xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อญี่ปุ่น "ไม่อยู่ในดวงใจ" ของแรงงานข้ามชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก renteku.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ประชากรวัยทำงานที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ญี่ปุ่นจำต้องพึ่งแรงงานข้ามชาติเข้ามาอุดช่องโหว่ในภาคส่วนที่ขาดแคลน ซึ่งที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็เป็นประเทศหนึ่งที่แรงงานข้ามชาตินิยมมาขุดทอง แต่ปัจจุบันเสื่อมความนิยมลงด้วยสาเหตุหลายประการ ญี่ปุ่นจึงอยู่ในภาวะที่ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนก่อนที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบหนักกว่าที่เป็นอยู่

สภาพการณ์ปัจจุบันในญี่ปุ่น

สมัยก่อนประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งยากจน ทำให้คนพากันอยากมาญี่ปุ่นเพื่อสร้างฐานะ แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งเติบโตอย่างรวดเร็ว GDP สูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นแน่นิ่ง และ GDP ก็เท่าเดิม ทำให้ญี่ปุ่นตกจากสถานะของผู้เลือกแรงงาน กลายมาเป็นผูู้ถูก/ไม่ถูกเลือกโดยแรงงาน

นอกจากนี้แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศแรก ๆ ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดใหม่ต่ำ แต่ภายในเวลาไม่นานหลายประเทศในยุโรปและเอเชียต่างก็ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน เพราะฉะนั้นประเทศเหล่านี้จึงพากันเข้าสู่สงครามแย่งชิงแรงงานร่วมกับญี่ปุ่นด้วย

สถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งญี่ปุ่นประเมินไว้ว่า ประชากรวัยทำงานของญี่ปุ่นจะลดลงจาก 74 ล้านคนในปี ค.ศ. 2020 ลงมาอยู่ที่ไม่ถึง 60 ล้านคนในปี ค.ศ. 2040 และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ระบุว่าหากญี่ปุ่นต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จำเป็นต้องมีแรงงานข้ามชาติมากขึ้นราว 4 เท่าภายในปี ค.ศ. 2040

ภาพจาก janagasakiken-ou.or.jp
หากแรงงานข้ามชาติไม่เอาญี่ปุ่น เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อัตราการเติบโตต่ำและค่าแรงไม่เพิ่มก็จะยิ่งทรุดหนักขึ้นไปอีก ถ้าเป็นดังนั้นก็คาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า GDP ของประเทศเอเชียด้วยกันอย่างเกาหลีใต้และไต้หวันก็จะแซงหน้าญี่ปุ่นไป

สาเหตุที่ญี่ปุ่นปัจจุบันเสื่อมความนิยมในหมู่แรงงานข้ามชาติน่าจะมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงเป็นประวัติการณ์

ปัจจุบันค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงอย่างมากทำให้แรงงานข้ามชาติไม่อยากมาญี่ปุ่น เพราะได้ค่าจ้างไปก็แลกเป็นเงินสกุลประเทศตัวเองได้น้อยลง อย่างคนเวียดนามซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในญี่ปุ่นเยอะที่สุด ก็พบว่าเมื่อเอาค่าแรงไปแลกเป็นเงินดง (เงินสกุลเวียดนาม) ก็จะได้น้อยลงจากเดิม 15-30% ทำให้พวกเขาหวาดหวั่นถึงความไม่แน่นอน บางรายก็คิดว่าหมดสัญญาแล้วจะไม่อยู่ญี่ปุ่นต่อ

ทางฝั่งผู้ประกอบการญี่ปุ่นก็เกรงว่าหากเงินเยนยังอ่อนค่าแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็เกรงว่าเมื่อแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในญี่ปุ่นหมดสัญญาแล้วกลับประเทศ ก็อาจจะไม่มีชุดใหม่เข้ามาอีก เพราะพวกเขาอาจไปประเทศอื่นที่ดูมีแนวโน้มดีกว่าญี่ปุ่น และถ้าเป็นอย่างนั้นธุรกิจในญี่ปุ่นบางอย่างก็จะเสี่ยงล้มด้วย

ภาพจาก diamond.jp
ปราการด้านการสื่อสารภาษาญี่ปุ่น

รายการข่าวแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นชี้ว่า บริษัทญี่ปุ่นต้องการให้แรงงานข้ามชาติสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ในระดับดีมาก ซึ่งบริษัทที่ต้องการให้ต่างชาติพูดญี่ปุ่นได้เสมือนคนญี่ปุ่นมีสูงถึง 11% และที่ต้องการให้อย่างน้อยพูดระดับธุรกิจได้มี 60%

ผู้ร่วมรายการซึ่งเป็นอาจารย์และเคยทำงานในอเมริกาเล่าว่า ที่อเมริกาจะไม่ได้คาดหวังให้แรงงานต่างชาติต้องพูดอังกฤษได้คล่อง แต่ขอให้สื่อสารกันได้ก็พอแล้ว เขาจึงคิดว่าบริษัทญี่ปุ่นน่าจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ผ่อนปรนกว่านี้ หรืออาจใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร และเอาแค่ต่างคนต่างพอสื่อกันรู้เรื่องก็ใช้ได้แล้ว

ฉันคิดว่าถ้าญี่ปุ่นใช้ตรงนี้เป็นโอกาสในการหัดสื่อสารภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น ก็คงเป็นประโยชน์กับญี่ปุ่นมากด้วยเหมือนกัน เพราะนอกจากจะลดปัญหาการสื่อสารกับคนชาติอื่นแล้ว น่าจะช่วยให้ญี่ปุ่นกลืนกับโลกยุคโลกาภิวัฒน์ได้ดีกว่าเดิม ทั้งเรื่องการสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศ และเรื่องการเปิดใจยอมรับความหลากหลายของวัฒนธรรม

ภาพจาก wedge.ismedia.jp
อัตราค่าแรงในญี่ปุ่นต่ำเกินไป

เศรษฐกิจอันซบเซาและอัตราค่าแรงของญี่ปุ่นที่ไม่เพิ่มเลยตลอด 30 ปี ทำให้ญี่ปุ่นมีความน่าสนใจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นอีกหลายแห่งที่เศรษฐกิจเติบโต และให้ค่าแรงสูงกว่า

อย่างออสเตรเลียซึ่งเปิดรับแรงงานจากเวียดนามเข้ามาอยู่ในภาคเกษตรเยอะ ก็ให้ค่าจ้างสูงกว่าญี่ปุ่นเกือบ 2 เท่า หรือรัฐแคลิฟอร์เนียของอเมริกาซึ่งมีค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงอยู่ที่ 15 เหรียญ (2,220เยน) ก็มีการออกกฎหมายให้คนทำงานฟาสต์ฟู้ดได้ค่าแรงเพิ่มเป็น 22 เหรียญขั้นต่ำ (3,256เยน) ในปีหน้า ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยของญี่ปุ่นอยู่ที่ 961 เยนต่อชั่วโมง

แน่นอนว่าประเทศที่ให้ค่าแรงสูงก็มักจะมีค่าครองชีพสูงด้วย แต่อย่างไรก็ตามหากระมัดระวังการใช้จ่าย ก็สามารถมีเงินเก็บเหลือเยอะได้เหมือนกัน

ได้ยินว่าเดี๋ยวนี้แรงงานอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ซึ่งทำงานดูแลคนป่วย/คนชรา หรือทำงานแม่บ้าน ก็หันไปหาไต้หวัน ฮ่องกง หรือสิงคโปร์มากขึ้น เพราะค่าแรงในญี่ปุ่นถูกเกินไป แล้วปัจจุบันค่าเงินเยนอ่อนก็ยิ่งทำให้ญี่ปุ่นไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเท่าใดนัก

ภาพจาก careergarden.jp
ปัญหาและทางออกของญี่ปุ่นเรื่องแรงงานข้ามชาติ

ปัจจุบันดูเหมือนญี่ปุ่นจะยังไม่มีระบบรองรับแรงงานข้ามชาติอย่างเหมาะสม ทำให้หลายแห่งเกิดปัญหานายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง ทั้งเรื่องแรงงาน ค่าแรง และละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาเป็นภาษาต่างประเทศก็ขาดประสิทธิภาพ ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะคนรับเรื่องไม่มีอำนาจตัดสินใจ ทั้งยังต้องใช้เอกสารต่าง ๆ ประกอบมากมาย ทำให้ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติไม่ได้ทันท่วงที นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังไม่มีหน่วยงานบุคคลที่สามเพื่อตรวจสอบบริษัทที่รับแรงงานข้ามชาติด้วย

หน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในญี่ปุ่นต่างเป็นกังวล เนื่องจากผู้ประกอบการญี่ปุ่นจำนวนมากยังไม่รู้สึกว่าเรื่องแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาใหญ่ และญี่ปุ่นก็ออกตัวช้ากว่าหลายประเทศมาก หากญี่ปุ่นยังไม่เร่งสร้างมาตรการที่จูงใจให้แรงงานข้ามชาติอยากเข้ามาทำงาน ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้อาจไม่ค่อยมีแรงงานข้ามชาติมาญี่ปุ่น

บางส่วนเสนอว่าหากกลุ่มแรงงานจากชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในญี่ปุ่นไม่เอาญี่ปุ่นแล้ว ก็ให้เบนเป้าหมายไปยังชาติอื่นที่อยากมาญี่ปุ่นแทน แต่ก็มีผู้ค้านว่านั่นไม่ใช่ทางแก้ปัญหาในระยะยาว และปัญหาเดิม ๆ ในแวดวงแรงงานข้ามชาติก็จะไม่ได้รับการแก้ไขไปเรื่อย ๆ

ภาพจาก kaigo.homes.co.jp
นอกจากนี้พวกเขายังเห็นว่าญี่ปุ่นควรเปิดใจต่อความหลากหลาย ควรมีท่าทีและข้อเสนอที่เป็นมิตรต่อแรงงานข้ามชาติมากกว่านี้ ควรคิดจริงจังว่าจะให้สิทธิประโยชน์อะไรกับพวกเขาได้บ้าง จะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการทำงานให้เขาได้อย่างไร และอีกอย่างที่สำคัญคือไม่ควรแบ่งเขาแบ่งเราว่าอีกฝ่ายเป็น “คนต่างชาติ” เพราะเหมือนกับไปมองว่าเป็นคนละพวกกัน แต่ควรจะปลูกฝังทัศนคติแบบที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันและสร้างอนาคตไปด้วยกันได้

เพราะอย่างน้อยผักผลไม้ที่เรากิน เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ ถนนหนทางที่เราผ่าน และตึกรามบ้านช่องที่เราได้อาศัยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ต่างก็เป็นผลพวงที่มีส่วนมาจากน้ำพักน้ำแรงและหยาดเหงื่อของแรงงานข้ามชาติด้วยเช่นกัน.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น