สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว เพื่อนๆ สบายดีไหมครับ ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเป็นวันหยุดยาวหรือช่วงโกลเด้นวีกของญี่ปุ่น (Golden Week ) ที่จะมีวันหยุดยาวตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี หลายๆ คนจะได้หยุดพักผ่อนไปเที่ยวกัน เพื่อนๆ ผมที่ญี่ปุ่นได้หยุดงานกัน และเราก็ได้มีโอกาสโทรศัพท์คุยกันเพราะปกติเพื่อนผมที่ญี่ปุ่นเขาจะทำงานยุ่งมากจนแทบจะไม่ได้มีการติดต่อกันปีหนึ่งๆ ก็จะได้คุยกันสักครั้งหนึ่งช่วงวันหยุดยาวนี่เองครับ แต่บางทีการคุยกันทางโทรศัพท์ก็คุยแบบลงรายละเอียดกันเยอะมากไม่ได้เท่ากับการได้เจอกัน
ไม่เหมือนตอนที่ผมไปญี่ปุ่นเมื่อปลายปีที่แล้วได้นัดเจอเพื่อนเก่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัยอีกคนหนึ่ง ครั้งนั้นได้เจอกันตัวต่อตัว นั่งกินอาหาร ดื่มเครื่องดื่มคุยกันไปสารพัดเรื่อง ได้เห็นหน้าค่าตา เห็นท่าทีกันมากกว่าการคุยทางโทรศัพท์เลยทำให้กล้าคุยกันได้เยอะ เพื่อนผมทำงานฝ่ายขายที่บริษัทหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น เขาเล่าว่าต้องขายหนังสือพิมพ์ให้ร้านค้าตัวแทนขายที่เขาดูแลอยู่ ซึ่งลูกค้าในมือก็หลายร้อยเจ้า และจะต้องมีการเก็บข้อมูลแนวๆ ทำวิจัยบริษัทห้างร้านของลูกค้าที่เซลล์แต่ละคนรับผิดชอบอยู่เพื่ออัปเดตและวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ ซึ่งเรื่องเก็บข้อมูลแบบนี้ต้องบอกว่าบริษัทญี่ปุ่นชอบทำกันมากๆ แล้วเพื่อนผมเล่าว่า มีอยู่ร้านหนึ่งได้เขียนประวัติครอบครัวส่งมาให้ แล้วระบุว่าลูกชายของเขามีอาชีพเป็นยูทูบเบอร์!!
ถ้าเป็นคนรุ่นผมเราจะไม่คุ้นเคยกับคำว่าอาชีพยูทูบเบอร์ ในความรู้สึกก็จะประมาณว่า เอ๋นี่มันเป็นอาชีพด้วยหรือก็ยังงงๆ กัน สมัยนั้นถ้าตกงานหรือไม่ทำงานพ่อแม่อาจจะเขียนว่าลูกทำงานอาชีพอิสระ หรืออะไรก็ว่าไปเพราะสังคมสมัยก่อนนักเรียนนักศึกษาจะพยายามสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อเรียนจบออกมาแข่งกันเข้าทำงานบริษัทใหญ่ๆ เป็นมนุษย์เงินเดือนในบริษัทที่มีสวัสดิการดีๆ แต่โลกสมัยนี้มันเปลี่ยนไปมากหลายเรื่อง จนคนรุ่นผมและคนรุ่นสูงอายุกว่าที่มีจำนวนมากในประเทศญี่ปุ่นบ่นกันว่า ไม่เข้าใจเด็กรุ่นนี้จริงๆ
มีพูดกันในสื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นนี้ว่า ทุกวันนี้ไม่เข้าใจเจเนอเรชัน z จริงๆ ว่าเป็นคนยังไง คิดอะไรอยู่?
เหตุใดคนเจเนอเรชัน z (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี 1995 ถึง 2011 ) จึงเข้าใจยาก ไม่เพียงแต่รุ่นเก่าเท่านั้นที่ตามไม่ทัน แต่รวมไปถึงคนญี่ปุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 30-40 ปีขึ้นไปด้วยที่ไม่ค่อยเข้าใจคนรุ่น z เอาเสียเลย
ที่จริงผมเองไม่มีประสบการณ์อะไรมากเกี่ยวกับยูทูบเบอร์ แต่คิดว่าการจะเป็นคนดังในวงการทั้งดารา นักร้อง หรือนักกีฬาดังๆ หรือพวกที่เป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของคนอื่นๆ จะมีเฉพาะกลุ่ม มันยากที่คนทั่วไปจะหารายได้ถ้าไม่ได้มีผู้ติดตามจำนวนมาก แทบจะเรียกว่ามีความยากลำบากหรือไม่ได้เลย ผู้ที่มีชื่อเสียงที่เป็นผู้ชนะรับไปทั้งหมด นั่นเป็นเหตุผลว่าทําไมชื่อเสียง ความมั่งคั่งและความสำเร็จจะไปกระจุกตัวอยู่ที่คนที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น มีคนพูดไว้ว่า All or nothing, Winner take all.
ผมและเพื่อนต่างนิ่งเงียบครุ่นคิดประเด็นที่เพื่อนเล่าว่าลูกชายของร้านหนังสือพิมพ์เป็นยูทูบเบอร์ คนเราอาจมีความคิดว่าอยากร่ำรวย บ้างก็อยากมีชื่อเสียง แต่พวกผมยังคิดไม่ออกเลยว่าต้องการเป็นยูทูบเบอร์ เพราะความต่างของเจนทำให้มองไม่ออกจริงๆ ว่ามันคืออาชีพหลักสมัยนี้
ในท้ายที่สุด คนรุ่นเราคือคนรุ่นเก่าที่ได้รับการปลูกฝังให้ศึกษาด้านการจัดการและยัดเยียดการศึกษาในยุคโชวะ และมันเข้าไปมีอิทธิพลอย่างมากในวิถีชีวิตที่ผ่านมารุ่นต่อรุ่น เช่น จบจากสถานศึกษาที่ดีและเข้าสู่บริษัทที่ดีที่มั่นคง (ไม่ว่าข้อเสนอและแนวทางจะถูกต้องหรือไม่ ผู้ใหญ่และเด็กในขณะนั้นเชื่อเช่นนั้นมาโดยตลอด จนกระทั่งประมาณปี 1997 เมื่อธนาคารฮอกไกโดทาคุโชกุล้มละลาย ทุกคนถึงกับช็อก)
แต่นอกจากแค่เรื่องยูทูบเบอร์ อันที่จริงยังมีอีกหลายสิ่งที่กล่าวกันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากคนเจน Z และหลายเรื่องนั้นยากที่คนรุ่นเก่าจะเข้าใจได้ เช่น เหตุการณ์คร่าชีวิตคนที่เกิดขึ้นทุกสัปดาห์โดยเด็กเจน Z และการลักขโมยต่างๆ (แม้ว่าจํานวนอาชญากรรมและอัตราการเกิดอาชญากรรมของคนรุ่นใหม่จะลดลงกว่าในอดีตก็ตาม) การเสื่อมสภาพของความมั่นคงทางกายภาพยังไม่หยุดลง และอาจกำลังก้าวสู่โลกที่เลวร้าย
หรืออย่างเช่นข่าวกลุ่มเด็กเจน Z ที่คิดแผลงๆ โพสต์เหตุการณ์การเลียซูชิบนสายพานในร้านซูชิ จนทำให้เกิดการแชร์และวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง และดูเหมือนว่าพวกเขาจะถูกเรียกค่าชดเชยทางแพ่งกว่า 10,000 ล้านเยน เรื่องเล่นๆ ลักษณะนี้คนญี่ปุ่นวัยกลางคนขึ้นไปไม่เข้าใจจริงๆ และเป็นเรื่องที่ทําให้คนญี่ปุ่นแทบทุกคนโกรธเคืองมากที่จะมาทำเสียวัฒนธรรมซูชิสายพาน การกระทำพิเรนทร์จนอาจทำให้คนไม่กล้ากินซูชิ ความเลวร้ายขั้นสุดถ้าต้องเป็นเหตุให้วัฒนธรรมซูชิสายพานเสียหายหรือหายไปคงจะเป็นงานใหญ่ในประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ และผมก็คงไม่สามารถให้อภัยได้เหมือนกัน ..
แต่อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันนี้ แม้เด็กๆ รุ่นใหม่จะพยามเรียนต่อแต่บริษัทก็ไม่ได้ปกป้องเหมือนคนรุ่นเก่า ดังนั้น จึงเป็นเรื่องลําบากและไร้สาระที่เขาจะศึกษาและพยายามอย่างจริงจังเหมือนยุคเดิม หากเขายังเด็กและหน้าตาดี ยังมีโครงสร้างพื้นฐานในการสร้างรายได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น TikTok และแม้ว่าพวกเขาจะเข้าสู่สายอาชีพการงานปกติและทําให้ดีที่สุด ก็มีงานดูแลผู้สูงอายุเท่านั้นที่เป็นที่ต้องการในตลาด
นี่แหละคนรุ่น Z ที่คนญี่ปุ่นเรียกเขาว่า นักรบ Z 戦士 มีที่มาจากมังงะ Dragon Ball เปรียบเปรยผู้ที่แสดงความรําคาญบน Twitter และ tiktok หรือมักก่ออาชญากรรมรุนแรง รุ่นที่เข้าใจยากจริงๆ วันนี้เล่าสู่กันฟังนะครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ