xs
xsm
sm
md
lg

“รอยสักดิจิทัล” บทเรียนเจ็บปวดจาก “วีรกรรมฉาวโฉ่” ออนไลน์ในญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก bizx.chatwork.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีข่าวเด็กและผู้ใหญ่ที่จงใจทำเรื่องไม่ดีแล้วโพสต์ลงโลกโซเชียลกันเยอะมาก หลายกรณีเกี่ยวกับเรื่องสุขอนามัยของอาหารนอกบ้านหรือซื้อจากร้าน ทำให้บริษัทร้านค้า คนทำงาน และลูกค้าเดือดร้อน นอกจากคนก่อเรื่องจะเจอคดีต่าง ๆ แล้ว ที่น่ากลัวกว่านั้นอาจจะเป็น “รอยสักดิจิทัล” ซึ่งจะประทับแน่นตลอดชีวิตจนอาจลืมตาอ้าปากไม่ได้ง่ายอีก

เมื่อเร็ว ๆ นี้หลายคนคงได้ยินข่าวเรื่องเด็กมัธยมปลายญี่ปุ่นที่ไปก่อเรื่องในร้านซูชิ ด้วยการเอาน้ำลายตัวเองไปเปรอะเปื้อนซูชิที่กำลังเลื่อนมาตามสายพาน รวมทั้งถ้วยชาที่ร้านวางไว้ให้ลูกค้าหยิบเอง และขวดโชยุที่อยู่บนโต๊ะ แล้วจากนั้นคลิปวีดีโอของเด็กคนนี้ก็แพร่สะพัดไปทั่ว ทำให้ราคาหุ้นของร้านซูชิดังกล่าวตกวูบ สูญเสียมูลค่าตลาดไปถึง 1.7 พันล้านเยนในวันเดียว

สังคมพากันขุดคุ้ยจนทราบชื่อเด็กและชื่อโรงเรียน คนแห่กันโทรมาที่โรงเรียน สื่อบางส่วนก็มาบ้านเด็ก เอาเรื่องพ่อเด็กไปเขียนข่าว แล้วสุดท้ายเด็กคนนี้ก็มาลาออกจากโรงเรียน แม้พ่อแม่จะพาเด็กไปขอโทษที่บริษัทแล้ว แต่ทางบริษัทไม่รับ และดำเนินคดีฟ้องร้องทางแพ่งและอาญาต่อไป ในขณะเดียวกันก็ขอสังคมว่าอย่าพูดหรือกระทำรุนแรงกับคนที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ (น่าจะหมายถึงเด็กและครอบครัว) ด้วยเช่นกัน

พอเรื่องนี้เป็นข่าว ก็พบว่ามีทั้งเด็กและผู้ใหญ่วัยคะนองอื่น ๆ อีกมากที่อยากเรียกร้องความสนใจ และทำพฤติกรรมคล้ายกันอีกมากตามร้านอาหารอื่น ๆ ซึ่งแต่ละร้านก็ดำเนินคดีกันไปตามกฎหมาย นอกจากพวกเขาหรือพ่อแม่ต้องจ่ายค่าเสียหายหัวโตแล้ว บางคนก็โดนไล่ออกจากโรงเรียน/มหาวิทยาลัย บางคนไม่กล้าออกจากบ้านอีกจนกลายเป็นฮิคิโคโมริ บางคนเพิ่งได้งานก็ถูกปฏิเสธไป บางคนโดนล้อเลียนจนอับอายคิดย้ายหนีไปอยู่ต่างประเทศ เป็นต้น แต่เรื่องยังไม่จบอยู่แค่นี้ เดี๋ยวจะเล่าต่อไปค่ะ

กลุ่มนักศึกษาไปเล่นเจี๊ยวจ๊าวในซูเปอร์มาร์เก็ต ภาพจาก blog.esuteru.com
“แค่” พฤติกรรมคึกคะนองของเด็ก ทำไมขอโทษแล้วไม่จบ

มีบางคนมองว่า “ใคร ๆ ก็เคยก่อวีรกรรมแสบไว้ตอนอายุน้อย แค่ไม่เป็นข่าวเท่านั้นเอง จะลงโทษเด็กหนักเพราะใครเขารู้กันไปทั่วก็ไม่ยุติธรรม สังคมเล่นเด็กหนักไปหน่อยไหม” “เด็กไม่ได้ทำรุนแรงถึงกับไปฆ่าคนตายสักหน่อย จะอะไรหนักหนา”

ทนายความอาวุโสท่านหนึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่เกิดในร้านซูชิว่า หลายคนอาจจะคิดว่าคนที่เสียหายจากคลิปวีดีโอมีแค่บริษัทซูชิดังกล่าวเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วทุกคนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นเสียหายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือคนที่ทำธุรกิจกับบริษัทซูชินั้น เพราะชีวิตและการทำมาหากินของพวกเขาขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของบริษัท แล้วมันก็อาจเป็นไปได้ที่จะมีใครสักคนในกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบต่อการเงิน จนถึงกับต้องฆ่าตัวตาย

แล้วเรื่องนี้ก็ไม่ได้กระทบแค่บริษัทเดียว แต่กระทบวงการซูชิทั้งหมด ลูกค้าอยากไปร้านซูชิก็ไม่กล้าไป กลัวว่าของกินของใช้ในร้านจะปนเปื้อนไหม ทางร้านก็ต้องทิ้งของหลายอย่างในร้าน ต้องหันมาสร้างระบบใหม่ที่จะทำให้ลูกค้าสบายใจเรื่องสุขอนามัย และอื่น ๆ อีกมาก

การที่ผู้คนในวงกว้างได้รับผลกระทบด้านลบรุนแรงแบบนี้ ก็แสดงว่าการกระทำของเด็กคนนี้เป็นเรื่องเลวร้ายมาก แม้ว่าเด็กอาจจะทำไปเพราะไม่รู้จักคิด แค่อยากเด่นดัง แล้ววันหนึ่งเขาอาจคิดปรับปรุงตัวเป็นคนใหม่ก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันถ้าไม่ลงโทษเด็กให้หลาบจำ ก็ไม่ยุติธรรมกับธุรกิจต่าง ๆ ที่เสียหายจากพฤติกรรมเด็กเหมือนกัน

เมื่อวีรกรรมคึกคะนอง “ทำลาย” ชีวิตคนอื่น

ที่จริงไม่ใช่แค่ลูกค้าเท่านั้น แต่ในหลายปีที่ผ่านมาก็มีข่าวว่าพนักงานร้านอาหารหรือร้านสะดวกซื้อสร้างปัญหาแบบนี้แล้วเอาลงโซเชียลเหมือนกัน เช่น เอาอุปกรณ์ทำครัวไปเล่น โปรยน้ำแข็งลงพื้น ลงไปนอนอยู่ในตู้แช่ไอศครีม นั่งเล่นในอ่างล้างจานหรือในตู้แช่อาหาร เรื่องพวกนี้ดูเหมือนเล่น ๆ แต่ที่จริงเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับผู้บริโภคที่ญี่ปุ่น

ภาพจาก merushi.net
สิ่งที่ร้านเหล่านี้ต้องเผชิญก็คือความโกรธเคืองของลูกค้าที่มาต่อว่าทางร้าน และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่พวกเขาที่อาจรับประทานสิ่งปนเปื้อนเข้าไป พอลูกค้าหมดความมั่นใจเรื่องสุขอนามัยของร้านนั้นแล้ว ธุรกิจก็เสียหายยับเยิน บางกรณีคือจบเห่เลยถึงต้องปิดกิจการ หรือยื่นเรื่องขอล้มละลาย หรือหากเป็นแฟรนชายส์ก็อาจถูกยกเลิกสัญญาจากบริษัทแม่ สาขานั้นก็เจ๊งไป

สำหรับรูปข้างบนนี้เป็นเหตุที่พนักงานพาร์ทไทม์ของร้านขายโซบะแห่งหนึ่งปีนขึ้นไปนอนและเล่นบนเครื่องล้างจาน และโพสต์ลงสื่อโซเชียล ร้านนี้เป็นกิจการในครอบครัว แต่เดิมเจ้าของร้านขยันทำมาหากิน อยากให้ลูกค้าได้กินของอร่อย ราคาไม่แพง แต่พอเกิดเรื่องขึ้นมาร้านนี้ก็เสียชื่อ พอทำมาหากินไม่ได้อีกก็ต้องปิดร้าน เมื่อแบกรับหนี้สินไม่ไหว เจ้าของร้านจึงฆ่าตัวตาย ส่วนคนก่อเหตุไม่มีคำขอโทษแม้แต่คำเดียว

ความเป็นไปได้ในการดำเนินคดีเด็ก

สำหรับกรณีร้านซูชินั้น มีทนายความหลายท่านที่มองว่าบริษัทซูชิไม่น่าจะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ง่ายนัก ต่อให้บอกว่าหุ้นร่วงไป 1.7 พันล้านเยน แต่ก็เป็นปกติของหุ้นที่จะขึ้น ๆ ลง ๆ ตราบใดที่ผู้ถือหุ้นไม่ได้ขายทิ้ง อีกหน่อยหุ้นก็มีสิทธิ์ขึ้น ถ้าหากจะฟ้องร้องเรื่องนี้ ศาลก็จะบอกให้เอาหลักฐานความเสียหายที่คำนวณออกมาเป็นตัวเลขเท่านี้จริงมาพิสูจน์ให้ดู

หรือถ้าจะฟ้องว่าบริษัทเสียลูกค้าเพราะเด็กเอาคลิปไปลงโซเชียล ก็ต้องพิสูจน์ว่าการลงโซเชียลเป็นเหตุให้เสียลูกค้าจริง ซึ่งคนฟ้องต้องเป็นคนยุ่งยากรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ฝ่ายที่ถูกฟ้องก็อาจสู้กลับ หาว่ายอดขายลดเพราะบริษัทไม่ดีเองหรือเปล่า หรือเพราะเศรษฐกิจไม่ดีลูกค้าเลยไม่มา เป็นต้น

ที่อาจเป็นไปได้คือฟ้องพ่อแม่ว่าบกพร่องในการอบรมลูก ทำให้ลูกเล่นพิเรนทร์ลงโซเชียล แต่อย่างไรพวกเขาก็ไม่มีเงินมากพอจะจ่ายตามที่ถูกเรียกร้องอยู่ดี ก็อาจต้องยอมความกันเอาเท่าที่ได้ ซึ่งอันนี้จะดีตรงที่จบเรื่องไปและบริษัทได้รับเงินชดใช้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเอาเรื่องขึ้นศาล อีกฝ่ายก็จะอุทธรณ์ มันก็จะสู้กันในชั้นศาลต่อไปอีก นอกจากจะไม่มีทางได้เงินค่าเสียหายเท่าที่ต้องการแต่แรกแล้ว คดีก็ไม่จบด้วย แล้วยังเป็นไปได้อีกด้วยที่คดีอาจพลิกหลังยื่นอุทธรณ์

ภาพจาก kaisya-hoken.com
สิ่งที่น่ากลัวกว่าค่าเสียหายที่ต้องชดใช้
ทนายความท่านหนึ่งเสนอว่าอยากให้โรงเรียนมีการสอนเด็กจริงจังว่า การเอาตัวเองไปลงสื่อโซเชียลเพราะหวังว่าคนจะชอบ นึกว่าอย่างนี้เจ๋ง เท่ สนุก สุดท้ายจะรับเคราะห์หนักไปตลอดชีวิต เพราะนอกจากจะเจอคดีหลายกระทง ซึ่งอาจต้องชดใช้ค่าเสียหายจนย่ำแย่แล้ว ที่น่ากลัวกว่านั้นคือต้องเจอตราบาปจาก “รอยสักดิจิทัล” ไปชั่วชีวิต

รอยสักดิจิทัลนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า “digital tattoos” หรือ “digital footprints” หมายถึงข้อมูลของตัวเราที่ปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์ด้วยการที่เราไปเขียนความเห็น ลงรูป หรือลงคลิปวีดีโอไว้ แม้เจ้าตัวหรือคนดูแลเว็บอาจลบทิ้งได้ แต่หากมีการแชร์ต่อไปทั่วแล้ว ก็ไม่อาจลบทิ้งได้ง่ายอีกแบบเดียวกับรอยสักนั่นเอง

ดังนั้นการระมัดระวังและรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองแสดงออกบนโลกออนไลน์จึงสำคัญมาก เพราะป้องกันไม่ให้เจ้าตัวต้องเสียหายจากสิ่งที่ตนเองทำ เมื่อก่อนก็เคยมียูทูปเบอร์อเมริกันชื่อดังคนหนึ่งมาญี่ปุ่นแล้วเล่นคึกคะนองไปทั่ว จนกระทั่งเลยเถิดไปปฏิบัติอย่างไม่ให้เกียรติกับชายคนหนึ่งที่เพิ่งฆ่าตัวตาย เลยเป็นข่าวดังให้เสียชื่อ แม้ว่าภายหลังเขาจะผันตัวมาสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ดีขึ้น และหันมาเอาดีทางด้านกีฬา แต่คนจำนวนมากก็ยังจดจำเขาในภาพลักษณ์แง่ลบจากสิ่งที่เขาเคยก่อ

ภาพจาก webleach.net
สำหรับที่ญี่ปุ่นแล้วใครเคยมีประวัติไม่ดีมาถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ต่อให้เรื่องจบไปนานแล้ว หรือกระทั่งเป็นเรื่องไม่จริง แต่ถ้าเป็นข่าวเสียหายขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็แทบจะเรียกได้ว่าคนคนนั้นอนาคตดับวูบเลยทีเดียว

อย่างเด็ก ๆ ที่เล่นซนจนทำให้คนอื่นเดือดร้อนเสียหายและเป็นข่าวนั้น ไม่เพียงแค่โดนไล่ออกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเป็นอันหมดเรื่อง แต่ต่อไปพวกเขาจะหางานทำยาก แต่งงานก็ยาก เพราะถ้าที่ทำงานหรือพ่อแม่ของคนรักรู้ประวัติเข้าก็หมดโอกาส หรือต่อให้ได้แต่งงาน ลูก ๆ ก็อาจโดนคนรังแกถ้ามีคนรู้ประวัติพ่อแม่

และอย่าว่าแต่ตัวคนเคยมีประวัติเองเลย กระทั่งพี่น้องก็จะพลอยรับเคราะห์ไปด้วย พวกเขาก็จะแต่งงานยาก และลูก ๆ ของพวกเขาก็จะเจอปัญหาตามไปด้วย จึงมีหลายท่านที่ขอร้องให้พ่อแม่ช่วยกันสอนลูกหลานด้วยว่าอย่าก่อเรื่องแบบนี้ ว่าราคาที่ต้องจ่ายแก่ความสนุกชั่ววูบนั้นแพงมหาศาลแค่ไหน

คนยุคโซเชียลอ่อนไหวเรื่องตัวเอง แต่เฉยชาเรื่องคนอื่น

ที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่สื่อโซเชียลเป็นที่นิยม คนทุกเพศทุกวัยก็มีความอ่อนไหวกับเรื่องตัวเองมาก แต่กลับเฉยชากับคนอื่น “เราอ่อนไหวต่อความรู้สึกรังเกียจและความโกรธเคืองของตัวเอง แต่เราไม่นึกว่าคนอื่นเขาก็รู้สึกรังเกียจและโกรธเคืองเป็น ทำให้เราแยกไม่ออกว่าอย่างไหนควร อย่างไหนไม่ควร แนวโน้มนี้ยังพบได้มากในหมู่คนที่เล่นโซเชียลบ่อย ซึ่งโพสต์ข้อความแบบมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง”

จากเรื่องราวเหล่านี้แล้ว ทำให้รู้สึกว่ายิ่งคนเสพติดโซเชียลมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งอยากได้รับการยอมรับ ยิ่งเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ยิ่งอยากนำเสนอตัวเองในแบบที่จะได้ยอดไลค์ ยอดผู้ติดตาม อาจเพราะเข้าใจผิดคิดว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนคุณค่าของตัวเอง

โลกโซเชียลก็คล้ายกับโลกในจินตนาการ แต่หลายคนกลับจริงจังกับมันยิ่งกว่าโลกแห่งความจริงเสียอีก ทำให้ลืมไปว่าคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตตัวเองอยู่ที่ไหน ลืมไปว่าคนไหนสำคัญสำหรับเราจริง

เป็นเรื่องน่าคิดว่าโซเชียลดีกับชีวิตเรา หรือทำลายชีวิตเราให้แย่ลงกันแน่ แล้วเราควรจะทำอย่างไรไม่ให้ถูกมันครอบงำ

ก่อนจากกันวันนี้ ฉันเอาบทความน่าสนใจจากโรงพยาบาลศิครินทร์มาฝากค่ะ ลองอ่านดูนะคะ.

ผลกระทบชีวิตติดโซเชียล
ติดโซเชียลมากไป มาทำ Social Media Detox กันเถอะ!
อาการแบบนี้ บ่งบอก ลูกติดมือถือหนัก!

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น