นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาญี่ปุ่นเพิ่มเป็นกว่า 900,000 คนในเดือนพฤศจิกายน แต่ยังห่างไกลจากช่วงก่อนโควิด ขณะที่ธุรกิจโรงแรมหาพนักงานรองรับไม่เพียงพอ
องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายนมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาญี่ปุ่นราว 934,500 คน เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากเดือนตุลาคม ที่มีสถิตินักท่องเที่ยว 498,600 คน
การท่องเที่ยวญี่ปุ่นกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลคืนสิทธิ “ฟรีวีซ่า” เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม โดยชาวเกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐฯ และไทย เดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่นมากที่สุด แต่สถิตินี้ยังน้อยกว่าช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 มีนักท่องเที่ยวมาญี่ปุ่นมากถึง 2.4 ล้านคน
นักท่องเที่ยวจีนที่เคยมาญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 ยังไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ แม้ว่าทางการจีนจะยกเลิกมาตรการ “โควิดเป็นศูนย์” แล้วก็ตาม นักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 31% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาญี่ปุ่น
การจองตั๋วเครื่องบินมาญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากประเทศต่างๆ ผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคโควิดเช่นกัน ออล นิปปอน แอร์เวยส์ (ANA) ระบุว่า การจองตั๋วเครื่องบินมาญี่ปุ่นในช่วง 28 ธ.ค. ถึง 5 ม.ค. เพิ่มขึ้น 4.9 เท่าตัว ส่วนเจแปน แอร์ไลน์ (JAL) ระบุว่า การจองตั๋วเพิ่มขึ้น 4.2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงปีใหม่ของปีที่แล้ว แต่ถ้าเทียบกับเมื่อ 3 ปีก่อน การจองตั๋วมาญี่ปุ่นยังน้อยกว่าถึง 42.5% สำหรับ JAL และ52% สำหรับ ANA
โรงแรมขาดคน แม้เสนอค่าจ้างเพิ่ม
สมาคมโรงแรมแห่งญี่ปุ่นระบุว่า ขณะนี้กำลังขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถหาพนักงานมาทดแทนคนที่ต้องออกจากงานไปในช่วงการระบาดของโรคโควิด โดยเฉพาะแม่บ้าน และพนักงานห้องอาหาร มีคนไม่พออย่างมาก
บรรดาโรงแรมต่างดิ้นรนโดยหาพนักงานชั่วคราว แต่ต้องยื้อแย่งกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องการคนทำงานเช่นเดียวกัน
การขาดแคลนพนักงานเป็นปัญหาใหญ่ที่ขัดขวางการฟื้นตัวหลังโควิด โรงแรมหลายแห่งต้องจำกัดการจองห้องพักไว้เพียงแค่ร้อยละ 80 เพราะไม่มีพนักงานเพียงพอ
บริษัทจัดหางานในญี่ปุ่นระบุว่า ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตเร่งหาพนักงานอย่างมาก ในเดือนนี้มีข้อเสนองานเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ว่าจำนวนคนที่ต้องการทำงานในอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับจำนวนพนักงานที่ต้องการ
การขาดแคลนพนักงานยิ่งสาหัสในเขตชนบท แม้ว่าจะมีการจูงใจด้วยการขึ้นค่าจ้างรายชั่วโมงจาก 1,230 เยน เป็น 1,800 เยน และระบุว่าไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ก็ตาม ค่าจ้างนี้ถือว่าสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำในกรุงโตเกียว เมืองหลวงที่อยู่ที่ 1,072 เยนต่อชั่วโมง.