คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ประเทศที่ผู้คนรักการแช่น้ำร้อนอย่างญี่ปุ่นนั้น มีขายผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ผสมลงในอ่างแช่น้ำร้อนเยอะมากจนเลือกไม่ถูกเลยทีเดียว และยังมีกลิ่นต่าง ๆ หลายกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครเสียอีก ญี่ปุ่นใช้มันมาตั้งแต่สมัยไหน มีดีอย่างไร ทำไมถึงเป็นที่นิยม เราไปหาคำตอบพร้อมกันดีกว่า
ภาษาญี่ปุ่นเรียกสิ่งนี้ว่า “นิว-โยะ-ขุ-ไซ” (入浴剤) ครั้งแรกที่ฉันรู้จักมันคือตอนไปเยี่ยมบ้านสามี คุณยายบอกว่า “เวลาจะแช่น้ำร้อน ให้เอานี่ใส่ลงไปก้อนนึง” แล้วท่านก็หยิบกระปุกพลาสติกที่ข้างในบรรจุก้อนแข็ง ๆ อะไรสักอย่างหลายก้อนส่งให้ “รอให้มันละลายหมดแล้วค่อยแช่ตัว” ฉันกับสามีลองใช้ดู พอหย่อนลงไปแล้วน้ำก็ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวราวกับมีตะไคร่น้ำจับในอ่าง ดูแล้วน่ากลัวมากกว่าน่าแช่ แถมกลิ่นยังตุ ๆ แปลก ๆ ชอบกล ด้วยความที่ไม่คุ้นชินและไม่ชอบเห็นน้ำอาบมีสี เลยใช้แค่ครั้งเดียวแล้วไม่ใช้อีกเลย
แม้ว่าประสบการณ์ครั้งแรกในการใช้นิวโยะขุไซของฉันจะไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ แต่ในญี่ปุ่นก็เชื่อกันว่านิวโยะขุไซมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพหลายอย่าง และเป็นที่นิยมเสียจนมูลค่าตลาดในปี พ.ศ. 2564 สูงถึง 6.96 หมื่นล้านเยนเลยทีเดียว และตลาดนิวโยะขุไซสำหรับเด็กก็เติบโตถึง 2 ร้อยล้านเยนในปี พ.ศ. 2562 ด้วย ยิ่งช่วงปีหลัง ๆ มานี้ที่ “ซาวน่า” และ “ออนเซ็น” เป็นกระแสนิยมในญี่ปุ่น ก็ยิ่งน่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไม่ตกยุคไปง่าย ๆ
กำเนิดนิวโยะขุไซ
ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้วที่ญี่ปุ่นมีการแช่ออนเซ็น เพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วย บาดเจ็บ และรักษาสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีการแช่น้ำร้อนด้วยยาสมุนไพร โดยการเติมใบ ผลไม้ ราก และส่วนอื่น ๆ ของพืชมาใส่ในอ่างแช่น้ำร้อนเพื่อรวมคุณสมบัติทางยาเข้าสู่ร่างกาย ในปัจจุบันก็ยังมีออนเซ็นที่นำผลไม้หรือไม้หอมมาผสมด้วยเช่นกัน เช่น ผลส้มยูสุ แอปเปิล และไม้สนหอมฮิโนกิ เป็นต้น
ญี่ปุ่นเริ่มมีการผลิตนิวโยะขุไซขายตามเซ็นโต (โรงอาบน้ำสาธารณะ) เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2440 ในสมัยเมจิ โดยผู้ผลิตเจ้าแรกคือบริษัทยาที่ชื่อ “สึมุระจุนเทนโด” (ปัจจุบันคือ “บาธคลิน”) นิวโยะขุไซในเวลานั้นเป็นสูตรเดียวกับยาสมุนไพรสำหรับสตรีชนิดหนึ่งที่รักษาอาการตัวเย็น กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และรักษาอาการติดเชื้อ
นิวโยะขุไซชนิดนี้เกิดขึ้นจากความบังเอิญโดยแท้ คือลูกจ้างของบริษัทรู้สึกเสียดายที่จะทิ้งกากสมุนไพรที่ใช้ทำยา เลยเอากลับบ้านไปแล้วใส่ในอ่างอาบน้ำให้ลูกแช่ตัว ปรากฏว่าโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อของเด็กดีขึ้น ทั้งยังรู้สึกว่าร่างกายอบอุ่นกว่าปกติ และต่อมามันก็เลยกลายเป็นจุดขายของนิวโยะขุไซชนิดนี้ พอข่าวลือแพร่สะพัด เซ็นโตต่าง ๆ จึงพากันสั่งซื้ออย่างคับคั่ง
ในยุคนั้นนิวโยะขุไซจึงเป็นยาสมุนไพรในถุงผ้า เวลาจะใช้ก็ใส่ลงอ่างน้ำร้อนที่จะแช่ตัวนั่นเอง นึกภาพแล้วรู้สึกคล้ายกับเวลาเราต้มน้ำแกง แล้วเอาสมุนไพรห่อในถุงผ้าขาวบางใส่ลงไปต้มเลยนะคะ และที่จริงเราก็สามารถเอาสมุนไพรแห้งที่เอามาทำชา อย่างเช่น โรสแมรี่ คาโมมิล มินท์ ขิง มะลิ กุหลาบ ลาเวนเดอร์ ไปใส่ในอ่างน้ำร้อนสำหรับแช่ตัวได้ด้วยเหมือนกัน หรืออาจเอาสมุนไพรแห้งประมาณ 30 กรัมไปต้ม จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำชาที่ได้มาผสมกับน้ำอุ่นในอ่างอาบน้ำแช่ตัวได้เลย หรือจะผสมเกลือทะเลหรือดีเกลือลงไป 1 ถ้วยด้วยก็ยิ่งดีต่อร่างกายมากขึ้น
อีกอย่างหนึ่งคือบางคนก็กังวลเรื่องสารเคมีในนิวโยะขุไซที่วางขายตามท้องตลาด ก็เลยหันมาทำนิวโยะขุไซแบบธรรมชาติเอาเอง โดยใช้พืชปลอดสารเคมีมาตากแห้งแล้วบรรจุถุงผ้า แบบเดียวกับนิวโยะขุไซยุคแรกนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามหากใครจะลองวิธีนี้ ขอแนะนำให้ใช้สมุนไพรแบบที่แน่ใจว่าปลอดสารเคมี เพราะเพื่อนฉันเคยเล่าว่าเพื่อนเธอในเชียงใหม่ซึ่งปลูกดอกไม้ส่งขายตลาดใหญ่ในกรุงเทพ ฯ นั้น จะไม่มีวันเอาดอกไม้ที่ตัวเองปลูกเข้ามาประดับในบ้านเด็ดขาด เหตุผลคือเพราะมันเต็มไปด้วยสารเคมี เพราะฉะนั้นถ้าจะเอาพืชมาทำน้ำแช่ตัวนี่ยิ่งต้องระวังมากเรื่องสารเคมี ไม่อย่างนั้นเกิดแพ้ขึ้นมาจะเรื่องใหญ่
พัฒนาการของนิวโยะขุไซ
สมัยก่อนสงคราม บ้านเรือนในญี่ปุ่นที่มีอ่างอาบน้ำยังมีน้อย ประชาชนจึงได้ใช้นิวโยะขุไซจากการไปอาบน้ำที่เซ็นโตเป็นหลัก แต่พอถึงช่วงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว บ้านเรือนต่าง ๆ ก็เริ่มมีการสร้างห้องอาบน้ำและอ่างอาบน้ำ ตลาดนิวโยะขุไซจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ยิ่งในช่วงรุ่งเรืองของเศรษฐกิจฟองสบู่นั้น ว่ากันว่ายอดขายนิวโยะขุไซทั้งหมดอยู่ที่ 6 หมื่นล้านเยนเลยทีเดียว
หลังจากนิวโยะขุไซรุ่นสมุนไพรในถุงผ้า ก็มีการพัฒนาต่อมาเป็นแบบผง แบบก้อน แบบเหลว ซึ่งสามารถเก็บได้นานและใช้สะดวกกว่า ทั้งยังมีการเติมสีและกลิ่นลงไปเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายและสนุกกับการแช่น้ำมากขึ้น (ทว่าก็มีบางคนบอกว่ารู้สึกดีตอนอาบ แต่จะเป็นลมตอนล้างเพราะสีเปรอะอ่างไปหมด)
ปัจจุบันยังมีทั้งแบบที่ให้ผลด้านการดูแลผิวพรรณ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด กระตุ้นการเผาผลาญ คลายปวดเมื่อยตามตัว บรรเทาความเหนื่อยล้า ช่วยให้ร่างกายอุ่นได้นานในฤดูหนาว และช่วยให้รู้สึกเย็นสบายในฤดูร้อน เป็นต้น
นิวโยะขุไซแบบทัวร์ออนเซ็นที่บ้าน
ด้วยความที่ออนเซ็นแต่ละแห่งในญี่ปุ่นให้ผลดีต่อสุขภาพต่างกัน บรรดาผู้ผลิตนิวโยะขุไซจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านสามารถมีสุขภาพดีได้ง่าย ๆ ที่บ้านโดยไม่ต้องเจาะจงเดินทางไปถึงออนเซ็น จึงมีการคิดค้นนิวโยะขุไซที่ใช้สารสกัดจากออนเซ็นธรรมชาติแล้วทำเป็นผง ซึ่งกว่าจะทำได้ก็ต้องวิจัยและไปเก็บข้อมูลจากพื้นที่ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากสหภาพออนเซ็นและสมาคมท่องเที่ยวด้วย พอผลิตเป็นนิวโยะขุไซได้แล้วก็ต้องให้พวกเขาตรวจดูอีกที
หนึ่งในทีมผู้คิดค้นนิวโยะขุไซชนิดนี้เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนพอออกไปสำรวจพื้นที่ตามออนเซ็นนั้น ครึ่งหนึ่งคือโดนไล่ออกมา เพราะเขากลัวว่าสินค้าแบบนี้จะทำให้ชาวบ้านไม่มาเที่ยวออนเซ็นกัน ต่างจากเดี๋ยวนี้ที่ออนเซ็นหลายแห่งจะกระตือรือร้นให้ความร่วมมือมาก ที่เป็นฝ่ายติดต่อมาเองก็มี เพราะต้องการให้ช่วยผลิตนิวโยะขุไซของออนเซ็นพวกเขา จะได้ฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้คึกคัก
อย่างไรก็ตาม แหล่งออนเซ็นชื่อดังบางแห่งก็ไม่มีการทำนิวโยะขุไซออกมา โดยเฉพาะแหล่งที่ส่งกลิ่นตุ ๆ เหมือนไข่เน่า เพราะมีการห้ามใช้กำมะถันเข้มข้น หรือมีส่วนประกอบที่เป็นกรดด่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้อ่างอาบน้ำเสียหายได้ อีกทั้งนิวโยะขุไซบางยี่ห้อเองก็ “ขี้โกง” คือใช้ส่วนผสมเหมือนกันหมด แต่เปลี่ยนสีและกลิ่น แล้วโฆษณาว่าเป็นออนเซ็นคนละแห่งกัน
คนญี่ปุ่นยุคใหม่กับนิวโยะขุไซ
ได้ข่าวว่าเดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยจะแช่น้ำร้อนกันแล้ว เพราะงานยุ่ง ไม่มีเวลา อีกทั้งคุณแม่บางคนก็ไม่ให้ลูกแช่น้ำร้อน ทำให้เด็กโตมาไม่คุ้นกับการแช่น้ำร้อนเหมือนในสมัยโบราณ มีการสันนิษฐานว่านี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กญี่ปุ่นเหงื่อไม่ออกหรือตัวเย็นเป็นประจำเยอะขึ้น
นอกจากนี้คนยังไม่ค่อยแช่น้ำร้อนกันในฤดูร้อนมากเท่าฤดูหนาว เพราะคิดว่ามันร้อนหรือไม่จำเป็น แต่ก็มีผู้กล่าวว่าการเผชิญกับอุณหภูมิที่ต่างกันมากในอาคารกับนอกอาคารจะทำให้เสียสุขภาพได้ จึงควรจะแช่น้ำร้อนเพื่อผ่อนคลายและกระตุ้นให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานตามปกติ
อย่างไรก็ตามการที่คนกักตัวอยู่กับบ้านช่วงโควิดที่ผ่านมา ก็ทำให้ผู้คนหันมาสนใจดูแลตัวเองกันมากขึ้น และอาจเพราะคุณสมบัติทางยาในการรักษาความอบอุ่นให้ร่างกาย กระตุ้นภูมิคุ้มกันของนิวโยะขุไซ รวมถึงความผ่อนคลายที่ได้รับจากการแช่น้ำร้อนกลิ่นต่าง ๆ จึงทำให้ความต้องการนิวโยะขุไซสูงขึ้นในช่วงโควิด
ถ้าสนใจ ที่ญี่ปุ่นมีขายแบบเป็นกระปุก เป็นกล่อง รวมทั้งขายแยกซองสำหรับใช้ครั้งเดียว ซึ่งอย่างหลังแม้จะแพงกว่า แต่ก็อาจสนุกดีเพราะได้ลองหลาย ๆ แบบ จะได้รู้ว่าชอบแบบไหน หาได้ตามร้านขายยา ซูเปอร์สโตร์ ร้านกิฟท์ช้อปบางแห่ง และร้านดองกิโฮเต้ แต่ถ้าไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นของญี่ปุ่นเท่านั้น เกลือสำหรับแช่น้ำ (bath salt) ยี่ห้อของฝรั่งที่ดี ๆ ก็มีเหมือนกัน ถ้ามีโอกาสก็ลองใช้แล้วเทียบดูนะคะ
แล้วพบกันสัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.