สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว สัปดาห์ที่แล้วคุยในประเด็นที่ว่าทำไมบริษัทญี่ปุ่นจึงรับพนักงานที่จบชั้นมัธยมปลายมาทำงานแบบเดียวกับคนเรียนจบมหาวิทยาลัย เพราะสืบเนื่องมาจากสมัยก่อนการศึกษาในญี่ปุ่นไม่ได้คาดหวังให้เรียนจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพราะสมัยก่อนเน้นการศึกษาระดับประถมศึกษาที่เตรียมความพร้อมทุกหลักสูตรที่สามารถฝึกพัฒนาบุคลากรให้เก่งในการอ่านเขียนและคำนวณอย่างละเอียดถี่ถ้วน จึงกล่าวได้ว่าคนสมัยนั้นมีคุณภาพที่จะลงมาทำงาน หรือแรงงานในระดับภาคสนามที่ดีที่สุดในโลกอย่างแท้จริง มาถึงปัจจุบันที่เน้นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความสามารถและความรับผิดชอบ เมื่อมีคำถามว่า "แล้วฉันสามารถเป็นผู้จัดการในบริษัทญี่ปุ่นได้หรือไม่ แม้ว่าฉันจะจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย"
ก่อนอื่นขอเล่าย้อนกลับไปตอนที่ผมยังเป็นนักศึกษาสักหน่อยครับ เพื่อยกเป็นตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้น.. ครั้งที่ผมเรียนอยู่ปี 3 ผมไป Backpacker (แบ็กแพกเกอร์) ท่องเที่ยวที่อียิปต์โดยไม่รู้และไม่มีความคิดจะหางานเลย ผมพูดกับรุ่นพี่ที่พบเจอกันว่า "ผมยังอยู่ปี 3 ยังไม่ใช่ปี 4 ( ´・ω・`;)" → แต่รุ่นพี่และรุ่นใหญ่ชาวญี่ปุ่นหลายคนตำหนิผมว่า "คุณอยู่ปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยแล้ว นั่นแหละปีที่ต้องหางาน ไม่งั้นแย่แน่นอน" ความหมายคือนักศึกษาชาวญี่ปุ่นต้องเริ่มสมัครงานตอนปี 3 ทุกคนเริ่มเครียดเรื่องการหางานตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยแล้วละครับ ยิ่งช่วงปี 3 จะใช้พลังงานทั้งกำลังกายกำลังใจทุ่มเทหางานกันมาก เมื่อตอนนั้นผมไม่ได้คิดเรื่องหางานจึงไม่มีความวิตกกังวลอะไร แต่ผมมีบริษัทในใจที่ผมอยากเข้าไปทำงานอยู่เหมือนกัน นั่นคือบริษัทโชยุชื่อดังของญี่ปุ่นนั่นเองครับ
บริษัทโชยุนี้ถือว่าเป็นบริษัทระดับโลกก็ว่าได้ (( ́ー`*)) มีความมั่นคงและเสถียรมาก แถมสวัสดิการก็ถือว่าเยี่ยมมาก พนักงานทุกคนที่ทำงานที่นั่นจึงไม่ลาออก (และเข้ายากมาก) มีอีกจุดที่ดีคือเป็นบริษัทที่สร้างขึ้นมาจากตระกูลหนึ่ง และบริษัทประเภทนี้เป็นที่รู้กันว่าจะมีเพียงญาติพี่น้องเท่านั้นที่สามารถขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงได้ ซึ่งผมคิดว่ามันดีมากที่พนักงานรู้นโยบายหลักขององค์และยอมรับตั้งแต่แรกเข้าจริงๆ ผมคิดว่าถ้าผมไม่ล่าช้าผมก็อยากจะพยายามเข้าให้ได้อยู่นะ แต่ผมพลาดที่ไม่รู้ว่าต้องหางานตั้งแต่ปี 3 เพราะพอผมขึ้นปี 4 ผมเริ่มไปสมัครงานเขาบอกว่าต้องมาสมัครตั้งแต่ปี 3 ซึ่งมันหมดเวลาของผมไปแล้ว!! และผมก็คงหางานไม่ได้เสียแล้ว
ดังนั้น การสมัครงานสําหรับนักศึกษาปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยจึงเหมือนช้าเกินไป (คนหนุ่มสาวไม่มีงานทําแม้ว่าพวกเขาจะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยก็ตาม มันเป็นช่วงเวลาที่แย่มาก...) ดังนั้น ผมจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเชื่อคําแนะนําที่ผมได้ยินตอนที่เจอรุ่นพี่ที่อียิปต์ว่า "ดูเหมือนคุณจะไม่ทะเยอทะยานเลย คุณอาจจะเหมาะกับงานข้าราชการนะ" ตามนั้น ผมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเริ่มติวข้อสอบและเรียนเพื่อสอบข้าราชการ และผมก็สอบได้ทำงานเป็นข้าราชการที่จังหวัดหนึ่ง
ประเด็นการทำงานในบริษัทและองค์กรญี่ปุ่น ใครจะขึ้นเป็นหัวหน้า เขาดูจากไหน ใครทำงานได้ยอดเยี่ยมหรือตามเกณฑ์ใด ยังถือเป็นปัญหาที่สําคัญและยากจะเข้าใจเพราะแต่ละแห่งตัดสินไม่เหมือนกันเลย
□ หากเป็นบริษัทที่สร้างมาจากตระกูลใดๆ แล้วเขาจะให้ลูกชายของประธานบริษัทที่แม้เพิ่งเรียนจบ (เช่น อายุ 20 ปี) มาทำงานและผลักดันเป็นผู้บริหาร → ผมไม่คิดว่ามันแปลกเลย
□ หากเป็นงานขายแบบประเมินผลจากค่าคอมมิชชัน commission-based (เช่นงานขายประกัน อพาร์ตเมนต์) ผมไม่คิดว่าคนที่ขายได้มากที่สุดคือคนที่ทำงานได้ยอดเยี่ยมที่สุด → แต่แปลกมากที่มีบริษัทญี่ปุ่นประเมินผลโดยไม่คํานึงถึงวุฒิการศึกษาของบุคคล หมายถึงถ้ามีคนหนึ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยโตเกียว อีกคนอาจจะจบมัธยมปลายแต่เขาทำยอดขายได้ยอดเยี่ยมกว่าเขาอาจจะขึ้นเป็นหัวหน้าได้ ขึ้นอยู่กับเกณฑ์การประเมินของบริษัทนั้นๆ
□ ผู้ประกอบการธุรกิจเสรี มักมีการประเมินตลาดและประเมินจากผลตอบรับจากลูกค้าล้วนๆ → ก็ไม่คิดว่าแปลกอะไร
□ บริษัทญี่ปุ่น → ส่วนใหญ่มีเกณฑ์การประเมินคลุมเครือและลึกลับ การประเมินบุคลากรส่วนใหญ่ไม่ได้ตัดสินใจจากการที่มีความสนิทสนมกับผู้บริหารระดับสูง แต่อาจประเมินจากคนที่มาทำงานเช้า อยู่ที่ทำงานนาน เพื่อนๆ ชื่นชม เป็นต้น หลายคนคิดว่ามันเข้าใจยากมาก
สัปดาห์ที่แล้วที่เล่าไปว่าบริษัทญี่ปุ่นคัดเลือกให้ทั้งผู้สําเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายและผู้สําเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีโอกาสเท่าเทียมกันในการทํางานเดียวกันและแข่งขันกับมาตรฐานที่คลุมเครือ พูดตรงๆ มันโหดเหี้ยมและโหดร้ายกว่าบริษัทใหญ่ๆ ที่สร้างมาจากตระกูลใดตระกูลหนึ่งมาก และผมคิดว่ามันเป็นนรกสําหรับบางคนที่ต้องทุ่มเททำงานอย่างหนักและเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้ถูกประเมิน
ดังนั้น ต่อข้อคำถามที่ว่า "แล้วฉันสามารถเป็นผู้จัดการที่บริษัทญี่ปุ่นได้หรือไม่ แม้ว่าฉันจะจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย?" ต้องตอบว่าขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทก็ใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันไป แต่ก็เป็นไปได้มากครับ
บางบริษัทใช้ระดับความอาวุโส การทำงานอยู่กับบริษัทมานาน บางคนเก่งและเชี่ยวชาญจริงแต่บางคนก็ความสามารถไม่ถึงก็มี (*´ω`*) บางบริษัทมีนโยบายว่า หากคุณทํางานหนัก คุณก็สามารถเป็นประธานบริษัทได้ จึงเป็นเรื่องยากลำบากในการทำงานที่จะต้องถูกบังคับให้แข่งขันกับมาตรฐานที่คลุมเครือเหมือนการแขวนแครอทไว้ตรงหน้า (แน่นอนว่า 90% ของพนักงานไม่สามารถเป็นผู้จัดการส่วนได้ และ 99% ไม่สามารถเป็นผู้บริหารหรือประธานบริษัทได้) แต่บริษัทที่สร้างจากตระกูลใดตระกูลหนึ่งจะชัดเจนเรื่องการแต่งตั้งตำแหน่งสําคัญสําหรับการสืบทอดตำแหน่งทางธุรกิจ เนื่องจากความสามารถและมีการส่งเสริมด้านการศึกษาให้มีพรสวรรค์ตั้งแต่วัยเด็ก วันนี้เล่าสู่กันฟัง พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ