คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน แหล่งชอปปิ้งสนุกของญี่ปุ่นไม่ได้อยู่แค่ในใจกลางเมืองหรือห้างใหญ่ๆ เท่านั้นนะคะ แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่าถนนชอปปิ้งสำหรับคนเดินที่เรียกว่า “โชเต็งไก” อยู่มากมายทั่วประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งมักพบอยู่รอบสถานีรถไฟ รอบวัดหรือศาลเจ้า และใกล้ย่านที่อยู่อาศัย ขายของหลากประเภทที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในละแวกนั้นๆ ซึ่งแต่ละย่านก็มีเสน่ห์และเอกลักษณ์ของตัวเอง
โชเต็งไก (商店街) คือถนนคนเดินที่เรียงรายไปด้วยร้านค้าทั้งสองฟากตั้งแต่ 30 ร้านขึ้นไป ปัจจุบันมีอยู่ราว 14,000 แห่งทั่วประเทศ มีทั้งแบบในร่มและกลางแจ้ง ขายสินค้าและบริการหลากหลายสำหรับคนที่อยู่อาศัยในละแวกนั้นเป็นหลัก ได้แก่ ร้านขายผักผลไม้ ร้านขายเนื้อ ร้านขายของกินเล่น ร้านขนมญี่ปุ่น ร้านขนมฝรั่ง ร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า ร้านรองเท้า ร้านสินค้าเบ็ดเตล็ด ร้านของเล่น ร้านหนังสือ ร้านกิโมโน ร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องเขียน ร้านขายสัตว์เลี้ยง ร้านขายยา ไปจนถึงคลินิกหมอ ไปรษณีย์ และธนาคาร เป็นต้น เรียกว่ารวมแหล่งจับจ่ายใช้สอยและบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวันเอาไว้ในที่เดียว
สิ่งที่ทำให้โชเต็งไกแตกต่างจากซูเปอร์มาร์เกต หรือห้างสรรพสินค้า น่าจะอยู่ที่ความรู้สึกว่าใกล้ตัว มีความเป็นบ้านๆ เป็นกันเอง และมีชีวิตชีวา ความรู้สึกคงคล้ายๆ กับคนไทยที่บ้านอยู่ใกล้ตลาดหรือร้านค้าในชุมชน จึงเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นคนขายกับลูกค้าสนทนากันอย่างเป็นกันเอง
บรรยากาศของโชเต็งไกแต่ละแห่งแตกต่างกัน ขึ้นอยู่ว่าแถวนั้นมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างไร เป็นย่านที่เด่นเรื่องอะไรเป็นพิเศษ มีประชากรแบบไหน เป็นต้น โชเต็งไกจึงทำให้เราได้เห็นเสน่ห์ของชุมชนและวิถีชีวิตผู้คนในละแวกนั้นด้วย ด้วยความที่โชเต็งไกในหลายย่านมีประวัติความเป็นมายาวนาน ร้านเก่าแก่ขึ้นชื่อหลายแห่งของญี่ปุ่นจึงพบได้จากโชเต็งไกนี่เอง
“ฮาราจูกุสำหรับคุณยาย”
“สุงาโมะ-จิโซโดริ-โชเต็งไก” (巣鴨地蔵通り商店街) ซึ่งอยู่ใกล้สถานีสุงาโมะในกรุงโตเกียว ได้ชื่อว่าเป็น “ฮาราจุกุสำหรับคุณยาย” เพราะย่านนั้นมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โชเต็งไกแห่งนี้มีขนมญี่ปุ่นขายเยอะ เช่น ชิโอะไดฟุกุ (塩大福 โมจิถั่วแดงหวานผสมเกลือ) ซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของย่าน ไดงะขุอิโหมะ (大学芋 มันเชื่อมทอด) เซมเบ้ (ข้าวเกรียบ) ดังโหงะ (แป้งเหนียวหนึบปั้นเป็นก้อนกลมเสียบไม้) มีร้านขนมปังเก่าแก่เกือบร้อยปีที่ยังขายขนมปังสูตรเก่า ร้านขายผักดอง (ซึ่งผู้สูงอายุมักชอบ) ร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดแบบสมัยเก่า ร้านเสื้อผ้าที่เน้นแฟชั่นผู้สูงอายุ และอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย
ด้วยความที่เป็นแหล่งผู้สูงอายุ ร้านค้าในย่านนี้จึงคุ้นเคยกับลูกค้าสูงอายุเป็นอย่างดี มีความใจเย็นและพูดช้ากว่าร้านค้าพื้นที่อื่นในกรุงโตเกียว ย่านนี้จะไม่ค่อยมีบันไดหรือสิ่งกีดขวาง อีกทั้งยังกว้างพอที่จะรองรับลูกค้าที่ใช้รถเข็นด้วย และบันไดเลื่อนที่ทางเข้าออกฝั่งหนึ่งของสถานีสุงาโมะก็เคลื่อนที่ช้ากว่าสถานีอื่นๆ เพราะผู้สูงอายุใช้เยอะ ทัศนคติที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุเช่นนี้เองจึงทำให้ผู้สูงอายุชอบมาเยือนย่านนี้กันเสมอ
แต่ก็ใช่ว่าย่านนี้จะมีเสน่ห์เฉพาะต่อคุณตาคุณยายเท่านั้นนะคะ ถนนที่ยาวถึง 800 เมตรและมีร้านค้ากว่า 200 แห่งให้เดินดูอย่างจุใจนั้น มีคนทุกรุ่นมาเยือนกันถึงปีละกว่า 8 ล้านคนเลยทีเดียว เพราะคนรุ่นใหม่และชาวต่างชาติที่ชอบบรรยากาศแบบเก่าของยุคเมจิ ไทโช โชวะ (พ.ศ.2411-2532) ก็มีเยอะ ถ้าอยากเห็นภาพวิถีชีวิตของคนยุคก่อนๆ ในญี่ปุ่น ลองมาเดินแถวนี้น่าจะไม่ผิดหวัง
โชเต็งไกใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น
ส่วนโชเต็งไกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น คือ “เทนจินบาชิสุจิ-โชเต็งไก” (天神橋筋商店街) ในจังหวัดโอซากา มีความยาวถึง 2.6 กิโลเมตร กินพื้นที่ย่านเทนจินบาชิสุจิไปถึง 6 บล็อก (1-6 โจเหมะ) โชเต็งไกแห่งนี้มีมานานกว่า 300 ปีแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2196 ซึ่งตรงกับสมัยเอโดะ ทีแรกเป็นตลาดขายผักก่อน แล้วค่อยๆ ขยับขยายมีร้านอย่างอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา จนปัจจุบันมีร้านค้าถึง 600 แห่งเลยทีเดียว เยอะถึงขนาดนี้เดาว่าคงมีสินค้าและบริการครบครันมากเลยนะคะ
สำหรับโชเต็งไกชื่อดังและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งก็คือ “อาซากุสะ-นากามิเสะ-โชเต็งไก” (浅草仲見世商店街) ถ้าใครเคยไปไหว้พระที่วัดเซ็นโซจิในย่านอาซากุสะของกรุงโตเกียว ก็ไม่มีทางพลาดแน่นอน เพราะมันคือร้านรวงคึกคักมากมายสองข้างทางก่อนถึงตัววัดนั่นเอง นอกจากขายของที่ระลึกแล้ว โชเต็งไกแห่งนี้ยังโด่งดังเรื่อง “นิงเงียวยากิ” (人形焼) ด้วย คำนี้แปลตรงตัวว่า ‘ตุ๊กตาย่าง’ ฟังดูน่ากลัวมาก ทีแรกได้ยินชื่อแล้วสะดุ้ง นึกว่าเป็นพิธีกรรมอะไรบางอย่างหรือเปล่า จริงๆ แล้วเป็นขนมไข่ที่ทำจากแม่พิมพ์รูปร่างต่างๆ มีทั้งแบบใส่ไส้ครีม ไส้ถั่วแดง และไม่ใส่ไส้ โดยส่วนตัวรู้สึกว่ารสชาติงั้นๆ แต่เพราะส่งกลิ่นหอมฉุย เลยหลงกลซื้อเข้าเป็นบางคราว
โชเต็งไกในอดีตและปัจจุบัน
เพื่อนผู้อ่านคงพอเดาได้แล้วนะคะว่าโชเต็งไกเป็นสิ่งที่อยู่คู่ชุมชนญี่ปุ่นมาแต่โบราณ คาดว่าที่มาของโชเต็งไกคือตลาดในยุคเซ็งโกขุ (戦国時代 ยุคสงครามกลางเมือง) ซึ่งสมัยนั้นจะเป็นตลาดกลางแจ้งอยู่ในเมืองรอบปราสาทซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของไดเมียว ต่อมาก็พัฒนามาเป็นตลาดที่อยู่ตามหัวเมืองซึ่งมีโรงเตี๊ยมกระจุกตัวบ้าง ใกล้วัดหรือศาลเจ้าบ้าง ในเมืองท่าบ้าง และตามทางหลวงบ้าง ปัจจุบันมาอยู่บริเวณใกล้สถานีรถไฟกันเยอะ เพราะฉะนั้นไปเดินแถวสถานีไหนที่เป็นย่านชุมชน ก็น่าจะเจอโชเต็งไกได้ไม่ยาก
ว่ากันว่าสมัยก่อนโชเต็งไกทุกแห่งเป็นถนนที่พลุกพล่านที่สุดในเมือง แต่น่าเศร้าที่ว่าปัจจุบันหลายร้านต้องปิดตัวลงเพราะความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เช่น คนเดินเท้าน้อยลง หันมาใช้รถยนต์กันมากขึ้น ทำให้มาจับจ่ายใช้สอยตามโชเต็งไกไม่สะดวกเพราะไม่มีที่จอดรถ นอกจากนี้ รูปแบบการบริโภคก็เปลี่ยนไป มีร้านค้าขนาดใหญ่ที่ตอบรับความต้องการของลูกค้าได้ครบถ้วนกว่าเยอะขึ้น รวมถึงโชเต็งไกเองมีปัญหาเองด้วย เช่น เจ้าของร้านหาผู้สืบทอดร้านไม่ได้ ร้านค้าทรุดโทรม ขาดความน่าสนใจ หรือไม่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย เป็นต้น
ทางราชการและโชเต็งไกต่างๆ เองก็พยายามหาทางฟื้นฟู ซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ของเจ้าของร้านว่าจะตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่อย่างไร จะสร้างจุดสนใจดึงดูดให้กลายเป็นย่านที่คึกคักได้อย่างไร บางย่านใช้วิธีจัดอีเวนต์ จัดธีม ใช้คาแร็กเตอร์ดัง เช่น ตัวการ์ตูน ตัวละคร หรือดารา หรือจัดโปรโมชันสินค้าและบริการโดยเริ่มต้นที่ “100 เยน” เดือนละวัน เช่น ปกติอาจจะขายเต้าเจี้ยวทีละกิโล ก็อาจจะแบ่งขายในปริมาณน้อยลงให้ได้ราคา 100 เยน เป็นต้น สำหรับพื้นที่ร้านซึ่งว่างไปก็เอามาใช้จัดกิจกรรมหรือใช้สอยให้เป็นประโยชน์ เพื่อไม่ให้คนรู้สึกว่าแถวนั้นมีร้านน้อยและไม่อยากมาเดิน
คำแนะนำในการเดินย่านโชเต็งไก
คงเพราะร้านค้าในโชเต็งไกเป็นเสมือนตลาดชุมชน เลยปิดค่อนข้างเร็วคือประมาณ 6 โมงเย็น จึงเหมาะที่จะไปตั้งแต่ตอนสายถึงบ่ายแก่ๆ นอกจากนี้ ควรเตรียมเงินสดเป็นธนบัตรพันเยนไว้หลายๆ ใบ หรือเป็นเศษสตางค์ เพราะอาจมีหลายร้านที่ไม่ได้รับบัตรเครดิต และอย่าลืมพกถุงชอปปิ้งไปเอง ถ้าจะให้ดีก็พกถุงเผื่อใส่ขยะไว้ด้วย เพราะญี่ปุ่นหาถังขยะยาก แล้วค่อยไปทิ้งที่ถังขยะตามสถานีรถไฟใหญ่ หรือที่โรงแรม
ถ้าซื้ออาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มมาอย่าเดินไปกินไป ให้นั่งที่ม้านั่งหรือยืนกินบริเวณที่ทางร้านจัดให้ (และสามารถขอทิ้งขยะที่เกิดจากของกินที่เราซื้อจากร้านนั้นได้) หรือไม่ก็เอากลับไปกินยังที่พัก อย่าเผลอถืออาหารหรือเครื่องดื่มจากที่อื่นเข้าไปในร้าน (มีคนเคยโดนดุมาแล้ว) และควรเลี่ยงการลากกระเป๋าเดินทางเข้าร้านค้า เพราะมักแคบและขวางทางเดิน รวมทั้งไม่เดินเกาะกลุ่มกลางถนน พยายามเดินชิดซ้ายหรือชิดขวาตามที่คนส่วนใหญ่เดิน และไม่ส่งเสียงดังเอะอะ
อาจจะดูมีอะไรต้องระวังเยอะจัง แต่ญี่ปุ่นก็เป็นแบบนั้น ถ้าเราไปเที่ยวบ้านเขาก็ให้เกียรติกันด้วย การทำตามกติกาเขาจะได้ไม่เป็นข่าวแง่ลบให้คนไทยหลายคนไม่สบายใจกันนะคะ
แล้วพบกันสัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.