สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ได้ยินเพื่อนเล่าว่าเวลาคนไทยเจอเด็กน่ารักๆ ก็มักจะเข้าไปทักทายบ้าง จับแก้มหรือลูบหัวเด็กๆ เล่น ยิ่งถ้าครอบครัวไหนไม่ถือสาอาจมีขออุ้มเด็กๆ อีกด้วย ซึ่งบางคนก็ไม่ได้มีเจตนาร้าย ทำไปเพราะความเอ็นดูเด็กๆ เท่านั้น ครั้งหนึ่งผมเคยพาหลานไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ตอนนั้นมีคุณลุงคนแปลกหน้าเดินเข้ามาจับแก้มหลานผมแล้วชมว่าน่ารัก ถ้าถามความรู้สึกผม ผมรู้สึกว่าอยู่ๆ มีคนแปลกหน้าคนหนึ่งเดินมาจับแก้มเด็กที่ไม่รู้จักกันนี่ก็ดูจะผิดปกติไปสักหน่อย ซึ่งเรื่องนี้บางทีก็พูดยากว่าควรหรือไม่ควร แค่ไหนถือว่าเกินขอบเขตและไม่พอดีสำหรับการเข้าไปทักทายเด็กๆ สมมติเราเป็นผู้ปกครองเด็กเราก็ไม่รู้เจตนาของฝ่ายตรงข้ามว่าเขาแค่เอ็นดูเพราะเด็กน่ารักเฉยๆ หรือมีเจตนาร้ายแอบแฝงอยู่กันแน่ แต่ที่ญี่ปุ่นจะค่อนข้างระวังตัวเรื่องการเข้าไปเล่นกับเด็กๆ มากครับ
แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีนะครับ ที่ญี่ปุ่นเองก็เคยมีข่าวเช่น มีคุณลุงคนหนึ่งแกคงจะเอ็นดูเด็กน้อยที่นั่งอยู่ในรถเข็นครับ ลุงเลยเอาขนมไปให้เด็กกิน! ก็เป็นข่าวกันเลยทีเดียว ที่จริงต้องบอกว่าแล้วแต่กรณีแล้วแต่ครอบครัวว่าพ่อแม่เด็กๆ จะว่าอย่างไร ก็ยังพอมีคุณแม่หรือครอบครัวคนญี่ปุ่นที่เข้าใจคนที่เอาขนมมาให้ลูกตัวเองอยู่ แต่บางครอบครัวก็ถือเรื่องนี้และเข้มงวดมากจะไม่ให้ใครมายุ่งกับลูกได้เลย และจะห้ามคนแปลกหน้าเอาขนมมาให้ลูกของตัวเองกินอย่างเด็ดขาด นอกจากนั้นอีกประเด็นที่พูดกันไม่ใช่แค่เรื่องเจตนารมณ์ของคนที่เอาขนมมาให้เด็ก แต่ยังเป็นห่วงเรื่องการแพ้อาหารด้วยครับ ฉะนั้นจึงไม่ควรถือวิสาสะเอาขนมไปให้เด็กๆ กินตามอำเภอใจนั่นเอง และเมื่อไม่กี่วันมานี้ก็มีเรื่องทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีก ตามข่าวนี้ครับ
◆(ฟุกุโอกะ) ตามรายงานของตํารวจประจําจังหวัดฟุกุโอกะ เมื่อเวลาประมาณ 07:30 น. ของวันที่ 27 มกราคม พ. ศ. 2566 ที่อิโตดะโจ มีผู้ชายคนหนึ่งเรียกเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาชายที่กำลังเดินอยู่ริมถนนย่าน Itoda-machi (โดยชายคนดังกล่าวมีลักษณะดังนี้ : ชายวัยกลางคน, อ้วนท้วม, สวมแว่นกันแดด, ขับรถครอบครัวสีดํา)
■พฤติกรรมของผู้ชายคนนั้นและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
・เขาเรียกเด็กๆ ที่กำลังเดินระหว่างทางไปโรงเรียน
・และบอกเด็กๆ ว่า "ฝนตก เอาร่มนี้ไหม?!
(จากคำให้การของเด็กๆ )!
ตามข่าวมีข้อมูลเพียงเท่านี้ ซึ่งไม่ทราบเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ชายคนที่เรียกเด็ก และร้องบอกว่า “ฝน(กำลัง)ตก เอาร่มไหม?” ถ้าเขาแค่มีเจตนาจะเอาร่มให้เด็กเพื่อกันฝนเฉยๆ แต่กลายเป็นว่าถูกครอบครัวเด็กแจ้งความไปแล้ว เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นที่คนเอามาแชร์และพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย และมีคนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าชายคนนั้นมีเจตนาแบบไหนกันแน่ บางคนก็แสดงความคิดแบบนี้..
(*´・ω・) แล้วจะให้ทำอย่างไร??!
╮( •́ω•̀)╭ ทำแบบนี้มันผิดตรงไหน??!
(*゚∀゚*) หรือว่าลุงเรียกเด็กและบอกว่าจะให้ร่มแต่เอาอย่างอื่นมาโชว์หรือเปล่า??!
ที่จริงแล้วกรณีที่ยังไม่เกิดเหตุการณ์ร้าย มีคำศัพท์คำว่า 事案 jian คือประมาณว่าเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่ถือว่าเป็นเหตุการณ์ร้าย , ยังไม่ใช่สถานการณ์ที่มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว ( อาทิ ปล้น, จี้, ฆาตกรรม เป็นต้น) แต่ยังเป็นสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ยังคลุมเครือ ยังเดาสถานการณ์ไม่ออก เป็นเคสที่อาจจะเป็นปัญหาต่อจากนี้ไป หรือหมายถึงสิ่งที่ต้องแก้ไขและตัดสินใจ หรือสิ่งที่ถูกลงบันทึกประจำวันไว้ หรือเหตุการณ์ที่มีคนนำไปแจ้งตำรวจนั่นเอง และ jian ที่ถูกนำไปแจ้งความบ่อยๆ ก็คือเรื่อง เด็กๆ เจอคนแปลกหน้า (คนที่ไม่รู้จักกัน) มาทักทาย!! นั่นเอง ซึ่งเมื่อตำรวจได้รับแจ้งความแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่ากรณีนั้นๆ จะได้รับการตอบสนองหรือไม่ และวางแผนที่จะตอบสนองในอนาคตหรือไม่ อย่างไร
ส่วนทางด้านเด็กๆ ที่ญี่ปุ่นมักจะพกอุปกรณ์แจ้งเหตุฉุกเฉินหรือ 防犯ブザー bohan buzaa ซึ่งพ่อแม่มักจะให้ลูกตัวเองถือไปโรงเรียนด้วย เพราะปกติเด็กประถมญี่ปุ่นไม่พกเงินและไม่พกมือถือสมาร์ทโฟนไปโรงเรียนนะครับ และมักจะเดินไปกลับโรงเรียนด้วยตัวเอง อาจมีการนัดรวมกลุ่มเพื่อนที่อยู่ละแวกเดียวกันเดินไปพร้อมๆ กัน หรืออาจมีเดินไปลำพังแล้วแต่ bohan buzaa เป็นอุปกรณ์ที่มีขนาดประมาณทามาก็อตจิ มีปุ่มกดขอความช่วยเหลือถ้าเกิดเหตุร้าย เมื่อกดปุ่มเครื่องก็จะส่งเสียงดังแจ้งเตือนให้คนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมาช่วย ซึ่งสมัยนี้ที่โรงเรียนยังสอนเด็กเสมอว่าแค่เจอคนแปลกหน้ามาทักทาย เช่น สวัสดีครับ こんにちは [KONNICHIWA] ! ให้กด bohan buzaa ทันที !! ยิ่งทำให้คนญี่ปุ่นสมัยนี้ระวังตัวกันมากขึ้น คือไม่อยากไปยุ่งหรือไปทักเด็กๆ ที่ไม่รู้จักกัน เพราะกลัวจะโดนแจ้งความนั่นเอง
เสียงกริ่งของ bohan buzaa จะดังในระดับที่สามารถแจ้งเตือนผู้คนรอบๆ ตัว เพื่อขอความช่วยเหลือ ถือเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรักษาความปลอดภัย, ป้องกันอาชญากรรม นอกจากนี้ถ้าแม้บริเวณนั้นไม่มีคนรอบข้างอยู่เลย แต่เสียงสัญญาณก็ทำให้คนร้ายตกใจและวิ่งหนีแยกย้ายกันไป เด็กก็จะได้รีบวิ่งออกมาจากจุดเกิดเหตุได้ ซึ่งก็เปรียบเสมือนเป็นการใช้จิตวิทยาอีกรูปแบบหนึ่ง ปัจจุบันประชากรที่เปราะบางทางสังคม เช่น เด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุมักจะพก bohan buza ติดตัวเมื่อออกไปข้างนอก ถ้าเป็นสมัยก่อนคงอารมณ์นกหวีดที่ถูกใช้ด้วยเหตุผลเดียวกัน
สรุปแล้วในญี่ปุ่น ผู้คนมักคาดหวังถึงสิ่งสวยงาม เช่น "ให้ผู้ใหญ่ในชุมชนช่วยกันดูแล เฝ้ามองและเลี้ยงดูเด็กๆ ทุกคน" แต่ความเป็นจริงแล้ว มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหากับตํารวจเพียงแค่เรียกเด็กๆ อย่างกรณีด้านบน ดังนั้นใครๆ ก็กลัวและต้องระวังตัวไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ หรือในสวนสาธารณะที่มีหลายครอบครัวพาลูกมาวิ่งเล่น แต่ในสวนนั้นมีชายชราแปลกหน้านั่งออกกำลังกายอยู่ด้วย เพียงแค่นี้ทุกสายตาก็คอยจับจ้องมาที่ชายชราคนนั้นด้วยความน่าสงสัย แล้วใครจะอยากออกจากบ้าน ... ∫“(^_^;) บางทีก็ยากที่จะรู้จักโลกใบนี้นะครับ แต่ก็ช่วยไม่ได้ที่เราต้องออกไปเรียนรู้และทำความรู้จักมัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน.. วันนี้เล่าสู่กันฟัง แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ