คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ฉันเพิ่งได้อ่านเรื่องราวของผู้หญิงญี่ปุ่นที่น่านับถือมากคนหนึ่ง ชีวิตเธอที่ผ่านมาก็ปกติดีจนกระทั่งลูกคนเล็กพิการทางสมอง และต่อมาก็เคราะห์กรรมซ้ำซ้อนเมื่อแม่ของเธอสมองเสื่อมและเป็นโรคซึมเศร้า และถัดจากนั้นมาพ่อของเธอก็สมองเสื่อมไปอีกคน แม้จะต้องดูแลคนป่วยพร้อมกันสามคน แต่เธอก็อดทนสู้มาด้วยการเลือกที่จะมองด้านดีของชีวิต จนกลายมาเป็นกำลังใจให้คนอีกมากมาย
เธอคนนี้ชื่อ วาคิทานิ มิโดริ ปัจจุบันอยู่ในวัย 70 ปี ที่ผ่านมาสาละวนกับการดูแลสามีและลูกสองคนในช่วงต้นของชีวิตครอบครัว โดยลูกสาวคนเล็กมีความพิการทางสมองมาตั้งแต่อายุสองเดือน ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือพูดคุยได้เลย ได้แต่นอนแน่นิ่งเพียงอย่างเดียว ทำให้คุณวาคิทานิแทบจะต้องคอยเฝ้าลูกสาวตลอดทั้งวันไม่ได้ห่างตั้งแต่นั้นมา
ตอนที่เธอทราบว่าลูกป่วย ก็พยายามค้นหาว่าใกล้บ้านพอมีคนที่มีประสบการณ์เลี้ยงลูกพิการบ้างไหม และพบว่ามีหญิงวัย 60 ปีที่เคยมีลูกป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อเสื่อมและเสียชีวิตไปตอนอายุ 16 ปี เธอจึงเดินทางไปหา คุณป้าชมว่า “เก่งนะ ที่เลี้ยงลูกพิการหนักขนาดนี้มาได้” คุณวาคิทานิร้องไห้โฮ คุณป้ายิ้มพูดต่อว่า “ดีแล้ว ชีวิตจริงมันเป็นแบบนี้แหละ” เธอบอกว่า “หนูไม่อยากได้ค่ะ! หนูไม่อยากมีชีวิตจริงแบบนี้”
“เธอสามารถจะมีความสุขได้นะ จะสู้มั้ย?” คุณป้าถาม เธอได้แต่ตอบรับว่า “สู้ค่ะ”
แล้วคุณป้าก็บอกว่า “มันอยู่ที่เธอ เธอต้องเปลี่ยนตัวเอง”
เมื่อลูกสาวเธอเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็เริ่มจะไม่สามารถพลิกตัวเวลานอนหรือตั้งคอตรงได้ มีอาการชักบ่อยขึ้น มือและเท้าขยับเองโดยไม่อาจควบคุม พอเอาขึ้นรถเข็นเด็กก็พลัดตก สภาพร่างกายอ่อนแอจนต้องเข้าโรงพยาบาลทุกเดือน แม้คุณวาคิทานิจะไม่แสดงทีท่าเป็นทุกข์ให้สามีหรือลูกชายเห็น แต่คุณป้าเป็นคนเดียวที่เธอปรับทุกข์ด้วย ไม่ว่าจะไปเยี่ยมคุณป้าครั้งใด ท่านก็จะพูดคำเดิมเสมอว่า
“เธอไม่เปลี่ยนตัวเองไม่ได้นะ”
ด้วยความเครียดและเหนื่อยล้า คุณวาคิทานิก็เริ่มจะมีอาการซึมเศร้าและกินข้าวไม่ลง แต่แล้วจุดหักเหก็มาถึง วันหนึ่งขณะที่กำลังพาลูกสาวเดินทางไปกายภาพที่โรงพยาบาล ก็เห็นรถคันหนึ่งแล่นผ่าน มีครอบครัวท่าทางมีความสุขนั่งอยู่ในนั้น เธอพึมพำเบา ๆ โดยไม่เจตนาว่า “ก่อนลูกจะเกิดมา แม่เองก็เคยมีความสุขแบบนั้น ถ้าไม่มีลูกสักคน…”
พอคุณวาคิทานิได้ยินตัวเองพูดอย่างนั้นก็ตกใจ และฉุกคิดได้ว่าที่ผ่านมาเธอไม่เคยรู้ว่าตัวเองปักอกปักใจคิดว่าเราช่างโชคร้ายเหลือเกิน และวินาทีนั้นจึงได้เข้าใจว่าทำไมคุณป้าถึงบอกว่าเธอไม่เปลี่ยนตัวเองไม่ได้ เธอคิดขึ้นมาว่าลูกได้แต่นอนแน่นิ่งแล้วไง เดินไม่ได้แล้วไง จะอย่างไรก็ช่าง เธอจะทำให้ลูกมีความสุขที่สุดให้ได้
แต่พอปัญหาหนึ่งผ่านไป ก็มีปัญหาใหม่เข้ามาอีกเป็นวัฏจักรชีวิต วันหนึ่งพ่อของเธอโทรมาแจ้งข่าวว่าแม่เธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้าพร้อมกับมีภาวะสมองเสื่อม เอาแต่ร้องไห้บอกว่าอยากตาย พ่อจึงอยากให้เธอกลับมาที่บ้าน
บ้านของพ่อแม่เธออยู่ในจังหวัดห่างไกล ไม่อาจไปมาหาสู่ได้ง่ายนัก ถ้าเลือกไปดูแลแม่ก็ต้องปล่อยให้ลูกตาย แต่ถ้าจะเลือกลูกก็ต้องปล่อยแม่ไว้ทั้งอย่างนั้น เธออยู่ในภาวะกดดันอย่างยิ่งจนอกแทบแตก แต่ก็ฉุกคิดได้ว่าจะมัวมานั่งตีโพยตีพายไปทำไม ไม่มีประโยชน์ หาวิธีแก้ปัญหาดีกว่า สุดท้ายเธอจึงหาหนทางที่จะช่วยทั้งแม่ทั้งลูกให้รอดไปพร้อมกัน
ตอนแรกคุณวาคิทานินึกว่าจะโทรหาแม่ทุกวัน แต่นั่นก็จะทำให้เดือนหนึ่ง ๆ เสียค่าโทรศัพท์บานปลายหลายหมื่นเยน เดี๋ยวจะกระทบกระเทือนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากไป แต่ถ้าเป็นไปรษณียบัตรก็จะมีค่าใช้จ่ายราว 1,500 เยนต่อเดือน เมื่อตกลงใจแล้วเธอจึงเริ่มเขียนไปรษณียบัตรหาแม่ทุกวัน โดยเน้นเรื่องที่ทำให้แม่ขำอารมณ์ดีไว้ก่อน แม้จะไม่รู้ว่าวิธีนี้จะได้ผลหรือเปล่า แต่เธอก็ลองดู ด้วยความตั้งใจว่าอยากให้แม่เฝ้ารอไปรษณียบัตรที่จะมาถึงบ้านทุกวันในเวลา 11 โมงเช้า และมีชีวิตอยู่ต่อไปจนกว่าไปรษณียบัตรใบต่อไปจะมาถึงในวันรุ่งขึ้น
ปัญหาใหญ่ของเธอก็คือการหามุกตลกมาเขียน ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ไปไหนหรือเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เธอเลยใช้วิธีสังเกตคนที่ผ่านไปมาเวลาเธอออกจากบ้านไปซื้อกับข้าวหรือพาลูกไปกายภาพ เช่น เด็กทารกที่ยิ้มร่าเมื่อปีนออกจากรถเข็นเอง คนขายเบียร์ที่สวมชุดกระป๋องเบียร์เรียกลูกค้าอย่างเริงร่า หรือคุณยายนั่งรถเข็นไฟฟ้าที่พยายามประคองกล่องน้ำผลไม้หนักอึ้งบนตัก เป็นต้น ส่วนลูกชายเธอก็ขยันหาเรื่องมาเล่าเพิ่ม เช่น ที่โรงเรียนมีครูแบบนี้ หรือเจอคนแบบนี้บนรถไฟ พลอยทำให้ทั้งคู่ได้มีเรื่องเบา ๆ ขำ ๆ เล่าสู่กันฟังเป็นประจำ
บนไปรษณียบัตรของคุณวาคิทานิ นอกจากจะเขียนด้วยลายมือตัวเองแล้ว ยังวาดภาพประกอบลงสีเพิ่มลงไปด้วย แม้ว่าอาการของแม่เธอจะคุ้มดีคุ้มร้ายสลับกันไป แต่ “เรื่องขำ” ของเธอก็ค่อย ๆ ทำให้แม่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จนกระทั่งเมื่อเข้าปีที่ 4 แม่ก็อาการดีขึ้นมากจนไม่ต้องใช้ยาต้านซึมเศร้าอีก แต่คุณวาคิทานิก็ทราบมาว่าถ้าจู่ ๆ ขาดสิ่งที่เคยเป็นกำลังใจมาตลอด แม่ก็อาจอาการทรุดได้อีก เธอก็เลยเขียนไปรษณียบัตรต่อไปอีกทุกวันเป็นเวลาทั้งหมด 13 ปี รวมไปรษณียบัตรทั้งหมดราว 5,000 ใบ!
ลองนึกดูสิคะ สำหรับคนเป็นแม่แล้ว เพียงแค่มีหน้าที่ดูแลครอบครัวและทำงานบ้านก็เหนื่อยแย่แล้ว เวลาจะดูแลตัวเองก็คงแทบไม่เหลือ แต่ลูกของเธอคนหนึ่งต้องพึ่งพาเธอแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง วันหนึ่ง ๆ เธอจะสะสมความเหนื่อยล้าทั้งกายทั้งใจไว้มากแค่ไหน ท่ามกลางความสาหัสขนาดนี้เป็นเราคงนึกไม่ออกเลยว่าจะเอาแรงที่ไหนไปนั่งนึกมุก นั่งเขียน และนั่งวาดรูปเพื่อแม่ได้ทุกวัน และไปรษณียบัตรแต่ละใบ ๆ ของเธอก็เปี่ยมไปด้วยความรักและกตัญญูของลูกคนหนึ่งที่มีต่อแม่บังเกิดเกล้า
ไปรษยณียบัตรส่วนหนึ่งที่เธอเขียนถูกรวบรวมมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ มีคนให้ความเห็นว่าเนื้อหาในไปรษณียบัตรนั้น “ทำให้ได้คิดว่าการมองเห็นความสนุกและความหวังที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องวิเศษแค่ไหน” และ “เนื้อเรื่องขำดี แต่ก็มีคำพูดที่กระตุ้นให้คิดได้ในยามที่เจอปัญหาชีวิตด้วย”
แม่ของเธอที่สุขภาพจิตดีขึ้นแล้วเล่าว่า “เห็นไปรษณียบัตรทีไรก็ขำทุกที แล้วสักพักก็จะได้หัวเราะจนท้องคัดท้องแข็งเลยละ ไปรษณียบัตรใบหนึ่งช่วยได้ทั้งวัน ฉันอ่านแล้วอ่านอีกจนแทบจำเนื้อหาได้ขึ้นใจ สิ่งที่ลูกฉันเขียนมีความแปลกใหม่ดี เขาทำให้ฉันเห็นว่าโลกนี้มีความสนุกและน่าสนใจแฝงอยู่ในสิ่งที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน ฉันถึงกับรอวันพรุ่งนี้ (ที่จะได้รับไปรษณียบัตรใบใหม่) ไม่ไหวเลยแหละ ฉันคิดว่าเขาเป็นลูกที่กตัญญูที่สุดในโลกแล้ว”
คุณวาคิทานิเลิกเขียนไปรษณียบัตรไปหลังจากรับพ่อกับแม่มาอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กัน แต่ไม่ทันไรก็เจอปัญหาหนักอีก เมื่อพ่อเธอในวัย 90 เป็นโรคสมองเสื่อม ส่วนแม่ในวัย 80 ล้มป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง คราวนี้เลยกลายเป็นว่าเธอต้องดูแลคนป่วยหนักสามคนพร้อมกัน
คนที่รู้จักเธอเล่าว่าดูเผิน ๆ คุณวาคิทานิอาจจะดูเข้มแข็ง แต่ที่จริงคงเพราะเธอต้องเข้มแข็งให้ได้ต่างหาก ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเธอน่าจะเป็นคนที่อ่อนไหวง่ายและเข้าอกเข้าใจคนอื่น ไม่อย่างนั้นคงไม่รับหน้าที่ดูแลพ่อแม่ด้วยตัวเองทั้งที่รู้ว่าจะต้องลำบากแค่ไหน และทั้งที่วัน ๆ ยุ่งจนหัวหมุน เธอก็ยังมีแก่ใจเตรียมเครื่องดื่มเย็น ๆ เอาไว้ให้เจ้าหน้าที่ที่คอยมาดูแลลูกสาวหรือช่วยงานบ้านให้เป็นบางวัน เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ขาดน้ำในวันอากาศร้อน
คราวหนึ่งลูกชายคุณวาคิทานิไปเรียนต่อที่อเมริกาได้ไม่นาน ก็นึกอยากกลับบ้าน เธอบอกลูกว่า “อยากกลับมาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่อย่ากลับมาเพราะลูกยอมแพ้ ยังไงก็อยู่ต่อให้ได้อีกวันนึง ถ้าตกลงใจได้ว่าจะอยู่ให้ผ่านวันนี้ไปได้ละก็ พรุ่งนี้หรือสัปดาห์หน้าหรือเดือนหน้า ลูกก็จะอยู่ได้เหมือนกัน” และในที่สุดลูกชายก็เรียนจนจบปริญญาโท และมีส่วนร่วมในการให้การศึกษาเพื่อช่วยเหลือเด็กพิการที่มีความต้องการพิเศษ
คุณวาคิทานิยังใช้โอกาสที่อยู่บ้านมาทำงานเขียนที่เคยฝันใฝ่ ทั้งยังได้จัดรายการวิทยุด้วย ทุกวันนี้เวลาเจอแม่อายุน้อยที่มีลูกพิการ เธอก็จะบอกพวกเขาด้วยคำเดียวกับที่คุณป้าบอกเธอว่า “เธอต้องเปลี่ยนตัวเองนะ” และทุกครั้งที่เธอเจอปัญหา ก็จะเรียนรู้มันอย่างที่มันเป็น และก้าวข้ามมันไปได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเองเสมอ
เรื่องนี้มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อเรื่องว่า “キセキの葉書” (คิเซกิ-โนะ-ฮะงาขิ) หรือ ‘ไปรษณียบัตรมหัศจรรย์’ นักแสดงที่เล่นเป็นคุณวาคิทานิบอกว่า อ่านบทแล้วอินจนแทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ เธอเห็นด้วยกับความคิดของคุณวาคิทานิหลายอย่าง เช่น “ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ให้เราได้เรียนรู้ทั้งนั้น” และ “เวลาอยู่ท่ามกลางความมืด มันก็มีทั้งแสงสว่างและเงาดำ จะเลือกรู้สึกแบบไหนก็แล้วแต่ตัวเราเอง”
ครูบาอาจารย์ของฉันท่านหนึ่งเคยสอนว่า ปัญหากับชีวิตเป็นของคู่กัน พอหมดปัญหาหนึ่งก็มีปัญหาใหม่ตามมาอีก แต่ที่เราทุกข์เพราะเราอยากให้มันไม่มีปัญหา มันอยู่ที่เราว่าจะเผชิญกับปัญหาด้วยใจที่เข้มแข็งและเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตไหม ถ้าเรารู้ว่าปัญหาทั้งหลายเป็นของชั่วคราว เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ใจก็จะไม่ไปทุกข์ด้วย ไม่อย่างนั้นถ้าใจทุกข์แล้วไปตะลุมบอน เราก็แก้ปัญหาไม่ได้ เครียดอย่างเดียว ไม่เกิดประโยชน์เลย
คงมีหลายคนที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่ป่วยและแก่ชรา หรือไม่ก็ลูกที่มีความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจ หรือบางคนก็อาจเจอมรสุมชีวิตรูปแบบอื่น และคงมีหลายครั้งหลายคราวที่ทั้งเหนื่อยทั้งท้อมากเหลือเกิน แต่อย่าลืมว่าเราไม่ได้ตัวคนเดียว และถ้าเรื่องของคุณวาคิทานิจะพอเป็นกำลังใจได้บ้าง ก็นึกถึงเธอแล้วเข้มแข็งไว้นะคะ เดี๋ยววันหนึ่งมันก็ผ่านไป เหมือนเรื่องอื่นทั้งหมดในชีวิตที่ผ่านมาแล้วผ่านไปนั่นเอง.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.