xs
xsm
sm
md
lg

“คาวาอี้” ไว้ก่อน กับแฟชั่นผู้หญิงญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก woman.mynavi.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน แฟชั่นเสื้อผ้าผู้หญิงของญี่ปุ่นกับอเมริกาต่างกันคนละแนว ญี่ปุ่นจะเน้นความน่ารัก หวานๆ ดูเป็นเด็กๆ แบบที่เรียกว่า “คาวาอี้” ซึ่งอาจเป็นความชอบส่วนตัว แต่ก็อาจเป็นเพราะลักษณะเด่นบางอย่างของสังคมญี่ปุ่นเองด้วย ส่วนอเมริกาดูไม่ค่อยมีแนวคิดเรื่องความน่ารักอยู่ในแฟชั่นมากนัก ออกจะเน้นไปที่ความสวมใส่สบาย หรือไม่ก็ดูเท่ สวยเซ็กซี่มากกว่า

มีบทความญี่ปุ่นแห่งหนึ่งบอกว่า คนญี่ปุ่นจะตัดสินใจเลือกเสื้อผ้าโดยคิดว่ามีคนจับตามองอยู่ และผู้หญิงจะชอบแฟชั่นที่เน้นความน่ารัก (คาวาอี้ 可愛い) คงเพราะอย่างนี้เองนิตยสารแฟชั่นทั้งเสื้อผ้าและทรงผมจึงมักมีคำว่า “น่ารักแบบผู้ใหญ่” (大人可愛い) ซึ่งฟังแล้วขัดกันอยู่ในทีเพราะ “ผู้ใหญ่” กับ “น่ารัก” น่าจะไปกันคนละทาง แต่คนญี่ปุ่นทำให้มันเกิดขึ้นได้

ถ้าอยู่ญี่ปุ่นก็จะเห็นชัดว่า ผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่แล้วยังพยายามรักษาความ “ดูน่ารัก” ในการแต่งตัว ทั้งเสื้อผ้าที่มีระบาย ลายฉลุ กระโปรงพลิ้ว รองเท้าลายดอกไม้ รองเท้าส้นสูงหัวมน แต่งหน้าก็ให้ดูอ่อนๆ เป็นธรรมชาติ ไว้ผมทรงหน้าม้ากันเยอะ (ผู้ชายด้วย) ท่วงท่าในการเดินก็ดูคล้ายกันหมด เดินก้าวเล็กๆ ไม่ก้าวยาวๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะสวมรองเท้าที่ดูสวยน่ารักไว้ก่อน แต่อาจจะใส่ไม่สบายเลยเดินลำบากหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ

ภาพจาก magazine.cubki.jp
เวลาไปตัดผม พอเอาแบบผมให้ช่างดู ช่างผู้ชายจะต้องพูดเอาใจลูกค้าเสมอเลยว่า “คาวาอี้ๆ” แสดงว่าลูกค้าผู้หญิงคงชอบทรงผมแบบที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าน่ารักกันจริงๆ ทรงผมหลายทรงยังมีลูกเล่น เช่น ดัดปลายผมบางส่วนให้โค้งเพื่อให้ดูลุคหวานขึ้น หญิงขึ้น เป็นอะไรที่หาไม่เจอในอเมริกา ถ้าอยากได้ต้องไปหาช่างตัดผมชาวญี่ปุ่นเท่านั้น

ทำไมผู้หญิงญี่ปุ่นจึงดูแสวงหาความ “คาวาอี้” กันนัก?

จากปากคนญี่ปุ่นหลายรายบอกว่าเป็นเพราะผู้ชายญี่ปุ่นนั่นแหละ คือแม้ปัจจุบันสถานภาพของผู้ชายญี่ปุ่นยังถือว่าใหญ่กว่าผู้หญิง และผู้หญิงจำนวนมากก็แต่งงานเพียงเพราะต้องการพึ่งพาผู้ชายด้านความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดี นอกจากนี้ ผู้ชายญี่ปุ่นเองก็อยากเป็นผู้นำมากกว่าจะให้ทัดเทียมหรือด้อยกว่าผู้หญิง จึงชอบผู้หญิงที่ดู “คาวาอี้” หรือดูเป็นเด็กๆ เพราะดูอ่อนแอกว่าตัวเอง และกระตุ้นให้รู้สึกอยากปกป้อง เพราะฉะนั้นผู้หญิงส่วนหนึ่งก็เลยคิดว่าถ้าทำตัวให้ “คาวาอี้” ไว้จะมีเสน่ห์เป็นที่หมายปอง

ผู้หญิงที่ตัวไม่ค่อยสูงยังดูเหมือนจะได้รับความนิยมชมชอบมากกว่าผู้หญิงตัวสูงด้วย เพราะดูเป็นเด็กๆ และดูอ่อนแอน่าทะนุถนอม และผู้หญิงบางคนก็ชอบแสดงท่าที “คาวาอี้” ต่อหน้าผู้ชาย แต่ต่อหน้าผู้หญิงด้วยกันจะเป็นอีกแบบ ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกผู้หญิงลักษณะนี้ว่า “บุริกโกะ” (ぶりっ子) ซึ่งจะเป็นแนวที่ผู้หญิงด้วยกันไม่ชอบ

ภาพจาก marouge.jp
ภาพลักษณ์แบบ “คาวาอี้” ยังทำให้ดูอ่อนกว่าอายุจริงด้วย จึงมีหลายคนที่แม้อายุจะเลยวัยสาวแล้วก็ยังแต่งตัวแนวคาวาอี้อยู่ แต่สำหรับบางคนก็อาจดูดีได้เหมือนกันถ้าเจ้าตัวหน้าอ่อนกว่าวัย เข้ากับบุคลิกจริงและรูปร่างหน้าตา ฉันเคยรู้จักผู้หญิงญี่ปุ่น 2 คนในวัย 40 กว่า คนหนึ่งแต่งตัวแบบคาวาอี้ อีกคนแต่งตัวแบบผู้ใหญ่ วันหนึ่ง 2 คนนี้พอดีเดินมาจ๊ะเอ๋กันบริเวณทางเดินในอาคาร คนหลังเห็นคนแรกปุ๊บก็โพล่งออกมาว่า “วากะสึขุหริ!” (若作り) หมายถึงอายุมากแล้วยังพยายามจะทำตัวให้ดูอ่อนวัย

สำหรับฉันแล้วมองว่าทั้งคู่ต่างก็แต่งแฟชั่นในแบบที่เหมาะกับตัวเอง และคนแรกก็แต่งตัวน่ารักสดใสเหมาะกับบุคลิกตามธรรมชาติของเธอดีออก เลยแอบเสียดายที่หลังๆ เธอแต่งตัวแบบผู้ใหญ่ขึ้น แม้ว่าเธอจะดูสวยไปอีกแบบก็ตาม

อเมริกากับลุคแฟชั่นที่เป็นตัวของตัวเอง


ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงอเมริกันจะไม่นิยมแต่งตัวแบบ “คาวาอี้” เลย แต่จะชอบให้ดูเป็นผู้ใหญ่ คูล สวย เซ็กซี่ และคนบางเชื้อชาติก็นิยมผู้หญิงบั้นท้ายใหญ่ เพื่อนฉันบอกว่าคนผิวดำจะชอบใช้แผ่นเสริมบั้นท้ายอีกทีเพื่อให้ดูใหญ่ขึ้นจะได้เซ็กซี่ เสื้อผ้าฤดูร้อนของผู้หญิงก็เป็นชุดที่โชว์ผิวแบบไม่กลัวอาย แต่ผู้หญิงญี่ปุ่นจะไม่นิยมแต่งตัวเซ็กซี่ หรือเปิดเผยเนื้อหนังมังสาในที่สาธารณะ อย่างเสื้อสายเดี่ยวหรือชุดไม่มีแขนนั้น คนญี่ปุ่นจะใส่ทับเสื้อยืดอีกที หรือไม่ก็ใส่เสื้อคลุมให้ดูเรียบร้อยหน่อย ซึ่งบางทีก็น่าเสียดายเหมือนกันเพราะบางชุดถูกออกแบบมาให้ใส่ทั้งอย่างนั้น ไม่ใช่สวมทับกับอย่างอื่น ความสวยของชุดเลยถูกลดทอน

ภาพจาก vocal.media
การแต่งตัวของคนอเมริกันดูจะให้ความสำคัญกับการสวมใส่สบาย เดินเหินสะดวก และไม่สนใจตามเทรนด์แฟชั่นเท่าไหร่นัก และคนที่ไม่แต่งหน้าเลยก็เยอะ อย่างในที่ทำงานฉันมีผู้หญิงที่ขยันแต่งหน้าแต่งตัวอยู่แค่คนเดียวเท่านั้นเอง ส่วนคนอื่นๆ นั้นต่างก็มีสไตล์ของตัวเอง นายฉันซึ่งเป็นผู้ชายจะสวมเสื้อเชิ้ตแขนยาว ผูกไท และรองเท้าหนังเสมอ ส่วนรองผู้อำนวยการซึ่งตำแหน่งสูงกว่าชอบสวมเสื้อเชิ้ตลำลอง กางเกงยีนส์ และรองเท้าผ้าใบ และผู้อำนวยการจะอยู่กลางๆ ระหว่าง 2 คนนี้

เมื่อก่อนตอนฉันอยู่ญี่ปุ่นจะดูกลืนกับคนอื่นๆ เพราะใส่เสื้อผ้าแนวเดียวกัน บวกกับค่านิยมสังคมพลอยจัดกรอบให้ทำตัวคล้ายคลึงกันไปโดยปริยาย แต่เดี๋ยวนี้พอไปญี่ปุ่นก็จะดูไม่กลืนกับคนญี่ปุ่นอย่างเมื่อก่อนแล้ว ส่วนแรกที่ทำให้ดูแตกต่างน่าจะเป็นเสื้อผ้านี่เอง จำได้ว่าพอกลับไปเยี่ยมที่ทำงานเดิมแล้ว เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งบอกว่าเดี๋ยวนี้แต่งตัวทะมัดทแมงต่างจากแต่ก่อน ฉันเลยเพิ่งรู้ตัวตอนนั้นว่าสไตล์การแต่งตัวที่ติดมาจากอเมริกาจะต่างจากตอนอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมาก

ไซส์เสื้อผ้าที่เข้าใจง่ายในญี่ปุ่น - หลากหลายในอเมริกา

ไซส์เสื้อผ้าของญี่ปุ่นจะเข้าใจง่ายหน่อย คือ เล็ก กลาง ใหญ่ (S, M, L) อะไรก็ว่าไป ไซส์รองเท้าก็เข้าใจง่ายเหมือนกัน คือเป็นความยาวของรองเท้าด้านในเลย สมมติฝ่าเท้าเรายาว 24 ซม. ก็อาจจะเลือกไซส์รองเท้าเป็น 24.5-25 ซม. อะไรแบบนี้ มันก็ทำให้เราจำได้ด้วยว่าเท้าเรายาวเท่าไหร่

แต่ของอเมริกาจะเป็นอีกระบบหนึ่ง คือเสื้อผ้าจะมีทั้งแบบ XXS - XXL ไม่ก็เบอร์ตั้งแต่ 00 ขึ้นไป บางยี่ห้อมีเสื้อผ้าสำหรับคนตัวใหญ่และคนท้องโดยเฉพาะ กางเกงบางยี่ห้อมีความยาวของขากางเกงให้เลือก ส่วนขนาดรองเท้าเป็นเบอร์เลขเดี่ยวไปจนถึงเบอร์ 10 กว่า และบางยี่ห้อก็มีแบบกว้างพิเศษด้วย ด้วยความที่อเมริกามีหลายระบบและไม่เหมือนของญี่ปุ่น ฉันเลยต้องจดเก็บไว้ว่าตัวเองใส่อะไรไซส์ไหน จะได้ไม่งงเวลาเลือกซื้อ

ซ้ายคือเสื้อผ้าขนาดทั่วไป ขวาคือ “petite” ภาพจาก buzzfeed.com
สำหรับคนไทยคงไม่ค่อยเจอปัญหาถ้าซื้อเสื้อผ้าในญี่ปุ่น เพราะขนาดตัวยังพอๆ กัน แต่ถ้าไปอเมริกาอาจปวดหัวหน่อย อย่างเสื้อผ้าไซส์ S ที่ญี่ปุ่นและไทยอาจกลายเป็นไซส์ XS ของอเมริกา และบางทีขนาดเราเลือกเสื้อผ้าไซส์ที่น่าจะพอดีกับเราแล้ว ก็อาจจะพบว่าช่วงแขน ขา หรือลำตัวยาวไป ร้านเสื้อผ้าบางยี่ห้อเขาเลยมีไซส์ “petite” สำหรับคนสูงไม่ถึง 165 ซม. ซึ่งจะทำออกมาแขนขาและช่วงตัวสั้นกว่า และเหมาะกับคนเอเชียทั่วไปมากกว่า

แบรนด์ญี่ปุ่นยอดนิยมทั่วโลกที่มีภาพลักษณ์เป็นของถูก

แม้ Uniqlo จะเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ แต่ในญี่ปุ่นนั้นคนที่ใส่แต่เสื้อผ้ายี่ห้อนี้ดูเหมือนจะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีเท่าไหร่ มีอยู่ครั้งหนึ่งฉันเห็นเพื่อนในชมรมเทนนิสใส่แจ็กเกตซึ่งดูคล้ายกับตัวที่ฉันเล็งไว้ที่ร้านพอดี ฉันเลยถามว่าตัวนี้ใช่ของ Uniqlo หรือเปล่า เธอหน้าแดงแจ๋ทันที พลางหลบตาตอบว่า "ใช่ค่ะ" ทำให้ฉันนึกไปถึงการ์ตูนที่เคยอ่าน มีตัวละครตัวหนึ่งบอกว่าเธอต้องเลิกใส่แต่เสื้อผ้ายี่ห้อนี้เสียที และหันมาแต่งตัวให้มีสไตล์กว่านี้

ภาพจาก nymag.com
ทีแรกฉันก็แปลกใจเหมือนกันค่ะว่าทำไมเสื้อผ้ายี่ห้อยอดนิยมมีภาพลักษณ์ออกแนวลบ ได้ทราบว่าคนญี่ปุ่นหลายคนชมว่าเนื้อผ้ากับการตัดเย็บดี และเป็นสไตล์ที่สวมใส่ได้หลายโอกาสก็จริง แต่ก็เรียบๆ ไม่ค่อยมีแบบที่ชวนให้รู้สึกว่า “เท่จัง” “เก๋จัง” หรือต่อให้เป็นแบบที่ดูดี แต่ในเมื่อเสื้อผ้ายี่ห้อนี้ขายดีทั่วโลก จะมีคนที่ใส่แบบเดียวกันซ้ำไม่รู้เท่าไหร่ จึงดู “โหล” และความที่ยี่ห้อนี้ราคาไม่แพงก็เลยสร้างภาพลักษณ์ว่าคนที่ใส่ “ไม่ค่อยมีเงิน” ไปด้วย บางคนเลยเลือกเฉพาะเสื้อยี่ห้อนี้ แล้วหาแจ็กเกตยี่ห้ออื่นใส่ทับ

แต่ที่ทำงานฉันก็ใส่กันหลายคนนะคะ (สงสัยพวกเราคงไม่ค่อยมีเงิน?) ก็น่าแปลกดีที่ยังไม่เคยเจอใครใส่ชนกันเสียที ยกเว้นมีบ้างที่เสื้อตัวในแบบและสีเดียวกัน แต่เสื้อคลุมคนละแบบ ฉันเองก็ชอบยี่ห้อนี้ตรงที่ส่วนใหญ่ตัดเย็บดีและใส่ทน จึงไม่เคยต้องมานั่งซ่อมแม้จะผ่านมาหลายปี ในขณะที่ยี่ห้อฝรั่งหลายยี่ห้อบางทีแพงกว่า แต่เนื้อผ้ากลับไม่ดี ทั้งยังตัดเย็บลวกๆ ใส่ได้ไม่นานก็มีปัญหา

เรื่องของเสื้อผ้ามีอะไรมากกว่าที่คิดนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น