คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน วัฒนธรรมใหม่ในญี่ปุ่นที่เกิดช่วงโควิดระบาด จนตอนนี้กลายเป็นนิวนอร์มอลไปแล้ว ก็คือกระแสฮิตซาวน่า ที่มาคู่กับอาหารหลังเข้าซาวน่าซึ่งเรียกว่า “สะเมฉิ” ความนิยมนี้แพร่ระบาดไปทั่วผ่านสื่อต่าง ๆ ที่หันมาพูดถึงซาวน่ากันอย่างคึกคักมากขึ้น ลามไปจนถึงมีเมนูอาหารซาวน่าในเซเว่นและร้านอาหารบางแห่งเลยทีเดียว
ทำไมอยู่ ๆ ญี่ปุ่นถึงฮิตซาวน่า?
แต่เดิมญี่ปุ่นก็มีซาวน่าให้บริการอยู่แล้วในสถานที่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านซาวน่าโดยเฉพาะ สปา โรงอาบน้ำ (銭湯 - เซ็นโต) โรงแรม และฟิตเนส ทว่าไม่ได้ถึงกับเป็นจุดสนใจพิเศษอย่างในยุคนี้
ต้นเหตุแห่งซาวน่าฟีเวอร์ในญี่ปุ่น ดูเหมือนจะมาจากละครเรื่อง “สะโด” (サ道) (เป็นคำประดิษฐ์ใหม่ หมายถึง ‘วิถีแห่งซาวน่า’) ซึ่งเริ่มออกอากาศในปี พ.ศ. 2562 โดยดัดแปลงมาจากเรื่องเล่าของทานากะ คาสึกิ ผู้ชื่นชอบในซาวน่าอย่างยิ่ง ตัวเอกในละครนั้นจะแวะเวียนไปตามซาวน่าหลายแห่ง และบรรยายถึงจุดเด่นของแต่ละที่ พอคนดูละครได้รับทราบข้อมูลและเห็นบรรยากาศของการได้ผ่อนคลายในซาวน่า ก็เลยอยากไปอบซาวน่ากันขึ้นมา
ละครเรื่องนี้ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของซาวน่า จากแต่เดิมที่ถูกมองว่ามีแต่ชายมีอายุมาใช้บริการ กลายเป็นสถานที่ซึ่งไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย หรือจะอยู่ในวัยใด ก็สามารถเข้าได้ รวมทั้งยังทำให้คนได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ด้านสุขภาพที่จะได้รับจากซาวน่าด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเลือดลมหมุนเวียนดีขึ้น ลดปวด ผิวพรรณดีขึ้น ได้ผ่อนคลาย เป็นต้น ยิ่งที่ผ่านมาคนเจอช่วงโควิดสุดเซ็งและชีวิตเต็มไปด้วยความเครียด ซาวน่าเลยเหมือนเป็นแหล่งผ่อนคลายที่ตอบโจทย์ของคนญี่ปุ่นยุคนี้
ซาวน่าญี่ปุ่นในปัจจุบัน
ปัจจุบันสถานที่ที่มีซาวน่าจะมีลูกค้ามากันเนืองแน่นขึ้น จนบางแห่งต้องจำกัดจำนวนลูกค้าในแต่ละครั้ง หรือต้องจองล่วงหน้า ส่วนสถานที่ซึ่งแต่เดิมไม่ได้เด่นเรื่องซาวน่าเป็นพิเศษก็หันมาชูซาวน่าเป็นจุดขาย หรือปรับปรุงซาวน่าของร้านตนให้ทันสมัย ตรงกับความต้องการของลูกค้าหลังเกิดซาวน่าฟีเวอร์ พร้อมอธิบายคุณสมบัติของซาวน่าที่ร้านตัวเองมี และยังมีหลายแห่งที่หันมาให้บริการซาวน่าสำหรับใช้ส่วนตัวคนเดียว หรือใช้เฉพาะกลุ่มตนตามช่วงเวลาที่จองไว้ ซึ่งก็เหมาะสำหรับยุคโควิดที่มีความกังวลเรื่องการรวมกลุ่ม
สังเกตว่าซาวน่าของญี่ปุ่นไม่ได้มีเฉพาะห้องอบซาวน่า + ที่อาบน้ำฝักบัวเท่านั้น แต่มักจะมาพร้อมบ่อน้ำร้อนและบ่อน้ำเย็นสำหรับแช่ตัว แบบเดียวกับในออนเซ็นหรือโรงอาบน้ำเลย ดูไปแล้วน่าจะเรียกสถานที่เหล่านั้นว่าเป็นโรงอาบน้ำมากกว่าซาวน่าเสียอีก ฉันเข้าใจเอาเองว่าที่ซาวน่าของญี่ปุ่นเป็นแบบนี้คงเพราะคนญี่ปุ่นคุ้นเคยกับวัฒนธรรมแช่น้ำร้อนที่มักมาคู่การอาบน้ำเสมอ ซึ่งมันก็ดีทีเดียวเพราะทำให้ลูกค้าได้ผ่อนคลายหลายแบบอย่างครบครัน
ธุรกิจซาวน่าที่เพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ดในยุคนี้ต่างก็พยายามสร้างจุดขายของตัวเอง มีความหลากหลายหลากสไตล์ให้เลือกสรร แถมกิจกรรมกลางแจ้งก็เป็นที่นิยมมากขึ้นในยุคโควิดด้วย จึงมีซาวน่าในเต็นท์กลางแจ้ง ซึ่งเป็นกิจกรรมมาแรงควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ เช่น การตกปลา พายเรือ หรือตั้งแคมป์ มีทั้งแบบอยู่ตามแม่น้ำ ทะเลสาบ ชายหาด
วิธีเอ็นจอยซาวน่าให้ครบครันแบบญี่ปุ่น
ช่วงนี้มีคำฮิตในหมู่ผู้ชื่นชอบซาวน่า คือคำว่า “โทโทโนอุ” (ととのう) ซึ่งในละครชอบพูดกันติดปาก คำนี้ปกติจะแปลว่า ‘พร้อมสรรพ ครบถ้วน ไม่มีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง’ แต่พอเอามาใช้กับซาวน่า คนญี่ปุ่นก็พากันงงว่ามันแปลว่าอะไรหรือนั่น ก็มีคนอธิบายไว้หลายแบบ แต่สรุปได้ประมาณว่าเป็นความรู้สึกที่ดีสุด ๆ ไปเลย เช่น รู้สึกมีความสุขมาก รู้สึกสดชื่นเป็นปลิดทิ้ง สมองปลอดโปร่งยิ่งนัก อะไรอย่างนี้
จะอบซาวน่าให้ได้รู้สึก “โทโทโนอุ” ดังว่า เขาว่าต้องมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1) อบซาวน่าประมาณ 10 นาที (แต่สำหรับคนเพิ่งเคยเข้า หมอบางท่านบอกว่าไม่ควรเกิน 5 นาที)
2) แช่บ่อน้ำเย็น 1 นาที
3) พัก 5-10 นาที
4) ทำข้อ 1-3 ให้ครบ 3 รอบ
ใครไปอบซาวน่าก็ลองทำดูกันนะคะว่าได้ผลอย่างไรบ้าง
“สะเมฉิ” อาหารที่ห้ามพลาดหลังอบซาวน่า
เวลาไปโรงอาบน้ำหรือออนเซ็น คนญี่ปุ่นบางคนจะชอบดื่มนมสดบรรจุขวดแก้วเล็ก ๆ ต่อ ประมาณว่าแช่น้ำร้อนแล้วต้องดื่มนมตามจะรู้สึกอร่อยเป็นพิเศษ ฉันใดฉันนั้น มาอบซาวน่าแล้วก็ต้องกินข้าวต่อด้วยก่อนกลับ ไม่อย่างนั้นมาแล้วเหมือนขาดอะไรไป ข้าวที่ว่านี้ปัจจุบันเรียกกันว่า “สะเมฉิ” (サ飯) แปลตรง ๆ ได้ว่า ‘ข้าวซาวน่า’
“สะเมฉิ” กลายมาเป็นคำใหม่และเป็นกระแสได้ก็เพราะละครอีกเช่นกัน หมายถึงอาหารที่ขายในร้านอาหารของซาวน่านั้น หรือไม่ก็เป็นอาหารตามร้านอาหารแถวนั้น ไม่ได้เป็นเมนูแปลกประหลาดชนิดที่ร้านทั่วไปไม่มี เพียงแต่คนญี่ปุ่นที่ชอบอบซาวน่าก็จะนั่งยันนอนยันว่า มันจะรู้สึกอร่อยเป็นพิเศษถ้าได้กินหลังอบซาวน่า บางคนก็อธิบายว่าอบซาวน่าแล้วประสาทการรับรู้จะดีขึ้น เลยทำให้การรับรสอาหารแจ่มชัดเป็นพิเศษ อาหารทั่วไปที่เคยกินก็อร่อยขึ้นผิดหูผิดตา จริงหรือเปล่าอันนี้ต้องไปลอง
ความที่กระแสแรง คนญี่ปุ่นก็เลยคว้าโอกาสทางการค้าอีกเช่นเคย ร้านอาหารในละแวกใกล้เคียงร้านซาวน่าก็เลยเรียกเมนูบางอย่างในร้านตัวเองว่าเป็น “สะเมฉิ” เพื่อให้ดูโดดเด่นและเป็นจุดขายสำหรับลูกค้า บางร้านถึงกับเรียกตัวเองว่าเป็นร้านขายสะเมฉิโดยเฉพาะทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับซาวน่าเลยก็มี
มีธุรกิจซาวน่าแห่งหนึ่งซึ่งใช้ระบบสมาชิก ขยายกิจการโดยเปิดร้านขายสะเมฉิของตัวเองต่างหากในย่านอื่นที่ไกลจากร้านซาวน่าของตัวเอง เดาว่าอาจเพื่อสร้างรายได้เพิ่มจากฐานลูกค้าที่มีอยู่แล้ว หรือไม่ลูกค้าเดิมก็อาจจะบอกต่อคนอื่น ๆ ส่วนคนที่แวะไปร้านอาหารก็อาจจะสนใจอยากสมัครสมาชิกร้านซาวน่าไปด้วยเลย เท่าที่ฉันเห็นจากในเว็บไซต์ ราคาอาหารของที่นี่ค่อนข้างสูงกว่าร้านทั่วไป และหน้าตาอาหารธรรมดามาก ดูแล้วน่าจะขายแบรนด์มากกว่า
ร้านซาวน่าที่มีขายสะเมฉิบางแห่งก็ทำเมนูพิเศษขึ้นมา แล้วเรียกว่าเป็นสูตรเฉพาะของทางร้าน เช่น ข้าวแกงกะหรี่ ข้าวผัด โซบะ ตอนนี้ถึงกับมีข้าวแกงกะหรี่ของร้านซาวน่าที่ดังเพราะละคร ทำออกมาเป็นข้าวกล่องวางขายในเซเว่นด้วย โดยโฆษณาว่าลูกค้าซาวน่าบางคนไปอบซาวน่าแล้วเผลอกลับบ้านโดยที่ลืมกินข้าวแกงกะหรี่สูตรเฉพาะของร้าน แล้วเกิดเสียดายขึ้นมา แต่ไม่ต้องห่วงนะ เพราะสามารถไปหาซื้อได้จากเซเว่น อะไรประมาณนี้ค่ะ
ถ้าสะเมฉิที่วางขายในเซเว่นทำตลาดได้ดี ก็เดาว่าอีกหน่อยร้านซาวน่าดังเจ้าอื่นก็คงทยอยกันวางจำหน่ายข้าวกล่องสูตรเฉพาะของตัวเองตามร้านสะดวกซื้อ แม้ว่าสะเมฉิแบบนี้จะไม่ได้อารมณ์แบบกินข้าวที่ร้านหลังอบซาวน่า แต่ถ้าขายได้มีหรือนักธุรกิจญี่ปุ่นจะมองข้าม
สินค้าซาวน่ามาแรง
ในเมื่อกระแสซาวน่าแรงเช่นนี้ ธุรกิจอื่นในญี่ปุ่นก็ย่อมหาทางเอี่ยวให้ได้เพื่อขายของ อันเป็นสไตล์การตลาดแบบที่เห็นมาตลอดในญี่ปุ่น อย่างเช่นในเมื่อมีข้าวซาวน่าแล้วก็ต้องมี “ขนมซาวน่า” ตามมา ทำให้มีธุรกิจคาเฟ่ขนมเอาใจคนรักซาวน่าและบ่อน้ำร้อน (บ่อน้ำร้อนมาเกี่ยวกับซาวน่าอีกแล้ว) หรือขนมที่มีวางขายอยู่แต่เดิมก็อาจได้รับการโปรโมทให้เป็นขนมที่เหมาะแก่การกินหลังอบซาวน่า ด้วยการเชียร์ของคอลัมน์ในนิตยสาร บล็อก และสื่อต่าง ๆ ตามแต่จะคิดกันออกมา
ส่วนเครื่องดื่มที่นิยมกันมานานในหมู่ผู้ชื่นชอบซาวน่าก็คือ “โอโลโปะ” (オロポ) ซึ่งเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มชูกำลัง Oronamin C กับเครื่องดื่มเกลือแร่ Pocari ตอนนี้ก็เลยมีขนมเชอร์เบ็ตโอโลโปะ ไอศครีมโอโลโปะ ออกมาด้วย ใครเคยลองแล้วบอกหน่อยนะคะว่ารสชาติเป็นอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ สินค้าสำหรับซาวน่าโดยเฉพาะ เช่น หมวกคลุมผมที่เรียกว่า “sauna hat” และแผ่นรองนั่งในซาวน่าก็เป็นที่สนใจกันไปทั่ว กระทั่งสินค้าที่ใช้กันทั่วไปอยู่แล้วตามออนเซ็น เช่น ครีมบำรุงผิว ยาสระผม ครีมอาบน้ำ ก็ยังดูน่าสนใจขึ้นกว่าเดิมเพราะกระแสซาวน่า ไม่เพียงแค่นั้นสินค้าทั่วไปอย่างผ้าขนหนู เครื่องหอมอโรมา กระบอกน้ำ ถุงใส่ของจุกจิก และอื่น ๆ ก็มีคนเอามาตั้งป้ายว่าเป็น “สินค้าซาวน่า” ได้อีกเช่นกันตามแต่พ่อค้าแม่ขายจะนึกออก เรื่องขายของเก่งนี่ยกนิ้วให้ญี่ปุ่นเลย
ขอให้เพื่อนผู้อ่านหาโอกาสผ่อนคลายจากการงานและความเครียดในชีวิตประจำวันบ้างนะคะ ไม่ต้องเป็นซาวน่าก็ได้ อาจจะเป็นกิจกรรมสันทนาการอะไรที่น่าสนใจ หรือไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติบ้าง ทำแล้วจะได้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีกำลังกลับมาสู้กับชีวิตต่ออย่างรื่นเริงค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.