สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ผมชอบฟังสำนวนและสุภาษิตของประเทศต่างๆ มากเพราะมักจะเป็นสำนวนโวหารที่มีเนื้อความตักเตือนสั่งสอนและสะกิดใจ สำนวนต่างๆ มักจะใช้ข้อความเชิงอุปมาอุปมัยที่มีนัยแฝงอย่างลึกซึ้ง อาจจะมีพูดเชิงเปรียบเทียบหรือสั่งสอน และส่วนใหญ่จะไม่แปลความหมายออกมาตรงๆ ทำให้เราต้องตีความและผมก็ชอบนึกถึงที่มาที่ไปที่สำนวนสุภาษิตนั้นๆ ยกมาเปรียบเปรยเสมอ อ่านแล้วสนุกดีครับ
ไม่ว่าประเทศไทยหรือญี่ปุ่นต่างก็มีการใช้สำนวนและสุภาษิตกันอย่างแพร่หลาย เวลาผมได้ยินสำนวนสุภาษิตต่างๆ ก็อยากรู้ความหมายแฝงของสำนวนนั้นๆ และความหมายที่แฝงอยู่ก็ล้วนแต่น่าสนใจเสมอ สำนวนสุภาษิตไทยที่ผมรู้สึกชอบเพราะฟังแล้วเห็นภาพได้เลยคือ”ผักชีโรยหน้า”ครับ
●ローイパクチー(`・ω・´)づ〆`
ผักชีโรยหน้า
โดยส่วนตัวแล้วผมชอบสำนวนนี้เพราะพูดแล้วนึกภาพตามได้ทันที มีที่มาจากผักชีที่ใช้โรยตกแต่งอาหารให้ดูน่ารับประทานช่วยเพิ่มกลิ่นหอมและเพิ่มรสชาติให้อาหารอร่อยขึ้นใช่ไหมครับ แต่ความหมายนั้น ผมคิดว่าคนไทยต้องรู้จักความหมายของผักชีโรยหน้าอยู่แล้ว เพื่อนผมบอกว่าเป็นการทำความดีเฉพาะหน้า ที่ไม่ได้ทำดีอย่างจริงจังเป็นประจำสม่ำเสมอ มักจะใช้มากในสถานการณ์ที่มีคนมีตำแหน่งใหญ่โตหรือแขกคนสำคัญมาตรวจเยี่ยมสถานที่ที่เราอยู่ ทำให้ต้องรีบจัดงานและจัดตกแต่งสถานที่ให้สะอาดสวยงามเฉพาะหน้าใช่ไหมครับ แต่ในบริบทไทยผมว่ายังมีความน่ารักนะครับ ไม่รู้ว่าความหมายจริงเสียดสีแรงระดับไหนแต่เห็นพูดทีเล่นทีจริงเสียมากกว่า
ผมคิดว่าถ้าทำงานยุ่งมากบางทีก็อาจละเลยหรือไม่มีเวลาดูแลเรื่องความสวยสะอาดในที่ทำงานจริงๆ มันคือเรื่องที่เห็นได้เสมอเป็นปกติในชีวิตจริง และคิดว่าน่าจะมีน้อยคนที่จะทำเนี้ยบสวยสะอาดได้ตลอดเวลา ซึ่งที่ญี่ปุ่นมีสำนวนที่จูงใจให้คนทำงานเข้มงวดและทำงานให้เนี้ยบอยู่ทุกวันเวลาอยู่เหมือนกัน ในองค์กรดังกล่าวอาจจะมีคนส่วนใหญ่ที่ทำได้ตามนโยบายขององค์กร แต่จะมีคนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายของบริษัท แต่ด้วยความที่ต้องทำงานที่นั่นต่อไปก็ช่วยไม่ได้ที่ต้องแสดงไปตามน้ำ แบบนี้ก็เรียกได้ว่าผักชีโรยหน้าแบบญี่ปุ่น แต่สำนวนนี้ของญี่ปุ่นมีที่มาจากกีฬาเบสบอลครับ
เป็นที่ทราบกันว่าเบสบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น โดยเฉพาะคนที่มีอายุมากหน่อยแต่ปัจจุบันเด็กจบใหม่ก็ไม่ได้ชื่นชอบกีฬาเบสบอลมากเหมือนก่อน ถ้าพูดถึงกติกาการเล่นก็จะแบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายรุกและฝ่ายรับโดยที่ฝ่ายรับจะขว้างลูกไปให้ฝ่ายรุกตี คนตีลูกต้องมีสมาธิและพยายามหวดลูกให้ดีถ้ามายืนเก้ๆกังๆ ถือว่าให้อภัยไม่ได้ จึงมีสำนวนที่ว่า
●見逃し三振は許さない
ยอมรับไม่ได้ ถ้าปล่อย(ให้บอล) ผ่านไป
สำนวนนี้จากคำพูดเชิงนโยบายการทำงานของผู้บริหารสูงสุดของบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น เพื่อสั่งให้พนักงานพยายามทำสิ่งต่างๆ อย่างจริงจังตลอดเวลา ในที่นี้เปรียบเทียบกับตอนที่ผู้ตีลูกเบสบอลจะต้องตีให้ถูก หรือแม้จะไม่ถูกลูกก็ให้พยายามตีให้เหวี่ยงไม้ออกไป! คือให้ความรู้สึกว่าได้มีการพยายาม! แต่ถ้าลูกมาแล้วทำนิ่งอึ้งไม่ขยับตัวแบบนี้คือให้อภัยไม่ได้!
แต่คิดว่าเวลาทำงานทั้งวันทั้งเดือนไม่ว่าที่ไหนๆ ก็คงจะบ้างบางขณะที่หย่อนบ้าง อาจจะไม่ได้เป๊ะทุกช่วงเวลาขนาดที่ผู้บริหารคาดหวัง การที่ผู้บริหารระดับสูงสุดมีนโยบายให้พนักงานต้องทำให้ดีที่สุด ให้มีความพยายามทุกวัน ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นไปได้ยาก ถ้าบริษัทนั้นมีพนักงาน 100 คน ก็อาจจะมีคนที่สามารถตีลูกเบสบอลได้และพยายามทำจริงๆ อย่างแข็งขันสัก 50% ส่วนอีก 25% ทำไม่ได้แน่ๆ แต่ด้วยความที่ผู้บริหารสั่งมาแบบนี้ก็ต้องแสดงนะครับ! ต้องแสดงออกไปว่าพยายามแสร้งเหวี่ยงแขนออกไป อันเนี่ยคือการ “ผักชีโรยหน้า” ครับ
วันนี้ยังมีอีกหนึ่งตัวอย่างสำนวนสุภาษิตญี่ปุ่นที่มีที่มาจากธรรมชาติและคิดว่ามีความหมายไปในทิศทางเดียวกับที่คนไทยรับรู้ คือ
●実るほど頭の垂れる稲穂かな
Minoru hodo
koube wo tareru
inaho kana
กล่าวถึงรวงข้าวที่ยิ่งออกผลมากเท่าไร (รวงข้าวแก่สุกงอมสมบูรณ์) ส่วนปลายก็จะยิ่งน้อมต่ําลงเท่านั้น สำนวนนี้ที่ญี่ปุ่นเปรียบเปรยถึงคนที่ยิ่งเก่งและมีอำนาจมากเท่าไหร่ ยิ่งอ่อนน้อมและให้ความสําคัญเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากเท่านั้น หรือถ้ามุมมองของภาคองค์กรบริษัทจะหมายถึงยิ่งบริษัทเติบโตและพัฒนามากเท่าไร ทัศนคติของบริษัทและทัศนคติของพนักงานก็จะยิ่งสุภาพมากขึ้นเท่านั้น ที่เมืองไทยก็เปรียบเปรยถึงเรื่องความมีคุณธรรมสูงจะยิ่งอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือตัวหรือแข็งกระด้าง
สำนวนนี้น่าสนใจมาก ก่อนหน้านี้ความนิยมของนายกรัฐมนตรีคิชิดะยังไม่ลดลงขนาดนี้ มีคนญี่ปุ่นชื่นชมความอ่อนน้อมของเขาแม้ว่าเขาจะมีตำแหน่งใหญ่โตก็ตาม เคยมีช่วงหนึ่งที่คนญี่ปุ่นบอกว่าลักษณะความเป็นผู้นําที่มีความอ่อนน้อมในการปฏิสัมพันธ์กับประชาชนเป็นอย่างมากทำให้เขาไม่โดนด่าว่าแม้ว่าจะไม่ได้สร้างผลงานอะไรมาก การให้สัมภาษณ์ต่างๆ ท่ามกลางวิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจ อาทิ เงินเยนอ่อนตัว หรือสถานการณ์โควิด-19 หรือสงครามรัฐเซีย-ยูเครน เขาบอกเพียงว่า”เขาจะพิจารณาและดูแลมันอย่างระมัดระวัง”
ผู้คนมักจะหยิบยกสำนวนสุภาษิตต่างๆ ขึ้นมาเพื่ออบรมสั่งสอนหรือเพื่อเตือนใจ สำนวนสุภาษิตญี่ปุ่น ก็เป็นคำพูดสอนใจที่เป็นคติสุภาษิตที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะความเป็นอยู่ขนบธรรมเนียมประเพณีอีกด้วย ที่จริงแล้วทั้งญี่ปุ่นและไทยยังมีสำนวนสุภาษิตที่มีความหมายคล้ายกันอีกเยอะเหมือนกันครับ ไว้ถ้ามีโอกาสจะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะครับ สวัสดีครับ