xs
xsm
sm
md
lg

“กระดาษเช็ดปาก” กับ “ผ้าเปียกเช็ดมือ” ความสำคัญที่ญี่ปุ่นกับอเมริกามองต่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก sasebo-5bangai.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”


สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน เคยมีใครสังเกตบ้างไหมคะ ว่าทำไมร้านอาหารในญี่ปุ่นหลายแห่งไม่ค่อยมีกระดาษเช็ดปากวางไว้ให้เลย แต่กลับไม่ค่อยขาดผ้าเปียกเช็ดมือ ในทางกลับกันร้านอาหารในอเมริกาจะมีกระดาษเช็ดปากให้เยอะแยะ แต่ไม่มีผ้าเปียกเช็ดมือทั้งที่อาหารหลายอย่างต้องถือรับประทาน เลยรู้สึกเป็นมุมหนึ่งในวัฒนธรรมการกินของสองประเทศนี้ที่ดูขาด ๆ เกิน ๆ ชอบกล

แม้ร้านอาหารในญี่ปุ่นหลายแห่งจะไม่มีกระดาษเช็ดปากให้ แต่ก็มักจะมี “โอชิโบหริ” (おしぼり) หรือผ้าเปียกสำหรับเช็ดมือก่อนรับประทานอาหารให้เสมอ โดยเป็นของที่อยู่คู่วัฒนธรรมญี่ปุ่นมายาวนานตั้งแต่พันกว่าปีก่อนเลยละค่ะ นอกจากจะเอาไว้ต้อนรับแขกอย่างอบอุ่นแล้ว ยังบ่งบอกถึงความรักสะอาดและใส่ใจสุขอนามัยของคนญี่ปุ่นด้วย

ในยุคนี้ผ้าเปียกเช็ดมือมีทั้งแบบใช้ซ้ำได้กับแบบใช้แล้วทิ้ง แบบที่นำมาใช้ซ้ำจะเป็นผ้าขนหนูผืนเล็ก ม้วนมาเป็นแท่ง ซึ่งเขาจะเก็บไว้ในตู้ปรับอุณหภูมิสำหรับผ้าแบบนี้โดยเฉพาะ ในฤดูร้อนผ้านี้จะเป็นผ้าเย็น ส่วนในฤดูหนาวจะเป็นผ้าร้อน สะท้อนความละเอียดอ่อนและพร้อมต้อนรับลูกค้าของคนญี่ปุ่นจริง ๆ

ภาพจาก motenas-japan.jp
เท่าที่ทราบดูเหมือนผ้าแบบนี้จะเช่ามาจากบริษัทให้เช่าผ้าเปียกเช็ดมือโดยตรง เขาจะส่งผ้ามาเป็นล็อต ๆ โดยบรรจุซองพลาสติกแยกชิ้น แล้วพอทางร้านให้ลูกค้าใช้เสร็จแล้วก็ต้องเก็บใส่กล่องไว้ ให้ทางบริษัทมารับคืนไปซักทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วนำกลับมาใช้ใหม่

ค่าเช่าผ้ามีราคาตกผืนละประมาณ 8-16 เยน เคยได้ยินว่ามีพนักงานร้านอาหารคนหนึ่งเก็บโต๊ะแล้วคงเบลอ เลยเผลอทิ้งผ้าเช็ดมือไปพร้อมกับเศษอาหาร แม้จะแค่ผืนเดียวแต่ก็โดนผู้จัดการร้านโทรมาต่อว่าใหญ่โต เพราะเป็นผ้าที่เช่ามาและต้องคืนทางบริษัท ถ้าขาดไปหนึ่งผืนหรือสกปรกเพราะเอาไปใช้เช็ดโต๊ะแทน ก็ต้องจ่ายค่าปรับ

บ่อยครั้งที่ฉันเห็นคนญี่ปุ่นบางคนเอาผ้าเปียกนี้มาเช็ดหน้าเช็ดคอเวลาอากาศร้อน ๆ หรือเช็ดปากนิด ๆ หน่อย ๆ บ้าง หรือเช็ดโต๊ะเวลาทำอะไรหกเลอะเทอะบ้าง แต่ตามหลักมารยาทญี่ปุ่นแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำทั้งสิ้น เพราะผ้านี้มีไว้สำหรับเช็ดมืออย่างเดียวเท่านั้น และพอใช้แล้วให้ม้วนด้านที่เช็ดมือกลับเข้าข้างใน แล้ววางไว้ที่เดิม บางร้านพนักงานจะเก็บผ้าเช็ดมือออกไปทันทีหลังใช้เสร็จ

ภาพจาก hikasuzu.blog.jp
ถ้าเป็นร้านอาหารฝรั่ง ร้านอาหารครอบครัว คาเฟ่ มักจะให้ทั้งผ้าเปียกแบบใช้แล้วทิ้งและกระดาษเช็ดปากด้วย เช่นเดียวกันเวลาสั่งอาหารกลับบ้าน หรือสั่งมาส่งที่บ้าน หรือซื้ออาหารจากร้านสะดวกซื้อ ทางร้านก็จะให้ผ้าเปียกแบบนี้มาด้วยเหมือนกัน แต่คนญี่ปุ่นเองบางทีก็ไม่ค่อยได้ใช้ผ้าเปียกที่ได้มาจากการซื้ออาหารกลับบ้าน คงเพราะล้างมือที่บ้านได้ ทีนี้จะทิ้งก็เสียดาย บางคนเลยเอามาเช็ดทำความสะอาดอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ในบ้านแทน

ทว่าเดี๋ยวนี้ได้ยินว่ามีร้านอาหารเยอะขึ้นที่ไม่ให้ผ้าเปียกเช็ดมือกันแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง สมมติว่าราคาผ้าเปียกแบบใช้แล้วทิ้งอยู่ที่ผืนละ 2 เยน ส่วนราคาเช่าผ้าเปียกอยู่ที่ผืนละ 8 เยน อาจจะดูไม่แพง แต่ลองคิดว่าถ้าลูกค้าใช้ผ้าเปียก 50 ผืนต่อวัน x 25 วันต่อเดือน x 12 เดือน ปีหนึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายผ้าเปียกแบบใช้แล้วทิ้ง 30,000 เยน หรือถ้าเป็นผ้าเปียกแบบเช่าก็ 120,000 เยนเลยทีเดียว ก็น่าเห็นใจร้านที่มีกำไรจากการขายอาหารไม่มากเหมือนกัน

แต่การมีผ้าเปียกเช็ดมือให้ ก็เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นมองว่าเป็นบริการที่ใส่ใจลูกค้า และหลายคนก็อยากให้มือสะอาดก่อนรับประทานอาหาร เพราะบางทีไปล้างไม่สะดวก บางคนจึงไม่ชอบใจเอาเลยถ้าร้านไหนไม่มีผ้าเปียกเช็ดมือให้ แต่บางคนซึ่งเข้าใจว่าทางร้านมีภาระค่าใช้จ่ายก็รับได้ รวมทั้งมีหลายคนที่มองว่าไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ โดยเฉพาะหากเป็นอาหารที่รับประทานโดยช้อนส้อมหรือตะเกียบ เพราะไม่ต้องสัมผัสอาหารโดยตรงอยู่แล้ว

ผ้าเปียกเช็ดมือแบบใช้แล้วทิ้ง msp.co.jp
ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องปกติที่ร้านซูชิสายพาน ร้านราเม็ง ร้านโซบะ/อุด้ง ร้านฟาสต์ฟู้ดจะไม่ค่อยมีผ้าเปียกเช็ดมือให้ แต่จะมีกระดาษเช็ดปากแทน หลายร้านใช้เป็นทิชชูกล่องตั้งไว้บนโต๊ะ หรือไม่ก็วางอยู่ใต้เคาน์เตอร์ที่นั่งซึ่งมักจะทำเป็นเก๊ะไว้วางสัมภาระส่วนตัวได้ ส่วนร้านอาหารฝรั่งหรูหน่อยก็จะใช้ผ้าเช็ดปากแบบที่เป็นผืนใหญ่ ๆ เอามาปูบนตัก

สำหรับตัวฉันแล้วคิดว่าผ้าเปียกเช็ดมือไม่ได้จำเป็นเท่ากระดาษเช็ดปาก เวลาไปร้านอาหารในญี่ปุ่นที่ให้เฉพาะผ้าเปียกเช็ดมือจึงรู้สึกลำบากใจ และคิดว่าไม่สะดวกเลยที่ไม่มีกระดาษเช็ดปากให้ คุณแม่เพื่อนบอกว่ากรณีอย่างนี้จะใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือทิชชูที่พกไปเอง คือคนญี่ปุ่นจะพกผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าขนหนูผืนเล็ก ๆ กันเป็นปกติอยู่แล้วทั้งชายหญิง หรืออย่างน้อยเดินอยู่ในเมืองก็จะได้ทิชชูแจกฟรีอยู่ดี (ที่มาพร้อมโฆษณา) เพราะฉะนั้นในกระเป๋าถือตัวเองก็น่าจะมีอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แน่นอน

ถ้าเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบเก่าเขาจะใช้กระดาษญี่ปุ่นชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ไคฉิ” (懐紙) ซึ่งเป็นกระดาษที่ทบมาเป็นปึกเล็ก ๆ ไว้ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ป้องปากเวลารับประทานอาหารชิ้นใหญ่ซึ่งอาจไม่น่าดู ไว้เช็ดปาก เช็ดปลายตะเกียบที่เลอะ ใช้รองขนมญี่ปุ่น หรือกระทั่งเอามาใช้เป็นกระดาษโน้ต (ในขณะที่คนฝรั่งก็เอา paper napkin หรือกระดาษเช็ดปากมาใช้งานในลักษณะเดียวกัน) แต่เดี๋ยวนี้ที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีคนใช้ไคฉิกันเท่าไหร่แล้ว ยกเว้นในพิธีชงชา ร้านน้ำชาแบบเก่าในเกียวโต ร้านขนมญี่ปุ่น เป็นต้น

ภาพจาก chanoyu-biyori.hatenablog.com
เรามาข้ามทวีปไปดูที่ฝั่งอเมริกากันบ้างดีกว่า ประเทศนี้แทบจะเรียกได้ว่ากระดาษเช็ดปากเป็นอะไรที่ขาดไม่ได้เลย บ่อยครั้งที่ร้านอาหารจะให้กระดาษเช็ดปากแผ่นใหญ่แบบที่เอามากางวางบนตักได้ หรือไม่ก็เสียบกล่องไว้ให้หยิบเอาเอง หากซื้ออาหารกลับบ้าน ทุกร้านก็มักให้กระดาษเช็ดปากมาทีเป็นปึก ราวกับกลัวว่าลูกค้าจะรับประทานเลอะเทอะทุกคำ แต่จริง ๆ ฉันเดาว่าเขาคงขี้เกียจหยิบให้ได้เป๊ะ ๆ ทีละแผ่น เลยให้มาทีเดียวมากมาย ไป ๆ มา ๆ คนอเมริกันเลยออกจะติดนิสัยใช้กระดาษเช็ดปากเปลืองไปด้วย และชอบหยิบกันมาทีละหลายแผ่นโดยไม่จำเป็น

เวลาซื้ออาหารกลับบ้านทีไร ฉันต้องคอยบอกพนักงานว่าไม่เอากระดาษเช็ดปาก (และไม่เอาช้อนส้อมมีดพลาสติกด้วย เพราะใช้ของที่บ้านได้) หรือถ้ารับกระดาษเช็ดปากมาแล้ว หากเหลือก็จะเก็บใส่กระเป๋าถือไว้เผื่อได้ใช้ มีอยู่วันหนึ่งฉันเดินอยู่ริมถนน เห็นคนจูงสุนัขมาแล้วมันขับถ่ายข้างทางพอดี คนจูงก็หันมาถามว่าพอมีกระดาษอะไรบ้างไหม ฉันนึกในใจว่าพาสุนัขออกมาเดินเล่นทั้งที ทำไมถึงไม่พกอุปกรณ์เก็บกวาดให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้านหนอ แอบถอนใจแต่ก็หยิบกระดาษเช็ดปากที่มีส่งให้ เอาเถอะ อย่างน้อยก็ไม่ต้องมีคนโชคร้ายเดินไปเหยียบเข้า และกระดาษนี้ก็ได้ใช้ประโยชน์แล้ว

ภาพจาก ikea.com
พูดถึงเรื่องเก็บมูลสุนัขนี่ ฉันเห็นทั่วโลกนิยมใช้ถุงพลาสติกเก็บหลังจากสุนัขขับถ่าย ซึ่งจริง ๆ ฉันว่ามันก็ยังทำให้พื้นเลอะอยู่ดี วิธีง่ายและดีที่ฉันชอบใช้คือ เอากระดาษหนังสือพิมพ์ไม่ใช้แล้วมาฉีกออกเป็น 4 ส่วนต่อแผ่น หรือไม่ก็ใช้กระดาษนิตยสารหรือแผ่นโฆษณาอะไรก็ได้ เวลาพาสุนัขออกไปเดินก็ติดไปด้วยสัก 2-3 แผ่นต่อหนึ่งตัว พอได้เวลาและสถานที่อันเหมาะเหม็ง สุนัขก็จะหมุนตัว จังหวะนี้เราก็เตรียมพร้อมให้ดี พอมันนั่งยอง ๆ ปุ๊บ เราก็รีบเอากระดาษที่เตรียมมารองไว้ที่พื้น เหยียบปลายกระดาษทั้งสองข้างไว้ด้วยกันปลิว พอสุนัขเสร็จธุระแล้ว เราก็ห่อกระดาษให้เรียบร้อย เก็บไปทิ้งถังขยะ ง่ายดาย พื้นไม่เลอะด้วยค่ะ

แต่บางทีฉันก็ไม่รู้ว่าโดนวิบากอันใดเล่นงาน เพราะพอห่อกระดาษเสร็จเรียบร้อย ก็ถือไว้กะจะเอากลับไปทิ้งถังขยะที่บ้านตัวเอง แต่มีหลายครั้งที่ดันเจอเพื่อนบ้านที่คุ้นเคยเข้าเสียก่อน ด้วยความที่เคยเรียนโรงเรียนซึ่งเข้มงวดเรื่องมารยาทอย่างกับอะไรดี พอเห็นผู้ใหญ่เลยยกมือขึ้นพนมไหว้โดยอัตโนมัติ เพื่อนผู้อ่านคงเดาออกว่าฉันเจอชะตากรรมแบบไหนในเวลานั้น (ฮือ) คราวต่อ ๆ มาฉันเลยเอากระดาษห่อที่ถือไว้วางลงพื้นก่อนแล้วค่อยยกมือไหว้ผู้ใหญ่ เรื่องง่ายแค่นี้ทำไมตอนแรกคิดไม่ออกก็ไม่ทราบ

อ๊ะ…เขียนเรื่องกระดาษเช็ดปากอยู่ดี ๆ ไหงกลายเป็นกระดาษอะไรไปเสียแล้ว ขอวกกลับไปเรื่องกระดาษเช็ดปากต่อนะคะ

แรป (wrap) ภาพจาก thespruceeats.com
อยู่ในอเมริกามีกระดาษเช็ดปากให้ใช้อย่างจุใจ ก็ดีตรงที่ไม่ต้องห่วงเวลารับประทานแล้วหกเลอะเทอะ โดยเฉพาะยามรับประทานอาหารที่เลอะมือหรือร่วงพรูได้ง่ายอย่างแฮมเบอร์เกอร์ แซนวิช เบอริโต และแรป (สองอย่างหลังคือแป้งห่อไส้ มักจัดว่าเป็นแซนวิชประเภทหนึ่ง) แต่ในขณะเดียวกันอาหารแบบนี้ก็รับประทานด้วยมือ เลยกลายเป็นว่าอยู่อเมริกาฉันมักจะนึกอยากได้ผ้าเปียกเช็ดมือเป็นประจำ เพราะอยากให้มือสะอาดก่อนจับอาหาร ที่จริงไปล้างมือก็ได้อยู่เหมือนกัน แต่บางทีก็ไม่สะดวกหรือห้องน้ำไม่ค่อยสะอาด

แม้เรื่องเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในวัฒนธรรมการกิน แต่มันก็สำคัญกว่าที่คิด และสร้างความแตกต่างได้มากระหว่างมีกับไม่มี โดยส่วนตัวฉันรู้สึกว่า อยู่ญี่ปุ่นต้องคอยพกทิชชูติดตัว ส่วนเวลาอยู่อเมริกาต้องพกผ้าเปียกเช็ดมือติดตัว เพราะเวลานึกอยากใช้ขึ้นมา ร้านอาหารมักไม่มีให้

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น