เกียวโดนิวส์ (14 พ.ย.) ผู้นำของญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ตกลงที่จะดำเนินการ "ขั้นตอนที่แน่วแน่" ในการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ของเกาหลีเหนือ เนื่องจากความตึงเครียดได้ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ จากการทดสอบขีปนาวุธจำนวนมากของเปียงยาง
ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา หลังจากฟูมิโอะ คิชิดะ ผู้นำของญี่ปุ่นพบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดี ยุน ซุก ยอล แห่งเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า "ความร่วมมือไตรภาคีมีความสำคัญมากกว่าที่เคย เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะยังคงยั่วยุต่อไป"
ตามคำแถลงร่วมฯ ท่ามกลางความกลัวว่าเกาหลีเหนืออาจดำเนินการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 7 ในเร็วๆ นี้ และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2017 ไม่ฟังคำเตือนจากนานาชาติ บรรดาผู้นำ 3 ชาติตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างการป้องปราม และประสานงานการคว่ำบาตรต่อเปียงยาง
ในขณะที่ยืนยันอีกครั้งว่า เกาหลีเหนือไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญกับ "การตอบโต้ที่แข็งแกร่งและเด็ดเดี่ยวจากประชาคมระหว่างประเทศ" หากทดสอบนิวเคลียร์อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม พวกเขายังกล่าวในแถลงการณ์ว่า "เส้นทางสู่การเจรจายังคงเปิดกว้างสู่การแก้ปัญหาอย่างสันติและการทูต" กับเปียงยาง
เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวกับผู้สื่อข่าวบนเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน ว่าผู้นำ "ได้ประสานงานในการตอบสนองร่วมกัน ในกรณีที่จะมีการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 7 โดย (เกาหลีเหนือ)”
เขากล่าวว่า "ไตรภาคีมีการประสานงานกันอย่างดีใน 3 ประเทศ" หากเกิดขึ้นกรณีดังกล่าว
ก่อนการเจรจาไตรภาคี คิชิดะ และไบเดนจัดการเจรจาระดับทวิภาคีประมาณ 40 นาที และตกลงที่จะสนับสนุนพันธมิตรด้านความมั่นคงที่มีมายาวนานของกันและกัน
คิชิดะ กล่าวว่า เขาแจ้งไบเดนถึงแผนการของญี่ปุ่นที่จะ "เพิ่ม" งบประมาณการป้องกันประเทศอย่างมาก และประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็สนับสนุนแนวคิดนี้
การประชุมไตรภาคีและทวิภาคีเกิดขึ้นนอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและพันธมิตร อันเป็นการหารือร่วมกันนับตั้งแต่ คิชิดะ ไบเดน และยุน พบกันครั้งสุดท้ายเมื่อปลายเดือนมิถุนายน เมื่อครั้งไปประชุมสุดยอดองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน
บรรดาผู้นำยังได้หารือเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนอย่างต่อเนื่องของรัสเซีย และยืนยันความมุ่งมั่นของพวกเขาในการสร้างอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง โดยอ้างถึงวิสัยทัศน์ที่ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ผลักดันอย่างแข็งแกร่งกับการต่อต้าน “ความพยายามฝ่ายเดียวใดๆ ในการเปลี่ยนสถานะที่เป็นอยู่ในน่านน้ำของอินโด-แปซิฟิก รวมถึงการอ้างสิทธิทางทะเลที่ผิดกฎหมาย การใช้กำลังทหาร”
ผู้นำ 3 ชาติย้ำถึงเกาะไต้หวันว่า การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพรอบเกาะประชาธิปไตยนั้นเป็น "องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในประชาคมระหว่างประเทศ"
ความตึงเครียดเหนือไต้หวันยังคงสูง ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า "แผ่นดินใหญ่จะไม่มีวันสละสิทธิ การใช้กำลังเพื่อควบคุมเกาะแห่งนี้หากจำเป็น"