xs
xsm
sm
md
lg

ควรตำหนิแม่บ้านญี่ปุ่นหรือไม่ที่ปล่อยให้ลูกเล่นมือถือสมาร์ทโฟน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว มีข่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นออกแคมเปญเพื่อรณรงค์ให้คุณแม่ผู้ปกครองดูแลลูกหลานให้ดี คุณแม่ควรเพิ่มเวลาทำกิจกรรมกับลูกให้มากขึ้น อย่าให้เด็กๆ เล่นแต่เกมออนไลน์หรือใช้สมาร์ทโฟน, อุปกรณ์แท็บเล็ตดูสื่อต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ตมากเกินไป จนเกิดประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ เพราะคุณแม่ญี่ปุ่นเกิดความไม่พอใจว่าทำไมการรณรงค์นี้สื่อรูปภาพและคำเชิญชวนเสมือนตำหนิแม่เพียงฝ่ายเดียว และถ้าพูดตามความเป็นจริงในยุคปัจจุบันนี้ แม้ว่าจะบอกลูกว่าอย่าเล่นสมาร์ทโฟนก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย


แน่นอนทุกคนเข้าใจว่าครอบครัวควรจะสื่อสารกับเด็กให้มากขึ้น แต่บางคนก็แสดงความเห็นใจบรรดาคุณแม่ทั้งหลายที่มีลูกในวัยซน เข้าใจว่าแม่บ้านอาจจะรู้สึกเหนื่อยมากเพราะส่วนใหญ่ทำงานแบบ One operation ワン‐オペレーション ซึ่งปัจจุบันที่ญี่ปุ่นมีการทำงานแบบ One operation แพร่หลายในหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหารหรือแม้แต่คุณแม่บ้านที่ต้องเลี้ยงดูลูกน้อยเองคนเดียว และยังต้องทำงานบ้านทุกอย่างไปด้วย โดยที่ปู่ย่าตายายหรือสามีไม่ได้เข้ามาช่วยอะไร คุณแม่บ้านจะต้องเลี้ยงดูเด็กๆ และทำงานทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมดซึ่งแน่นอนว่าเหนื่อยและทำงานหนักมากกว่าปกติและต้องรับผิดชอบมาก


การเลี้ยงดูเด็กแบบ One operation เป็นเรื่องที่หนักหนาเอาการสำหรับคุณแม่ จึงเห็นบ่อยๆ ว่าสมัยนี้แม่ปล่อยให้ลูกเล่นมือถือสมาร์ทโฟน ให้ลูกเพลินอยู่กับที่ได้และไม่ไปเล่นซนที่อื่น แม่ก็สามารถทำกิจกรรมหรืองานในบ้านอื่นๆ โดยไม่ต้องคอยพะวงกับลูก

มีคนบอกว่าญี่ปุ่นสมัยก่อนหรือรุ่นปู่ย่าตายายเลี้ยงลูกด้วยความรักมากกว่า ดูแลลูกหลานดีกว่าปัจจุบัน ก็มีคนแย้งว่าไม่จริงเสมอไปเพียงแต่สมัยก่อนยังไม่เข้มงวดเรื่องสิทธิมนุษยชนมากเหมือนสมัยนี้เท่านั้นเอง ใครๆ ก็รู้ว่าเรื่องความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชนคือนั้นมากขึ้นตามยุคสมัย คือยุค Reiwa มากกว่ายุค Heisei และมากกว่ายุค Showa การดูแลเด็กสมัยที่ผมเป็นเด็กก็ยังแตกต่างจากสมัยปัจจุบันนี้ ผมสามารถยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตัวเองเลยคือ ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมมักจะทะเลาะกับน้องสาวบ่อยๆ แล้วที่บ้านผมจะจับผมไปขังไว้ในห้องเก็บของครับ ซึ่งจะเป็นเรือนเล็กๆ ที่แยกส่วนจากตัวบ้าน อาจจะไม่ถึงขั้นถูกมัดไว้ แต่ผมจำได้ว่าผมถูกเอาไปขังในห้องเก็บของจริงๆ ฝาผนังห้องยังมีรอยเท้าผมอยู่เลยครับ ถ้าสมัยนี้พ่อแม่ทำแบบนี้กับลูกสงสัยต้องโดนจับแน่ๆ เพราะหากมีคนร้องเรียนไปยังศูนย์ให้คําปรึกษาเด็ก คิดว่าผู้ปกครองจะถูกจับกุมในข้อหา "ทารุณกรรม" อย่างแน่นอน


จะเห็นว่าเด็กๆ ซนเหมือนกันหมดทุกยุคสมัย ทว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เข้มงวดเพิ่งมาจริงจังกันในสมัยนี้ แต่บางครั้งก็แปลกนะครับที่บอกว่าเคารพในสิทธิมนุษยชนนั้นเคารพจริงๆ หรือเปล่า ยิ่งบอกว่าตะหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้นแต่กลับเพิกเฉยกันและกันมากขึ้นเสียอย่างนั้น ตัวอย่างเช่น มีครอบครัวหนึ่งจับลูกมัดไว้เพราะเอื้อมระอาเด็กซน เป็นต้น ครอบครัวนั้นถูกคนรอบข้างโทรศัพท์แจ้งทางศูนย์ราชการเพื่อขอความช่วยเหลือและเจ้าหน้าที่ก็รีบยกขบวนกันมาทันที แต่ถ้ามีอีกครอบครัวที่ทรมานและทารุณเด็กจริงๆ จังๆ ใช้ของร้อนมาจิ้มที่ผิวหนังเด็กเอย ทำร้ายเด็ก เป็นต้น คนรอบข้างบางคนกลับทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นและไม่มีการช่วยเหลือ


ปัจจุบันมีประชากรเด็กเกิดใหม่ลดลงมาก กล่าวกันว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ที่จริงแล้วเศรษฐกิจไม่ดีก็มีส่วนจริงแต่สิ่งที่ทำให้ความคิดนี้ถูกหักล้างก็คือ จังหวัดโอกินาวาเป็นจังหวัดที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ แต่กลับเป็นจังหวัดที่มีอัตราการเกิดใหม่ของเด็กมากที่สุด ตรงกันข้ามโตเกียวเมืองที่มีค่าครองชีพสูงมีค่าเฉลี่ยเงินเดือนสูงที่สุดในญี่ปุ่นกลับกลายเป็นเมืองที่มีอัตราเฉลี่ยการเกิดของเด็กเกิดใหม่น้อยที่สุด ซึ่งมันตรงข้ามกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจความเป็นอยู่ ดังนั้นแล้วปัจจัยใดที่มีผลกับประเด็นคือนี้อะไร


โอกินาวาเป็นจังหวัดที่ครอบครัวจะมีเครือญาติอาศัยอยู่ใกล้ๆ กัน มีพ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายอยู่รอบบ้าน ถ้ามีลูกก็สามารถช่วยกันเลี้ยงดูแลลูกได้ สิ่งนี้มักอธิบายด้วยจิตวิญญาณของ "ยูอิมารุ" Yuimaaru ของโอกินาวา (หมายถึงเพื่อน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน) ต่างจากโตเกียวที่มีคนต่างจังหวัดเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่แบบตัวคนเดียวหรือครอบครัวเดี่ยวจำนวนมาก ไม่มีใครช่วยดูแลเด็กๆ แม้จะบอกว่าเงินเป็นสิ่งสําคัญสําหรับใช้ดูแลเด็กที่จะเกิด แต่ยิ่งไปกว่านั้นการมีปู่ย่าตายายอาศัยอยู่ด้วยกันหรือกําลังคนที่จะช่วยเหลือดูแลเด็กได้ สําคัญกว่าหรือไม่?


สมัยที่ผมยังเด็กก็เป็นยุคที่เริ่มมีเกมแฟมิคอม ファミコン(Famicom) เกิดขึ้นแล้วครับ ตอนนั้นก็เริ่มติดเล่นเกมอยู่เหมือนกัน ผู้ใหญ่บอกว่าเด็กที่เล่นเกมเยอะๆ ไม่สามารถจะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้แน่ๆ แต่มายุคปัจจุบันเป็นยุคที่มีสมาร์ทโฟนและมีเกมมากมายให้ดาวน์โหลด เด็กๆ ติดสมาร์ทโฟนและเล่นมือถือกันอย่างไม่ลืมหูลืมตาเลย


มีนักเล่นเกมตัวยงชื่อ ทาคาฮาชิ เมย์จิน 高橋名人 Takahashi meijin บุรุษผู้กดปุ่มรัวระดับตำนานเขาสามารถกดปุ่มคอนโทรลเลอร์ของเครื่องเล่นเกม 16 ครั้งต่อวินาที (0.06 วินาทีสําหรับช็อตต่อเนื่อง) เก่งและเป็นพรีเซนเตอร์เกมมากมาย แต่เขากลับบอกว่า “สำหรับเกมแล้วให้เด็กๆ จำกัดการเล่นแค่ 1 ชั่วโมงต่อวันก็พอ แล้วให้ออกไปเล่นข้างนอกกันเถอะ” แต่ถ้ามาดูในยุคปัจจุบันแล้วไม่มีเด็กคนไหนเล่นสมาร์ทโฟนแค่ชั่วโมงเดียวแน่ๆ เลย


ซึ่งจากประเด็นที่รัฐบาลออกข้อความเชิญชวนมา แต่ดูเหมือนว่าไม่มีสถานที่ที่จะให้เด็กออกไปเล่นนอกบ้านเท่าไหร่นัก มีคุณแม่มาให้ความเห็นว่า “อันที่จริงยังมีกฏห้ามเล่นบอลในสวนสาธารณะเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และอุปกรณ์ในสนามเด็กเล่นก็ถูกนำออกไป เมื่อวันก่อนมีอาจารย์มหาวิทยาลัย (นักการศึกษา) มาบ่นว่าเด็กๆ เล่นกันเสียงดังโหวกเหวก และยังมีข่าวที่ว่าสวนสาธารณะในจังหวัดนากาโน่ถูกปิด ฯลฯ มันจึงแย่มาก ที่ใช้การสนามเด็กเล่นไม่ได้ แล้วฉันควรทําอย่างไร? ถ้าฉันเป็นแม่ที่ทํางานนอกบ้าน ต้องทำงานบ้านและเลี้ยงลูก และไม่ได้อาศัยอยู่ใกล้ๆ ญาติ”

นี่คืออีกประโยคที่ผมชอบครับ ↓

「子供叱るな来た道だ
年寄り笑うな行く道だ」

Kodomo shikaruna kita michi da
Toshiyori warauna iku michi da

"อย่าดุเด็ก เพราะเป็นหนทางที่เราผ่านมา
อย่าหัวเราะเยาะคนแก่ เพราะเป็นหนทางที่เราจะไป" วันนี้เล่าสู่กันฟัง พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น