คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน เคยสงสัยไหมคะว่าทำไมคนเราจึงชอบว่าร้ายคนอื่นนัก ไม่ว่าอีกฝ่ายจะดีหรือร้ายกับเรา หรือกระทั่งไม่ได้มาทำอะไรเราเลยก็ตาม การพูดถึงคนอื่นในแง่ลบสะท้อนให้เห็นอะไรในใจคนพูด และส่งผลร้ายต่อเจ้าตัวอย่างไรได้บ้าง จิตแพทย์ญี่ปุ่นชื่อดัง “คาบาซาวะ ชิออน” จะมาให้คำตอบ
ทำไมคนเราจึงชอบว่าร้ายคนอื่น
คุณหมอคาบาซาวะ ชิออน เจ้าของผลงานหนังสือจิตวิทยาซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยหลายเล่ม กล่าวไว้ว่ามนุษย์เรามักชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น หากตัวเองดีกว่าก็จะเกิดความรู้สึก “เหนือกว่า” แต่หากตัวเองแย่กว่าก็จะเกิดความรู้สึก “ด้อยกว่า” ขึ้นมา ความรู้สึกด้อยกว่านี้เป็นความรู้สึกแง่ลบที่รุนแรง และกระตุ้นให้เราอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อขจัดมันออกไป โดยเฉพาะด้วยการว่าร้ายคนอื่น เพื่อดึงอีกฝ่ายให้ต่ำลงและทำให้ตัวเองรู้สึกสูงขึ้น คลายความรู้สึกด้อยค่าในใจลง
ยิ่งคนไหนมีความนับถือตัวเองต่ำ ก็จะยิ่งขาดความมั่นใจในตัวเอง คนลักษณะนี้มีแนวโน้มที่จะรู้สึกด้อยกว่าเวลาเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ดังนั้นยิ่งมีความนับถือตัวเองต่ำเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะชอบว่าร้ายคนอื่นตามไปด้วย ในทางตรงกันข้ามคนที่มีความนับถือตัวเองสูง จะมั่นใจในความคิดและการกระทำของตัวเอง จึงไม่หวั่นไหวไปกับคำพูดคนอื่น ไม่เอาตัวเองไปเปรียบกับใคร แล้วก็เลยไม่ว่าร้ายใครด้วย
บทความด้านจิตวิทยาที่เขียนโดยท่านอื่น ๆ ยังเพิ่มเติมสาเหตุของคนที่ชอบว่าร้ายคนอื่นไว้ด้วย เช่น 1) เกลียดข้อเสียของตัวเอง พอเห็นคนอื่นที่มีข้อเสียเดียวกันหรือคล้ายกันก็จะโจมตี 2) โกรธที่ไม่ได้รับสิ่งที่คาดหวังจากคนที่ตนเองให้ความสนใจ จึงหันมานินทาว่าร้ายอีกฝ่ายแทน 3) มองโลกในแง่ร้าย ไม่เชื่อใจคน จึงปกป้องตนเองด้วยการทำให้คนอื่นเจ็บก่อนที่ตนจะถูกกระทำ 4) กลัวกลายเป็นแกะดำ พอคนในกลุ่มนินทาคนอื่นก็เลยนินทาตาม จะได้รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 5) ถูกกระทำไม่ดี จึงนินทาว่าร้ายเพื่อแก้แค้น เป็นต้น
จากคำอธิบายข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าคนเราว่าร้ายคนอื่นก็เพราะขาดความนับถือตัวเอง มีความอิจฉาริษยา ขาดความมั่นคงทางจิตใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัยนั่นเอง
ทำไมการว่าร้ายคนอื่นจึงเป็นนิสัยที่แก้ยาก
คุณหมอคาบาซาวะอธิบายว่า การว่าร้ายเป็นอาการเสพติดอย่างหนึ่ง พอได้ว่าร้ายคนอื่นแล้ว สมองจะหลั่งฮอร์โมนโดปามีนซึ่งให้ความรู้สึกตื่นตัวและพึงพอใจออกมา ทำให้เกิดความรู้สึกสนุกสนาน นี่จึงเป็นเหตุที่คนเรามักสนุกกับการนินทาว่าร้ายชาวบ้าน
แต่เมื่อโดปามีนหลั่งออกมาแล้ว มันจะต้องการการกระตุ้นมากกว่าเดิม หมายความว่าถ้าเราไม่ว่าร้ายคนอื่นให้บ่อยขึ้นและแรงขึ้น ก็จะไม่มีโดปามีนใหม่ ๆ หลั่งออกมา และไม่เกิดความรู้สึกเป็นสุข ดังนั้นการว่าร้ายจึงกลายเป็นนิสัยและแก้ยาก ยิ่งทำยิ่งติด แบบเดียวกับการติดเหล้าหรือสารเสพติดนั่นเอง
นินทาว่าร้ายทำให้อายุสั้น
หลายคนอาจคิดว่าการนินทาว่าร้ายเป็นการปลดปล่อยความเครียด แต่คุณหมอคาบาซาวะบอกว่าความจริงแล้วตรงกันข้าม นอกจากจะเพิ่มความเครียดแล้ว ยังสามารถทำลายสมองและลดทอนอายุขัยลงได้ด้วย ท่านเล่าถึงการศึกษาของมหาวิทยาลัย Eastern Finland ไว้ว่าคนที่ชอบเสียดสีสังคมหรือวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 3 เท่าและมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น 1.4 เท่า ยิ่งชอบเสียดสีหรือวิพากษ์วิจารณ์มากเท่าไหร่ อัตราการเสียชีวิตก็ยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
นอกจากนี้ เมื่อใดที่พูดจาว่าร้าย ฮอร์โมนแห่งความเครียดที่เรียกว่า “คอร์ติซอล” ก็จะหลั่งออกมา หากร่างกายมีคอร์ติซอลสูงนาน ๆ ภูมิคุ้มกันจะลดลง ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าคนที่ชอบว่าร้ายมาก ๆ จะอายุสั้นกว่าคนที่ไม่ทำเช่นนั้นราว 5 ปีเลยทีเดียว
พูดจาว่าร้าย = ฝึกตัวเองให้มองโลกแง่ลบ
คุณหมอคาบาซาวะกล่าวว่า ถ้าเราพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 2 สัปดาห์ มันจะฝังอยู่ในความทรงจำ เพราะฉะนั้นยิ่งพูดจาว่าร้ายเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งสนใจแต่เรื่องลบ ๆ เหมือนติดตั้งโปรแกรมลบ ๆ ไว้ในสมอง
เวลาที่เราไปรวมกลุ่มกันวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น นอกจากจะเป็นการฝึกตัวเองให้ชอบมองหาข้อเสียคนอื่นแล้ว ยังเป็นการฝึกมองตัวเองในแง่ลบอีกด้วย และจะคิดมากเมื่อตัวเองเป็นฝ่ายทำพลาดบ้าง ความนับถือตัวเองก็จะยิ่งต่ำลงอีก ดังนั้นการว่าร้ายหรือโจมตีคนอื่นจึงเท่ากับการหยิบมีดมาแทงตัวเองดี ๆ นี่เอง
ท่านบอกว่านิสัยและสภาพจิตใจก่อตัวขึ้นมาจากคำพูดตัวเอง เราเลือกใช้คำพูดแบบไหนก็จะกลายเป็นคนแบบนั้นด้วย ถ้าอยากเป็นคนร่าเริง มองโลกแง่ดี และนับถือตัวเอง ก็ให้เปลี่ยนมุมมองด้วยการฝึกมองแต่แง่ดีเสียแต่วันนี้ ฝึกพูดแต่เรื่องดี ๆ รู้จักขอบคุณและชื่นชมคนอื่น ยิ้มให้คนอื่น พูดจาด้วยถ้อยคำอ่อนโยน ความรู้สึกดี ๆ ก็จะเกิดขึ้นในใจตามไปด้วย
แต่ถ้าวัน ๆ เอาแต่พูดจาว่าร้าย แล้วจะหวังให้ตัวเองดีขึ้นนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะใจจะสนใจแต่เรื่องแย่ไปโดยปริยาย พอหมดวันก็จะนึกเรื่องดี ๆ ออกได้ยาก
“ทุกครั้งที่คุณพูดลบ ชีวิตคุณก็ติดลบทีละแต้ม ผมถามหน่อยว่าคุณอยากให้ชีวิตเป็นแบบนี้หรือ” คุณหมอตั้งคำถามฝากไปคิด
แก้นิสัยช่างติด้วยการหัดชมตัวเองหรือมองแง่บวก
บางคนคิดว่าถ้าเจ้าตัวไม่อยู่จะพูดลับหลังก็ไม่เห็นเป็นไร แต่พฤติกรรมแบบนี้จะทำให้ถูกมองว่าเป็นคนชอบนินทาว่าร้ายคนอื่น และไม่น่าไว้ใจ อีกทั้งวันหนึ่งตัวเองก็จะโดนคนอื่นทำแบบนี้บ้าง
คุณหมอคาบาซาวะแนะว่า แทนที่เราจะดึงคนที่เราไม่ชอบให้ต่ำลง เราหันมาทำให้ตัวเองสูงขึ้นได้ ลองหัดชมตัวเองยามทำสิ่งใดสำเร็จแม้ในเรื่องเล็ก ๆ แต่ถ้าชมตัวเองยากนัก ก็ให้เปลี่ยนทัศนคติแง่ลบมาเป็นแง่บวกก็ได้ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเพื่อนร่วมงานได้เลื่อนขั้นก่อนเรา แทนที่จะพูดว่า “ไม่เห็นจะเก่งตรงไหน ได้เลื่อนตำแหน่งได้ไง” ก็หันมาเปลี่ยนคำพูดเป็น “เราก็พยายามบ้าง แล้วไล่ตามเขาให้ทันดีกว่า”
คุณหมอมองว่าคนเราจะก้าวหน้าหรือย่ำอยู่กับที่ก็อยู่ที่วิธีคิด อย่างบางคนชอบเปรียบเทียบ เห็นเขาดีกว่าก็อิจฉาริษยา อยากให้เขาเสียหาย ในขณะที่บางคนจะเอาอีกฝ่ายมาเป็นแบบอย่างเพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น จะเอาเวลาไปฝึกฝนตัวเองแทนที่จะคอยให้ร้ายใคร
“คนชอบว่าร้ายเป็นพวกว่างงาน คุณไม่ได้อะไรขึ้นมาหรอก ชีวิตจะมีแต่เรื่องแย่ เอาเวลาว่างนั้นมาศึกษาความสำเร็จของคนอื่นแล้วพัฒนาตัวเองดีกว่า”
การสั่งสมคำพูดและการกระทำทางบวกเหล่านี้จะเพิ่มความนับถือตัวเอง อีกทั้งความโกรธเคือง อิจฉาริษยา และความรู้สึกพร่องจะได้รับการเติมเต็ม ทำให้ความรู้สึกในแง่ลบอ่อนกำลังลง แล้วสุดท้ายก็จะเลิกพูดจาว่าร้ายหรือโจมตีคนอื่นไปเอง
วิธีรับมือเวลาถูกว่าร้ายหรือนินทาลับหลัง
แล้วถ้าเราเป็นฝ่ายถูกว่าร้ายหรือนินทาเล่าจะทำเช่นไร อย่างแรกคุณหมอแนะนำว่าเวลาเจอใครร้ายมาอย่าร้ายตอบ เพราะมันจะยิ่งเป็นการทำร้ายตัวเอง แถมยังทำให้ความสัมพันธ์เสียหายด้วย แต่ให้ปฏิบัติต่ออีกฝ่ายในทางบวก ด้วยความอ่อนโยน หากเขาลำบากเราก็ช่วยเหลือ ให้ลองทำดีตอบกลับไปเรื่อย ๆ ผ่านไปสักห้าครั้งอีกฝ่ายน่าจะมีท่าทีอ่อนลงเอง
บางคนอาจเคยได้ยินคนนินทาตนเองกับหู ก็กลุ้มใจว่าทำอย่างไรเขาจะเลิกนินทา ต่อไปนี้ควรทำตัวอย่างไร คุณหมอบอกว่า
“คุณนึกเรอะว่าที่ผ่านมาเขาไม่เคยนินทาคุณ ต่อให้คุณไม่ได้ยินเองกับหู เขาก็นินทาคุณกันที่ไหนสักแห่งอยู่แล้ว” ถ้าเรานึกได้อย่างนี้ เวลารู้ชัดว่าถูกนินทาจะได้ไม่กระเทือนมาก
อีกอย่างคือหากเราเข้าใจแล้วว่าคนที่ชอบว่าร้ายคนอื่นมีความนับถือในตัวเองต่ำ อย่างที่คุณหมออธิบายไว้ข้างต้น เราก็จะไม่คิดมากและปล่อยผ่านได้ง่ายขึ้น
ส่วนที่ว่าจะทำตัวอย่างไรนั้น คุณหมอบอกให้ทำตัวเป็นมิตรตามปกติ ถ้าเป็นที่ทำงานเราไม่จำเป็นต้องสนิทใจกับทุกคน ขอให้ทำงานด้วยกันได้ก็พอแล้ว จะมีคนมองเราในแง่ลบบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเจอก็ให้ปล่อยผ่านไป ไม่ต้องใส่ใจ หมดเวลางานเขาก็เป็นคนอื่น ใช่ว่าเรากลับบ้านแล้วเขาจะมานั่งรออยู่บ้านเราเสียเมื่อไหร่
คุณหมอพูดถึงกฎ 1-2-7 ว่า ใน 10 คนอาจมี 1 คนที่เกลียดเรา 2 คนที่ชอบเรา และ 7 คนที่เฉย ๆ กับเรา หากเจอใครที่เกลียดเราก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขาก็คือ 1 ใน 10 คนที่ไม่ชอบเรานั่นเอง ดังนั้นจึงไม่ต้องคิดมาก เรายังไม่ควรไปเที่ยวมองหาว่ามีใครเกลียดเราบ้าง หรือพยายามทำให้คนที่เกลียดเรามาชอบเราด้วย เพราะถ้าใน 1,000 คนมีคนที่เกลียดเรา 100 คน เรามิต้องหมดเวลาทั้งชีวิตไปเพื่อทำให้คน 100 คนนี้มาชอบเราหรือ “เราสมควรจะเอาเวลาอันมีค่าในชีวิตทั้งหมดไปใช้เพื่อคนที่เกลียดเราหรือเปล่า หรือว่าควรเอาไปให้กับคนที่เขารักเราดีกว่า” คุณหมอกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับชาวพุทธแล้วเชื่อว่าใครทำอย่างไรก็จะได้รับผลอย่างนั้น จะช้าหรือเร็วแล้วแต่เหตุปัจจัย หากเขาร้าย เขาก็ย่อมได้รับผลจากกรรมชั่วในวันหนึ่ง ส่วนเราจะดีตอบหรือร้ายตอบ นั่นคือกรรมใหม่ของเราเองที่จะให้ผลกับเราต่อไป อันนี้ก็น่าจะใช้เตือนตัวเองได้อีกอย่างเหมือนกันนะคะเวลาเจอเรื่องร้ายในชีวิต จะได้ไม่เผลอทำร้ายใครแล้วต้องไปรับทุกข์รับโทษเองในวันข้างหน้า
ขอให้เพื่อนผู้อ่านทุกท่านมีใจร่มเย็นด้วยการเว้นจากการนินทาว่าร้าย และหากถูกใครว่าร้ายก็สามารถวางใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโลก ไม่เอาคืน และปล่อยผ่านด้วยใจดี ๆ ได้ง่ายยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะคะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.