xs
xsm
sm
md
lg

พันธุกรรมที่ทำให้คนญี่ปุ่นขี้กังวล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก diamond.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “เซโรโทนิน” กันมาบ้างนะคะ บางคนเรียกมันว่าเป็นสารเคมีในร่างกายที่ทำให้รู้สึกดีเมื่อมีในปริมาณที่เหมาะสม แต่หากมีมากหรือน้อยไปก็จะทำให้ร่างกายและจิตใจเกิดความผิดปกติได้ ว่ากันว่าคนญี่ปุ่นที่มีนิสัยขี้กังวลนั้นเป็นเพราะเกิดมาพร้อมพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายผลิตเซโรโทนินน้อยเกินไป และเป็นชนชาติที่มียีนชนิดนี้มากเป็นพิเศษด้วย

คนญี่ปุ่นบางส่วนคาดเดาว่าอาจเพราะพวกเขามีอุปนิสัยวิตกกังวลง่าย ญี่ปุ่นจึงมีคนเป็นโรคซึมเศร้าหรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าเกิน 1 ล้านคนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา ซึ่งถ้าเทียบเป็นสัดส่วนประชากรแล้วถือว่ามากกว่าอเมริกาเกิน 3 เท่าตัว

เซโรโทนินกับสุขภาพ

ในยามที่เซโรโทนินอยู่ในระดับปกติ เราจะมีอารมณ์มั่นคง มีสมาธิ มีความสุขสงบ ในขณะเดียวกันหากมีมากเกินไปจะทำให้กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข เหงื่อออกมาก ท้องเสีย ถ้าอาการรุนแรงก็จะเป็นไข้สูง ชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจเสียชีวิตได้ อาการนี้พบได้น้อย แต่มักเจอในหมู่คนที่ใช้ยาเพิ่มระดับเซโรโทนินมากเกินไป

ในทางตรงกันข้ามหากเซโรโทนินต่ำกว่าปกติก็จะเกิดปัญหาทางอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ เครียด อารมณ์รุนแรง อยากฆ่าตัวตาย ไปจนถึงปัญหาทางกายอย่างการย่อยอาหาร การนอนหลับ และอื่น ๆ

ภาพจาก shinyakoso.com
คาดกันว่าสารเซโรโทนินในสมองที่มีปริมาณต่ำเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล และส่งผลต่อการเกิดโรคซึมเศร้า ดังนั้นยาหลายชนิดที่ใช้รักษาภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และปัญหาทางอารมณ์อื่น ๆ จึงมักพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มระดับเซโรโทนินในสมองนั่นเอง

ปัจจัยที่ทำให้ระดับสารเซโรโทนินต่ำมักมีมากกว่าหนึ่งอย่าง และในหลายกรณีแพทย์ก็ไม่อาจฟันธงได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่แน่ชัด แต่โดยทั่วไปแล้วคาดว่าอาจเกิดจากพันธุกรรม และ/หรือสิ่งแวดล้อม ทำให้ 1) ร่างกายผลิตเซโรโทนินไม่เพียงพอ หรือ 2) ตัวรับเซโรโทนิน (serotonin receptors) ต่ำหรือทำงานไม่ดี ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำเซโรโทนินไปใช้ได้เต็มที่ (ตัวรับเซโรโทนิน ทำหน้าที่กระตุ้นหรือต้านการทำงานของเซโรโทนิน)

คนต่างชาติพันธุ์อารมณ์ดีไม่เท่ากัน

เซโรโทนินที่หลั่งออกมาแล้ว ส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมกลับไปโดยตัวขนส่งเซโรโทนิน (serotonin transporters) ซึ่งมีสองแบบหลัก ๆ คือ แบบยาว (L) ที่ผลิตเซโรโทนินมาก และแบบสั้น (S) ที่ผลิตเซโรโทนินน้อยคนที่มีตัวขนส่งเซโรโทนินสั้นจะเสี่ยงต่อการขาดเซโรโทนิน จึงมีแนวโน้มที่เกิดภาวะผิดปกติทางจิตได้ เช่น อารมณ์รุนแรงขึ้น ซึมเศร้า ตกใจง่าย วิตกกังวลง่าย เป็นต้น

จากบทความบางส่วนของญี่ปุ่นกล่าวว่า ที่คนญี่ปุ่นมีนิสัยช่างวิตกกังวลก็เพราะมีตัวขนส่งเซโรโทนินแบบ S อยู่มาก คือมีถึง 80.25% ในขณะที่คนจีนมี 75.2% คนไต้หวันมี 70.57% คนสเปนมี 46.75% และคนอเมริกันมี 44.53% ส่วนคนแอฟริกาใต้มีเพียง 27.79%

ภาพจาก toyokeizai.net
รูปแบบพันธุกรรม (genotype) ของตัวขนส่งเซโรโทนินมี 3 แบบคือ แบบ S/S, S/L และ L/L โดยคนที่มีรูปแบบพันธุกรรม S/S จะวิตกกังวลง่าย ในขณะที่คนซึ่งมีรูปแบบพันธุกรรม L/L จะมองโลกในแง่ดี ส่วนคนที่มีรูปแบบพันธุกรรม S/L จะอยู่กลาง ๆ 

คนที่มีรูปแบบพันธุกรรม S/S ซึ่งมีตัวขนส่งเซโรโทนินน้อย จะไม่สามารถดูดซึมเซโรโทนินที่หลั่งออกมาแล้วกลับไปใช้ใหม่ได้ แต่เซโรโทนินจะถูกขับออกไปจากร่างกาย ส่งผลให้เกิดภาวะขาดเซโรโทนินอย่างต่อเนื่อง คนกลุ่มนี้จะเครียดง่าย อ่อนไหวง่ายต่อความเปลี่ยนแปลง ภัยคุกคาม และแรงบีบคั้นทางสังคม ขี้กังวล และหลีกเลี่ยงความเสี่ยง มีโอกาสเป็นโรคจิตเวชได้ง่ายเมื่อเจอสถานการณ์ตึงเครียดในชีวิต เว้นแต่จะอยู่ในสังคมที่มองโลกแง่ดีและให้กำลังใจ  

ดูแล้วรู้สึกว่าลักษณะแบบนี้คล้ายคนญี่ปุ่นไหมคะ และที่น่าสนใจก็คือคนญี่ปุ่นมีรูปแบบพันธุกรรมชนิด S/S นี้มากถึง 68.2% เลยทีเดียว (เกินกว่า 2 ใน 3) ส่วนคนอเมริกันมีเพียง 18.8% ในขณะเดียวกันรูปแบบพันธุกรรม L/L ซึ่งเป็นพวกมีเซโรโทนินมาก มองโลกแง่ดี และอารมณ์มั่นคงแม้ในยามเครียดนั้น พบเจอในคนอเมริกันถึง 32.3% แต่ในคนญี่ปุ่นมีเพียงราว 1.7% เท่านั้น หมายความว่าราว 1 ใน 3 ของคนอเมริกันมองโลกในแง่ดี ในขณะที่คนญี่ปุ่นมองโลกแง่ดีมีเพียง 1 ใน 50 

ด้วยความที่คนญี่ปุ่นออกจะวิตกกังวลง่ายแต่กำเนิดเพราะมีลักษณะทางพันธุกรรมเช่นนี้ เลยเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นชอบวางแผนอย่างรอบคอบล่วงหน้า และตรวจสอบทุกอย่างโดยละเอียดลออเพื่อลดความเสี่ยงและความวิตกกังวล
 
ทำไมคนญี่ปุ่นจึงมีรูปแบบพันธุกรรมขี้กังวลเยอะ

มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายว่าทำไมคนญี่ปุ่นจึงมีรูปแบบพันธุกรรมชนิด S/S เยอะเป็นพิเศษ แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่หนึ่งในทฤษฎีที่ว่ากันว่ามีน้ำหนักที่สุดคือการที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยภัยธรรมชาติ เพราะลำพังแผ่นดินไหวระดับรุนแรงตั้งแต่ 6 แมกนิจูดขึ้นไปซึ่งเกิดขึ้นในที่ต่าง ๆ ของโลกนั้น ก็มาเกิดในญี่ปุ่นถึง 1 ใน 5 แล้ว อีกทั้งภูเขาไฟทั่วโลกที่ยังไม่ดับก็มีอยู่ในญี่ปุ่นอีก 7%

(ปิดแก๊สหลังแผ่นดินไหวหยุด / เปิดประตู / ป้องกันตัวและไปยังที่ปลอดภัย / กันตัวเองจากของที่หล่นลงมา) ภาพจาก suumo.jp
ทฤษฏีนี้อธิบายว่าถ้าหากคนญี่ปุ่นมีรูปแบบพันธุกรรม L/L เยอะ ก็จะมองโลกแง่ดี นึกว่าเดี๋ยวจัดการได้ ก็อาจจะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ดีพอ และจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จึงอาจเป็นไปได้ว่าพันธุกรรมขี้กังวลของคนญี่ปุ่นวิวัฒนาการขึ้นมาก็เพื่อปกป้องประชากรจากภัยธรรมชาติ ด้วยการร่วมมือกับคนอื่น ๆ ในกลุ่มและไม่ตัดสินใจเองตามลำพัง ทั้งยังหล่อหลอมให้คนญี่ปุ่นมีนิสัยช่างวางแผน นึกถึงความเสี่ยงในระยะยาว สร้างมาตรการรับมือ และกักตุนสิ่งจำเป็นไว้เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงด้วย

จะว่าไปแล้วตามตึกอาคารในญี่ปุ่นก็มักติดตั้งอุปกรณ์ฉุกเฉินไว้ให้เห็นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกระตุ้นหัวใจ (AED) ถังดับเพลิง หรืออย่างภายในลิฟต์ของโรงแรมก็อาจพบว่ามี “ที่นั่ง” เป็นมุมเล็ก ๆ ซึ่งใต้ที่นั่งมีอุปกรณ์จำเป็นยามเกิดแผ่นดินไหวเอาไว้ อีกทั้งสถานีดับเพลิงก็ยังส่งเสริมให้ประชาชนฝึกซ้อมหนีภัย ไม่ว่าจะมาสอนให้ถึงที่ หรือให้ไปที่ศูนย์ ซึ่งเขาจะให้เราได้เรียนรู้จากสถานการณ์จำลองเวลาเกิดไฟไหม้กับแผ่นดินไหว รวมถึงให้ฝึกทำ CPR ช่วยคนหมดสติยามเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย ถ้าคนญี่ปุ่นไม่มีพันธุกรรมขี้กังวล สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความอยู่รอดแบบนี้อาจไม่เกิดขึ้น หรือไม่สมบูรณ์แบบมากพอก็เป็นได้

ความวิตกกังวลส่วนใหญ่มาจากการคิดไปเอง

มีการศึกษาอีกอย่างเกี่ยวกับความวิตกกังวลที่ฉันว่าน่าสนใจดี เลยเก็บมาเล่าให้ฟังค่ะ คืออาจารย์หมอชื่อ Robert Leahy ซึ่งเป็นจิตแพทย์ผู้ก่อตั้งสถาบันจิตบำบัดแห่งอเมริกาได้ลองให้คนที่วิตกกังวลเป็นประจำจดบันทึกว่ากังวลเรื่องใด และคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสองสัปดาห์ ต่อมาพวกเขาก็พบว่า 85% ของเรื่องที่วิตกกังวลกลับกลายเป็นเรื่องดี และแม้อีก 15% จะกลายเป็นเรื่องแย่ดังที่กังวลจริง แต่ 79% ของเรื่องแย่พวกนี้ก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่คาดเอาไว้แต่แรกเสียอีก

ภาพจาก studyhacker.net
นั่นหมายความว่าจริง ๆ แล้ว 97% ของเรื่องที่วิตกกังวลทั้งหลายเป็นเพียงความกลัวที่คิดไปเองทั้งสิ้น และไม่คุ้มกับการนั่งกลุ้มเลย กระนั้นคนที่ขี้กังวลก็มักจะคิดถึงแต่เรื่องลบ เอาแต่รวบรวมข้อมูลในแง่ลบเป็นหลัก เลยทำให้ยิ่งกลัดกลุ้มเข้าไปอีก

ฉันเคยได้ยินมาว่าหากเราคิดย้ำถึงอะไรบ่อย ๆ จนเป็นนิสัย โครงสร้างทางสมองจะเปลี่ยนไป เช่น หากเครียดหนักสะสมเป็นเวลานานก็จะเปลี่ยนสมดุลทางเคมีในส่วนที่ควบคุมอารมณ์ จนนำไปสู่โรควิตกกังวลได้

ในทางตรงกันข้าม หากคิดถึงเรื่องแง่บวกบ่อย ๆ พอผ่านไประยะหนึ่งข้อมูลแง่บวกจะเปลี่ยนโครงสร้างสมอง และเราจะมีความสุขขึ้น เรียกได้ว่าใจเป็นอย่างไรสมองก็เป็นอย่างนั้น และในทางกลับกันสมองเป็นอย่างไร ใจก็เป็นอย่างนั้นด้วย

ในหนังสือชื่อ“สมองแห่งพุทธะ” (Buddha's Brain)เขียนโดยคุณหมอ Rick Hanson และคุณหมอ Richard Mendius มีอธิบายเรื่องนี้ไว้ เป็นหนังสือที่อ่านสนุก เข้าใจง่าย และมีประโยชน์ บอกต่อไว้เผื่อสนใจค่ะ

และหากเพื่อนผู้อ่านท่านใดพบว่าความวิตกกังวลที่มีอยู่บั่นทอนสุขภาพและการใช้ชีวิต การปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี โดยคุณหมออาจพิจารณาให้ใช้ยาควบคุมระดับสารเคมีในสมองควบคู่ไปกับการทำพฤติกรรมบำบัด ซึ่งว่ากันว่าได้ผลดีกว่าการใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง

นอกจากนี้การเพิ่มเซโรโทนินด้วยวิธีธรรมชาติควบคู่ไปด้วยก็อาจช่วยได้อีกทางหนึ่ง ส่วนใหญ่วิธีนี้จะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและอาหารการกิน ลองสืบค้นจากบทความในอินเทอร์เน็ตดูนะคะ มีให้อ่านเยอะเลยทีเดียว.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น