คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ที่บ้านฉันนั้นมื้อเช้าส่วนใหญ่จะต่างคนต่างทำเอง เพราะกิจวัตรประจำวันเราไม่ตรงกัน ตื่นกันคนละเวลา ออกกำลังกายคนละเวลา รับประทานคนละเวลา แถมยังอยากรับประทานไม่เหมือนกันอีก กระทั่งแซนด์วิชก็ยังชอบคนละแบบ เพื่อตัดปัญหาและจะได้ไม่ต้องเครียด เลยตัวใครตัวมัน
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่สามีชอบรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารเช้า ฉันกลัวจะเสียสุขภาพเลยพยายามหาอย่างอื่นให้แทน เช่น โอ๊ตมีลใส่ผลไม้สดและถั่วอบ โจ๊ก หรือข้าวต้มเครื่อง แต่เขาก็ไม่ชอบพวกนี้เท่าไหร่ โชคดีว่าหลังๆ เขาค่อยๆ หันมารับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วยตัวเอง เช่น ข้าวสวยญี่ปุ่น ซุปเต้าเจี้ยวใส่สาหร่ายวากาเมะเยอะๆ นัตโต (ถั่วหมักญี่ปุ่น) ไข่ดาว หรือไข่ม้วนญี่ปุ่น
ที่จริงไม่ค่อยอยากให้รับประทานข้าวขาวเท่าไหร่เพราะแทบไม่มีสารอาหารแต่แคลอรี่สูง แต่เขาชอบข้าวสวยญี่ปุ่นมาก เลยปล่อยให้รับประทานเฉพาะมื้อเช้า จะได้เข้ากับกับข้าวของเขาด้วย ส่วนมื้ออื่นรับประทานเป็นข้าวกล้องหุงพร้อมลูกเดือย
บางวันเขาก็ทำโซบะร้อนๆ แต่เช้า ทีแรกฉันเห็นก็ตื่นตาตื่นใจว่าโซบะนี่ทำเองที่บ้านได้ด้วยหรือ เพราะนึกว่าน้ำซุปจะทำยาก ปรากฏว่าเขาบอกว่าแค่ใส่สึหยุเท่านั้น
“สึหยุ” (つゆ) ก็คือซอสปรุงรสอย่างหนึ่ง ทำจากโชยุ (ซอสถั่วเหลือง)+ดาชิ (ซุปสต๊อกญี่ปุ่น)+เกลือ+สารให้ความหวาน และสารปรุงแต่งอื่นๆ อีกมากมาย คนญี่ปุ่นยุคนี้ที่นิยมใช้สึหยุเป็นเสมือนซอสสารพัดประโยชน์ก็เยอะ แต่มีหลายคนที่เตือนว่าอย่าใช้บ่อยเพราะมีแต่สารปรุงแต่ง บางคนก็ตำหนิคนที่ใช้แต่สึหยุว่าทำอาหารไม่เป็น และทำอะไรออกมาก็รสชาติเหมือนกันหมด
ในเมื่อสามีทำน้ำซุปโซบะด้วยซอสปรุงรสโดดๆ เช่นนี้ แม่บ้านเขาผู้เรื่องมากในการทำอาหารเลยทนไม่ได้ จึงไปหาสูตรทำน้ำซุปโซบะ/อุด้งดู พบว่าทำไม่ยากเท่าที่คิด คือใช้โชหยุ+มิริน (เหล้าหวานไว้ทำอาหาร)+ดาชิเท่านั้นเอง ซึ่งจริงๆ ส่วนผสมก็คล้ายสึหยุนั่นแหละค่ะ แต่อย่างน้อยเราก็ใช้ดาชิทำเอง (ด้วยฝอยปลาคัตสึโอะแห้ง+สาหร่ายคมบุ) แทนดาชิผงที่มีแต่ชูรส และเลือกปรับหวานเค็มเองได้ แถมรสชาติก็ดีกว่ากันมาก พอสามีติดใจเลยเลิกทำโซบะที่ใส่แต่สึหยุ และฉันก็ทำเมนูนี้บ่อยโดยเฉพาะเวลาอากาศหนาวๆ
บางทีเราก็ซื้อ นางาอิโหมะ (長芋 ฮ่วยซัวสด) มาขูดด้วยที่ขูดไชเท้า ได้ออกมาเป็น “โทโรโระ” (とろろ) ใส่ลงในโซบะอร่อยดี ส่วนสาหร่ายวากาเหมะ และไข่นั้นใส่ตอนต้มน้ำซุป วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้ไข่ที่ตอกลงหม้อไม่หล่นตุ๋มไปแปะติดก้นหม้อ ก็คือให้ตอกไข่ดิบลงชามก่อน พอน้ำเดือดก็หรี่ไฟลง แล้วค่อยๆ เทไข่ในชามลงไปเบาๆ ถ้าใส่ไข่มากกว่าหนึ่งฟองก็ทำซ้ำแบบเดียวกันทีละฟอง วิธีนี้ฉันได้มาจากนักทำอาหารชาวญี่ปุ่นอีกต่อหนึ่ง ลองจำไปใช้ดูนะคะ
สมัยก่อนเวลาไปร้านโซบะ/อุด้ง รู้สึกตกใจมากกับเมนู “สึกิหมิ” (月見) ที่ใส่ไข่ดิบ และในใจก็เชื่อว่าคนญี่ปุ่นเขาคงไม่รับประทานกันดิบๆ อย่างนี้หรอกมั้ง เหม็นคาวแย่เลย คงรอให้ไข่สุกอยู่ในน้ำซุปแล้วค่อยรับประทานล่ะมัง แต่ฉันรอแล้วรอเล่ามันก็ไม่เคยสุกเสียที พอมาเจอร้านอุด้งบางร้านให้เลือกได้ว่าจะเอาไข่ดิบหรือไข่ลวก ก็เลยดีใจมาก สั่งเป็นไข่ลวกแทน ทว่าหากสั่งเป็นอุด้งแห้งแบบร้อนก็ให้เลือกเป็นไข่ดิบอาจจะอร่อยกว่า เพราะพอคลุกกับเส้นอุด้งร้อนๆ แล้วมันจะสุกพอดี แต่ถ้าสั่งเป็นไข่ลวก พอคลุกเส้นร้อนๆ แล้วมันจะสุกเกินไป ให้ความรู้สึกคล้ายอุด้งคลุกไข่ต้มบดละเอียด
อาหารญี่ปุ่นที่สามีฉันชอบคือ ทงคัตสึ (หมูชุบขนมปังป่นทอด) คาราอาเกะ (ไก่ชุบแป้งทอด) แกงกะหรี่ ฮัมบากุ (เนื้อบดปั้นเป็นก้อนทอดในกระทะ คล้ายไส้แฮมเบอร์เกอร์แต่หนากว่า) ดูไปก็น่ารักดีเพราะ 3 อย่างหลังเป็นเมนูเดียวกับที่เด็กญี่ปุ่นชอบ แต่ฉันไม่ค่อยทำอาหารทอดเพราะไม่ดีต่อสุขภาพ และทำให้บ้านอบอวลไปด้วยกลิ่นน้ำมัน แต่นานๆ ครั้งก็ทำบ้างเหมือนกันเพื่อให้เขาดีใจ
คราวก่อนที่เขากลับไปญี่ปุ่นคนเดียว เห็นบอกว่าสนใจ “กิวคัตสึ” (牛カツ) หรือเนื้อวัวชุบขนมปังป่นทอด ซึ่งเป็นเมนูมาแรงในญี่ปุ่นช่วงนี้ มันก็คล้ายกับหมูชุบขนมปังป่นทอด แต่ใช้เนื้อวัวทำและนิยมให้สุกแค่ด้านนอก ไม่นิยมราดซอสสีน้ำตาลข้นๆ อย่างเดียวกับหมูทอด แต่อาจจะแตะวาซาบิ หรือโชยุผสมวาซาบิเพียงเล็กน้อยก่อนรับประทาน ร้านบางแห่งมีเตาจิ๋วมาให้ย่างเนื้อส่วนที่ดิบๆ ด้วย ทำให้ดูน่าสนใจเป็นพิเศษ แม้สามีจะตื่นเต้นกับเมนูนี้ แต่ก็อดรับประทานเพราะไปถึงร้านทีไรก็แถวยาวทุกที ฉันเลยไปหาสูตรทำเมนูนี้มาเซอร์ไพรส์เขาตอนวันเกิด เห็นเขารับประทานด้วยความดีใจแล้ว คนทำก็เลยดีใจไปด้วยค่ะ
ฉันพบว่าพวกเมนูเนื้อสัตว์ชุบขนมปังป่นทอดนั้น จะให้ดีที่สุดคือใช้หม้อทอดโดยเฉพาะ เพราะควบคุมอุณหภูมิกับเวลาง่าย เวลาสุกแล้วเอามาหั่นชิ้น แป้งก็ไม่หลุดรุ่ยง่ายด้วย หรือถ้าใช้กระทะก็อาจจะใช้วิธีทอด 2 รอบ รอบแรกทอดเสร็จแล้วเอาเนื้อสัตว์มาวางบนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน แล้วเปิดไฟแรงขึ้นให้น้ำมันร้อนกว่าเดิม แล้วเอาเนื้อสัตว์ที่ทอดเมื่อครู่ลงไปทอดอีกรอบ แต่เพียงครู่เดียวแล้วเอาขึ้น แบบนี้จะได้เนื้อทอดที่สวยกว่าและกรอบกว่า แต่ต้องกะความร้อนและเวลาให้ดี ไม่งั้นก็ด้านในไม่สุกหรือด้านนอกเกรียม
ส่วนกิวคัตสึนั้น ต้องทอดด้วยเวลาเพียงไม่ถึง 1 นาทีต่อด้านจึงจะได้แบบที่ด้านในยังดิบ ส่วนฉันเป็นพวกไม่กล้ารับประทานเนื้อสัตว์ดิบๆ เลยทอดนานขึ้นหน่อยพอให้ได้แบบเกือบสุก ก็แปลกใจเหมือนกันที่เห็นคนญี่ปุ่นแต่ละคนที่รู้จักดูจะชอบเนื้อวัวแบบด้านในดิบกันทั้งนั้นเลย อาจเพราะอย่างนี้หลายคนเลยคิดไปเองว่าใครๆ ก็ชอบแบบนี้กันทั้งนั้น ฉันลำบากใจมากเวลาไปรับประทานอาหารกับกลุ่มคนญี่ปุ่นแล้วมีเมนู roast beef ซึ่งด้านในดิบๆ ครั้นจะเอ่ยปากว่ารับประทานแบบนี้ไม่ไหว ช่วยไปย่างมาใหม่ให้หน่อยก็เกรงใจ เลยทนท้องกิ่วไป
ส่วนบางเวลาที่ฉันนึกอยากรับประทานบะหมี่แห้ง แต่หาลูกชิ้นปลาอร่อยไม่มีขาย ก็จะทำเป็นหมูชาชูแทน โดยใช้เนื้อหมูส่วนไหล่มัดเป็นก้อน จี่ในกระทะให้ทั่วทุกด้าน แล้วค่อยต้มในน้ำที่ใส่ขิง กระเทียม พริกไทย ใบต้นหอม โชหยุ มิริน ซาเกะ และน้ำตาล ด้วยความที่ต้มแล้วเหลือน้ำเยอะ จะทิ้งก็เสียดาย ฉันเลยต้มไข่ยางมะตูมไว้ แล้วเอาไปแช่น้ำต้มชาชูข้ามคืน ก็จะได้ไข่ยางมะตูมปรุงรสเดียวกับตามร้านราเม็งแล้ว เวลารับประทานกับบะหมี่แห้ง ก็เอาน้ำชาชูราดไปด้วยนิดหน่อย ปรุงรสด้วยพริกป่น พริกน้ำส้ม กระเทียมเจียว โรยต้นหอมผักชี ฉันชอบอย่างนี้ แต่สามีจะชอบรับประทานแบบออกไปทางรสญี่ปุ่นมากกว่า เลยไม่ปรุงเพิ่ม และโรยแค่ต้นหอม
อาหารบางอย่างที่สามีทำอร่อย ก็จะให้เขาเป็นคนทำให้ค่ะ อย่างเช่น แกงกะหรี่ เต้าหู้ทรงเครื่องของจีน แต่ถ้าจะให้เขาคิดเมนูและทำกับข้าวเป็นส่วนใหญ่ล่ะก็ ฉันคงได้รับประทานแกงกะหรี่ สปาเกตตี และของทอดทุกสัปดาห์เป็นแน่แท้
โดยส่วนใหญ่แล้วฉันพยายามให้มีผักเยอะๆ ในทุกมื้อ ถ้าเป็นข้าวต้มเครื่องก็จะลวกผักรองไว้ก้นชาม ถ้าเป็นก๋วยเตี๋ยวก็ใส่ถั่วงอกเยอะหน่อย หรือใส่ผักบุ้ง กวางตุ้งลงไปด้วย นอกนั้นก็เป็นสลัดผักหรือผัดผัก สามีฉันมีนิสัยชอบรับประทานผักก่อนแล้วค่อยตามด้วยอาหารอย่างอื่นๆ ทำให้เวลาที่ทำสลัดใส่ชามโตๆ ไว้แบ่งกันทีไร เขาเลยมักเผลอรับประทานผักคนเดียวเกือบหมดทั้งชามระหว่างนั่งดูทีวีไปด้วย
ฉันโตมาในบ้านที่ทุกคนจะนั่งประจำที่และคุยกันตอนรับประทานข้าว ถ้ามัวติดทีวีอยู่ก็จะโดนดุ จึงไม่มีการตักข้าวใส่จานแยกไปนั่งเฝ้าทีวีอยู่คนเดียว เพราะอาจโดนไม้เรียวได้ แต่จากการสำรวจหนึ่งพบว่าคนญี่ปุ่นถึง 3 ใน 4 ทีเดียวที่เปิดทีวีระหว่างรับประทานข้าว เป็นอะไรที่ฉันรู้สึกเสียดาย เพราะคิดว่าโอกาสที่คนในครอบครัวจะมานั่งกันพร้อมหน้าอาจไม่ได้มีบ่อย และไม่ได้มีตลอดไป ถ้าไปให้ความสนใจกับหน้าจอมากกว่าคนตรงหน้า ก็จะพลาดเวลาอันมีค่าที่จะได้คุยกับคนในครอบครัว อีกทั้งยังไม่ได้รับรู้รสอาหารที่คนในครอบครัวอุตส่าห์ทำให้ด้วยความรักและใส่ใจ
สมัยเด็กฉันนั่งข้างแม่ที่โต๊ะอาหาร ตอนเหลือข้าวคำสุดท้ายในจานก็หยุดนิ่งไปครู่หนึ่ง ได้ยินแม่ถามขึ้นมาว่า “กินอันนี้ไหม” น้องฉันที่นั่งอยู่ตรงข้ามทำตาโต “แม่รู้ด้วยเหรอว่าพี่คิดอะไรอยู่” แม่บอก “รู้สิ กำลังคิดว่าเหลือข้าวคำสุดท้ายแล้ว จะกินกับอย่างไหนดี” พวกเราต่างก็ทึ่งกับคนเป็นแม่ที่รู้ใจลูกขนาดนั้น แม้จะผ่านมาหลายปีแล้วฉันก็ยังจำช่วงเวลาอบอุ่นแบบนั้นได้ สำหรับฉันแล้วจึงอยากให้มื้ออาหารเป็นเวลาดีๆ ร่วมกันของคนในครอบครัว
ยุคนี้ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่คงติดมือถือและแท็บเบล็ตกันงอมแงม ลองวางลงบ้างไหมคะ เอาหน้าจออะไรก็ตามไปไว้ที่อื่นระหว่างมื้ออาหาร และให้ความสำคัญกับคนที่รับประทานข้าวด้วยกัน ชีวิตคนเราสั้นนิดเดียว เราไม่มีวันรู้เลยว่าเราจะได้เห็นหน้ากันอย่างนี้ไปอีกนานแค่ไหน อาจจะถึงแค่พรุ่งนี้หรือเร็วกว่านั้นก็ได้ จะได้ไม่เสียใจทีหลังนะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.