โครงการ Opportunities in Tech & Coding เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่ให้ความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่นักเรียนชั้นมัธยมปลาย ณ โรงเรียนเจ้าพระยาวิทยาคม จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา จัดโดยบริษัท Kitbridge บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรม ร่วมกับผู้สนับสนุนคือ AIFUL CORPORATION และบริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเครือบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำจากญี่ปุ่น
กิจกรรมนี้นำโดยผู้นำโครงการ ผศ.ดร. กวิน อัศวานันท์ ผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเคยศึกษาที่มหาวิทยาลัย Standford อีกทั้งมีประสบการณ์ทำงานในบริษัท Microsoft และ Google ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในสหรัฐอเมริกามาแล้ว และปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Kitbridge นอกจากนี้ยังมีวิทยากรผู้ช่วย คุณธีรเมศ ช่วยพยุง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งกำลังศึกษาด้านการเขียนโปรแกรมอยู่เช่นกัน
กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวจุดประกายในการเข้าสู่แวดวงเทคโนโลยีและโปรแกรมมิ่งให้กับนักเรียนที่สนใจ และเพื่อเป็นพื้นที่ให้นักเรียนได้ลองทำโจทย์ Coding ซึ่งในการทำโจทย์ดังกล่าวนักเรียนจะได้เรียนรู้การเรียงลำดับกระบวนการทำงานอันเป็นทักษะพื้นฐานในการเขียนโค้ด และสามารถนำไปต่อยอดในโจทย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นต่อไปได้ อีกทั้งเพื่อให้นักเรียนได้ลองค้นหาตัวเองว่าตนเองก็มีศักยภาพในการทำ Coding เช่นกัน สำหรับงานนี้มีนักเรียนชั้นมัธยมปลายปีที่ 5 และ 6 สนใจเข้าร่วมจำนวน 27 คน
หลังจากกล่าวทักทายนักเรียน ก็ได้รับเกียรติจากรองผู้อำนวยการ ดุษฎี จันทร์งาม มากล่าวเปิดงานด้วยน้ำเสียงเป็นกันเองว่า “ต้องขอขอบคุณบริษัท Kitbridge และบริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล ที่จัดกิจกรรมดีๆ และให้โอกาสเด็กๆ เพราะเทคโนโลยีสำคัญในยุคนี้มาก ความรู้ที่วิทยากรมอบให้นับเป็นประสบการณ์ที่ดี สามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้ ขอให้นักเรียนตั้งใจให้ดี” นอกจากนี้คุณ Ono Daisuke ผู้ดำรงตำแหน่งใน Credit Governance Department แห่ง AIFUL CORPORATION ก็ได้ร่วมกล่าวเปิดงานด้วยว่า หากนักเรียนคนไหนสนใจในด้านเทคโนโลยี สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ความรู้ทางเทคนิคก็คือคอนเนคชั่นซึ่งถือเป็นตัวช่วยในการสร้างและหาโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโต และสุดท้ายนี้หวังว่านักเรียนจะสนุกและสนใจในด้านการเขียนโปรแกรมมากขึ้นผ่านการทำกิจกรรมในครั้งนี้
หลังจากเปิดงานอย่างเป็นทางการ ก็เข้าสู่ช่วงกิจกรรมแบบฝึกหัดความรู้พื้นฐาน นั่นคือการเขียนโค้ดแสดงคำสั่งต่างๆ ด้วย micro:bit เพื่อให้นักเรียนคุ้นชินกับการใช้โปรแกรมมากขึ้น โดยจะเพิ่มระดับความซับซ้อนขึ้นในทั้ง 3 แบบทดสอบ ได้แก่ การเขียนคำสั่งแสดงค่าด้วยแสง การเขียนคำสั่งแสดงค่าของช่วงเวลา และการเขียนคำสั่งเป่ายิ้งฉุบ
กิจกรรมไฮไลท์ในช่วงสุดท้ายหลังทำแบบฝึกหัด คือโจทย์เขียนโค้ดสำหรับเป่ายิ้งฉุบเพื่อเอาชนะ Coding Bot ให้ได้ ซึ่ง Coding Bot มีเงื่อนไขคือ ช่วงเช้า (เซ็นเซอร์รับแสงได้มาก) ออกเฉพาะกรรไกรกับกระดาษ ช่วงกลางวัน (เซ็นเซอร์รับแสงได้ในระดับปกติ) ออกเฉพาะกรรไกรกับค้อน ช่วงเย็น (เซ็นเซอร์รับแสงได้น้อย) ออกเฉพาะค้อน นักเรียนต้องเอาชนะ Coding Bot ให้ได้ 3 ครั้งในการฉุบ 5 ครั้ง และต้องเขียนโค้ดเล่นเสียงดนตรีให้ Bot ฟังเพื่อเคลียร์โจทย์ ถือเป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนนำความรู้จาก 3 แบบฝึกหัดก่อนหน้ามาประยุกต์ใช้ทั้งหมดนั่นเอง
ซึ่งนักเรียนก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก พยายามเขียนโค้ดเพื่อเอาชนะเจ้า Coding Bot กันสุดฤทธิ์
ช่วงท้ายกิจกรรมจะเป็นการมอบเกียรติบัตร และผศ.ดร. กวิน อัศวานันท์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การเขียนโค้ดก็เหมือนประตูวิเศษ เราสามารถอยู่ที่ไหนก็ได้ ทำงานที่ไหนก็ได้ ขอเพียงมีทักษะนี้ติดตัวไว้ และให้กำลังใจนักเรียนที่อยู่ในช่วงที่ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่กับอนาคต ขอให้นักเรียนทุกคนตั้งใจและเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองที่สามารถตีโจทย์ตรงหน้าได้ถ้ามีความตั้งใจจริง สำหรับการเขียนโค้ดและเส้นทางอาชีพในด้านเทคโนโลยีนั้น อาจจะเป็นสายงาน/ความรู้ที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ และอาจไม่ได้เห็นผลเร็ว แต่ความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีนี้จะให้ผลตอบแทนกับเราและช่วยสร้างโอกาสที่ดีต่อไปในอนาคตได้แน่นอน สุดท้ายนี้หวังว่าอาจจะได้เห็นหนึ่งในนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ได้เติบโตมาในทางสายนี้กัน
ยังมีเรื่องราวสนุก ๆ และน่าสนใจเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นอีกมากมาย ติดตามได้ที่ ANNGLE