สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ผมนึกถึงอดีตสมัยที่ผมเรียนประถมศึกษาผมมีเพื่อนคนหนึ่งนิสัยดีมากๆ ผมชอบนิสัยเขาพวกเราสนิทกัน เล่นกันตลอดจนเรียนจบป.6 ต่างก็ต้องแยกย้ายไปเรียนโรงเรียนมัธยมต้นคนละโรงเรียน ที่จริงถ้าเป็นไปได้ก็อยากเรียนโรงเรียนเดียวกันอยู่หรอก แต่เนื่องจากระบบการศึกษาของญี่ปุ่นต้องเข้าเรียนที่โรงเรียนตามเขตทะเบียนบ้านตัวเองซึ่งมีการแบ่งโซนไว้ชัดเจนว่าบ้านอยู่ย่านนี้ต้องเรียนโรงเรียนไหน แล้วผมกับเพื่อนมีบ้านอยู่คนละฝั่งแม่น้ำทำให้ต้องเรียนโรงเรียนมัธยมต้นคนละโรงเรียนโดยปริยาย และเราก็เจอเพื่อนๆ กลุ่มใหม่จึงห่างหายกันไป พอจบมัธยมต้นผมก็ไปสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายประจำจังหวัด แล้วบังเอิญไปสอบโรงเรียนเดียวกันอีกจึงได้เจอกันอีกครั้ง ผมทั้งดีใจและตกใจ
ด้วยความที่โรงเรียนมัธยมต้นที่เพื่อนไปเรียนนั้นค่อนข้างจะขึ้นชื่อเรื่องเด็กเกเร มีเหล่าหัวโจกอยู่เยอะเหมือนกัน เพื่อนผมจึงมีบุคลิกภาพแนวนั้นติดมาด้วยนิดหน่อย และเหมือนเขาจะไม่ค่อยอยากคุยกับวัยรุ่นหน้าจืดแบบผมสักเท่าไหร่แล้ว โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายประจำจังหวัดที่พวกเราเรียนตั้งอยู่ห่างจากย่านที่พักของพวกเราพอสมควรและมีรถไฟแค่ชั่วโมงละเที่ยวเท่านั้น คือถ้าพลาดรถไฟเที่ยวหนึ่งก็ต้องรอไปอีกหนึ่งชั่วโมงกว่ารถจะมาอีกที วันหนึ่งพวกเราพากันวิ่งกระหืดกระหอบเพื่อให้ทันรถไฟที่กำลังจะออกในอีก 2 นาที เรียกว่าวิ่งกันแบบไม่คิดชีวิตเลยทีเดียว พอมาถึงจึงเหนื่อยแฮ่ก แล้วเขาก็บอกว่าเขาเหนื่อยมากเพราะตอนเรียนมัธยมต้นสูบบุหรี่มาตลอดเลย มาให้สัญญากับตัวเองว่าม.3 ที่ต้องเตรียมสอบเข้ามัธยมปลายจะต้องหยุดสูบบุหรี่และตั้งใจอ่านหนังสือเพื่อสอบเข้าให้ได้ (สอบได้แล้วค่อยสูบต่อ) เลยทำให้เขาไม่ได้สูบบุหรี่มาหนึ่งปีแต่ตอนนี้กลับมาสูบอีกครั้งจึงรู้สึกว่าเหนื่อยมาก ผมได้ฟังก็ตกใจมาก เพื่อนสูบบุหรี่มาตลอดเลยหรือเนี่ย!
เมื่อพวกเราเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายก็ได้สอบเข้าเรียนต่อในโตเกียวกันทั้งคู่ ซึ่งเขาก็มาเที่ยวเล่นที่อพาร์ทเม้นท์ที่ผมพักอยู่บ้างเป็นครั้งคราว เขาเลือกเรียนสายวิศวกรรมผมเรียนทางรัฐศาสตร์ พอถึงช่วงปีสามซึ่งเป็นปีที่เด็กๆ มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นต้องส่งเรซูเม่สมัครงานกัน ถ้าเรียนจบมหาวิทยาลัยไปแล้วยิ่งนานวันก็จะไม่มีโอกาสสมัครงานได้อีกง่ายๆ ถ้าหางานไม่ได้ก็คือชีวิตทำงานหมดกันแค่นั้นเลยครับ เพราะระบบเป็นเช่นนี้ก็มีส่วนทำให้คนในสังคมเคร่งเครียดจริงจังกันมาก เพื่อนผมบอกว่าเขาส่งใบสมัครไปเป็นร้อยๆ แห่งแต่แทบจะไม่มีที่ไหนเรียกเลย ต้องบอกว่าไม่ใช่ความผิดของคนรุ่นผมหรอกครับ เพราะรุ่นผมดันเรียนจบมาในจังหวะที่ไม่ดีเอามากๆ ตกงานกันเยอะ เพราะเป็นช่วงที่คนทำงานเต็มบริษัทไม่มีตำแหน่งงานว่างและรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลืออะไร ตอนนั้นเพื่อนถามผมว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิต ผมคิดว่าดูจากสถานการณ์ตอนนั้นแล้วน่าจะหางานไม่ได้ ผมบอกว่าผมจะไปเมืองไทยสักหนึ่งปีอาจจะไปเรียนต่อหรืออะไรค่อยคิดอีกที เพื่อนผมญี่ปุ่นจ๋าฟังแล้วบอกว่าทำไมผมจึงไม่กระตือรือร้นที่จะหางานเลย แล้วเค้าก็เหมือนทำท่าเบื่อๆ ไป
แม้เพื่อนผมคนนี้ที่ดูเหมือนเป็นคนแหกกฎ เช่นข้อห้ามเด็กและเยาวชนที่อายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์สูบบุหรี่! แต่ลึกๆ แล้วคนญี่ปุ่นก็คือคนญี่ปุ่นที่ยังมีวินัยและเคร่งครัดในข้อกำหนดอยู่ดี ผมคิดว่าที่เมืองไทยก็คงจะมีคนแหกกฎเหมือนกันใช่ไหมครับ เช่น ห้ามคนอายุเท่าไหร่ขับรถหรือห้ามคนอายุเท่าไหร่ซื้อสุราเห็นมีข่าวว่าฝ่าฝืนกันอยู่ ที่ญี่ปุ่นมีเหมือนกันครับ เพียงแต่ส่วนใหญ่มีจิตใต้สำนึกที่จะยึดถือในสิ่งที่กำหนด แม้มีคนที่ฝ่าฝืนอยู่บ้างแต่พวกเขาก็ยังยึดถือในข้อกำหนด หรือแม้ว่าเพื่อนผมจะทำตัวเสเพลอะไรไปบ้าง แต่จริงๆ แล้วเขาถือเป็นคนญี่ปุ่นเลือดญี่ปุ่นคนหนึ่งที่มีความเข้มงวดและตั้งใจจะทำอะไรก็ต้องทำจริงๆ จังๆ
หรือเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องการขับรถโฟล์คลิฟท์ (Forklift) สมัยก่อนยังไม่เข้มงวดเรื่องใบอนุญาตขับรถโฟล์คลิฟท์มาก คนที่ทำงานขับรถโฟล์คลิฟท์มาตั้งแต่วัยรุ่น สั่งสมประสบการณ์มาจนถึงปัจจุบันย่อมมีทักษะและความชำนาญมากกว่าเด็กสมัยนี้ที่มีใบอนุญาตขับรถโฟล์คลิฟท์อยู่ แต่เมื่อยึดถือตามกฎอย่างเข้มงวดคนขับรุ่นลุงที่ยังไม่มีใบอนุญาตจึงต้องไปเรียนและสอบใหม่เพื่อที่จะได้รับใบอนุญาตก่อน
หรือแม้แต่เรื่องมาตรการแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด-19 ก็เช่นกัน มีคนไม่อยากจะทำตามกฎแต่ก็ทำ ก่อนหน้านี้สองอาทิตย์มีแหล่งข่าวรัฐบาลแง้มออกมาว่าจะประกาศยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป คนญี่ปุ่นบอกว่าหมายความว่าวันที่ 31 มีนาคมทุกคนยังต้องใส่หน้ากากอยู่เพื่อที่จะรอวันที่ 1 เมษายนที่จะถอดหน้ากากได้งั้นหรือ แต่คนญี่ปุ่นก็เชื่อตามนั้นนะครับ ว่ากันว่าภายใน 31 มีนาคมใครที่เป็นโรคโควิด-19 ยังอยู่ในขอบเขตการช่วยเหลือจากรัฐบาลแต่ว่าหลังจากวันที่ 1 เมษายนไปแล้วต้องจ่ายเอง นี่คือข่าวตอนนั้น แต่ล่าสุดข่าววันที่ 26 มกราคมนี้เผยว่าอาจเลื่อนเวลายกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยออกไปเป็นวันที่ 8 พฤษภาคม หลังจากการประชุมหารือกับทีมคณะอนุกรรมการโรคติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน และจะมีการตัดสินอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
จากข่าวการพิจารณาปรับเปลี่ยนมาตรการป้องกันโควิด-19 เรื่องการสวมหน้ากากอนามัยในอาคาร จากการลดระดับการจัดหมวดหมู่โรคโควิด-19 ให้ลงมาอยู่ในระดับเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เพราะเมื่อลดระดับโรคโควิด-19 มาเป็นโรคระดับ 5 (Class 5) มาตรการต่อต้านโรคก็ควรเทียบเท่ากับโรคระดับ 5 เช่นกัน โดยปัจจุบันโรคโควิด-19 ถูกจัดอยู่ในระดับ 2 (Class 2)
โดยคาดว่าต่อไปจะให้เฉพาะบุคคลที่ป่วยแบบแสดงอาการของโรคเท่านั้นที่ควรสวมหน้ากากอนามัย และการสวมหน้ากากจะปล่อยให้เป็นวิจารณญาณส่วนตัว ไม่ว่าจะในที่ร่มหรือกลางแจ้งหมายถึงประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยหลังประกาศ และรัฐบาลกำลังพิจารณาระบบการรักษาพยาบาลสำหรับโรคโควิด-19 และวิธีการสนับสนุนทางสาธารณสุขสําหรับค่ารักษาพยาบาลหลังจากลดความรุนแรงของโรคเหลือระดับ 5 เป็นไปได้ว่าจะยังคงช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมนี้เท่านั้น
นอกจากการลดระดับความรุนแรงลงแล้ว ยังไม่รวมอยู่ในการใช้พระราชบัญญัติมาตรการพิเศษ ดังนั้นถ้าถูกลบออกจากพระราชบัญญัติมาตรการพิเศษ หน่วยงานพิเศษที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโต้การแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ของรัฐบาลจะถูกยกเลิกไปด้วย ก็จะไม่สามารถใช้มาตรการ เช่น การประกาศภาวะฉุกเฉินและการป้องกันการแพร่กระจายได้อีก คนญี่ปุ่นวิพากษ์วิจารณ์ว่า เรื่องของเชื้อโรคเอย เชื้อไวรัสเอยก็ไม่ได้หมดไปทันทีทันใดที่ประกาศ หรือสถานการณ์คงไม่เปลี่ยนไปแค่ระยะเวลาชั่วข้ามคืน แต่ในเมื่อมีข้อกำหนดว่าให้ยกเลิกการสวมหน้ากากได้ก็ต้องเชื่อตามนั้นครับ วันนี้เล่าสู่กันฟัง แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ