คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ไม่นานมานี้ฉันคิดถึงออนเซ็นที่ญี่ปุ่น เลยแก้ขัดด้วยการไปโรงอาบน้ำของคนเกาหลีในอเมริกา แต่เจอ culture shock แทน ทำให้นึกถึงข่าวร้านซาวน่าในญี่ปุ่นที่ติดป้ายเตือนนักท่องเที่ยวไทยขึ้นมา และรู้สึกว่าอาจเป็นเรื่องยากที่ทุกคนจะรู้มารยาทสังคมได้ตรงกัน โดยเฉพาะเมื่อมีความต่างของวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง
ทีแรกฉันคาดว่าโรงอาบน้ำที่เปิดโดยคนเกาหลีคงมีความใกล้เคียงกับของญี่ปุ่น แถมร้านที่จะไปนี้ก็ได้รับการรีวิวดีเยี่ยม มีบ่อแช่น้ำร้อนหลายบ่อและห้องซาวน่าหลากชนิด ฉันก็เลยตื่นเต้นที่จะได้ไปเป็นครั้งแรก
ความที่ฉันไม่เคยไปโรงอาบน้ำที่อื่นมาก่อนนอกจากที่ญี่ปุ่น ก็เลยชินกับการที่ทุกคนจะทราบดีว่ามารยาทของการเข้าใช้บริการเป็นอย่างไร เช่น ต้องถอดเสื้อผ้าครบทุกชิ้นก่อนเข้าบริเวณอาบน้ำ ไม่ใส่ชุดว่ายน้ำ ไม่เอาผ้าเช็ดตัวเข้ามา ยกเว้นผ้าขนหนูผืนเล็ก ไม่ส่งเสียงดัง ไม่สาดน้ำหรือว่ายน้ำ ต้องอาบน้ำให้สะอาดก่อนแช่น้ำ ต้องตักน้ำในบ่อแช่ตัวมาล้างเท้าก่อนก้าวลงไปในบ่อ ไม่ปัสสาวะระหว่างอาบน้ำหรือแช่น้ำ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ช่วยให้การไปโรงอาบน้ำและออนเซ็นญี่ปุ่นเต็มไปด้วยความผ่อนคลาย ทั้งสบายเนื้อตัวและสบายใจ รู้สึกเป็นส่วนตัวเพราะไม่มีคนพูดเสียงดัง หรือถ้ามีคนคุยกันเขาก็คุยกันเบา ๆ
ใครจะไปนึกว่าโรงอาบน้ำที่อเมริกาจะตรงกันข้ามราวกับตลาดแตก…!
ฉันคงลืมไปเสียสนิทว่าแม้จะเป็นโรงอาบน้ำของคนเกาหลี แต่เมื่อมาตั้งอยู่ในอเมริกา ลูกค้าก็มีแทบทุกเชื้อชาติ อีกทั้งยังเป็นเรื่องปกติที่คนอเมริกันจะพูดเสียงดัง ยิ่งพอมากันเป็นกลุ่ม เสียงคุยก็ดังระงมไปทั่ว เวลาเฮโลกันลงบ่อไหนก็ปักหลักราวกับจองทั้งบ่อเป็นของพวกตัว หรือขวางทางคนอื่นขึ้นลงบ่อ แต่ละคนยังเอาผ้าเช็ดตัวเข้ามา (คงรู้สึกกระดากถ้าจะไม่มีผ้าพันตัว) แต่พอไม่มีที่ให้วาง ก็วางไว้ตรงนั้นตรงนี้จนดูอีเหละเขละขละ บางคนก็พาดไว้ที่เตียงรอบสระ ทำให้ไม่สามารถใช้เตียงได้ พนักงานก็บอกว่าทำอะไรไม่ได้ ต้องรออย่างเดียว
แม้ฉันจะเคยคิดว่าการเกรงใจคนอื่นเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ แต่พออยู่ดูโลกนาน ๆ แล้วก็พบความจริงว่ามนุษย์แต่ละคนมีสามัญสำนึกต่างกัน ยิ่งต่างวัฒนธรรมยิ่งแล้วใหญ่ อย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงอาบน้ำที่อเมริกานี้ ถ้ามองจากมารยาทสังคมญี่ปุ่นแล้วทุกอย่างคงผิดมารยาทหมดสิ้น แต่ฉันเดาว่าคงไม่มีใครสักคนเดียวในที่นั้นที่คิดว่าตัวเองทำอะไรผิด เพราะมารยาทสังคมของอเมริกันต่างจากญี่ปุ่นมาก ไม่ได้มีค่านิยมว่าจะต้องไม่รบกวนคนอื่น ต้องเกรงใจคนอื่น หรือต้องคำนึงต้องใส่ใจผู้อื่นเสมอ หลายอย่างคนเขาก็ไม่ถือสา และบางอย่างก็แล้วแต่คนว่าจะถือสาหรือไม่
แม้ว่าฉันจะไม่ชอบใจกับสิ่งที่พบเจอในโรงอาบน้ำที่อเมริกา ก็ได้แต่ทำใจในเมื่อค่านิยมเขาต่างจากเรา แต่อย่างไรก็ใช่ว่าสังคมอเมริกันทุกแห่งจะเป็นแบบนี้หมด หลังออกจากโรงอาบน้ำแล้ว ฉันก็ไปซูเปอร์มาร์เก็ตต่อ ซูเปอร์มาร์เก็ตนี้ขายของคุณภาพ พนักงานและลูกค้ามักสุภาพ มารยาทดี และเอื้อเฟื้อ ทำให้ไปแล้วสบายใจราวกับมีคนปลอบโยนหลังช้ำใจมาจากโรงอาบน้ำ สรุปได้ว่าสังคมอเมริกันมีความหลากหลายมาก ฉันเลยตัดสินใจว่าสบายใจจะอยู่ในสังคมแบบไหนก็ไปที่นั่น สังคมแบบไหนไปแล้วไม่สบายใจก็เลี่ยงเสีย ก็เท่านั้นเอง
เวลาเจอความขัดแย้งเรื่องมารยาทสังคมในอเมริกาทีไร ฉันมักอยากหนีกลับญี่ปุ่นทุกที อยู่ญี่ปุ่นแทบไม่เคยรู้สึกแย่เรื่องมารยาทของคนในสังคมเลย เพราะทุกคนเข้าใจตรงกันหมด ไปไหนมาไหนก็เลยสบายใจ ส่วนอเมริกาซึ่งมีวัฒนธรรมหลากหลายนั้น ก็ต้องวัดดวงเอาว่าวันนี้จะเจอคนแบบไหนบ้าง เพราะมีทุกรูปแบบจริง ๆ แต่คิดในแง่ดีมันก็เป็นสีสัน และให้เราได้ฝึกเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความต่างและความหลากหลายของคนด้วยเหมือนกัน
พอไปโรงอาบน้ำที่ว่านั่นมาแล้ว ก็เลยนึกถึงข่าวร้านซาวน่าสำหรับชายรักชายในญี่ปุ่นที่ติดป้ายเตือนนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งคุณ babyshark5165 ถ่ายภาพมาลงทวิตเตอร์ และมีผู้อื่นนำไปเขียนข่าวจนกลายเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจ และถกกันถึงปัญหาความประพฤติของนักท่องเที่ยวไทยในหลายประเทศ เช่น ส่งเสียงดังแบบไม่เกรงใจใคร คุยโทรศัพท์เสียงดัง นินทาคนอื่นเพราะคิดว่าเป็นต่างชาติคงฟังไม่ออก เป็นต้น
ได้ยินบางท่านเล่าว่าเดี๋ยวนี้คนญี่ปุ่นมองนักท่องเที่ยวไทยไม่ต่างอะไรจากนักท่องเที่ยวจีน ก็ชักหวั่นใจว่าเป็นถึงขนาดนั้นเลยหรือ บางคนถึงกับบอกว่ามีเงินเสียอย่างจะทำอะไรก็ได้ อันนี้คงไม่ใช่แล้ว ต่อให้มีเงินล้นฟ้าแค่ไหนถ้าไม่ให้เกียรติคนอื่นก็คงไม่มีใครชอบ แล้วถ้าความประพฤติที่ไม่ดีของคนกลุ่มหนึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของคนทั้งประเทศเสียหาย มันก็ไม่ยุติธรรม
มารยาทญี่ปุ่นบางทีก็เข้าใจยาก
แต่เอาเข้าจริงมารยาทแบบญี่ปุ่นก็อาจเข้าใจยากสำหรับต่างชาติ เช่น ต้องปิดเสียงมือถือเวลาอยู่บนรถไฟ ไม่สั่งน้ำมูกในที่สาธารณะ เดินชิดขวาหรือชิดซ้ายให้เป็นกิจลักษณะ คุยเสียงเบา ๆ และไม่คุยโทรศัพท์เวลาอยู่บนรถไฟหรือรถเมล์ ใส่รองเท้าสลิปเปอร์ในบ้านแต่ห้ามใส่เดินเข้าห้อง เป็นต้น
ร้านราเม็งขายดีบางแห่งในญี่ปุ่นที่มีลูกค้าต่อคิวยาวมาก จะติดป้ายเตือนลูกค้าไม่ให้ไปยืนเข้าคิวรอเพื่อน แล้วพอเพื่อนมาก็เข้ามาแทรกแถว หรือกระทั่งให้คนหนึ่งยืนเข้าแถว อีกคนไปซื้อคูปองอาหารแล้วค่อยมาแทรกแถวก็ไม่ได้ ทุกคนต้องไปซื้อคูปองก่อนและมาต่อแถวพร้อมกัน ห้ามแทรก จะได้ไม่สร้างความรู้สึกไม่ดีให้ลูกค้าที่ต่อคิวอยู่ด้านหลัง
(อ่านการ์ตูนสั้นดี ๆ เรื่องนี้เป็นภาษาญี่ปุ่นได้ที่ https://www.buzzfeed.com/jp/kotahatachi/foreigner-manner)
ทว่าแม้มารยาทเหล่านี้จะเป็นเรื่องดี ก็อาจไม่ใช่ประเด็นเลยสักนิดในบางประเทศ แต่ถ้าอยู่ญี่ปุ่นแล้วไม่ทำแบบคนญี่ปุ่น ก็อาจกลายเป็นเรื่องเสียมารยาทไปโดยไม่ตั้งใจ เช่น คนบางชาติก็พูดเสียงดังปกติของเขา แต่อาจฟังดูเสียงดังเกินไปสำหรับคนญี่ปุ่น หรือเมืองเกียวโตมีนักท่องเที่ยวเดินสะเปะสะปะกันเป็นกลุ่มใหญ่ เขาเลยติดป้ายขอให้เดินชิดด้านใดด้านหนึ่ง แต่แทบไม่มีใครทำตาม ก็ทำให้คนญี่ปุ่นไม่พอใจ เป็นต้น
ในขณะเดียวกันแม้คนญี่ปุ่นจะระวังไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น แต่ก็น่าแปลกที่บางเรื่องกลับทำได้ อย่างเช่น สูบบุหรี่ในร้านอาหารโดยไม่สนใจว่าคนอื่นต้องสูดดมควันและได้รับสารก่อมะเร็งไปด้วย หรือเบียดเสียดกันเข้ารถไฟตอนช่วงเวลาเร่งด่วน แถมพนักงานรถไฟยังมาช่วยดันอีกต่างหาก หรือกินบะหมี่ส่งเสียงดังซู้ดซ่วบ ๆ เหมือนคนหิวโซ แถมถ้ากินเงียบ ๆ คนจะนึกว่าไม่อร่อย หรือบางคนเอ่ยปากชวนคนอื่นมาที่บ้าน แต่พอถึงเวลาคนชวนกลับบ่ายเบี่ยง เพราะแค่ชวนเป็นมารยาทแต่ไม่ได้หมายความดังนั้นจริง ซึ่งเรื่องเหล่านี้คนต่างชาติอาจมองในทางกลับกันว่าเป็นเรื่องเสียมารยาทมากก็เป็นได้
บางทีก็น่ามึนงงเหมือนกันนะคะว่าญี่ปุ่นใช้มาตรฐานอะไรในการกำหนดว่าอย่างนี้ถูก/ผิดมารยาท ดูเผิน ๆ เหมือนจะใช้เกณฑ์ว่าต้องนึกถึงใจคนอื่น แต่บางเวลากลับไม่นึกถึงเลยแม้แต่น้อยดังตัวอย่างข้างต้น
ปัญหานักท่องเที่ยวมารยาทไม่ดี
สำหรับญี่ปุ่นซึ่งมีมารยาทสังคมเข้มงวดทุกกระเบียดนิ้ว แถมหลายอย่างก็ต่างจากประเทศอื่น และคนก็ไม่ทราบกันเยอะ ก็คงไม่แปลกเลยที่คนญี่ปุ่นอาจรู้สึกขัดใจกับนักท่องเที่ยว แม้ว่านักท่องเที่ยวบางคนก็ไม่มีมารยาทมากจริง ๆ เช่น ทำตามใจตัวเองแบบไม่ให้เกียรติคนอื่นหรือสถานที่เลย แบบนี้ไปประเทศไหนคนเขาก็คงด่ากันขรม
แต่ถ้าญี่ปุ่นคาดหวังว่านักท่องเที่ยวจะต้องปฏิบัติตามมารยาทสังคมญี่ปุ่นไปหมดทุกอย่าง มองว่านี่ก็ผิดนั่นก็ผิด หรือพยายามให้การศึกษาเรื่องมารยาทแก่นักท่องเที่ยวผ่านป้าย โปสเตอร์ และแผ่นพับ โดยหวังว่าทุกคนจะเข้าใจและให้ความร่วมมือ ฉันว่าญี่ปุ่นอาจจะจนใจเอง เพราะในโลกนี้จะหาคนที่ให้ความร่วมมือกันทั้งสังคมแบบคนญี่ปุ่นคงหาที่อื่นไม่เจอ
บางทีญี่ปุ่นอาจจะต้องทำใจตั้งแต่ตอนที่คิดให้ฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวแล้ว เพราะมันไม่ต่างอะไรจากการเปิดประตูบ้านให้ใครต่อใครเข้ามาแบบไม่คัดกรอง ซึ่งก็ย่อมมีคนทุกรูปแบบที่คิดต่างทำต่าง ได้รับการอบรมเรื่องความประพฤติมาดีบ้างไม่ดีบ้าง เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากบ้างน้อยบ้างต่างกัน ตราบใดที่ญี่ปุ่นยังต้องการให้นักท่องเที่ยวมากระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้มากที่สุด ก็อาจต้องยอมปิดตาข้างหนึ่งบ้าง รวมทั้งสอนประชาชนให้เข้าใจเรื่องความต่างของวัฒนธรรมด้วย
ส่วนนักท่องเที่ยวไทยเรา ก่อนไปญี่ปุ่นหรือประเทศใด ๆ อย่าลืมสุภาษิต “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” ด้วยการหาข้อมูล Do’s & Don’ts ของประเทศนั้นเตรียมไว้สักนิด ถ้าไปถึงแล้วอย่างไหนทำตัวไม่ถูกจริง ๆ ลองถามคนท้องถิ่นดูก็ได้ค่ะ ฉันเชื่อว่าเขาน่าจะยินดีตอบและดีใจที่เราอยากทำให้เหมือนเขา เราก็จะได้ไม่ทำอะไรเปิ่น ๆ ให้แอบเขิน แล้วจะได้ไม่เกิดประเด็นให้มีใครมาต่อว่าเราให้อายกันทั้งบาง ดังเช่นในข่าวต่าง ๆ ที่เราได้ยินกันมา
ฉันว่าเวลาไปเที่ยวต่างประเทศก็เหมือนเวลาไปเที่ยวบ้านคนอื่น ต่อให้เจ้าบ้านเขาเปิดประตูต้อนรับและยินดีรับของฝากที่เรานำไปให้ ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่ต้องเกรงใจเขาก็ได้ เหมือนเวลาเราเชิญใครมาบ้าน ถ้าเขาไม่เกรงใจเราเลย เราก็คงไม่อยากต้อนรับเขาอีก
เพลงของไทยเราก็มีสอนเรื่องความเกรงใจนะคะ ตอนเด็ก ๆ น่าจะเคยร้องกันมาบ้าง มีใครจำได้บ้างเอ่ย
ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี
ตรองดูซี ทุกคนก็มีหัวใจ
เกิดเป็นคน ถ้าหากไม่เกรงใจใคร
คนนั้นไซร้ ไร้คุณธรรมประจำตน
ญี่ปุ่นเขาทำคู่มือมารยาทญี่ปุ่นแบบเข้าใจง่ายอ่านสนุกออกมาด้วยนะคะ เสียดายว่ายังไม่มีฉบับภาษาไทย เลยเอาเฉพาะฉบับภาษาอังกฤษมาให้ดูก่อน เผื่อเป็นประโยชน์ค่ะ HOW TO ENJOY TOKYO !
พวกเราช่วยกันรักษาเกียรติของชาวไทยเวลาไปเที่ยวต่างประเทศกันนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.