xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำญี่ปุ่น​แย้ง​ Time​ พาดปกไม่ตรงเนื้อหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพหน้าปก Time ประจำวันที่ 22/29 พฤษภาคม 2023 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นฟูมิโอะ คิชิดะ ซึ่งโพสต์ทางออนไลน์โดยนิตยสารของสหรัฐฯ ก่อนการเปิดตัวฉบับพิมพ์ (เอื้อเฟื้อภาพโดย Time/เกียวโด)
เกียวโดนิวส์​รายงาน​ (12​ พ.ค.)​ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น​ แย้งประเด็นพาดหัวที่นิตยสารไทม์ใช้กับบทสัมภาษณ์​นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ โดยอ้างว่าไม่ได้ถ่ายทอดคำพูดของเขาเกี่ยวกับนโยบายกลาโหมของประเทศอย่างถูกต้อง เจ้าหน้าที่รัฐบาลกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี

บทความฉบับออนไลน์เผยแพร่ก่อนที่ฉบับพิมพ์ของนิตยสารจะวางแผงในวันศุกร์ ในตอนแรกพาดหัวข่าวว่า "นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ กำลังเปลี่ยนญี่ปุ่นที่เคยสงบสุขให้กลายเป็นอำนาจทางทหาร" เพื่อตอบสนองต่อคำแย้งของโตเกียว Time ได้โพสต์พาดหัวข่าวฉบับแก้ไขว่า คิชิดะ "ญี่ปุ่นผู้รักสงบ​ และบทบาทที่กล้าหาญมากขึ้นในเวทีโลก​"

อย่างไรก็ตาม​ นิตยสารของสหรัฐฯ ไม่ได้เปลี่ยนคำบนหน้าปกของฉบับวันที่ 22-29 พฤษภาคม ซึ่งมีรูปภาพของคิชิดะ พร้อมกับข้อความว่า "นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ​ ละความสงบสุขนานหลายทศวรรษ มุ่งสร้างญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจทางทหารที่แท้จริง "

“เราไม่ได้ขอให้แก้ไข แต่บอกให้พวกเขารู้ถึงมุมมองของเรา เพราะมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างพาดหัวและเนื้อหาของบทความ” เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าว

บทสัมภาษณ์​ดังกล่าวเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของ คิชิดะ ในการทำงานเพื่อลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกในฐานะผู้ร่างกฎหมายที่เป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งในฮิโรชิมา เช่นเดียวกับการตัดสินใจของเขาที่จะเพิ่มงบประมาณในการป้องกันประเทศเป็น 2 เท่าในช่วง 5 ปี​ เพื่อจัดการกับความอหังการที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์ที่บ้านพักอย่างเป็นทางการในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 28 เมษายน ก่อนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม​ จี7 ในสัปดาห์หน้าที่เมืองฮิโรชิมา

คิชิดะบอกกับไทม์ว่า​ ญาติของเขาบางคนอยู่ในหมู่ผู้เสียชีวิตในเหตุระเบิดปรมาณูของสหรัฐฯ ที่เมืองทางตะวันตกของญี่ปุ่น และเขาได้ยิน "เรื่องเล่าอันน่าสยดสยองเกี่ยวกับความทุกข์ยากของผู้คน" จากย่าของเขา

กระทรวงการต่างประเทศกล่าว​ว่า​ ประชาคมระหว่างประเทศกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์ หลังผ่านประสบการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเผชิญกับความก้าวร้าวของรัสเซียต่อยูเครน ซึ่งทำให้รากฐานของระเบียบระหว่างประเทศสั่นคลอน

ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด G7 เป็นครั้งที่ 7 โดยการจับมือกันของกลุ่ม ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา รวมถึงสหภาพยุโรป ซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อเผชิญกับ สงครามในยูเครน และอหังการทางทหารของจีนในอินโดแปซิฟิก รวมถึงปัญหาอธิปไตยไต้หวัน

นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2564 จะเป็นประธานการประชุม ที่คาดว่าจะมีผู้นำเข้าร่วม เช่น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีริชิ ซูนัค​ ของอังกฤษ และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส

สำหรับ "ประเด็นสำคัญ" ในระหว่างการประชุมสุดยอด กระทรวงฯ ได้อ้างถึง 8 ประเด็น ได้แก่ สถานการณ์ระดับภูมิภาค เช่น ยูเครนและอินโดแปซิฟิก การลดอาวุธนิวเคลียร์​ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาหาร สาธารณสุข การพัฒนา ตลอดจนเพศภาวะ สิทธิมนุษยชน และดิจิทัล

สำหรับยูเครน ญี่ปุ่นคาดหวังว่ากลุ่ม G7 จะ "ร่วมมืออย่างจริงจัง" ในการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งรุกรานดินแดนมานานกว่า 1 ปีแล้ว​ กระทรวงฯ ระบุ

ผู้นำกลุ่ม G7 ยังได้รับการคาดหวังว่าจะยืนยันความร่วมมือของพวกเขาต่ออินโดแปซิฟิกที่ "เสรีและเปิดกว้าง" ซึ่ซึ่งสะท้อนให้เห็นความกังวลของกลุ่มเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวขยายอิทธิพล​ของจีนในทะเลจีนใต้และตะวันออก และความตึงเครียดเหนือไต้หวัน ซึ่งเป็นเกาะประชาธิปไตยที่ปกครองตนเอง แต่ปักกิ่งยืนกรานว่าเป็นดินแดนของตนเอง

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นสมาชิก G7 เพียงรายเดียวจากเอเชียได้เคลื่อนไหวควบคู่กับเพื่อนร่วมชาติ G7 รายอื่นในการพยายามกดดันรัสเซียด้วยเหตุผลที่ว่า​ ความมั่นคงของยุโรปและอินโดแปซิฟิกนั้นแยกกันไม่ออก โดยกล่าวว่า "วันนี้​เป็นยูเครน วันพรุ่งนี้อาจเป็นเอเชีย”

กลุ่ม G7 ระมัดระวังต่อการขยายอิทธิพลทางทหารและเศรษฐกิจของจีน โดยวิจารณ์พฤติกรรม "ความพยายามฝ่ายเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่โดยใช้กำลัง" ในขณะที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของ "สันติภาพและเสถียรภาพทั่วช่องแคบไต้หวัน" 

สำหรับประเทศอื่นๆ นอกจากสมาชิก​กกลุ่มที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย คอโมโรส ซึ่งเป็นประธานสหภาพแอฟริกา หมู่เกาะคุก อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม


กำลังโหลดความคิดเห็น