่อสาร และอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นขาดก็จะพัฒนาขึ้นมาเอง

เมื่อความสมบูรณ์แบบทำให้ “เมดอินเจแปน” ตกกระป๋อง

ว่ากันว่าสาเหตุหลักที่สินค้าญี่ปุ่นครองแชมป์ในตลาดโลกยุคนี้ไม่ได้นั้น เป็นเพราะแนวทางผลิตสินค้าเหมือนเดิมตลอดศก คือต้องสมบูรณ์แบบไว้ก่อน แม้จะมีไอเดียใหม่บรรเจิดแค่ไหน แต่หากมีความเสี่ยงแม้แต่น้อย ไอเดียนั้นจะถูกกำจัดไปแต่ต้น ผลที่ได้ก็คือสินค้าอันไร้ที่ติ แต่ขาดองค์ประกอบล้ำยุคน่าสนใจ นอกจากนี้ ทุกขั้นตอนตั้งแต่การพัฒนาสินค้าและส่งเสริมการขาย ต่างมีการวางแผนอย่างรอบคอบ ยาวนาน และแทบเลือดตากระเด็นเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผน ทว่าการวางแผนอย่างพิถีพิถันแบบนี้ก็เป็นข้อเสีย เพราะหากพบว่าสินค้าไม่ดีดังคาด จะแก้ไขข้อบกพร่องได้ช้า

“ตรวจสอบรอบที่ 3 แล้ว ต้องทำให้สมบูรณ์แบบจะได้ไม่โดนว่า” ภาพจาก yomidr.yomiuri.co.jp
ในขณะเดียวกัน เทรนด์ของสินค้าทั่วโลกปัจจุบันไม่ได้มุ่งที่ความสมบูรณ์แบบแต่ต้นเหมือนญี่ปุ่น แต่จะออกแบบมาให้มีฟังก์ชันการทำงานที่จำเป็นขั้นต่ำก่อน จากนั้นค่อยดูกระแสตอบรับของตลาด เมื่อจุดไหนมีการตอบรับดีจะพัฒนาต่อยอด จุดไหนไม่ดีจะนำไปปรับปรุง ทำให้มีเวอร์ชันอัปเกรดออกมาเรื่อยๆ หากบริษัทไหนแก้ปัญหาได้เร็วก็จะมีชัยไปกว่าครึ่ง มีส่วนแบ่งการตลาดสูง ดังนั้นสินค้าตัวหนึ่งๆ จึงอาศัยเวลาพัฒนาไปเรื่อยๆ แบบนี้จนไปถึงจุดที่สมบูรณ์แบบ จนถึงกับมีคำกล่าวในซิลิคอนวัลเลย์ว่า “หากสินค้าของคุณไร้ที่ติแต่ต้นเลย ก็แสดงว่าคุณออกตัวสินค้านั้นช้าไปแล้ว”

นอกจากนี้ หากกระแสตอบรับของตลาดไม่ดี บริษัทสามารถเลิกผลิตสินค้าตัวนั้นได้แต่เนิ่นๆ โดยไม่เจ็บตัวมาก เพราะไม่ได้เสียทรัพยากรไปมากเท่ากับสินค้าที่ผลิตโดยหวังจะให้ดีเลิศแต่ต้น

กระทั่งสินค้าจีนที่เคยโดนมองว่าคุณภาพต่ำ ก็ยังมีหลายยี่ห้อที่ตีตลาดไปอยู่อันดับต้นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือโดรน แต่แบรนด์ของญี่ปุ่นที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นของดีกลับไม่อยู่ในใจผู้บริโภค เพราะพิถีพิถันมากและพยายามจะให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ทำให้ “เมดอินเจแปน” ตามไม่ทันและสูญเสียโอกาสเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี นักวิชาการญี่ปุ่นท่านหนึ่งกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะผงาดกลับมาอีกครั้งได้ต้องมีการปฏิวัติขนานใหญ่ทั้งในเรื่ององค์กรและธุรกิจ และต้องหัดมุ่งหวังความสมบูรณ์แบบในตอนท้าย ไม่ใช่มุ่งหวังความสมบูรณ์แบบตั้งแต่ต้นอย่างที่ผ่านมา

ทำไมคนญี่ปุ่นจึงยึดมั่นในความสมบูรณ์แบบ


ลัทธิขงจื้อของจีนมีอิทธิพลต่อความเป็นญี่ปุ่นอยู่มาก โดยเน้นเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข สอนให้กตัญญู รู้จักการวางตัวกับผู้อื่น ปฏิบัติตามแบบแผนทางสังคม ฝึกพัฒนาตนเอง และให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อญี่ปุ่นรับเอาลัทธิขงจื้อมา ก็มีการตีความใหม่และดัดแปลงบางส่วนให้เข้าทางสภาพบ้านเมืองหรือการเมืองของญี่ปุ่นเองในเวลานั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไปก็หล่อหลอมให้คนญี่ปุ่นมีความจงรักภักดี เน้นระบบอาวุโส ทำงานหนัก เรียนหนัก และมุ่งมั่นความสมบูรณ์แบบในทุกด้าน เป็นต้น

ภาพจาก ippin.gnavi.co.jp
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีความเชี่ยวชาญเรื่องงานฝีมือมาแต่โบราณ เด่นในเรื่องความประณีต ละเอียดลออ ซึ่งช่างฝีมือในสมัยนั้นต่างมีความภาคภูมิใจกับงานของตัวเอง ทุ่มเทให้รายละเอียดของกระบวนการ และอาจมองรายได้เป็นเรื่องรองด้วยซ้ำ ว่ากันว่าชาวตะวันตกที่เข้ามาในญี่ปุ่นสมัยเอโดะ จนถึงสมัยเมจิ ต่างก็ทึ่งกับคุณภาพของของใช้ในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นมาก เพราะมันดูเหมือนงานศิลปะมากกว่าจะเรียกว่าเป็นของใช้ นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ปลูกฝังให้คนญี่ปุ่นใส่ใจเรื่องความละเอียดและความพิถีพิถันตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน

และในสมัยโชวะ (พ.ศ.2469-2532) ญี่ปุ่นก็มีความพยายามผลิตสินค้าคุณภาพสูงในราคาย่อมเยา ดังนั้นจึงต้องพยายามให้กระบวนการผลิตมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นค่าเสียหายจากความผิดพลาดเหล่านี้จะไปรวมอยู่ในราคาสินค้าด้วย การแสวงหาความสมบูรณ์แบบจึงหล่อหลอมมาเป็นวัฒนธรรมของธุรกิจและภาคผลิตของญี่ปุ่นไป เพื่อให้ผลิตสินค้าได้คุณภาพสูง และใช้งานดี

เมื่อมองจากมุมเหล่านี้แล้วรู้สึกว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ท้าทายมากพอดูสำหรับคนญี่ปุ่นที่จะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับกระแสโลกที่รวดเร็วรุนแรง เพราะนอกจากจะเป็นชนชาติที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ยากแล้ว คนญี่ปุ่นยังมีความภาคภูมิใจในความละเอียดอ่อน ความประณีต และการทำสิ่งต่างๆ ให้สมบูรณ์แบบที่สุดเพื่อให้ทุกอย่างออกมาดี ครั้นจะให้คนญี่ปุ่นไปผลิตสินค้าแบบลวกๆ ออกขาย ก็คงรู้สึกน่าอาย รู้สึกผิดต่อผู้บริโภค และทำไม่ลงเสียมากกว่า

และในทางเดียวกัน แม้คนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งจะรู้ว่าการแสวงหาความสมบูรณ์แบบในทุกอณูของชีวิตจะนำมาซึ่งความเครียด และทำให้หาความสุขยาก แต่ในเมื่อสังคมต่างก็คาดหวังเรื่องความสมบูรณ์แบบจากกันและกันไปแล้ว การเลิกพยายามทำตัวให้สมบูรณ์แบบจึงอาจยากมากทีเดียว

แต่อย่างไรก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากญี่ปุ่นจะไม่ได้ยืนอยู่แถวหน้าของโลกยุคนี้ ทั้งที่มีศักยภาพสูงในหลายด้านพอที่จะ “ให้” อะไรกับโลกได้อีกมาก ถ้ายังอยากก้าวไปข้างหน้าตามโลกให้ทัน ญี่ปุ่นคงต้องยอมผ่อนคลายค่านิยมบางส่วนลง และปลูกฝังค่านิยมใหม่ที่ช่วยให้คนญี่ปุ่นปรับตัวเข้ากับกระแสโลกได้ง่ายขึ้น.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น