xs
xsm
sm
md
lg

คนญี่ปุ่นกับหนังสือ!! ว่าด้วยหนังสือดีๆ ความรักอยู่รอบตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว มีนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นชื่อ 与謝野鉄幹 Yosano Tekkan กล่าวว่าถ้าเลือกคบเพื่อนให้เลือกเพื่อนที่อ่านหนังสือ ส่วนที่บอกว่าการได้เจอหนังสือดีๆ เหมือนได้พบเพื่อนดีๆ ที่ถูกใจแต่ทำไมคนญี่ปุ่นไม่อยากแนะนำหนังสือดีเล่มนั้นให้คนอื่น! เพื่อนๆ คงเคยได้ยินว่าหนังสือคือประตูสู่โลกกว้าง ถ้าเราบังเอิญได้อ่านหรือได้เจอหนังสือที่อ่านแล้วชอบมาก ประทับใจมาก เราจะจดจำเอาไว้เหมือนกับการได้เจอเพื่อนดีๆ คนหนึ่ง แต่ที่บอกว่าคนญี่ปุ่นบางคนจะไม่แนะนำให้คนอื่นอ่านหนังสือเล่มที่ตนชอบเพราะแต่ละคนอาจจะมีความชอบไม่เหมือนกัน ถ้าไปบอกเพื่อนว่าหนังสือเล่มนี้ดีมากเลยล่ะลองอ่านดูนะ! เพื่อนจะคาดหวัง ตั้งหน้าตั้งตาที่จะติดตามอ่าน แต่เพื่อนอาจจะอ่านแล้วไม่ถูกจริตหรือไม่อิน ไม่สนุกเหมือนเราก็เป็นไปได้ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมไม่ค่อยแนะนําหนังสือให้คนอื่นแบบจริงๆ จังๆ แต่ถ้าเขาได้เจอเองและประทับใจเองจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด


สัปดาห์ที่แล้วผมเล่าว่าไปเที่ยวภูมิภาคคิวชู ที่จ. ฟุกุโอกะและจ. ซากะ ก่อนไปผมเห็นข้อมูลที่พักแห่งหนึ่งเป็นห้องสมุดในอาคารที่เป็นบ้านไม้เก่าๆ สไตล์ญี่ปุ่น สามารถพักค้างคืนได้มีหนังสือให้อ่านเล่นมากมาย เรียกว่าห้องสมุดที่ลูกค้าสามารถพักได้ ชื่อว่า "Akatsuki" อยู่ที่เมืองฟุรุยุออนเซ็น จ.ซากะ เมืองรีสอร์ทน้ําพุร้อนที่มีทิวเขาธรรมชาติสวยงามและเป็นที่รักของคนในท้องถิ่น “Akatsuki" เป็นห้องสมุดที่สามารถเข้าพักได้ มีคาเฟ่ด้วย อาคารได้รับการปรับปรุงจากบ้านส่วนตัวอายุร้อยกว่าปี ตั้งอยู่เงียบๆ ในตรอกด้านหลังของฟุรุยุออนเซ็น มีคนรักหนังสือจํานวนมากมารวมตัวกันที่นี่และมีหนังสือที่ได้รับการแนะนำจากนักอ่าน 80 คนเลือกมาคนละ 20 เล่ม จึงมีหนังสือที่มีคุณค่ามากมาย นอกจากนั้นยังมีหนังสืออื่นๆ ที่เรียกได้ว่าถ้าเป็นคนที่รักหนังสือคงจะอยู่ในนั้นได้ทั้งวันอย่างมีความสุขครับ


ผมเองก็อยากไปพักเหมือนกันนะครับแต่เพราะเป็นบ้านไม้ญี่ปุ่นแบบนี้ในช่วงหน้าหนาวแบบนี้ ต้องหนาวมากแน่นอน บ้านไม้แนวนี้จะเหมาะกับฤดูร้อนมากๆ เพราะข้างในจะเย็นสบายตลอด มีลมพัดผ่านเข้ามาระบายอากาศตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นข้อดีเพราะเป็นสถานที่ที่อากาศปลอดโปร่ง ถ่ายเทสะดวก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทุกคนอาจจะยังวิตกกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 ต้องแนะนำว่าอยู่บ้านโปร่งสบายแบบนี้ดีกว่าอยู่ในห้องปรับอากาศที่มีคนแออัดแน่นอน ((`・ω・´))゛ส่วนหน้าหนาวผมขอข้ามที่พักแนวนี้ไปก่อนครับ แต่ผมก็เป็นห่วงกลัวว่าบ้านไม้แบบญี่ปุ่นแนวนี้จะค่อยๆ หายไปเหมือนกันนะครับ เพราะที่จริงแล้วที่ญี่ปุ่นยังมีบ้านเก่ารกร้างจำนวนมากในทุกภูมิภาคและชนบท แต่เพราะจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวลดลงและจากผลกระทบการหยุดชะงักของการท่องเที่ยวจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ด้วย ทำให้มีบ้านเก่าถูกทิ้งจำนวนมากขึ้น

ก่อนไปญี่ปุ่นผมนึกถึงเพื่อนรักคนหนึ่ง เคยได้ข่าวล่าสุดว่าเขาย้ายไปทํางานในออฟฟิศที่โตเกียว ตอนที่ส่งอีเมลไปบอกว่าผมมีแผนไปฟุกุโอกะก็ไม่ได้คิดว่าเขาได้ย้ายมาทำงานในออฟฟิศที่ฟุกุโอกะแล้ว มันจึงเป็นเรื่องที่บังเอิญมาก เป็นโอกาสดีที่เราจะนัดพบกัน เราติดต่อกันผ่านอีเมลโดยนัดที่หน้าเคาน์เตอร์แคชเชียร์ที่ร้านหนังสือแห่งหนึ่งหน้าสถานีรถไฟฮากะตะ เป็นการนัดล่วงหน้าตั้งแต่ผมยังอยู่เมืองไทย เพราะถ้าไปถึงญี่ปุ่นเราอาจจะไม่สามารถติดต่อกันได้ เพราะว่าผมใช้ LINE แต่ต้องมี Wi-Fi ถึงจะส่งข้อความได้ แต่ด้วยอุปกรณ์มันใหญ่ถ้าผมออกไปข้างนอกผมก็ไม่ได้พกเครื่องไปด้วย ส่วนเพื่อนผมเป็นคนญี่ปุ่นที่ไม่ได้ใช้ LINE! ถึงขั้นภรรยาของเขาบอกว่านี่มันยุค 2022 แล้วนะ ยังมีคนที่ไม่ใช้การสื่อสารเช่นไลน์อยู่อีกหรอ! ยังทำงานติดต่อเพื่อนได้อย่างไรเนี่ย! ทำให้ต้องนัดหมายเวลาและสถานที่กันให้แน่นอนที่สุดเท่านั้น


พอผมเดินเข้าไปในร้านเท่านั้นแหละก็ต้องพบว่าเป็นร้านหนังสือที่กว้างมากๆ และมีแคชเชียร์สองที่!! จะทำอย่างไรดี…Σ( ゚д゚) แต่ก็เจอกันจนได้ครับ ถึงแม้ว่าร้านหนังสือจะใหญ่ขึ้นมาก แต่จะเห็นว่าจำนวนร้านหนังสือในญี่ปุ่นลดลงมากเช่นกัน เหตุผลที่จำนวนสาขาของร้านหนังสือต่างๆ ลดลงไม่ใช่เพราะไม่สามารถจ่ายค่าเช่าร้านได้นะครับ ถึงขั้นไม่สามารถจ่ายค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำค่าไฟที่แพงขึ้นได้ คือเศรษฐกิจแย่มากบางร้านที่สู้ไม่ไหวก็ปิดตัวลงไปเรื่อยๆ ตามลำดับ คนที่ชอบหนังสืออย่างผมและคนญี่ปุ่นทั่วๆ ไปก็อาจจะเศร้าใจนิดหน่อย แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้เพราะโลกต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและเราก็ต้องมีการปรับตัว

ผมและเพื่อนไม่ได้เจอกันนานมากๆ แม้ก่อนนี้อาจจะห่อเหี่ยวจากสถานการณ์โควิด ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโหมดการแยกตัวและเว้นระยะห่างมานาน แต่พอมาเจอกันก็รู้สึกว่าจิตใจชุ่มชื่นและสนุกสนานเหมือนเดิม และความทรงจําเก่าๆ ก็ถูกพูดถึงตามวัย เรารับประทานอาหารและคุยกันหลายเรื่อง กินหม้อไฟมิซุทากิที่มีชื่อเสียงของฟุกุโอกะ (น้ําซุปกับกระดูกไก่ก็อร่อยจริงๆ!) ขณะรับประทานอาหารร่วมกัน เค้าบอกผมว่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เค้าเคยถามผมว่า "ให้ผมแนะนําหนังสือให้หน่อย?” แต่ผมตอบว่า “ไม่สามารถแนะนำได้!” ผมกลับจำไม่ได้เลยว่าผมเคยตอบแบบนั้นไป... พอเราพูดเรื่องหนังสือกันผมก็จำขึ้นมาได้ว่าสมัยเรียน ในวิชาเรียนภาษาอังกฤษที่จะต้องเลือกเรียนการแปลมีสองห้องให้เลือกคือห้องนวนิยายและห้องสารคดี เพื่อนผมสับสนว่าจะเลือกเรียนการแปลภาษาอังกฤษห้องไหนดี ผมจึงแนะนำว่าไม่เห็นยากเราต้องเลือกห้องนวนิยายสิ เพราะว่าที่ย่านจิมโบโช(Jimbocho Book Town) มีนิยายแปลญี่ปุ่นให้เลือกอ่านได้เยอะแยะ แต่สารคดียังไม่ค่อยมีแปลภาษาญี่ปุ่นเลยนะ ความทรงจำดีๆ ของคนรักหนังสือของผมกับเพื่อนคนนี้


การเจอหนังสือดีๆ สักเล่มจึงเปรียบเสมือนการได้เจอเพื่อนดีๆ อีกคน ปกติผมไม่ค่อยแนะนำหนังสือ , แต่ภาพยนตร์, เพลง, หรือการ์ตูนก็จะเขียนแนะนำอยู่บ่อยๆ วันนี้อยากแนะนำหนังสือแปลของโรเบิร์ต ยัง เพลตัน The World's Most Dangerous Places ผมคิดว่าคือคู่มือกลยุทธ์การเอาตัวรอดสำหรับภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูง ( แน่นอน ผมอ่านจากฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น (・∀・)) เป็นหนังสือที่ดีทีเดียว ในเรื่องมีการพูดถึงอันตรายมากมาย เช่น เมื่อคุณนั่งแท็กซี่ , มีเรื่องราวของแท็กซี่ประเทศพัฒนาแล้ว โรคภัยและอันตรายที่ควรระวังในประเทศต่างๆ บางคนอาจคิดว่าอะไร หนังสือเขียนว่าสิ่งที่ควรระวังที่สุดคืออุบัติเหตุ เป็นต้น เป็นหนังสือที่ขายดีมาก ส่วนเรื่องแท็กซี่จะเล่าในโอกาสหน้าครับ

ท้ายนี้ปี 2565 กำลังจะผ่านพ้นไปแล้ว แม้ปีนี้โลกเราจะเจอสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ภาวะสงครามรัสเซียยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก , ข่าวการสูญเสียบุคคลสำคัญของประเทศต่างๆ , ปัญหาการเมืองของหลายประเทศ, เป็นต้น แต่ผมหวังว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดี! ขออวยพรให้เพื่อนๆ ที่รักที่ติดตามคอลัมน์ Marunouchi cafe (mgronline) มีความสุขและปลอดภัยเสมอครับ พบกันใหม่ปีหน้าฟ้าใหม่ สวัสดีครับ (*´꒳`*)ノ・:*+.


กำลังโหลดความคิดเห็น