xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่น VS อเมริกา หญ้าฝั่งไหนเขียวกว่ากัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ AFP
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน เมื่อปีก่อนฉันกลับไปญี่ปุ่น และมีโอกาสไปเยี่ยมที่ทำงานเก่าด้วย ได้คุยกับเพื่อนร่วมงานแล้วก็เลยมีเรื่องให้ขบคิดเพลิน ๆ เลยเอามาเล่าสู่กันฟังวันนี้ค่ะ

หญ้าฝั่งไหนเขียวกว่ากัน?

ที่ผ่านมาฉันไม่ได้คิดอยากไปอยู่ต่างประเทศถาวร แต่อยากอยู่เมืองไทยมากกว่า ทว่าในเมื่อชีวิตฉันเดินมาอีกทาง จึงไม่อาจทำอย่างนั้นได้ ก็เลยนึกอิจฉาคนที่ได้อยู่เมืองไทยบ่อย ๆ

ตอนที่เพื่อนร่วมงานคนไทยในญี่ปุ่นบอกฉันว่า น่าอิจฉาจังที่ได้อยู่อเมริกา ฉันจึงรู้สึกแปลกประหลาดมากทีเดียว เพราะไม่ได้รู้สึกว่าน่าอิจฉาตรงไหน แถมยังมีหลายครั้งที่ฉันคิดถึงญี่ปุ่นจนอยากจะมีประตูวิเศษของโดราเอมอน จะได้เปิดประตูปุ๊บกลับไปกินซูชิอร่อย ๆ ปั๊บ อะไรแบบนั้น เลยคิดว่าเขาก็น่าอิจฉาออกที่ได้อยู่ญี่ปุ่น

นึกแล้วก็ขำเหมือนกันค่ะ เพราะเราทั้งคู่เป็นอย่างในสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “The grass is always greener on the other side” (หญ้าอีกฝั่งเขียวขจีกว่าฝั่งนี้ / หญ้าของเพื่อนบ้านเขียวขจีกว่าของเรา) คือเห็นว่าสิ่งที่คนอื่นมี ดีกว่าสิ่งที่ตัวเองมี ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มันอาจเป็นแค่ความรู้สึกเท่านั้นเอง ในความเป็นจริงอีกฝั่งอาจจะไม่ได้ดีกว่าฝั่งนี้ก็ได้ ปัญหามันอยู่ที่ว่าเราไม่พอใจในสิ่งที่เรามีที่เราเป็นต่างหาก


คนมักถามฉันเสมอว่าชอบญี่ปุ่นหรืออเมริกามากกว่า ถ้าเป็นช่วงแรกที่ย้ายมาอยู่อเมริกาละก็ ฉันจะตอบว่า “ญี่ปุ่น!” โดยไม่ลังเลเลย แต่พออยู่อเมริกาหลายปีเข้า ก็เป็นดั่งสำนวนญี่ปุ่นที่ว่า “住めば都” (สุเมบะ-มิยาโกะ) หมายถึง ‘อาศัยอยู่ที่ไหนชินแล้ว ก็อยู่ได้อย่างสบายใจ’ ก็เลยไม่ได้รู้สึกดิ้นรนอยากจะกลับญี่ปุ่นเหมือนตอนแรก

แล้วเอาเข้าจริงญี่ปุ่นกับอเมริกาก็ช่างต่างกันราวดาวคนละดวง และฉันมีความรู้สึกว่าเบื้องหลังอย่างหนึ่งที่ทำให้นิสัยคนญี่ปุ่นกับคนอเมริกันต่างกันเป็นคนละขั้ว น่าจะอยู่ที่ว่า “แคร์สายตาคนอื่น” มากน้อยแค่ไหนเป็นสำคัญ

“แคร์สายตาคนอื่นมาก” เบื้องหลังพฤติกรรมคนญี่ปุ่น

ในสังคมที่เคร่งครัดมากอย่างญี่ปุ่น ทุกคนจะถูกคาดหวังว่าต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง หากไม่เดินอยู่ในกรอบสังคมก็จะถูกมองว่านอกคอก และตัวเองจะถูกโดดเดี่ยว ดังนั้นจึงต้องทำตัวให้อยู่ในกรอบที่สังคมบอกว่าดี เพื่อตัวเองจะได้ปลอดภัย จึงไม่แปลกเลยที่คนญี่ปุ่นจะแคร์สายตาคนอื่นเอามาก ๆ

พอมองในมุมนี้แล้วฉันจึงมาคิดว่า เป็นไปได้หรือเปล่าที่ค่านิยมอันดีงามของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นระเบียบวินัย ความตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบ ความสุภาพ มารยาท ความเกรงใจคนอื่น และความรู้จักกาลเทศะ อาจมาจากความแคร์สายตาสังคมมากกว่าจะเป็นจิตสำนึกที่มาจากใจจริงล้วน ๆ เพราะถ้าคนญี่ปุ่นไม่ได้แคร์สายตาคนอื่นมากนัก ก็คงไม่มีความจำเป็นต้องพยายามทำตัวให้ถูกตามค่านิยมสังคมอย่างเคร่งครัดแบบที่เป็นอยู่

ความแคร์สายตาสังคมทำให้คนญี่ปุ่นมองตัวเองแบบผ่านสายตาคนอื่นออกมาอีกที คือต้องคิดก่อนว่าถ้าตัวเองทำอย่างนี้อย่างนั้นแล้ว คนอื่นเขาจะมองอย่างไร แล้วค่อยทำตัวในแบบที่จะไม่เป็นที่ครหา ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียไปคนละแบบ


ข้อดีคือสังคมเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะแต่ละคนจะรู้สึกว่าเหมือนมีสายตาคนอื่นคอยมองอยู่ เลยทำให้คนไม่ค่อยกล้าทำอะไรนอกรีตนอกรอย รู้จักทำตัวให้ถูกมารยาทสังคม จะได้อยู่ง่ายปลอดภัย

การแคร์สายตาสังคมยังน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นคอยระมัดระวังไม่ให้ตัวเอง ครอบครัว หรือคนในที่ทำงานไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ตอนอยู่ญี่ปุ่นฉันจึงไม่เคยเจอเพื่อนบ้านที่สร้างความเดือดร้อนให้ ไม่เคยได้ยินเด็ก ๆ ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว และนานทีปีหนจึงจะเจอคนมารยาทไม่ดีสักทีหนึ่ง

ความระมัดระวังไม่ให้ไปรบกวนคนอื่น ยังอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้คนญี่ปุ่นใส่ใจออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดเสียงรบกวน เช่น ประตูบ้านที่มีแรงเฉื่อยเวลาปิด ทำให้พอปิดปุ๊บ ประตูก็จะไม่กระแทกใส่กรอบประตูดังปัง แต่จะค่อย ๆ ปิดลงเงียบ ๆ รวมไปถึงลิ้นชักตู้กับข้าวที่ออกแบบเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน คือปิดแล้วไม่กระแทกเสียงดัง ญี่ปุ่นยังมีกระทั่งไมโครโฟนแบบเก็บเสียงเวลาร้องคาราโอเกะที่บ้าน เพื่อไม่ให้เสียงดังหนวกหูเพื่อนบ้านอีกด้วย

ส่วนข้อเสียของการแคร์สายตาสังคมมากไปคือ ทำให้คนไม่อาจเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริง และไม่กล้าคิดกล้าทำอะไรใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง ไม่กล้าพูดสิ่งที่คิด หรือไม่ก็ต้องยอมตามคนอื่นอยู่เรื่อยเพื่อไม่ให้มีปัญหา และยังทำให้พัฒนาอะไรใหม่ ๆ ยาก เพราะคนไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่

อย่างบางทีคนญี่ปุ่นก็อยากขอวันลาหยุดพักร้อนตามกฏหมายบ้าง ลาไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูกที่เพิ่งเกิดบ้าง แต่ก็ค่อยไม่กล้าขอลาหยุด ขนาดเวลาหิมะตกหนักจนการจราจรเป็นอัมพาตทุกแห่งก็ยังพยายามจะมาทำงาน เพราะกลัวที่บริษัทจะหาว่าไม่ขยัน ไม่เกรงใจคนอื่นที่เขามาทำงาน ก็เลยต้องแสดงสปิริตเสมือนว่าตัวเองขยัน ทั้งที่ในหลายกรณีแล้วการลาหยุดมีความสมเหตุสมผล และดีต่อประสิทธิภาพการทำงานมากกว่าอีก


“ไม่แคร์สายตาคนอื่นเท่าไหร่” เบื้องหลังพฤติกรรมคนอเมริกัน

ในละแวกที่ฉันอาศัยอยู่ในอเมริกาค่อนข้างเงียบสงบ แต่โชคร้ายที่พื้นบ้านกับกำแพงดันบาง เลยมักได้ยินเสียงเพื่อนบ้านอยู่เสมอ พอรู้อย่างนี้เราเลยพยายามทำอะไรไม่ให้เกิดเสียงดัง จะออกกำลังกายทีก็ต้องออมแรงตอนกระโดด เพราะกลัวหนวกหูคนอื่น แต่ดูเหมือนพวกเพื่อนบ้านจะไม่ค่อยสนใจคนอื่นเท่าไหร่นัก พวกเขามักเปิดปิดประตูเสียงดัง เดินลงส้นเสียงดังกลางดึก ปล่อยให้เด็กเล่นเจี๊ยวจ๊าวหรือกรี๊ดกร๊าดเสียงดังหน้าบ้าน จัดปาร์ตี้กลางดึก เปิดเพลงดังสนั่นราวกับจัดคอนเสิร์ต และอื่น ๆ

ถ้าอยู่นอกบ้านก็จะเจอคนจอดรถขวางทางเดินรถของคนอื่นเป็นประจำ บางคนเวลาขับรถก็ชอบกดแตรไล่รถคันที่อยู่ข้างหน้าในทันทีที่ไฟเขียว บางคนก็ขึ้นมาร้องเพลงเสียงดังหรือแสดงกายกรรมบนรถไฟใต้ดินแล้วเดินไล่ขอค่ารับชม(ทั้งที่ผู้โดยสารโดนบังคับชม) บางคนก็เอาลำโพงใส่เป้เวลาขี่จักรยานแล้วเปิดเพลงเสียงดังกระหึ่มกลางเมือง เวลาเจอแบบนี้ทีไร ฉันจะอยากระเห็จกลับญี่ปุ่นทุกที 

แม้ว่าการไม่แคร์สายตาใครเท่าไหร่ของคนอเมริกันจะสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นได้ง่าย แต่มันก็มีข้อดีอย่างนึกไม่ถึงเหมือนกัน คือพอไม่กลัวว่าใครจะมองอย่างไร มันทำให้คนเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ กล้าคิดกล้าทำ กล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง เปิดเผย ตรงไปตรงมา และยืดหยุ่นกว่า


อย่างการแต่งตัวนั้นก็สไตล์ใครสไตล์มัน ไม่ใช่ว่าต้องใส่ตามแฟชั่นให้เหมือนคนอื่น ไม่สบายก็ลาป่วยโดยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนมองแย่ กล้าที่จะทักทายและพูดคุยกับคนแปลกหน้า กล้าหยิบยื่นความช่วยเหลือให้คนอื่นก่อน และกล้าขอความช่วยเหลือโดยไม่คิดมาก ส่วนเวลาอยู่ในที่ทำงานก็ไม่ต้องมาคอยสังเกตสีหน้าหรือเดาใจเจ้านายแบบคนญี่ปุ่น แต่สามารถคุยกันตรงไปตรงมาได้มากกว่า จึงทำให้บรรยากาศการทำงานผ่อนคลายกว่าที่ญี่ปุ่นมาก

ที่ทำงานเก่าฉันในอเมริกาค่อนข้างสบาย ๆ กลางวันอยากจะพักเที่ยงตอนไหนก็ไป บางศุกร์ก็มีพิซซาหรือมื้อเที่ยงอย่างอื่นให้กินฟรี หรือถ้ามีประชุมตอนเช้าร่วมกับสำนักงานอื่นก็มีอาหารเช้าและกาแฟให้ วันไหนใครต้องดูแลลูกอยู่บ้านก็ขอทำงานจากบ้านได้ และถ้าวันถัดไปเป็นวันหยุดราชการพอดี วันนั้นก็จะได้เลิกงานเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง บางบริษัทให้ทำงานครึ่งวันด้วยซ้ำไป รู้สึกว่าเป็นอะไรที่อิสระและยืดหยุ่นมากทีเดียว

แต่กระนั้นเพื่อนร่วมงานบางคนก็บอกว่าอยู่นิวยอร์กนี่มันเครียดจัง ฉันอุทานว่า เอ๊ะ! อย่างนี้เครียดแล้วหรือ เพราะรู้สึกว่าชีวิตทำงานในนิวยอร์กมันชิลล์มากเหลือเกินเมื่อเทียบกับตอนอยู่ญี่ปุ่น และสงสัยว่าถ้าคนไหนทำงานในอเมริกาแล้วเครียด ไปอยู่ญี่ปุ่นจะอยู่รอดไหม และคงเพราะอย่างนี้เอง จึงมีคนญี่ปุ่นหลายคนที่พอได้มาอยู่อเมริกาแล้ว ก็ชักจะไม่ค่อยอยากกลับญี่ปุ่นกันสักเท่าไหร่

ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองในภาพรวมของญี่ปุ่นกับอเมริกาตามที่ฉันเห็น แต่ไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นทุกคนหรือคนอเมริกันทุกคนเป็นแบบนี้หมดนะคะ คนอื่น ๆ ก็อาจจะเจอประสบการณ์คนละแบบ และมองต่างออกไปก็ได้

สำหรับคำตอบว่าฉันชอบญี่ปุ่นหรืออเมริกามากกว่ากัน ทุกวันนี้ฉันก็ยังตอบไม่ได้ และในใจก็รู้สึกว่าหญ้าบางส่วนของอเมริกาเขียวกว่าญี่ปุ่น ในขณะที่หญ้าบางส่วนของญี่ปุ่นก็เขียวกว่าอเมริกา

แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ถ้าเลือกทำในสิ่งที่สบายใจ อยู่ให้สบายใจ เดี๋ยวหญ้าบริเวณนั้นก็จะเขียวขจีไปเอง ฉันว่าอย่างนั้นนะคะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น