xs
xsm
sm
md
lg

คนญี่ปุ่นเชื่อว่าการรดน้ำต้นไม้ต้องเรียนรู้ถึง 3 ปี แต่ใครจะรอ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งด้านจิตใจ สังคม เศรษฐกิจ และทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไป เพื่อนๆ มีสิ่งใดที่เปลี่ยนแปลงในชีวิตไหมครับ สำหรับผมเองก็มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเหมือนกัน ผมย้ายกลับมาทำสวนที่ต่างจังหวัดของไทย ปีนี้ก็เข้าสู่ปีที่สองแล้วครับ เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนซึ่งค่อนข้างยากลำบากหลายๆ เรื่องและต้องปรับตัวมากมายแต่ก็สนุกมากเหมือนกันครับ

สำหรับเรื่องการเกษตรกรรมที่ญี่ปุ่น ก็มีสำนวนสุภาษิตที่ว่า「水やり3年」Mizuyari San nen 「 3 ปีแห่งการรดน้ํา 」 เป็นสำนวนที่คนในสายเกษตรกรรม การเพาะปลูกต่างๆ หรือแม้กระทั่งคนทำบอนไซ ได้ยินอยู่บ่อยๆ ถ้าพูดถึงศิลปะการทำบอนไซแบบญี่ปุ่นจริงๆ ค่อนข้างเรียนยากมาก เหมือนการเรียนศิลปะวัฒนธรรมอื่นๆ ของญี่ปุ่นที่อาจารย์ไม่ค่อยยอมสอนกันง่ายๆ ต้องครูพักลักจำต้องไต่เต้าใช้เวลานานมาก ได้ยินว่ามีบางคนไปขอเรียนทำบอนไซ แต่ครูบอกว่าไปรดน้ำให้ถูกวิธีเสียก่อน ริจะข้ามมาเรียนทำบอนไซง่ายๆ แบบนี้ได้อย่างไร ผมเองก็อยากเรียนเหมือนกันแต่ว่าน่าจะยาก ตอนนี้แค่รดน้ำต้นไม้ให้ได้ก่อนน่าจะดีกว่า


ซึ่งศิลปะการทำบอนไซแบบญี่ปุ่น พูดง่ายๆ คือ การเลี้ยงดูแลต้นไม้ในกระถางขนาดเล็กอย่างทะนุถนอม โดยจะปลูกพืชและต้นไม้ในภาชนะต่างๆ เช่น ถาดดอกไม้เพื่อจัดรูปทรงต้นไม้และสร้างทิวทัศน์ในภาชนะนั้น การปลูกต้นไม้ในกระถางรูปถาดจะยับยั้งการเจริญเติบโตของต้นไม้โดยใช้การตัดแต่งกิ่ง ดัดลวด เป็นต้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างรูปลักษณ์ของต้นไม้ใหญ่ที่เห็นในที่โล่ง โดยดัดให้หดตัวบนกระถางเล็กๆ ซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามในการทํา เช่น การใส่ปุ๋ย การตัดแต่งกิ่ง ดัดลวด และการรดน้ํา ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งคือมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การรดน้ําเป็นสิ่งจําเป็นที่สุดสําหรับการปลูกบอนไซ เพราะมันสามารถเหี่ยวเฉาได้แม้จะลืมรดน้ำไปแค่วันเดียว ความถี่ในการรดน้ําจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับฤดูกาล แต่ส่วนใหญ่จะทําวันละครั้งในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง วันละสองครั้งในฤดูร้อน และทุกๆ สองวันในฤดูหนาว แค่ทักษะการรดน้ำก็ว่ายากแล้ว เค้าว่าการทำมอสต่างๆ ในบอนไซต้องเรียนเป็น 10 ปี !!


มาว่าถึงการรดน้ำต้นไม้แบบญี่ปุ่นที่บอกกันว่าเรียนยาก ผมอ่านมาหลายที่เขามีเทคนิคและทักษะการรดน้ำต้นไม้อยู่มากมายแต่มีเรื่องทริคอยู่ที่「乾いたら」kawaitara →「たっぷり」tappuri |ू•ω•) คือ "เมื่อแห้ง"→ "ทำให้ชุ่ม" เท่านั้นเอง วันนี้ขอยกตัวอย่างบทความโดยสรุปคร่าวๆ ให้ฟังครับ

.. “เมื่อคิดว่าฤดูหนาวที่หนาวเย็นจัดสิ้นสุดลงในปีนี้ ก็รู้สึกว่าฤดูใบไม้ผลินั้นสั้นอย่างน่าประหลาด และต้นฤดูร้อนและฤดูร้อนก็จะมาถึงในไม่ช้า


เมื่อคุณปลูกพืช สิ่งที่ยากที่สุดคือการรดน้ําทุกวันใช่ไหม และการปลูกไม้กระถางจะยากกว่าการปลูกลงพื้นดิน หากฝนตกหนักเหมือนปีนี้ หรือจู่ๆ อุณหภูมิก็ร้อนเหมือนวันในฤดูร้อน อาจจะมีปัญหากับเวลาในการรดน้ําได้

คิดว่าทุกคนเคยได้ยินคําว่า "3 ปีแห่งการรดน้ํา" ซึ่งหมายความว่าหลังจากลองผิดลองถูกประมาณ 3 ปี ในที่สุดจึงจะสามารถรดน้ําต้นไม้ได้อย่างถูกวิธี แม้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในการกําหนดเวลารดน้ํา แต่มีหลักการพื้นฐานคือ "จะให้น้ําปริมาณมากหลังจากที่ดินแห้ง" " อะไรนะ! ฉันควรให้น้ำเมื่อมันแห้ง! ! ง่าย ง่ายแค่นี้!" อย่าคิดอย่างนั้น! ระยะเวลาในการรดน้ําจะเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น แสงแดด การระบายอากาศ ฤดูกาล อุณหภูมิ ความชื้น สูตรดินที่ใช้กับแต่ละพืช สภาวะสุขภาพความสมบูรณ์ของพืช เป็นต้น


หากมีไม้กระถางจํานวนมาก แน่นอนว่าเวลาของแต่ละต้นก็จะแตกต่างกันไป สิ่งที่ยากเป็นพิเศษที่จะสังเกตเห็นได้คือสถานะสุขภาพของพืชนั่นเอง พืชดูดน้ํามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีสุขภาพดี ทำให้ดินแห้งง่าย แต่ถ้าพืชอ่อนแอการดูดซึมน้ําจะไม่ดีนักต้นไม้ดูไม่สดชื่นและดินจะไม่แห้งมาก ดังนั้นที่เคยบอกว่า "ฉันเคยรดน้ําวันละครั้งในปีที่แล้ว ดังนั้นปีนี้ก็จะรดวันละครั้งเหมือนเดิม!" แนวคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง นั่นเป็นเหตุผลที่บอกไปว่า "3 ปีแห่งการรดน้ํา"

เดิมทีพืชอาศัยอยู่ในทะเลมาเป็นเวลานาน แต่ละเซลล์เต็มไปด้วยน้ํา คิดเป็นประมาณ 80 ถึง 90% ของส่วนประกอบ โดยเฉพาะใบไม้ ลําต้นของพืชอาจมีน้ำน้อยลงเล็กน้อย แต่ก็ยังมีน้ําประมาณ 50% หากน้ําลดลงแม้แต่น้อย พืชจะรักษากิจกรรมในชีวิตได้ยาก และเหี่ยวเฉาได้ง่ายเป็นเรื่องลําบากมากอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ จากผลการวิจัยพบว่าปริมาณการดูดซึมน้ําของพืชจะสูงสุดที่ 25 °C ในฤดูร้อน และหากร้อนกว่านั้น ปริมาณการดูดซึมน้ําจะลดลงเล็กน้อย ในทางกลับกัน ในฤดูหนาวการดูดซึมน้ําจากรากจะลดลงเหลือประมาณ 20 ถึง 30% หากอ้างอิงจากผลนี้ คือต้องรดน้ําวันละครั้งในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง และพืชจะต้องการน้ํามากเป็นสองเท่าในฤดูร้อน และแค่ประมาณครึ่งหนึ่งในฤดูหนาว กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ "ประมาณวันละสองครั้ง" ในฤดูร้อน และไม่จําเป็นต้องบ่อยเกินไปในฤดูหนาว "ทุกๆ 2 ถึง 3 วัน" ก็เพียงพอแล้ว

ต่อข้อถามที่ว่าควรรดน้ำต้นไม้เวลาไหนในฤดูร้อน พบข้อมูลต่างๆ จากสถาบันวิจัย สรุปว่าไม่มีปัญหาการรดน้ําในฤดูร้อนถ้าใช้ดินที่ระบายน้ําได้ดีและเวลารดน้ําก็โอเคทุกเวลาในตอนเช้า กลางวันและเย็น อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการรดน้ําใบให้มากที่สุดเมื่อต้องรดน้ําในระหว่างวัน

เพราะใบต้นไม้ทําการสังเคราะห์แสงโดยอาศัยแสงแดดและผลิตสารอาหาร แต่ในขณะเดียวกันก็ระเหยความชื้นและปล่อยความร้อนที่มีอยู่ในต้นไม้ไปพร้อมๆ กันเพื่อลดอุณหภูมิภายใน ในทางตรงกันข้าม เมื่อความชื้นระเหยออกจากใบและปริมาณน้ําภายในไม่เพียงพอ ก็จะดูดซับความชื้นจากรากในพื้นดินได้ ดังนั้นต้นไม้ที่หยั่งรากลึกในดินจึงขยายรากไปยังที่ที่มีน้ําเพื่อดูดซับน้ําให้เพียงพอกับความต้องการ”…

หากเรารดน้ําเมื่อดินยังคงความชื้น หรือในทางกลับกันหากปริมาณความชื้นมีน้อยและแห้ง ก็จะมีรากที่ดีและเติบโตได้ดี ส่วนนี้เป็นจุดสําคัญ และในธรรมชาติอุณหภูมิและความชื้นไม่คงที่เนื่องจากอากาศแห้งและขึ้นอยู่กับปริมาณน้ําฝน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสําคัญที่จะต้องสังเกตสภาพของดินและสถานะของต้นไม้และทําอย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนนัก แต่ต้องเรียนรู้และสังเกตอยู่เสมอนั่นเอง สำหรับช่วงเวลาของการรดน้ํา ส่วนตัวผมคิดว่าเวลาเช้าตรู่เป็นเวลาที่ดีที่สุด แต่คงต้องเรียนรู้อีกมาก วันนี้เล่าสู่กันฟัง แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น