นิกเคอิ เผย (8 มิ.ย.) พล.อ.หลี่ ซ่างฟู่ กล่าวในคำปราศรัยเกี่ยวกับหมู่เกาะเซนกากุที่ญี่ปุ่นปกครอง ว่า “ปัญหาเตียวหยู (เซนกากุ) ไม่ใช่ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นทั้งหมด” “ทั้งสองฝ่ายควรพิจารณาประเด็นนี้จากมุมมองระยะยาวและรอบด้าน”
โดยทั่วไป เมื่อผู้นำทางทหารของจีนกล่าวสุนทรพจน์ในงานทางการทูต จะใช้ท่าทีแข็งกร้าว และจะไม่ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มใหม่ในนโยบายต่างประเทศของปักกิ่ง ทว่าเมื่อ พล.อ.หลี่ ซ่างฟู่ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีกลาโหมของจีน พบ ยาสึคาซู ฮามาริ รัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่นที่สิงคโปร์ (Shangri-La Dialogue) เขาได้แสดงความคิดเห็นการทูตทางทหาร ในบริบทของความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความสนใจมาก
พล.อ.หลี่ ซ่างฟู่ กล่าวในคำปราศรัยเกี่ยวกับหมู่เกาะเซนกากุที่ญี่ปุ่นปกครอง ว่า “ปัญหาเตียวหยู (เซนกากุ) ไม่ใช่ทุกสิ่งในความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายควรพิจารณาประเด็นนี้จากมุมมองระยะยาวและรอบด้าน”
ความเห็นของหลี่แตกต่างจากนโยบายล่าสุดอย่างชัดเจน สำหรับผู้ที่สังเกตความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งยิ่งเพิ่มความประหลาดใจเมื่อเป็นความเห็นต่อหน้าสื่อต่างประเทศ
นายพลหลี่ ได้เกริ่นนำถึงไต้หวันเป็นอันดับแรก “ปัญหาไต้หวันเป็นปัญหาภายในของจีน” เขากล่าว โดยแสดงความหวังว่าญี่ปุ่นจะปฏิบัติตามแถลงการณ์ 4 ฉบับที่ผ่านมาระหว่างสองประเทศ และโตเกียวจะไม่ส่ง “สัญญาณผิด” ไปยังกองกำลังในไต้หวันที่เรียกร้องเอกราช
แต่ประเด็นหมู่เกาะเซนกากุ เขาระบุว่านี่ไม่ใช่ทุกสิ่งในความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น พร้อมหยิบยกข้อเสนอของเขาไปไกลกว่าที่นักการทูตจีนกล่าวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในการพิจารณาจากมุมมองระยะยาวสองชาติ
ไม่ว่ายุทธศาสตร์ของปักกิ่งจะเป็นเช่นไร เป็นเรื่องไม่ปกติอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงจะแสดงความคิดเห็นที่สำคัญเช่นนี้ โดยพิจารณาว่าการทูตกับญี่ปุ่นเป็นขอบเขตอำนาจพิเศษของกระทรวงการต่างประเทศจีนมาโดยตลอด
แต่อะไรจะสำคัญเท่ากับว่า หลี่เป็นหนึ่งในสมาชิกเจ็ดคนของคณะกรรมาธิการการทหารกลาง นำโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดสำหรับกิจการทางทหาร
หลี่กำลังพูดในนามของคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง
หากเป็นกรณีนี้ แสดงว่าสัญญาณของหลี่มีความสำคัญมากกว่าข้อความต่อต้านญี่ปุ่นทั่วไปที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศจีน และสะท้อนถึงนโยบายที่แท้จริง ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า สี จิ้นผิง ให้ความสำคัญกับกองทัพและความมั่นคงของชาติเป็นอย่างมาก
เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ประเด็นเรื่องเกาะนี้มีผลทางการทูตจีนกับญี่ปุ่นมาตลอด จริงๆ แล้วเป็นกระแสหลักในช่วงจนถึงเดือนกันยายน 2555
กลุ่มหัวรุนแรงที่ต่อต้านญี่ปุ่นเริ่มมีกระแสมาตั้งแต่ราวปี 2551 ด้วยการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจจีน กลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นยืนกรานว่าจีนควรเลิกใช้ "การทูตที่อ่อนแอ" ในการเจรจาภายนอก
การเดินขบวนต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นทั่วประเทศจีนในเดือนกันยายน 2555 หลังจากที่ญี่ปุ่นให้เกาะเซนกากุเป็นทรัพย์สินของสาธารณะ
ในปีนั้น ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา เยือนโตเกียวและตกลงกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยาสุโอะ ฟุคุดะ เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งก๊าซในทะเลจีนตะวันออก
แหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับกิจการภายในของจีนเคยเล่าว่า "หากข้อตกลงได้รับการปฏิบัติ ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นจะไม่ตึงเครียดอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้"
กลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นที่แข็งกร้าวต่อต้านข้อตกลงดังกล่าว
หลังจากต่อต้านข้อตกลงเรื่องแก๊สแล้ว กลุ่มผู้แข็งกร้าวก็ตั้งเป้าหมายที่เกาะเซนกากุซึ่งเป็นประเด็นพิพาทหลักกับญี่ปุ่น
ความสัมพันธ์ย่ำแย่ลง ในปี 2553 เมื่อเรือประมงจีนชนกับเรือยามฝั่งญี่ปุ่น 2 ลำใกล้เซนกากุ สองปีต่อมา การเดินขบวนต่อต้านญี่ปุ่นได้ก่อตัวขึ้นทั่วประเทศจีน ครั้งใหญ่สุดนับหลังจากยุครวมชาติ
เมื่อสี จิ้นผิง ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด จีนก็แสดงท่าทีที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นต่อเกาะเซนกากุ
ในปี 2561 หน่วยยามฝั่งของจีน ได้รวมเข้ากับกองกำลังติดอาวุธภายใต้การบังคับบัญชาของคณะกรรมาธิการทหารกลาง
ในปี 2564 กฎหมายหน่วยยามฝั่งของจีนได้อนุญาตให้เรือของรัฐบาลจีนใช้อาวุธได้หากจำเป็น
นับแต่นั้น เรือของรัฐบาลจีนได้รุกน่านน้ำญี่ปุ่นรอบเกาะเซนกากุ เป็นประจำ เรือเหล่านี้ได้รับคำสั่งโดยคณะกรรมาธิการการทหารกลาง อย่างไม่ต้องสงสัย
บทวิเคราะห์คัทสึจิ นากาซาวะ หัวหน้าสำนักข่าวจีนของนิกเคอิ หลังประจำอยู่ที่ประเทศจีนนาน 7 ปี ผู้รับรางวัล Vaughn-Ueda International Journalist ในปี 2014 กล่าวว่า เหตุที่ผู้นำฝ่ายกลาโหมของจีนกล่าวถึงปัญหานี้ก่อน น่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เลวร้ายรอบๆ ประเทศจีน ความโดดเดี่ยวของปักกิ่งปรากฏให้เห็นเต็มตาในสิงคโปร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีรัสเซีย
หลี่ปฏิเสธที่จะนั่งข้างรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน เนื่องจากสหรัฐฯ ยังคงคว่ำบาตรนายพลจีนรายนี้ และการมีปฏิสัมพันธ์เพียงอย่างเดียวของ หลี่ กับ ออสติน คือการจับมือกันก่อนอาหารค่ำ
ในขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เดินหน้าให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ยูเครน การที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กำลังกระชับความสัมพันธ์จับมือกันเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่ากังวลสำหรับจีน
หากหลี่ปฏิเสธที่จะพบญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วย ความโดดเดี่ยวคงจะชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้นเขาจึงได้แยกตัวไปเปิดสายคุยกับรัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลี่และออสตินจะไม่ได้พบกันโดยตรง แต่คาดว่าทั้งสองประเทศจะติดต่อในระดับล่างในสิงคโปร์เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน มีการประชุมระดับสูงระหว่างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีนในกรุงปักกิ่ง แดเนียล คริทเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้พบกับเจ้าหน้าที่จีน รวมถึง หม่า จ้าวซู่ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งการประชุมเป็นไปด้วยดี
ท้ายที่สุดแล้ว เศรษฐกิจเป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญที่สุดของความมั่นคงของจีน แม้ว่าจีนจะยอมโอนอ่อนผ่อนตามไต้หวันไม่ได้ แต่ความสัมพันธ์ที่ถดถอยยิ่งขึ้นกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้อาจส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจจีน และญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของสหรัฐฯ สำหรับปักกิ่ง
ญี่ปุ่นกำลังเฝ้าดูการทูตทางทหารนำของจีนนี้อย่างระมัดระวัง การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในภาษาทางการทูตอาจบอกเป็นนัยถึงความเปลี่ยนไป แต่โตเกียวก็ไม่อาจแน่ใจได้ และยังไม่น่าเป็นไปได้ที่เรือของจีนจะลดการกระทำอันเป็นการยั่วยุรอบๆ เกาะเซนกากุ
สำหรับตอนนี้ก็รอดูกันต่อไป