คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ที่ญี่ปุ่นมีแหล่งขายของมือสองเยอะทีเดียว ทั้งแบบที่เป็นร้านค้า ร้านออนไลน์ และตลาดนัดของเก่า หลายครั้งที่ฉันเจอของคุณภาพดีมากอย่างน่าตกใจ จนมักจะติดภาพไปแล้วว่าของมือสองญี่ปุ่นสภาพดีแทบไม่ต่างจากของใหม่เลย ของบางอย่างฉันจึงชอบซื้อแบบมือสองเพราะคุ้มกว่ากันมาก
สภาพของมือสองในญี่ปุ่น
สาวอเมริกันคนหนึ่งพูดทำนองเดียวกัน เธอบอกว่าของเก่าที่คนญี่ปุ่นโละเป็นขยะแล้วมักจะสภาพดีราวกับของใหม่ ต่างจากของเก่าในอเมริกาที่มักจะเห็นความสึกหรออยู่เสมอ เวลาซื้อของมือสองในญี่ปุ่น เธอมักแยกความต่างไม่ออกว่าระหว่าง “ของใหม่” กับของมือสองที่ “คุณภาพดี” ดังนั้นสำหรับเธอแล้วการซื้อของมือสองในญี่ปุ่นจึงไม่ต่างอะไรกับการซื้อของทั่วไป เพียงแต่สบายกระเป๋าและเป็นมิตรกับโลกมากกว่าเพราะของชิ้นนั้นมีการใช้ซ้ำ
ฉันเคยซื้อเสื้อผ้าจากร้าน “ราคาถูก” ในญี่ปุ่นบ่อยครั้ง ชิ้นหนึ่งตกราคา 200-300 เยนเท่านั้นเอง เห็นมันดูใหม่และสภาพดีมาก ฉันเลยนึกว่าที่ขายถูกคงเพราะเป็นแฟชั่นตกรุ่นหรือไม่ผ่านมาตรฐานคุณภาพสินค้า เพิ่งมารู้ไม่นานนี้เองค่ะว่าที่จริงเป็นร้านขายเสื้อผ้ามือสอง ต้องชมคนญี่ปุ่นที่ใช้ข้าวของกันอย่างทะนุถนอมมากจริง ๆ
ส่วนสินค้ามือสองของญี่ปุ่นที่ขายทางออนไลน์ จะแบ่งตามคุณภาพคร่าว ๆ ได้ดังนี้
1.ไม่ได้ใช้งาน / เหมือนใหม่ (มีทุกอย่างครบ แต่อาจมีร่องรอยเปิดกล่อง ไม่มีร่องรอยการใช้งาน)
2.ดีมาก (แทบไม่มีร่องรอยการใช้งาน อาจมีรอยขีดข่วนหรือรอยเลอะที่เห็นไม่ชัด ใช้งานได้ดี)
3.ดี (มีร่องรอยการใช้งาน มีรอยขีดข่วนหรือรอยเลอะบ้าง ดูปุ๊บรู้ว่าเป็นของเก่า)
4.พอใช้ (มีร่องรอยการใช้งานมาก มีรอยขีดข่วนหรือรอยเลอะเห็นชัดเจน ชิ้นส่วนบางอย่างอาจไม่มี เช่น ไม่มีกล่อง ไม่มีสายเคเบิลมาด้วย เป็นต้น)
บางทีตามร้านเช่าหนังสือ CD DVD ก็มีการโละสินค้าเช่าในร้าน แล้วเอามาขายต่อถูก ๆ อยู่เหมือนกัน ถ้าเขาขายทางออนไลน์เขาจะระบุไว้ชัดเจนว่ามันเป็น “อดีตสินค้าเช่า” (レンタル落ち) ซึ่งก็ช่วยให้ลูกค้าเดาได้ง่ายว่าสภาพน่าจะเป็นอย่างไร เหมาะสำหรับลูกค้าที่คิดว่าแค่อยากเอามาดูเฉย ๆ ไม่ถึงกับเพื่อเก็บสะสม
นอกจากร้านออนไลน์จะบอกว่าของมือสองนั้นอยู่ในสภาพใดแล้ว ยังมักให้รายละเอียดปลีกย่อยด้วย เช่น เป็นรอยมากน้อยแค่ไหน สภาพโดยรวมดูเป็นอย่างไร ทดลองแล้วใช้งานได้ตามปกติ ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว บางร้านยังลงรูปให้ดูด้วย ช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
หนังสือ CD DVD เกม มือสอง
ร้านหนังสือมือสองของญี่ปุ่นมีทั้งแบบที่เป็นธุรกิจเล็ก ๆ และแบบที่เป็นธุรกิจใหญ่มีหลายสาขาทั่วประเทศ มักหาร้านเหล่านี้เจอได้ตามแหล่งชุมชนใกล้สถานีรถไฟ บางทีก็มีขาย CD DVD แผ่นเกม และเครื่องเล่นเกมมือสองด้วย หรือถ้าจะสั่งซื้อของมือสองเหล่านี้จากเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็มีให้เลือกมากมาย ราคาก็ลดหลั่นกันไปตามสภาพบ้าง ตามความต้องการของตลาดบ้าง
ท่ามกลางบรรดาหนังสือมือสองที่ฉันซื้อมาหลายเล่ม ฉันเจอสภาพใกล้เคียงของใหม่อยู่บ่อยครั้ง ไม่ค่อยเจอที่มีรอยยับชัดเจน ไม่เคยเจอรอยพับ รอยขาด รอยขีดเขียน หรือบวมน้ำ อย่างมากที่สุดก็กระดาษเหลือง หรือมีร่องรอยว่าผ่านการใช้งานมาก่อน แต่ก็ค่อนข้างทะนุถนอม แต่แม้สภาพจะดีขนาดนี้ หากซื้อทางออนไลน์ทางร้านอาจบอกว่าสภาพ “พอใช้” เท่านั้นเอง
ล่าสุดที่สามีกลับไปญี่ปุ่น ฉันสั่ง DVD มือสองที่ทางร้านออนไลน์บอกว่าสภาพ “พอใช้” ให้ส่งไปที่บ้าน ฝากสามีช่วยเช็คของให้ด้วย เขาก็แกะออกมาถ่ายรูปให้ดู ฉันถามว่าสภาพเป็นอย่างไรบ้าง เขาบอกว่า “อ้าว ผมนึกว่าเธอซื้อของใหม่ซะอีก” เพราะหนังสือภาพเล่มจิ๋วกับโปสการ์ดที่แถมมาด้วยก็ดูเหมือนใหม่ จนเขายังอุทานว่าอะไรญี่ปุ่นจะถ่อมตัวเรื่องมาตรฐานขนาดนี้
ฉันเคยอ่านรีวิวของลูกค้าญี่ปุ่นรายหนึ่งที่สั่งหนังสือการ์ตูนใหม่ออนไลน์ เขาโวยวายว่าหนังสือปกยับ มุมหนังสือเป็นรอย พร้อมทั้งลงรูปให้ดู ขนาดฉันเป็นพวกที่ถนอมหนังสือมากราวกับไข่ในหิน ก็ยังไม่เห็นว่าหนังสือของเขายับหรือเป็นรอยตรงไหน เลยสงสัยว่าเพราะคนญี่ปุ่นมาตรฐานสูงขนาดนี้หรือเปล่า ของมือสองที่ยังสภาพดีอยู่มากเลยแค่ “พอใช้”
ส่วนมาตรฐานสินค้ามือสองที่อเมริกา ถ้าเป็นลักษณะเดียวกับหนังสือและ DVD มือสองที่ฉันซื้อมา ก็คงสามารถเรียกว่า “ดีมาก” หรือ “เหมือนใหม่” ได้เลย แต่กระนั้นหลายครั้งฉันก็พบว่าคุณภาพมันยังต่ำกว่าระดับ “พอใช้” ของญี่ปุ่นอีก เพราะบางทีเจอหนังสือยับ ปกขาด ข้างในมีเขียนอะไรไว้ แต่กลับเรียกว่า “ดีมาก” ได้อย่างไรก็ไม่ทราบ ซึ่งถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นนี่เจอสภาพแบบนี้คงไม่รู้จะจัดอันดับอย่างไร เผลอ ๆ อาจจะขายไม่ได้เลยหรือเปล่าด้วยซ้ำ
ตลาดนัดของเก่า
ฉันเคยไปตลาดนัดขายของเก่ามาหลายแห่ง มีทั้งแบบตั้งใจไปและบังเอิญเจอ แบบที่ตั้งใจไปนี้เป็นตลาดใหญ่มาก ขายของหลากรูปแบบที่สภาพดีเหมือนใหม่เยอะแยะ แต่ราคาไม่แพง เข้าใจว่าหลายอย่างเป็นของโละจากในบ้าน เช่น ของตกแต่ง ถ้วยโถโอชามแบบเป็นเซ็ทครบชุด เครื่องประดับ ราคาถือว่าไม่แพงเลยถ้าเทียบกับคุณภาพ สามารถต่อราคาได้ แล้วแต่ว่าคนขายจะยอมหรือไม่
ฉันชอบพวกถ้วยโถโอชามสวย ๆ มาก ไปตลาดนี้ทีไรเป็นต้องได้เสียสตางค์ทุกที แต่พอซื้อมาแล้ว เวลาผ่านไปก็จะรู้ว่าของพวกนี้เราก็ไม่ได้ใช้เหมือนเจ้าของที่เขาโละทิ้งนี่เอง คือมันสวยต้องตาต้องใจ แต่มันเป็นของที่ใช้ไม่บ่อย สุดท้ายเราก็ต้องโละทิ้งเหมือนกัน คิดดูแล้วการมีอะไรไม่จำเป็นในชีวิตนี่มันทำให้หนักจริง ๆ นะคะ ตอนได้มาก็ดีอกดีใจ แต่สุดท้ายก็กลายมาเป็นภาระทางใจจนได้ สามีฉันจะแนะว่าถ้าอยากได้อะไรอย่าเพิ่งซื้อ รอให้ถึงพรุ่งนี้ก่อน หรือผ่านไปหลาย ๆ วันก่อนแล้วค่อยตัดสินใจอีกที บางทีพอความอยากมันลดลงแล้ว ก็อาจจะไม่อยากได้เท่าไหร่แล้ว
สำหรับตลาดนัดของเก่าที่บังเอิญเดินเจอ มักเจอตามลานกว้างในชุมชนที่สามารถใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมได้ อย่างแถวบ้านฉันจะอยู่หน้าสถานีรถไฟเลย สินค้าคล้าย ๆ พวกเปิดท้ายขายของ โดยเฉพาะเสื้อผ้า เครื่องประดับ ส่วนในย่านเครื่องไฟฟ้าอย่างอากิฮาบาระก็มีตลาดนัดของเก่า จำไม่ได้ว่าวันเสาร์หรืออาทิตย์ ขายพวกของเกี่ยวกับการ์ตูนหรือเกมเป็นส่วนมาก เช่น ฟิกเกอร์ ของเล่น ของตั้งโชว์ ไปเดินดูเล่นก็เพลินดีค่ะ
ขายของมือสอง
สำหรับการเอาของมือสองไปขายตามร้านรับซื้ออีกที บางทีต้องทำใจมากเลยค่ะว่าเราจะไม่หวังรายได้จากการขาย แล้วถ้าเป็นหนังสือ CD DVD เกม ต่อให้สภาพดีแค่ไหนก็ไม่ได้ช่วยให้ได้ราคาดีเท่าไหร่ด้วย จะได้ราคาหรือเปล่าอาจจะอยู่ที่ว่าเป็นที่ต้องการของตลาดมากแค่ไหนมากกว่า
ฉันเคยเอาหนังสือการ์ตูนชุดที่สภาพดีราวกับของใหม่ไปขาย 14 เล่ม (ต้นทุนเล่มละประมาณ 400 เยน) พอได้ยินพนักงานบอกว่าทั้งหมดนี้ให้แค่ “400 เยน” ฉันก็แทบจะกรี๊ดใส่เขาด้วยความตกใจ สภาพเหมือนใหม่ขนาดนั้นนึกว่าจะได้ไม่ต่ำกว่าพันเยนเสียอีก ถ้าสมัยนั้นมีเว็บไซต์ขายของมือสองด้วยตัวเองง่าย ๆ อย่างที่ตอนนี้มีละก็ ฉันจะไม่มีวันเอาไปขายให้ร้านรับซื้อของมือสองเลยค่ะ รันทดใจมาก
น้องคนหนึ่งเล่าว่าเคยเอาเสื้อผ้าที่ไม่ใส่แล้วไปขายร้านรับซื้อเสื้อผ้ามือสอง ได้แค่กิโลละ 10 เยนเท่านั้นเอง เธอเล่าให้ฟังด้วยความคับแค้นใจว่าอุตส่าห์หอบไปหนักแทบแย่ สู้ตัดใจทิ้งไปเลยยังดีเสียกว่า
ถ้าเป็นสมัยนี้ละก็ไปเปิดร้านในเว็บขายของออนไลน์จะได้เงินดีกว่ากันมาก บางเว็บเขามีค่าขนส่งที่ตกลงกันไว้กับบริษัทขนส่งในเรทที่ไม่แพง มีให้เลือกหลายบริษัท ทั้งยังมีประกัน ทำให้เราขายของง่ายและสบายใจ ตอนอยู่อเมริกาสามีฉันก็เคยขายหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นด้วยวิธีนี้ ได้เงินมาเกือบครึ่งหนึ่งของราคาที่ซื้อมา ถือว่าขายได้ราคาดีทีเดียว
อันนี้ก็เป็นประสบการณ์ซื้อขายของมือสองเท่าที่ฉันเคยเจอมานะคะ สำหรับร้านขายและรับซื้อของแบรนด์เนมก็มีอยู่หลายร้านตามแหล่งช้อปปิ้ง และมีเว็บไซต์ขายของแบรนด์เนมโดยเฉพาะหลายเว็บด้วย โดยบางเว็บมีรับประกันว่าเป็นของแท้ 100% ส่วนร้านขายของมือสองอื่น ๆ ทั่วไปก็จะพบเจอตามรอบบริเวณสถานีรถไฟ หรือในย่านร้านค้าสำหรับคนเดิน ถ้าเดินผ่านก็ลองแวะไปดูค่ะ สนุกดี
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.