คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”
อุบัติเหตุบนบันไดเลื่อนที่สนามบินดอนเมืองเป็นเรื่องที่สะเทือนใจและน่าตกใจ ประเทศญี่ปุ่นก็มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนบันไดเลื่อนปีหนึ่งเป็นพันคน จนต้องมีการรณรงค์ครั้งใหญ่ให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้บันไดเลื่อนเพื่อความปลอดภัย
ชาวญี่ปุ่นได้รับรู้ข่าวเรื่องอุบัติเหตุบนบันไดเลื่อนที่สนามบินดอนเมืองเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่ตกใจและคาดไม่ถึงว่าเรื่องเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับสนามบินนานาชาติ โดยเฉพาะบันไดเลื่อนที่เกิดเหตุเป็นทางลาดในระดับเดียวกัน ไม่ใช่ทางขึ้นลง และผู้ประสบเหตุก็ยืนนิ่งๆ อยู่บนบันได อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงน่าจะเป็นความบกพร่องของอุปกรณ์ ซึ่งอาจขาดการตรวจสอบและบำรุงรักษาเป็นประจำ
หลายปีก่อน มีเหตุการณ์ “บันไดเลื่อนกินคน” ที่ห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยและประเทศจีน โดยหญิงสาวผู้เคราะห์ร้ายถูกบันไดเลื่อนดูดลงไปด้วยเวลาเพียงแค่ 8 วินาทีทำให้เธอเสียชีวิต และเมื่อเร็วๆ นี้ที่ประเทศเกาหลีใต้ก็เกิดเหตุบันไดเลื่อนที่เลื่อนขึ้นชั้นบน แต่จู่ๆ กลับเปลี่ยนมาเลื่อนลงอย่างกะทันหัน ทำให้ผู้คนที่อยู่บนบันไดล้มลงเป็นโดมิโน มีผู้บาดเจ็บหลายสิบราย
บันไดเลื่อนเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ใกล้ตัวเราอย่างมาก หากแต่เมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่าอันตรายบนบันไดเลื่อนนั้นน่ากลัวอย่างยิ่ง เนื่องจากบันไดเลื่อนส่วนใหญ่อยู่สูงจากระดับพื้นดิน ด้านล่างเป็นช่องว่าง นอกจากนี้ ตัวบันไดที่เคลื่อนที่ตลอดเวลา ทำให้อุบัติเหตุบนบันไดเลื่อนเกิดขึ้นได้ง่ายและอันตรายถึงชีวิต
ที่ประเทศญี่ปุ่นมีอุบัติเหตุบนบันไดเลื่อนเกิดขึ้นปีละมากกว่า 1,000 กรณี โดยสาเหตุที่สำคัญที่สุด คือ พฤติกรรม (ผิดๆ) ของชาวญี่ปุ่นที่เดินบนบันไดเลื่อน
ญี่ปุ่นมีธรรมเนียมที่ผู้โดยสารบันไดเลื่อนจะยืนชิดด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้ผู้ที่รีบเร่งสามารถเดินขึ้นไปได้ก่อน โดยในพื้นที่กรุงโตเกียวและใกล้เคียงจะยืนชิดซ้าย ส่วนฝั่งนครโอซากา และภาคตะวันตกจะยืนชิดขวา ธรรมเนียมเช่นนี้ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุกับคนที่เดินขึ้นบันได้ได้มาก ทั้งการพลัดตกขั้นบันได รวมทั้งสะดุดหรือเกี่ยวเข้ากับสัมภาระของคนที่ยืนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ผู้คนไปทำงานตอนเช้าและเลิกงานตอนเย็น
ธรรมเนียม (ผิดๆ) นี้ยังเคยแพร่หลายมายังประเทศไทยด้วย ในช่วงหนึ่งที่สถานีรถไฟฟ้าของไทย เคยมีป้ายรณรงค์ให้ผู้ที่ใช้บันไดเลื่อนยืนข้างหนึ่ง และเว้นที่ไว้ให้เดินอีกข้างหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นี่คืออันตรายอย่างยิ่ง!
บันไดเลื่อนตามสถานีรถไฟต่างๆ มีคนที่เดินบนบันไดเลื่อนจำนวนมาก หลายคนยังถึงกับวิ่งบนบันไดเลื่อน บางคนกระแทกกับคนที่ยืนอยู่ข้างๆ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บปีละนับพันคน ทั้งๆ ที่มีผลการสำรวจพิสูจน์แล้วว่า การเดินหรือวิ่งบนบันไดเลื่อนนั้นเร็วกว่าการยืนนิ่งๆ เพียงแค่ ....ไม่กี่วินาทีเท่านั้น ไม่คุ้มที่จะเสี่ยงชีวิตของตัวเองและคนอื่น
ข้อมูลการสำรวจยังพบว่า การยืนบนบันไดเลื่อนให้เต็มสองฝั่งช่วยลดปัญหาการแออัดของผู้ใช้งานได้มากกว่าการแบ่งช่องเดินบนบันไดเลื่อน และส่งผลให้การเคลื่อนตัวของผู้โดยสารทั้งหมดรวดเร็วมากกว่า
นอกจากเรื่องอุบัติเหตุแล้ว บริษัทผู้ผลิตบันไดเลื่อนยังระบุว่า พฤติกรรมยืนฝั่งเดียวของคนญี่ปุ่น ยังสร้างปัญหาทำให้บันไดเลื่อนเสียง่าย เพราะรับน้ำหนักมากอยู่แค่ฝั่งเดียวจนบันไดทรุด
ตั้งแต่หลายปีก่อน หน่วยงานต่างๆ ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะบริษัทรถไฟต่างๆ เริ่มรณรงค์อย่างจริงจังว่า “อย่าเดินบนบันไดเลื่อน” ตามสถานีรถไฟต่างๆ มีป้ายกระกาศให้ “งดเดินบนบันไดเลื่อน” ติดอยู่ในหลายจุด ทั้งบนพื้น บนผนัง บริเวณที่จับบนบันไดเลื่อนก็มีข้อความ “งดเดิน” เขียนกำกับไว้ พร้อมทั้งภาพประกอบที่อธิบายการใช้งานบันไดเลื่อนติดไว้ โดยวาดเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้ใช้งานหยุดยืนและเอามือจับราวบันไดเลื่อน และในช่วงเวลาเร่งด่วนยังจัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยส่งเสียงเตือนผู้ใช้งานบันไดเลื่อนในสถานีรถไฟว่า “หากผู้โดยสารท่านใดมีความเร่งรีบ กรุณาใช้บันไดแทน”
สถานีรถไฟหลายแห่งที่แต่เดิมมีเพียงบันไดเลื่อนอย่างเดียวได้ลงทุนปรับปรุงใหม่ โดยทำบันไดแบบขั้นไว้สำหรับคนที่เร่งรีบให้เดินขึ้นไปได้ ไม่ต้องไปเดินเบียดแทรกคนที่ใช้บันไดเลื่อน
กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นได้รณรงค์อย่างจริงจังตั้งตั้งแต่ปี 2560 หวังให้ผู้ใช้งานงดเดินและหยุดยืนบนบันไดเลื่อนทั้งสองฝั่งโดยไม่เว้นว่าง โดยตั้งเป้าให้วัฒนธรรม “การแบ่งช่องเดินบนบันไดเลื่อน” หายไปก่อนการเปิดงานโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชาวญี่ปุ่นก็ยังแก้นิสัยเดิมๆ ไม่ได้
การสำรวจโดยมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นพบว่า ยังคงมีผู้ที่เดินบนบันไดเลื่อนมากถึงร้อยละ 60 ของผู้ใช้ทั้งหมด และสัดส่วนของผู้ยังทำพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ได้ลดน้อยลงเลยถึงแม้จะมีมาตรการรณรงค์ก็ตาม บางคนถึงขนาดที่ผลักหรือสะกิดคนที่ยืนนิ่งๆ บนบันไดเลื่อนให้หลีกทางให้ตัวเองเดินหรือวิ่งขึ้นไปด้วย
ยิ่งกว่านั้น มียังผู้คนจำนวนหนึ่งที่เอาแต่ก้มหน้าใช้สมาร์ทโฟนขณะที่อยู่บนบันไดเลื่อน จนเกิดอุบัติเหตุหกล้มหรือชนกับคนอื่นอยู่บ่อยครั้ง นี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายแห่งต้องมีเสียงเตือนว่า “ระวัง สิ้นสุดทางเลื่อน!”
ทางการท้องถิ่นหลายเมืองได้บังคับใช้ระเบียบด้านความปลอดภัย “ห้ามเดินบนบันไดเลื่อน” แต่ก็ยังมีคนที่ฝ่าฝืนอยู่จำนวนมาก ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า เนื่องจากระเบียบนี้ไม่มีมาตรการลงโทษจึงยากที่จะทำให้ผู้คนปฏิบัติตาม
นอกจากอุบัติเหตุจากการเดินบนบันไดเลื่อนแล้ว อุบัติเหตุอื่นที่พบมากเช่นกัน คือ บันไดเลื่อนหนีบชายกระโปรง กางเกง รองเท้าส้นสูง ร่ม และสิ่งของต่างๆ ในคู่มือความปลอดภัยของหน่วยงานญี่ปุ่นได้เน้นย้ำว่า ผู้โดยสารต้องจับราวบันไดตลอดเวลา และควรยืนอยู่ภายในกรอบเส้นสีเหลืองบนขั้นบันได ซึ่งเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” จากการถูกหนีบได้
การจับราวบันไดตลอดเวลาที่อยู่บนบันไดเลื่อนเป็นความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน เรื่องนี้ถูกละเลยไปในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะผู้คนกลัวว่าจะติดเชื้อไวรัสจากการสัมผัส แต่ความเป็นจริงแล้วการจับราวบันไดเป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” เพื่อความปลอดภัย
อุบัติเหตุบนบันไดเลื่อนยังมักเกิดขึ้นกับเด็กที่มักจะเล่นซนหรือขาดความระมัดระวัง ผู้สูงอายุที่ยืนได้ไม่มั่นคงหรืออาจหน้ามืดจนหกล้มบนบันได รวมทั้งคนที่มีกระเป๋าขนาดใหญ่ โดยเคยเกิดเหตุสัมภาระหลุดมือหล่นลงไปตามขั้นบันไดจนคนข้างล่างได้รับบาดเจ็บ หลายสถานที่จึงมีคำเตือนว่า เด็ก ผู้สูงอายุ และคนที่มีสัมภาระให้ไปใช้ลิฟต์แทนบันไดเลื่อน
ชาวญี่ปุ่นซึ่งเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เป็นประจำตระหนักดีว่า ภัยธรรมชาติไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ “ภัยมนุษย์” ที่เกิดจากความไม่เอาใจใส่ หรือความบกพร่องทางเทคนิคเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะยอมรับได้
ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบเหตุที่สนามบินดอนเมือง และขอให้ทุกคนมีสติเวลาใช้บันไดเลื่อน ยืนนิ่งๆ จับราวบันไดตลอดเวลา และงดใช้สมาร์ทโฟนเพียงแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น เพราะไม่คุ้มค่าเลยหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น.