xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมญี่ปุ่นถึงมีศาลเจ้าสุนัขจิ้งจอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รูปปั้นที่คนนำมาถวายวัดโทโยคาวะอินาริ จังหวัดไอจิ ภาพจาก aichi-now.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน เคยสงสัยไหมคะว่าทำไมญี่ปุ่นถึงมีศาลเจ้าสุนัขจิ้งจอก? ทำไมต้องมีเสาแดงซ้อนกันจำนวนมาก? ที่จริงฉันเองก็สงสัยมานานแล้ว และวันนี้ที่ญี่ปุ่นก็มีเทศกาลประจำปีที่ศาลเจ้าแบบนี้พอดี ฉันเลยไปหาคำตอบและเอามาฝากเพื่อนผู้อ่านเป็นความรู้สนุก ๆ ค่ะ

ในบรรดาศาลเจ้าทั่วญี่ปุ่น ว่ากันว่าศาลเจ้าที่มีเยอะที่สุดก็คือศาลเจ้าที่มีรูปปั้นสุนัขจิ้งจอก โดยมีอยู่ราวสามหมื่นแห่ง ทว่าแม้จะเป็นศาลเจ้าที่มีเยอะที่สุด แต่คนญี่ปุ่นที่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับศาลเจ้านี้กลับมีไม่มาก

ศาลเจ้าที่ว่านี้เรียกกันว่า “อินาริ-จินจะ” (稲荷神社 - ศาลเจ้าอินาริ) มีเสาแดงโทริอิ (鳥居) เป็นเอกลักษณ์ โดยอาจเรียงต่อกันหลายเสา มีรูปปั้นสุนัขจิ้งจอกคู่ผูกผ้ากันเปื้อนสีแดงที่คอ ดูเผิน ๆ แล้วอาจนึกว่าศาลเจ้านั้นบูชาสุนัขจิ้งจอก แต่ผิดถนัด

ศาลเจ้าอินาริบูชาอะไร

แท้จริงแล้วสุนัขจิ้งจอกนั้นเป็นบริวารของเทพอีกที ส่วนเทพที่ศาลเจ้าอินาริบูชาคือ เทพเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยวข้าวและเกษตรกรรม น้อยคนที่จะทราบว่าชื่อจริงของท่านคือ “อุ-คะ-โนะ-หมิ-ต๊ะ-มะ-โนะ-โอ้-คา-หมิ” (宇迦之御魂大神) หรือ “อุ-คะ-โนะ-หมิ-ต๊ะ-มะ-โนะ-มิ-โค-โตะ” (倉稲魂命)

ภาพจาก kansaiotera.com
อาจเพราะชื่อท่านยาว ทั้งยังเขียนยากจำยาก คนญี่ปุ่นถึงได้เรียกท่านด้วยชื่อเล่นแทนว่า “โอะ-อินาริ-ซัง” (お稲荷さん) หรือ “โอะ-อินาริ-ซาหมะ” (お稲荷様) เดาว่าน่าจะมีความหมายประมาณว่า ‘ท่านเทพข้าวออกรวง’ เพราะคนบางส่วนตีความไว้ว่า “อินาริ” คงย่อมาจาก “อิ-งะ-นา-หรุ” (稲が生る) ที่หมายถึง ‘ข้าวออกรวง’ ถ้าจะเรียกท่านให้ทางการหน่อยก็อาจเรียกว่า “อินาริ-โอ้คาหมิ” (稲荷大神 - เทพใหญ่อินาริ)

สมัยโบราณญี่ปุ่นบูชาเทพอินาริเพื่อขอให้การเก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์ ขอให้ฝนตกหรือฝนหยุดตามความเหมาะสมต่อพืชผลไร่นา พอยุคสมัยเปลี่ยนไป คำขอของผู้คนก็เปลี่ยนไปตามกาล อย่างในยุคเซ็งโงขุ (ยุคสงครามกลางเมือง) ก็มีการขอให้รบชนะ ขอให้ครอบครัวปลอดภัย ขอให้เกิดสันติสุขในบ้านเมือง ต่อมาก็มีการขอให้เก่งด้านการแสดง ขอให้สมหวังในการแต่งงาน ขอให้หายป่วย ขอให้การค้ารุ่งเรือง ขอให้คุ้มครองให้ปลอดภัย เป็นต้น

“ท่านสุนัขจิ้งจอก”

ส่วนบริวารท่านนั้นหาใช่สุนัขจิ้งจอกทั่วไปไม่ แต่เป็นสุนัขจิ้งจอกขาว ที่รูปปั้นมักคาบวัตถุบางอย่างไว้ในปากหรือไม่ก็ใต้อุ้งเท้าหน้า วัตถุเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายต่างกัน อย่างฟ่อนข้าวหมายถึงการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ กุญแจหมายถึงกุญแจของยุ้งฉาง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง ความอุดมสมบูรณ์ และความสมปรารถนา ม้วนหนังสือสื่อถึงพระไตรปิฎก ส่วนอัญมณีเป็นสัญลักษณ์ของความสมปรารถนา

ภาพจาก travel.co.jp
บางตำราเล่าว่าคนโบราณบอกถ้าจะขออะไร อย่าไปขอจากเทพอินาริตรง ๆ แต่ให้ขอผ่านสุนัขจิ้งจอกที่เป็นบริวารท่าน จึงมีการไหว้ด้วยอาหารที่เชื่อว่าสุนัขจิ้งจอกชอบ ไป ๆ มา ๆ เลยกลายเป็นการบูชาสุนัขจิ้งจอก แล้วเริ่มจะมีการกันเรียกขานว่า “โอะ-คิสึเนะ-ซาหมะ” (お狐様 - ท่านสุนัขจิ้งจอก) อีกด้วย

ของที่คนนิยมนำมาไหว้มักเป็นข้าว เหล้าสาเก และอินาริซูชิ ซึ่งเป็นข้าวปั้นชนิดหนึ่งห่อด้วยฟองเต้าหู้ทอดรสเค็ม ๆ หวาน ๆ ว่ากันว่าซูชิชนิดนี้เกิดขึ้นจากการทำเป็นของไหว้ศาลเจ้าอินาริเช่นนี้เอง โดยเชื่อว่าสุนัขจิ้งจอกชอบฟองเต้าหู้ และส่วนที่เป็นมุมแหลม ๆ ของอินาริซูชิก็ดูคล้ายหูของสุนัขจิ้งจอก

จะว่าไปก็เคยมีคนไปเจอสุนัขจิ้งจอกสองตัวตีกันนัวเนียอยู่ในศาลเจ้าอินาริ แถมยังอยู่ใกล้รูปปั้นสุนัขจิ้งจอกคู่หนึ่งพอดี เลยดูราวกับสองตัวนี้ออกจากรูปปั้นมาตีกันก็ไม่ปาน เห็นแล้วตลกปนน่ารักดีเลยเอามาให้ดูค่ะ ว่าแต่สองตัวนี้ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นสุนัขจิ้งจอกป่า แต่เป็นสุนัขจิ้งจอกที่เลี้ยงอยู่ในหมู่บ้านจิ้งจอก จังหวัดมิยางิ ซึ่งเขาเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ และเปิดให้คนทั่วไปเข้าชม

ภาพจาก twitter.com/ttt_zegu952
ทำไมต้องมีเสาโทริอิแดงเรียงกันยาว ๆ

ศาลเจ้าแบบนี้มักจะมีเสาโทริอิสีแดง ซึ่งอาจมีเพียงคู่เดียวหรือมากกว่านั้นเรียงรายต่อ ๆ กัน สำหรับศาลเจ้าอินาริหลักของญี่ปุ่นอย่าง “ฟุชิมิอินาริไทฉะ” (伏見稲荷大社) ในจังหวัดเกียวโต จะมีเสาโทริอิทุกขนาดนับหมื่นคู่รายเรียง โดยส่วนที่เรียกว่า “เซ็มบงโทริอิ” (千本鳥居 - พันโทริอิ) จะมีเสาประมาณ 800 คู่ ซึ่งหลายคนอาจจะเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างจากรูปถ่าย

สาเหตุที่ศาลเจ้าอินาริมักมีเสาโทริอิสีแดงเรียงต่อกันอย่างนี้ ก็เพราะว่าเป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่สมัยเอโดะแล้ว ที่ผู้มาสักการะจะนำมาถวายเพื่อขอให้สิ่งที่หวังไว้สมปรารถนา หรือเพื่อขอบคุณที่ช่วยให้สมปรารถนา และคนยังมักเดินลอดไปตามเสาโทริอิเหล่านี้เพื่อเป็นเคล็ดว่าสิ่งที่หวังไว้จะสมปรารถนาด้วย

ส่วนที่ต้องทาเสาเป็นสีแดงก็เพราะเชื่อว่าจะขับไล่ความอัปมงคลออกไป อีกอย่างคือสีแดงนี้ยังได้มาจากปรอทและดินแดงซึ่งใช้กันมาแต่โบราณเพื่อรักษาสภาพเนื้อไม้ อย่างไรก็ตามทั้งลมและฝนก็ทำให้เสาเหล่านี้ผุพังง่าย อย่างที่ศาลเจ้าฟุชิมิอินาริไทฉะก็มีการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนเสาเฉลี่ยวันละประมาณ 3 ต้น

“เซ็มบงโทริอิ” ศาลเจ้าฟุชิมิอินาริไทฉะ จังหวัดเกียวโต ภาพจาก thegate12.com
อินาริซูชิลือชื่อใกล้วัดดัง

ส่วนวัดอินาริชื่อดังอีกแห่งหนึ่งคือ “โทโยคาวะกากุ เมียวกนจิ” (豊川閣妙厳寺) หรือที่รู้จักกันคุ้นหูว่า “โทโยคาวะอินาริ” (豊川稲荷) ในเมืองโทโยคาวะ จังหวัดไอจิ ก็มีจุดเด่นอย่างหนึ่งตรงที่มีรูปปั้นสุนัขจิ้งจอกสวมผ้ากันน้ำลายสีแดง เรียงรายกันนับพัน ที่มีเยอะอย่างนี้ก็เพราะมีคนนำมาถวายหลังสมปรารถนาในสิ่งที่ขอแล้วเช่นกัน เลยกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของวัดไป

แถววัดโทโยคาวะอินาริยังมีร้านขายอินาริซูชิมากมาย เพื่อขายให้แก่คนที่มาไหว้ที่วัด ปัจจุบันมีความพยายามชูเมืองโทโยคาวะในฐานะ “หนึ่งในถิ่นอินาริซูชิแห่งแรกของญี่ปุ่น” ร้านค้าแถวเมืองโทโยคาวะเลยจัดกิจกรรมส่งเสริมการรับประทานอินาริซูชิ เช่น การประกวดอินาริซูชิ เทศกาลอินาริซูชิ โปรโมทกิจกรรมเดินไปกินไปกับอินาริซูชิโทโยคาวะ เป็นต้น

“อินาริซูชิสีรุ้ง” เมนูของร้านหนึ่งใกล้วัดโทโยคาวะอินาริ ภาพจาก icotto.jp
นอกจากเมืองโทโยคาวะจะมีทั้งอินาริซูชิสูตรโบราณดั้งเดิมแล้ว ก็ยังมีสูตรแปลกใหม่ตามแต่จะสร้างสรรค์ อย่างเช่น โรยหน้าใบวาซาบิปรุงรส ผสมสาหร่าย เพิ่มสีสันสดใส นำไปทอดเป็นเทมปุระ ท้อปปิ้งด้วยปลาไหลย่าง หรือด้วย “มิโสะคัตสึ” (หมูชุบขนมปังป่นทอดราดซอสมิโสะ เป็นของขึ้นชื่อเมืองนาโงย่า จังหวัดไอจิ) เป็นต้น


เทศกาลประจำปีต้อนรับเทพอินาริ

ทุกปีตามศาลเจ้าอินาริทั่วญี่ปุ่นจะจัดเทศกาล “ฮัตสึอุมะ-มัตสึหริ” (初午祭) เพื่อต้อนรับเทพอินาริ ซึ่งเชื่อกันว่าลงมาจากสวรรค์ในวันม้าแรก (初午の日) ของเดือนกุมภาพันธ์ อย่างในปี พ.ศ. 2566 นี้ก็ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ ซึ่งก็คือวันนี้พอดีเลย (ส่วนปีอื่นก็จะตรงกับวันอื่นนะคะ) ผู้คนจะนิยมไปไหว้ที่ศาลเจ้าฟุชิมิอินาริไทฉะ และไปเช่ากิ่งสน (しるしの杉 - ชิหรุฉิ-โนะ-สุงิ) กลับมาเป็นสิริมงคล

กิ่งสนของศาลเจ้าฟุชิมิอินาริไทฉะ ภาพจาก kyoto-np.co.jp
ทำไมต้องเป็นกิ่งสน?

คือตั้งแต่สมัยเอโดะเป็นต้นมา คนที่เดินทางไปแสวงบุญที่สามศาลเจ้าใหญ่ในคุมาโนะ (ปัจจุบันคือจังหวัดวากายามะ) มักมีธรรมเนียมไปไหว้ศาลเจ้าฟุชิมิอินาริไทฉะด้วยทั้งขาไปและขากลับ และรับกิ่งสนมา โดยเชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัย ซึ่งกิ่งสนนี้ก็ได้มาจากภูเขาอินาริที่อยู่แถวศาลเจ้านั้นเอง ความเชื่อเรื่องกิ่งสนจากภูเขาอินาริยังปรากฏอยู่ในงานเขียนสมัยโบราณหลายชิ้นด้วย บ่งบอกหลักฐานว่าเป็นธรรมเนียมแต่โบราณกาล

และในเทศกาลฮัตสึอุมะ-มัตสึหริของศาลเจ้าเดียวกันนี้ ยังมีการไหว้เทพด้วยพืชผักชนิดต่าง ๆ โดยบริษัทห้างร้านเป็นผู้จัดถวายอย่างอลังการ

ถ้ามีโอกาสไปญี่ปุ่น ก็ลองไปชมศาลเจ้าอินาริดูนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น