xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะลงตัวในชีวิตคู่กับ...สามีชาวญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก diamond.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน มีคนเสนอให้ฉัน “เผา” (เมาท์) สามีในฐานะที่เป็นผู้ชายญี่ปุ่นหน่อย แต่นั่งคิดนอนคิดแล้ว เขาไม่ค่อยมีอะไรน่าเผาเท่าไหร่ เอาเป็นว่าขอเล่าเรื่องฉันกับสามี และเรื่องผู้ชายญี่ปุ่นบางส่วนที่เคยได้ยินมาก็แล้วกันนะคะ

บางคนอาจกังวลว่าแต่งงานกับคนต่างชาติแล้ว “วัฒนธรรมต่างกัน จะอยู่กันรอดไหม” แต่ฉันมองว่าไม่ว่าจะวัฒนธรรมเดียวกันหรือต่างกัน ก็จะเจอความเหมือนและความต่างระหว่างคนอยู่ดี จะอยู่รอดหรือเปล่าน่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยในชีวิตคู่หลายอย่างประกอบกันมากกว่า

สังคมที่ชายเป็นใหญ่

ในสังคมญี่ปุ่นนั้น ที่ผ่านมาผู้ชายจะมีภาพลักษณ์เป็นช้างเท้าหน้า ส่วนผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง พอแต่งงานแล้วผู้ชายก็จะเป็นหลักในการทำงานหาเงิน ส่วนผู้หญิงอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ทำงานบ้านและเลี้ยงลูก พอแบ่งหน้าที่กันเด็ดขาดชัดเจน ก็เลยเป็นเรื่องปกติที่ผู้ชายญี่ปุ่นจะไม่ช่วยงานบ้าน ลักษณะเช่นนี้ยังมีอยู่แม้ในยุคปัจจุบันที่ทั้งคู่ต่างก็ทำงานหาเงิน แต่ก็มีผู้ชายบางส่วนเหมือนกันที่มีบทบาทในบ้านร่วมกับผู้หญิงมากขึ้น

สาวไทยคนหนึ่งมีสามีที่เป็นผู้ชายญี่ปุ่นแบบยุคเก่า อยากให้ภรรยาทำทุกอย่างให้ กระทั่งรินน้ำใส่แก้วก็ไม่ทำเอง ส่วนภรรยานั้นรู้สึกอึดอัดมาก เคยบอกสามีว่าไม่ชอบอย่างนี้ แต่เขาก็อธิบายว่าสำหรับเขาแล้วมันคือการอ้อนภรรยา และที่ผ่านมาก็เห็นพ่อแม่ของเขาทำมาแบบนั้น จึงอยากให้เธอทำเช่นเดียวกัน

ภาพจาก pamarry.com
แต่ก็มีสามีญี่ปุ่นหลายคนที่ไม่ได้เป็นผู้ชายญี่ปุ่นจ๋า คู่ของเพื่อนฉันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น หรือสามีภรรยาสูงอายุชาวญี่ปุ่นคู่หนึ่งที่ฉันรู้จักในอเมริกาก็ช่วยกันทำกับข้าวและล้างจาน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะพวกเขาอยู่ต่างประเทศนาน เลยไม่ได้ถือเรื่องบทบาทหน้าที่ชายหญิงชัดเจนแบบตอนอยู่ญี่ปุ่นหรือเปล่านะคะ

สามีฉันเองก็เหมือนกัน คือไม่ได้ถือว่าผู้ชายทำงานบ้านไม่ได้ ต้องผู้หญิงทำเท่านั้น มันเลยทำให้ฉันรู้สึกว่าเขาให้เกียรติฉันในฐานะคนคนหนึ่ง ถ้าหากเขาแบ่งแยก เราก็อาจอยู่ด้วยกันยากเพราะทัศนคติเรื่องสำคัญไปคนละทาง

ผู้ชายญี่ปุ่นโรแมนติกไหม?

ผู้ชายญี่ปุ่นอาจจะไม่ค่อยแสดงความรักเท่าไหร่โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบอกรัก จูงมือ โอบกอด แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นแบบนี้หมด บางทีฉันก็เห็นคุณตาคุณยายญี่ปุ่นเดินจูงมือกัน ดูน่ารักมาก ยังเคยชี้ให้สามีดูเลยว่าถ้าพวกเราแก่แล้วก็อยากเป็นแบบนั้นจัง

สามีฉันเคยโรแมนติกช่วงก่อนแต่งงาน เดินจูงมือ เขียนจดหมายมาหาทุกเดือน โทรสไกพ์คุยทุกวัน เวลาจะมาเมืองไทยก็อุตส่าห์นั่งรถไฟข้ามจังหวัดไปซื้อของกินที่ฉันชอบมาฝาก ดูแล้วน่ารักใช่ไหมคะ แต่พอแต่งงานแล้วช่วงโปรโมชันก็หมดด้วย ! เขาไม่ค่อยจูงมือ ไม่โทรหาเพื่อคุยเล่น เวลาฉันเป็นไข้ไม่สบายก็ไม่คอยถามไถ่หรือสนใจดูแล ทำให้ช่วงแรก ๆ ฉันกังวลใจมากว่าแต่งงานไม่ทันไร ก็เข้าสู่ช่วงเบื่อทันทีเลยหรือนี่

ภาพจาก happymail.co.jp
ฉันเห็นเพื่อนคนไทยคู่หนึ่งที่แต่งงานมาหลายปีแล้ว ยังโทรหากันทุกวันเพื่อถามว่าทำอะไรอยู่ กินข้าวหรือยัง และเดินจูงมือกันเสมอ ฉันเลยนึกว่าคู่สามีภรรยาที่รักกันดีจะต้องเป็นแบบนั้น และบอกสามีว่าอยากให้โทรมาหาระหว่างวันทำงานเหมือนคู่เพื่อนฉันบ้าง เขาเลยโทรมาครั้งหนึ่ง พอฮัลโหลเสร็จ ก็เงียบกันไป ฉันบอกว่าพูดอะไรบ้างสิ เขาก็ตอบซื่อ ๆ ว่าไม่รู้จะพูดอะไร ฉันเลยตัดใจและทำใจว่าผู้ชายญี่ปุ่น (หรืออาจจะแค่สามีฉัน) คงไม่ทำอะไรหวานแหววแบบคนไทยสินะ

ส่วนเรื่องที่เขาไม่คอยถามไถ่เวลาฉันไม่สบายนั้น เป็นเรื่องที่ทำให้ฉันคิดมากมาหลายปี จนมานึกได้ทีหลังว่าฉันไม่สบายบ่อยมาแต่เด็ก และโตมาในบ้านที่ผู้ใหญ่จะคอยถามไถ่ดูแล เลยชินกับการมีคนคอยห่วงยามไม่สบาย แต่เขาแทบไม่เคยป่วย จึงอาจไม่เคยได้รับการดูแล เลยไม่ทันนึกว่าต้องทำอะไรอย่างไรเมื่ออีกฝ่ายไม่สบาย

แต่ถ้าฉันดูไม่สบายมากจริง ๆ เช่น ไอไม่หยุดทั้งคืน เขาก็ไม่เคยหัวเสียหรือบ่นว่าหนวกหู ทั้งยังพยายามช่วยให้ฉันหลับลงด้วยการหาหมอนมาหนุนสูง ๆ หรือบางทีฉันปวดท้องมากกลางดึก เขาก็กุลีกุจอพาฉันไปหาหมอ หรือหลังฉันไปผ่าตัดกลับมาบ้าน เขาก็อาสาทำทุกสิ่งทุกอย่างแทนให้ แล้วยังจัดแจงให้ฉันพักผ่อนสบาย ๆ ด้วยการเปิดซีรีย์สขำ ๆ ให้ฉันดูเล่นแก้เครียด แต่น่าเศร้าที่ฉันดันเจ็บแผลทุกครั้งที่หัวเราะ

ภาพจาก moratame.net
นอกจากนี้เขายังคอยช่วยฉันถือของ ช่วยทำงานบ้านเป็นประจำโดยไม่เกี่ยงงอน เสียสละให้ฉันได้สิ่งที่ดีกว่าตัวเองเสมอ เช่น เวลาเลือกที่นั่งบนเครื่องบิน เขาจะให้ฉันนั่งริมทางเดินหรือข้างหน้าต่างสบาย ๆ แล้วเขานั่งที่นั่งถัดมาซึ่งติดกับคนอื่น เขามักให้ของกินส่วนที่ดีกว่า (น่ากินกว่า ชิ้นใหญ่กว่า) อาสาขับรถไปส่งที่ป้ายรถเมล์เพื่อที่ฉันจะได้ไม่ต้องเดินไกล เป็นต้น

แม้สามีฉันอาจไม่ใช่คนโรแมนติกโดยนิสัย แต่การกระทำของเขาก็ทำให้ฉันสัมผัสได้ถึงรัก และได้เรียนรู้ว่าความโรแมนติกไม่ใช่สิ่งเดียวกับความรักอย่างที่เคยเข้าใจ และคู่ของเราก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนคู่คนอื่น

เรื่องทะเลาะเบาะแว้ง

เมื่อก่อนเวลาฉันโกรธเขา บางทีก็ถามว่า “ทำไมทำแบบนี้?” แทนที่เขาจะให้คำตอบ กลับกล่าวขอโทษ แต่ฉันไม่ได้ต้องการคำขอโทษ แค่อยากเข้าใจว่าเขามีเหตุผลอย่างไรถึงทำอย่างที่เขาทำ แต่การที่เขาพูดว่าขอโทษอย่างเดียวเท่านั้น มันทำให้ฉันรู้สึกว่าถูกตัดบท แทนที่จะได้เข้าใจเขาว่าทำไมทำอย่างนั้น และแทนที่เขาจะได้เข้าใจว่าทำไมฉันถึงโกรธ ก็เลยเหมือนเรื่องถูกปล่อยผ่านไปทั้งที่ยังคาราคาซัง

ภาพจาก diamond.jp
หนังสือฮาวทูของญี่ปุ่นเล่มหนึ่งแนะนำว่า ถ้าอยู่ในที่ทำงานแล้วเจ้านายถามว่า “ทำไมทำอย่างนี้” อย่าพาซื่อด้วยการให้เหตุผลว่าทำไม เพราะจะโดนหาว่าแก้ตัว ฉันก็เลยสงสัยว่าที่สามีฉันพูดขอโทษแต่ไม่ให้เหตุผล อาจเป็นเพราะสังคมญี่ปุ่นมีค่านิยมที่จะกล่าวขอโทษมากกว่าอธิบายเหตุผลก็ได้

แต่ฉันก็ไม่อยากให้มีเรื่องคาใจระหว่างกัน วันหนึ่งก็เลยคุยเรื่องนี้กับเขา ตั้งแต่นั้นมาเขาก็เลยเลิกขอโทษเพียงเพื่อให้จบเรื่อง และหันมาอธิบายเหตุผลของเขาให้ฟังแทน พอเข้าใจเหตุผลกันทั้งสองฝ่าย เราเลยทะเลาะกันน้อยลงมาก

ที่จริงก่อนแต่งงานเราก็ตกลงเรื่องสำคัญให้เข้าใจตรงกันด้วยเหมือนกันค่ะ เช่น เรื่องการมีลูก การเงิน และงานบ้าน ทำให้หลังแต่งงานเราแทบไม่มีปัญหาในเรื่องเหล่านี้เลย สำหรับฉันคิดว่าเรื่องไหนสำคัญก็ควรคุยกันให้รู้เรื่องมากกว่าจะปล่อยผ่านหรือสรุปเอาเอง และการที่เราสื่อสารกันเสมออย่างนี้ก็ทำให้อยู่กันอย่างเข้าใจด้วย

กว่าฟันเฟืองที่แตกต่างจะลงล็อค

เคยได้ยินจากที่ไหนสักแห่งว่าคนเราก็เหมือนฟันเฟืองที่แตกต่างกัน มาอยู่ด้วยกันตอนแรกก็เลยไม่ลงล็อคเป็นธรรมดา แต่ค่อย ๆ ปรับตัวไป วันหนึ่งมันก็เข้าที่เข้าทางได้เหมือนกัน

ฉันกับสามีแตกต่างกันเกือบทุกอย่าง ทั้งงานอดิเรก รสนิยม และสิ่งที่สนใจ แถมนิสัยยังไปคนละทางด้วย คือเขาเป็นคนใจเย็น อ่อนโยน มีเหตุผล สุภาพ และไม่เคยคิดร้ายกับใคร ตรงข้ามกับฉันทุกประการ บางทีฉันก็โดนพ่อแม่เอ็ดเอาว่าห้าวไปหน่อย ทำตัวไม่น่ารัก ให้ดีต่อสามีมากกว่านี้

ภาพจาก kokorohareru.com
การเปลี่ยนตัวเองเป็นเรื่องยากมาก แต่ฉันก็ได้แรงบันดาลใจจากครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนให้ฉันเอาสามีเป็นต้นแบบ และฝึกตัวเองให้ดีอย่างเขา นอกจากนี้ฉันยังได้พบข้อความหนึ่งที่เป็นประโยชน์ เขียนโดยคุณดังตฤณ เจ้าของผลงานหนังสือดี “เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน” ซึ่งว่าไว้ดังนี้ค่ะ

“สายตาที่มองอย่างพร้อมจะทำความเข้าใจ ให้ความรู้สึกอบอุ่นน่าอยู่ใกล้
สายตาที่มองอย่างพร้อมจะจับผิดหาเรื่อง ให้ความรู้สึกกดดันน่าออกห่าง
แค่นี้ก็ทำนายได้แล้วว่า ใครสมควรจะมีชีวิตคู่ยืนยาวได้แค่ไหน”

“กุศลแรงที่สุดที่ช่วยรักษาชีวิตคู่ไว้
คือกุศลทางใจอันเกิดจากการคิดเกื้อกูลกัน
ไม่ยอมประทุษร้ายกัน
ตั้งใจจริงและลงมือทำ”

ฉันจดสองข้อความนี้แล้วแปะไว้ที่โต๊ะทำงานเพื่อคอยเตือนตัวเองบ่อย ๆ พอวันเดือนปีผ่านไป ตัวเองนิสัยเสียน้อยลง เขาก็โอนอ่อนลงด้วย เราหันหน้าเข้าหากันมากขึ้น เข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ความสัมพันธ์จึงดีกว่าแต่ก่อนหลายเท่า ซึ่งถ้าเป็นช่วงปีแรก ๆ ของการแต่งงานซึ่งมีความไม่ลงรอยกันหลายอย่าง ฉันคงนึกภาพไม่ออกว่าจะมีวันนี้

ภาพจาก kufura.jp
ถ้าจะมีสักอย่างที่ฉันชอบในความสัมพันธ์ของเรา ก็คงเป็นเรื่องที่เรามักจะขอบคุณเวลาอีกฝ่ายทำอะไรให้ในชีวิตประจำวัน เช่น ขอบคุณที่ทำกับข้าวให้ ขอบคุณที่ล้างจานให้ ขอบคุณที่ซักผ้าให้ ขอบคุณที่ทิ้งขยะให้ ขอบคุณที่ถือของให้ เป็นต้น แม้จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกวัน แต่มันก็ทำให้เราต่างรู้สึกดีใจที่อีกฝ่ายมองเห็นสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่ take it for granted ว่าเป็นหน้าที่ที่เธอต้องทำอยู่แล้ว และมันก็ทำให้เราอยากทำอะไรให้อีกฝ่ายด้วยความเต็มใจ

นี่ก็คือเรื่องเล่าส่วนหนึ่งของฉันกับสามีค่ะ ถ้าอยากรู้เรื่องอื่นอีก ก็ฝากไว้ในช่องความเห็นได้นะคะ ถ้าเรื่องไหนเล่าได้ก็จะมาเล่าให้ฟังอีกค่ะ สุขสันต์วันวาเลนไทน์ที่ใกล้จะมาถึง ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการรักและดูแลคนใกล้ตัวทุกวันนะคะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น