xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่น "ผลิตภาพต่ำ" เพราะชอบทำ "งานเปล่าประโยชน์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อันนี้มันจำเป็นด้วยเหรอ?” ภาพจาก cybozushiki.cybozu.co.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน การที่ญี่ปุ่นเคารพกฎและใส่ใจรายละเอียดปลีกย่อยมีข้อดีหลายอย่าง เช่น สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย และผลิตสินค้าได้คุณภาพสูง แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ญี่ปุ่นพลอยให้ความสำคัญกับเรื่องที่ "ได้ไม่คุ้มเสีย" เยอะด้วย จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นมีผลิตภาพต่ำ อีกทั้งทัศนคติที่ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลงก็พลอยฉุดรั้งความก้าวหน้าของญี่ปุ่นไว้ด้วยอีกแรง

พูดถึงเรื่องผลิตภาพต่ำแล้ว จากการเปรียบเทียบผลิตภาพแรงงานระหว่างประเทศปี พ.ศ. 2564 โดยศูนย์ผลิตภาพแห่งญี่ปุ่น พบว่าญี่ปุ่นติดอันดับโหล่ในกลุ่มประเทศ G7 และติดอันดับที่ 23 ใน 38 ประเทศกลุ่ม OECD ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา โดยผลิตภาพต่อชั่วโมงของญี่ปุ่นอยู่ที่ $49.5 (5,086 เยน) ห่างจากสหรัฐ ฯ ซึ่งอยู่ที่ $80.5 (8,282 เยน) หลายเท่า

จากผลสำรวจของศูนย์ ฯ ดังกล่าวพบว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าสาเหตุที่ญี่ปุ่นมีผลิตภาพต่ำในการทำงานเป็นเพราะ “มีงานที่เปล่าประโยชน์เยอะ” มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย “ค่านิยมของบริษัทหรือวิธีการทำงานที่ไม่เปลี่ยนจากสมัยก่อน” มาเป็นอันดับสอง

อนึ่ง ที่ญี่ปุ่นนั้นดูจะให้ความสำคัญกับระยะเวลาที่ทำงานให้บริษัทมากกว่าความสามารถ สำหรับบริษัทที่มีระบบจ้างงานตลอดชีพนั้น ตราบใดที่มาบริษัทก็สามารถรับเงินเดือนไปเรื่อย ๆ ได้จนเกษียณ ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิดร้ายแรงก็ไม่ไล่ออก บางคนจึงมาบริษัทไปวัน ๆ เพื่อรับเงินเดือนเท่านั้นเอง ถ้าทำงานไม่เก่ง บริษัทก็หางานไม่สำคัญให้ทำไป ก่อให้เกิดงานที่ไม่จำเป็นขึ้นมามากมาย ทั้งที่หลายงานก็สามารถใช้เทคโนโลยีทำแทนได้ หรืออาจ outsource จากที่อื่น แล้วให้พนักงานทำงานที่สำคัญจริงแทนยังคุ้มกว่า

ตัวอย่างงานที่เปล่าประโยชน์หรือมาจากค่านิยมเดิม ๆ ส่วนหนึ่งมีดังนี้

ประชุมเยอะเกินไป

คนญี่ปุ่นพูดบ่อยว่าที่บริษัทมีประชุมเยอะ หลายครั้งก็คุยแต่เรื่องเดิม ๆ มีคนคิดว่าอาจเป็นเพราะค่านิยมให้ความสำคัญกับกลุ่ม ก็เลยต้องเรียกประชุมด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นายก็ตัดสินใจเองได้ หรือบางทีนายก็มีธงในใจอยู่แล้วด้วยซ้ำ ยิ่งถ้าบางคนต้องมาประชุมจากสาขาอื่นหรือจังหวัดอื่นก็ยิ่งเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากขึ้นอีก

“ไม่มีใครฟังประชุมเลย!” ภาพจาก cybozushiki.cybozu.co.jp
มีคนให้ความเห็นว่าการประชุมควรมีเพื่อตัดสินใจเรื่องสำคัญเป็นหลัก ถ้าเป็นเรื่องอื่น เช่น ต้องการรายงานจากลูกน้อง ก็น่าจะให้รายงานกับนายเป็นการส่วนตัวเป็นคน ๆ ไป หรือถ้านายต้องการบอกทุกคนในทีมถึงความสำเร็จของงานที่ทำร่วมกัน ก็สามารถแจ้งทางอีเมลได้

เอกสารมากไป

บริษัทญี่ปุ่นเวลาประชุมมักแจกเอกสารหน้าตาเดิม ๆ ที่ไม่ค่อยมีใครอ่าน เปลืองทั้งกระดาษและทั้งเวลาในการถ่ายเอกสาร เย็บเล่ม ทั้งยังเปลืองค่าจ้างพนักงานให้มาทำงานแบบนี้ด้วย หากมีเอกสารที่ต้องการให้ทุกคนได้ศึกษา ก็อาจส่งหรือแชร์เป็นไฟล์ก็ได้ ส่วนในระหว่างประชุมก็ใช้โปรแกรมสำหรับพรีเซนเทชันผ่านจอ ก็น่าจะลดงานตรงนี้ไปได้มาก

จดหมาย/อีเมลที่มีธรรมเนียมมากมาย

ญี่ปุ่นมีธรรมเนียมเยอะในการเขียนจดหมายหรืออีเมลเป็นทางการ ถึงกับมีหนังสือสอนเขียนวางขายเป็นเล่ม ๆ เวลาเขียนบางทีก็ต้องคำนึงถึงฤดูกาล เพื่อทักทายให้เหมาะสมด้วยภาษายาก ๆ ที่คนญี่ปุ่นเองก็ไม่ค่อยจะรู้วิธีเขียนชัดเจนนัก และแต่ละฤดูก็เขียนไม่เหมือนกัน

ภาพจาก the.geaine2.jp
หลายครั้งทีเดียวที่เนื้อหาจดหมาย/อีเมลยาวเหยียดเพราะความสุภาพเป็นเหตุ แต่กว่าจะรู้ว่าผู้ส่งต้องการสื่อสิ่งใดอาจต้องกวาดสายตาข้ามไปหลายย่อหน้า เพราะไม่ค่อยจะขึ้นต้นมาแล้วรวบรัดเข้าประเด็นเลย แต่ต้องเกริ่นอย่างอื่นก่อน เช่น “ขอบพระคุณที่ให้ความช่วยเหลือเสมอ” แล้วบอกว่าตัวเองเป็นใคร อยู่บริษัทอะไร แผนกอะไร แม้จะโต้ตอบสื่อสารกับอีกฝ่ายเป็นประจำอยู่แล้วก็ยังต้องบอกซ้ำ ส่วนเวลาจะขอร้องอีกฝ่ายก็จะมีคำว่า “รู้สึกเกรงใจเป็นอย่างยิ่งที่จะ…” และมักลงท้ายจดหมายว่า “จากนี้ไปก็ขอรบกวนด้วย”

คนญี่ปุ่นที่เบื่อธรรมเนียมนี้ถึงกับบ่นว่า “จะให้เขียนตอบเยส/โน/โอเคแบบคนประเทศอื่นให้มันง่าย ๆ นั้น เป็นอะไรที่คนญี่ปุ่นทำไม่ลงเลยทีเดียว”

ดื่มหลังเลิกงานเพื่อ “กระชับความสัมพันธ์”

ถ้าเลือกได้คงมีหลายคนไม่อยากไปดื่มหลังเลิกงาน แต่ถ้าไม่ไปก็อาจโดนนายมองไม่ดี แต่ถึงจะไปก็ไม่ได้เงินเดือนเพิ่ม เสียทั้งเวลาส่วนตัวและทั้งค่ากินดื่ม มีคนให้ความเห็นว่าถ้าเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีอยู่แล้ว ก็สามารถกระชับสัมพันธ์กับคนอื่นโดยเห็นไม่จำเป็นต้องพึ่งเหล้า และถ้าความสัมพันธ์ไม่ดีอยู่แล้ว ถึงจะไปนั่งดื่มด้วยกันก็ใช่ว่าจะดีขึ้น หากนายปล่อยให้ลูกน้องกลับบ้านไป จะได้พักผ่อนให้เต็มที่ น่าจะดีต่อประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่า และนายที่เข้าใจลูกน้องก็น่าจะได้รับความเคารพมากกว่าด้วย

รวมตัวทุกเช้ากับ “โจเร”

“โจเร” (朝礼) หมายถึง ‘กิจกรรมยามเช้าก่อนเริ่มเรียนหรือทำงาน ที่ทุกคนมารวมตัวกันกล่าวคำทักทายและติดต่อสื่อสารกัน’ ซึ่งเนื้อหากิจกรรมของโจเรที่บริษัทก็อาจเป็นการท่องคำปฏิญาณ ร้องเพลงของบริษัท ไปจนกระทั่งถึงกล่าวสุนทรพจน์ ว่ากันว่ามีบริษัทญี่ปุ่นถึงร้อยละ 93 ทีเดียวที่มีโจเร

ภาพจาก solution-hr.com
คำปฏิญาณของบริษัทที่ฉันเคยทำงานด้วยเป็นภาษาเขียนแข็ง ๆ อ่านเข้าใจยากราวกับภาษาโบราณ แต่ทุกคนถูกบังคับให้ท่องจำขึ้นใจโดยไม่ต้องอาศัยโพย ทุกเช้าจะเปลี่ยนคนนำและคนอื่นท่องตาม มันเป็นกิจกรรมที่ทำให้ฉันไม่อยากไปทำงาน และคนญี่ปุ่นเองที่ไม่ชอบโจเรก็มีเยอะเหมือนกัน ยิ่งบริษัทที่ให้พนักงานกล่าวสุนทรพจน์ก็ยิ่งน่าปวดหัวกว่าเดิม เพราะต้องเตรียมเรื่องมาพูดด้วย

แม้โจเรอาจจะมีข้อดีตรงที่ทำให้ทุกคนมากันพร้อมหน้าก่อนเริ่มงาน ได้ทบทวนบทบาทหน้าที่ และซึมซับพันธกิจของบริษัทได้ขึ้นใจผ่านการท่องคำปฏิญาณ แต่มักท่องกันเหมือนนกแก้วนกขุนทอง ไม่ได้ช่วยอะไรจริง สร้างบรรยากาศอึมครึม และเสียเวลาเปล่า ๆ บางบริษัทคิดว่ามีไว้จะได้ทำให้ทุกคนตั้งใจทำงาน แต่ก็น่าตั้งคำถามว่าหากไม่ท่องคำปฏิญาณของบริษัทแล้ว พนักงานจะไม่สามารถทำงานให้ดีได้อย่างนั้นหรือ หากมันมีประโยชน์คุ้มค่าจริง ก็คงไม่ทำให้ญี่ปุ่นมีผลิตภาพการทำงานต่ำอย่างที่เป็นอยู่

ทำงานล่วงเวลาจนกลายเป็นวัฒนธรรม


แม้ว่าการอยู่ในที่ทำงานจนดึกจะทำให้ดูเหมือนว่าคนญี่ปุ่นบ้างาน แต่ก็อาจไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป เพราะบางทีไม่ได้งานเยอะ แต่อยู่ดึกเพราะเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ยังไม่กลับ ตัวเองก็เลยไม่กล้ากลับ พอการทำงานล่วงเวลากลายเป็นเรื่องประจำวันไปแล้ว คนเลยไม่ค่อยมีแก่ใจจะขยันทำงานให้เสร็จในช่วงเวลางานปกติ เพราะถึงจะขยันไปก็ใช่ว่าจะได้กลับบ้านเมื่อถึงเวลาเลิกงาน

ภาพจาก adire.jp
มีคนญี่ปุ่นไปสัมภาษณ์ต่างชาติว่า ถ้าเสร็จงานแล้วแต่นายยังอยู่ จะกลับบ้านไหม อีกฝ่ายตอบว่า “งานของฉันกับงานของนายเป็นคนละอย่างกันนะ ถ้าฉันทำงานของฉันเสร็จแล้วก็กลับซิ” และเสริมว่าเธอให้ความสำคัญกับการ “ทำงานอย่างชาญฉลาด” มากกว่า “การทำงานหนัก” เป็นคำพูดสั้น ๆ แต่แฝงไว้ถึงความฉลาด และสมเหตุสมผลแท้

ชอบทำคู่มือ

บริษัทญี่ปุ่นชอบทำคู่มือเป็นแบบแผนไว้ทำสิ่งต่าง ๆ ทุกคนจะได้ทำเหมือนกันและป้องกันความผิดพลาด มันอาจจะดีตรงที่สร้างมาตรฐาน แต่ข้อเสียคือพอทำเป็นคู่มือออกมาแล้ว ต่อให้ภายหลังพบว่ามีวิธีอื่นที่ดีกว่าก็ไม่ค่อยจะยอมรับ แต่จะยึดตามคู่มือลูกเดียวเพราะทำตามกันมาอย่างนั้นตลอด กลัวว่าเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแล้วจะพลาด

พยายามควบคุมลูกน้องมากไป

บริษัทญี่ปุ่นได้ชื่อว่าควบคุมลูกน้องเข้มงวดมาก สนใจรายละเอียดเรื่องวิธีการทำงานและการตัดสินใจของลูกน้อง แต่ขาดการมองภาพที่กว้างกว่านั้น นายบางคนชอบให้ลูกน้องรายงานความคืบหน้าของงานบ่อย ๆ โดยละเอียด อันนี้้ถ้ามองแง่ลบก็อาจเป็นได้ว่าเจ้านายทำงานไม่เป็นหรือไม่มีงานทำ เลยให้ลูกน้องมาคอยรายงาน เพื่อให้ดูเสมือนว่าตัวเองขยัน เพราะช่วงโควิดซึ่งคนทำงานจากบ้านเยอะขึ้นนั้น หลายบริษัทค้นพบว่าแท้จริงแล้วคนที่อายุงานสูงจำนวนมากแทบไม่ได้ทำอะไรเลยตอนอยู่บริษัท

ภาพจาก rc.persol-group.co.jp
ส่วนบริษัทที่ฉันเคยทำงานด้วยนั้น เวลาจะออกไปข้างนอกด้วยธุระของบริษัท ก็ต้องบอกนายก่อนว่าจะออกไปแล้วนะ พออยู่ข้างนอกจะกลับมาที่ทำงาน ก็ต้องโทรบอกนายว่าเสร็จแล้วกำลังจะกลับ พอกลับมาถึงที่ทำงานก็ต้องไปรายงานว่ากลับมาแล้ว เฮ้อ…นี่ถ้าเขาจับฉันฝังชิพได้ก็คงทำไปแล้วแน่เลย

ความพยายามควบคุมเช่นนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกน้องไม่มีอิสระในการทำงาน ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ต้องรอนายอนุมัติ ถ้าผู้ใหญ่ไม่อยู่เรื่องก็ไม่เดิน ในขณะที่ประเทศอื่นหลายแห่งจะให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว กระชับ เข้าใจง่าย รวมทั้งให้อำนาจตัดสินใจกับลูกน้องมากกว่า ไม่ต้องไปขออนุญาตหรือปรึกษานายทุกเรื่อง ขืนไปถามทุกเรื่องคงโดนนายด่าว่าเสียเวลา

หากจะปฏิวัติรูปแบบการทำงาน บริษัทญี่ปุ่นจำเป็นต้องรู้ชัดว่าการทำงานแบบไหนที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ก่อให้เกิดการทำงานล่วงเวลาโดยไม่จำเป็น และทำให้พนักงานเสียสุขภาพจิต แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่าญี่ปุ่นดูจะไม่ค่อยกระตือรือร้นกับการสร้างความเปลี่ยนแปลง และมีทีท่าว่าอยากคงสภาพอย่างเดิมไว้มากกว่า ซึ่งก็มีผู้ให้ความเห็นว่าคนที่ไม่เคยทำงานด้วยวิธีอื่นก็คงอดไม่ได้ที่จะเห็นว่างานเปล่าประโยชน์เป็นงานสำคัญ

สังคมทำงานของญี่ปุ่นเครียดมากและทำงานเยอะเกินจำเป็นอยู่แล้ว หากสามารถตัดงานเปล่าประโยชน์ออกไป หันมาใช้วิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง เปิดโอกาสให้พนักงานได้ใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้ผลิตภาพการทำงานของญี่ปุ่นสูงขึ้น และคนทำงานก็น่าจะมีความสุขขึ้นกว่าเดิม นำไปสู่ผลการทำงานที่มีคุณภาพขึ้นด้วย.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น