xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อฉันเป็นโรค AVM โรคหายากที่เจอ 1 ในแสนคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก findatopdoc.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน สัปดาห์นี้เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น แต่ฉันคิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านจึงขอใช้โอกาสนี้เล่าสู่กันฟังค่ะ สัปดาห์ที่ผ่านมา ฉันไปนอนโรงพยาบาลอยู่คืนหนึ่งเพื่อรักษาความผิดปกติของกลุ่มเส้นเลือด ซึ่งเป็นโรคที่ปีหนึ่ง ๆ เจอเพียง 1 รายต่อประชากรแสนคน และวิธีรักษาก็เป็นเทคโนโลยีน่าทึ่ง ฉันยังได้เจอทีมหมอกับพยาบาลที่ดีมากด้วย

อาการผิดปกติที่เกิดกับร่างกายของฉันคือ หลายเดือนก่อนฉันได้ยินเสียงหัวใจเต้นอยู่ข้างหูเป็นครั้งคราว ทีแรกเป็นเสียงตุ้บ ๆ ต่อมาเป็นเสียงฟู่ ๆ แบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็น whooshing sound หรือเหมือนเสียงอัลตราซาวน์ทารก แต่ดังตามจังหวะตามชีพจร และจะได้ยินชัดเวลาอยู่ในที่เงียบหรือตอนกลางคืน ทำให้เวลานอนฉันต้องใช้ white noise machine ซึ่งเป็นอุปกรณ์คล้ายลำโพงส่งเสียงซ่า ๆ เหมือนเสียงบนเครื่องบิน เพื่อกลบเสียงที่ฉันได้ยินข้างหูและช่วยให้หลับลงได้

อาการที่ฉันเป็นนี้เรียกว่า Pulsatile tinnitus เกิดได้จากหลายสาเหตุ ถ้าเสียงที่ได้ยินตรงตามจังหวะชีพจร ส่วนใหญ่จะเป็นความผิดปกติของเส้นเลือด และไม่ได้เป็นความผิดปกติที่หู ได้ยินมาว่าหมอจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่วินิจฉัยอาการนี้ผิดเพราะคิดว่าเป็นโรคหู ทำให้คนไข้ไม่ได้รับการรักษาตรงจุด ทั้งที่ในหลายกรณีมันคือสัญญาณบอกถึงอาการผิดปกติในส่วนอื่นของร่างกายที่ควรรักษาเร่งด่วน โดยเฉพาะในศีรษะ คอ หรือทั้งสองอย่าง

(ตรวจการได้ยิน) ภาพจาก andrabester.co.za
หมอบอกว่าฉันควรตรวจ MRI กับ MRA ที่ศีรษะและคอ และตรวจการได้ยิน ฉันนึกว่ามันคงไม่อะไรขนาดนั้นกระมัง แต่หมอบอกว่าเราไม่มีวันรู้หรอก ถ้าเจอยังอาจจะรักษาตรงจุดได้ แต่ถ้าไม่เจอ อาการนี้ก็ไม่มีทางรักษา ก็ต้องอยู่กับมันไป สุดท้ายฉันก็ยอมไปตรวจ แล้วก็เจอแจ็คพ็อตจนได้

ผลตรวจการได้ยินปกติ แต่ปัญหาคือกลุ่มเส้นเลือดที่พันกันผิดปกติอยู่ข้างหู หมอเรียกรอยโรคแบบนี้ว่า arteriovenous malformation (AVM) เป็นภาวะที่เส้นเลือดแดงเชื่อมต่อกับหลอดเลือดดำแทนที่จะไปผ่านหลอดเลือดฝอยก่อน คือปกติเส้นเลือดแดงที่ไหลออกหัวใจจะไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่านเส้นเลือดฝอย จากนั้นเส้นเลือดฝอยก็จะลำเลียงเลือดที่ใช้แล้วเข้าสู่เส้นเลือดดำส่งกลับไปยังหัวใจใช่ไหมคะ

แต่ในกรณีที่เป็น AVM เส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำจะเชื่อมเข้าหากันเอง ทำให้เลือดบริเวณนั้นไหลแรง หากแตกขึ้นมาก็อาจเกิดอันตรายมากน้อยแล้วแต่ว่ามันอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกาย ในกรณีร้ายแรงก็อาจเป็นอัมพาต สูญเสียการมองเห็นหรือได้ยิน กระทั่งเสียชีวิตได้

(ซ้ายคือเส้นเลือดปกติ ขวาคือเส้นเลือดพันกันผิดปกติ)
แม้ AVM จะไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็คาดว่าเป็นภาวะผิดปกติที่มีมาแต่กำเนิด ไม่ค่อยแสดงอาการจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ และมักไม่หายไปเอง นอกจากนี้ AVM ยังสามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในร่างกาย แต่ที่พบบ่อยคือในสมอง ส่วนฉันเจอที่ข้างใบหน้าซึ่งเป็นเคสที่หาได้น้อยมาก

หมอบอกว่าวิธีรักษาได้แก่ การผ่าตัด เลเซอร์ หรืออุดเส้นเลือด หมอไม่อยากให้ผ่าตัดเพราะบนใบหน้ามีเส้นประสาทจำนวนมาก เดี๋ยวหน้าเบี้ยวไปครึ่งซีกจะยุ่ง เลยส่งตัวต่อไปยังหมอด้านประสาทวิทยาเพื่อดูว่าสามารถรักษาด้วยการอุดเส้นเลือดได้ไหม ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ฉันเจ็บตัวน้อยที่สุด แต่ถึงอย่างไร AVM ก็อาจเกิดขึ้นใหม่ได้อีก และไม่ว่าจะรักษาหรือไม่ก็ต้องคอยมาตรวจ MRI และ MRA เป็นระยะอยู่ดี

วิธีที่หมอจะรักษาฉันเรียกว่า cerebral angiogram กับ embolization หมอจะสอดสายสวนเส้นเลือดเข้าไปทางขาหนีบ (บางคนก็โดนที่ข้อมือหรือทั้งสองอย่าง) แล้วเอาสารอุดหลอดเลือดไปใส่ไว้ในจุดที่ต้องการ (ของฉันคือข้างหู) ระหว่างนั้นจะเอ็กซเรย์ดูเส้นเลือดที่ฉีดสารทึบรังสีไว้ เพื่อดูว่าความผิดปกติอยู่ที่จุดไหน

อู้ฮู…ปัญหาอยู่ที่ใบหน้า แต่ไฉนเครื่องมือเดินทางอ้อมไกลนัก ชักหนาวเลยถามหมอซื่อ ๆ ว่าสายสวนมันมิไปขูดเอาเส้นเลือดระหว่างทางแตกหมดหรือ หมอบอกก็มีความเสี่ยงแหละ แต่มันมีวิธีการ ไม่ต้องห่วงนะ ทีนี้จะให้สอดสายสวนใกล้ใบหน้าหรือลำคอ มันก็ต้องกรีดแผลแถวนั้นซึ่งเสี่ยงอันตรายเกินไป เลยต้องอ้อม

ภาพจาก interventionalneurology.com.au
ปัญหาอย่างหนึ่งคือฉันแพ้กาวผ่าตัด แต่สารอุดหลอดเลือดที่หมอนิยมใช้มีส่วนประกอบที่ทำมาจากกาวนี้ หมอบอกว่าบางคนเกิดอาการแพ้เฉพาะเวลาถูกผิวหนัง แต่อยู่ในเส้นเลือดไม่เป็นก็มี ทว่าสุดท้ายหมอคงไม่อยากเสี่ยงเพราะใส่ไปแล้วเอาออกไม่ได้ หมอเลยหันไปใช้สารชนิดอื่นในการอุดแทน

ฉันเข้าห้องผ่าตัดก่อนบ่ายโมง แต่ลืมตาตื่นขึ้นในห้องไอซียูตอนฟ้ามืดแล้ว รอบตัวเต็มไปด้วยผู้คน มีคนถามว่าฉันชื่ออะไร วันนี้วันที่เท่าไหร่ ที่นี่ที่ไหน ทำไมฉันถึงมาอยู่ที่นี่ แม้จะสลึมสลือแต่ฉันก็ยังนึกซน เกือบตอบไปว่าฉันคือแบทแมน แต่กลัวเดี๋ยวโดนส่งไปแผนกจิตเวชแทน เลยยั้งปากไว้แล้วตอบดี ๆ ให้ถูกกาลเทศะ

ตอนนั้นฉันปวดเอวเหลือคณา คงเพราะนอนแน่นิ่งอยู่ในห้องผ่าตัดมาไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง แถมพยาบาลบอกว่าฉันยังต้องนอนราบอย่างนี้ต่อไปอีก 6 ชั่วโมงด้วยเพื่อป้องกันลิ่มเลือด ที่เขาพอจะช่วยได้คือเอาแผ่นทำความอุ่นมาวางรองเอว แต่มันไม่ได้ผลนัก สุดท้ายมีพยาบาลคนหนึ่งสงสารฉันเลยหาหมอนมาหนุนที่ปลายเท้า และอีกคนหาเบาะมาเสริม ช่วยให้ดีขึ้นมาก

ข้างเตียงยังมีแท็บเบล็ตให้เลือกสิ่งบันเทิงมัลติมีเดีย พยาบาลถามฉันว่าอยากฟังดนตรีแบบไหน ฉันบอกว่างั้นขอเพลงแจ๊ส เธอก็เปิดให้ มีดนตรีสบาย ๆ ให้ฟังหลังผ่าตัดแบบนี้ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายสบายใจดี

ตลอดคืนพยาบาลจะคอยมาเช็คระบบประสาทว่าทำงานปกติไหม เช่น ให้มองตามนิ้วมือพยาบาลโดยไม่หันศีรษะตาม ให้แลบลิ้น ดันลิ้นไปทางซ้ายขวา จากนั้นพยาบาลจะเอามือมาแตะหน้าฉันทั้งสองข้าง แตะขาทั้งสองข้าง แล้วถามว่าฉันรู้สึกถึงสัมผัสเท่า ๆ กันไหม จากนั้นก็ให้ลองบีบมือพยาบาล ยกแขนสองข้างดันมือพยาบาล เหยียดเท้า และยกขาเตะขึ้นฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังวัดอุณหภูมิและความดันทุกชั่วโมง

ภาพจาก reviewofoptometry.com
ตกดึกท้องร้องจ๊อก ๆ ฉันถามพยาบาลว่ากินอะไรได้ไหม เธอว่ามีแต่ขนมปังกรอบ แซนวิชทูน่า น้ำแอปเปิล แอปเปิลซอส จะเอาอย่างไหน หรือจะเอาหมดเลยก็ได้ ฉันลิงโลดที่เธอให้ท้าย สักครู่พยาบาลก็หอบของกินมาเต็มวงแขน แล้วยังใจดีเปิดห่อให้ด้วยเพราะมือฉันยังอ่อนแรงมาก

ฉันไม่เคยกินแอปเปิลซอส ถามเธอว่ากินอย่างไร? เอาขนมปังกรอบจิ้มหรือ? เธอตกใจที่รู้ว่ามีคนไม่เคยกินแอปเปิลซอส และบอกว่าเอาช้อนตักกินเหมือนเวลากินไอติม แต่ไม่ได้อร่อยเลิศเพียงนั้น ปกติจะผสมน้ำตาลแต่ที่โรงพยาบาลเป็นแบบไม่มีน้ำตาล พอฉันตักแอปเปิลซอสแช่เย็นเข้าปากก็คิดถึงแม่ขึ้นมา จำได้ว่าเคยเห็นแม่เอาช้อนขูดผลสาลี่ให้กลายเป็นเหลว ๆ ป้อนคุณทวดที่นอนติดเตียง รสชาติและสัมผัสคงคล้าย ๆ กัน ตอนไม่สบายกินอย่างนี้ก็อร่อยดี

ตอนรุ่งเช้าพยาบาลมาบอกว่าหมดเวลางานเธอแล้ว จะมีคนอื่นมาดูแลแทน ฉันยื่นสองแขนออกไปหา เธอยิ้มกว้างและเดินเข้ามากอดฉันแน่น ฉันบอกขอบคุณที่เธอดูแลฉันทั้งคืน และคงคิดถึงเธอทุกครั้งที่กินแอปเปิลซอส เธอหัวเราะและอธิบายให้พยาบาลคนอื่น ๆ ฟังว่าฉันไม่เคยกินแอปเปิลซอสมาก่อน พลางยุให้ฉันเอากลับบ้านไปด้วยเยอะ ๆ

ไม่นานก็มีอาหารเช้าร้อน ๆ ของโรงพยาบาลมาเสิร์ฟ มีข้าวโอ๊ต ไข่คน มันฝรั่งอบหั่นเต๋า กาแฟ นม และน้ำส้มเย็น ๆ หลังข้าวเช้าพยาบาลก็พยุงฉันมานั่งที่เก้าอี้ และให้อยู่อย่างนั้นไปก่อนจนกว่าจะหายมึน จากนั้นหมอกายภาพก็มาพาฉันไปเดิน และให้ลองขึ้นลงบันได รวมทั้งให้ลองใส่และถอดถุงเท้าเองในท่านั่ง ห้ามโน้มหรือก้มตัวด้วย ฉันถามว่าผ่าตัดเล็กแค่นี้ทำไมมีอะไรต้องระวังเยอะจัง หมอบอกว่าเพราะส่วนที่รักษาเป็นบริเวณศีรษะ กลัวจะกระเทือนระบบประสาท และห้ามไม่ให้ทำอะไรอีกหลายอย่างไปตลอด 2 สัปดาห์

ภาพจาก hebrewseniorlife.org
ผู้ช่วยหมอถามฉันว่าอาการเป็นอย่างไรบ้าง ฉันบอกว่าปวดหัวและเจ็บกราม เธอบอกว่าเมื่อเช้าได้ดื่มกาแฟไหม ฉันบอกว่าเปล่าเพราะไม่รู้ว่าคาเฟอีนจะส่งผลอย่างไรต่อระบบเลือดโดยเฉพาะหลังรักษาหมาด ๆ เธอบอกว่าดื่มได้นะ อย่างยาแก้ปวดหรือแก้ไมเกรนเองก็มีส่วนผสมของคาเฟอีน อยากดื่มไหม ฉันบอกว่างั้นเอาก็ดีค่ะ เธอหายไปนานมากจนฉันนึกว่าเธอคงติดธุระอื่นและลืมไปแล้ว

ปรากฏว่าเธอเดินไปให้ซื้อถึงร้านกาแฟ เพราะกาแฟของโรงพยาบาลมีแต่แบบชง คนไข้บ่นกันว่าไม่อร่อย ฉันจะคืนค่าแฟให้ เธอก็ไม่รับ ฉันก็เลยได้แต่รับกาแฟอร่อยนั้นมาดื่มด้วยความซึ้งใจ

หลังผ่าตัด เสียงรบกวนข้างหูตามจังหวะชีพจรที่เคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ ก็เงียบไปแล้ว แต่กลับมาบ้านฉันก็ยังมึนและเพลียไปอีกสองวันเต็ม ๆ และใช้เวลากว่าสัปดาห์กว่าความปวดข้างใบหน้าจะทุเลาลง ฉันพบว่าเวลานอน ถ้าใช้หมอนข้างก็จะช่วยลดความเจ็บแผลที่ขาหนีบ จากการถูกน้ำหนักขาอีกข้างกดทับตอนนอนตะแคงได้ หมอและผู้ช่วยคอยติดต่อมาถามไถ่อาการเป็นระยะ และบอกให้มาตรวจ MRI กับ MRA ในอีกสามเดือนข้างหน้า

ภาพจาก rrmc.org
แม้ว่าการนอนโรงพยาบาลจะไม่ใช่เรื่องสนุก แต่ความเมตตาของพยาบาลก็ช่วยผ่อนคลายความทุกข์ของคนไข้ได้มาก งานของพยาบาลดูเผิน ๆ เหมือนง่ายแต่ที่จริงมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้เยอะมากและเจอความท้าทายใหม่ ๆ ทุกวัน ทั้งยังทำงานภายใต้ความกดดันและต้องเสียสละตัวเองมากทีเดียว ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนเพื่อน ๆ ให้ปฏิบัติต่อพยาบาลด้วยมิตรไมตรี เผื่อจะเป็นกำลังใจให้พวกเขาได้บ้างนะคะ

ที่ฉันเล่ามาก็เป็นเพียงเคสเฉพาะ ไม่เหมาะอ้างอิงทางการแพทย์ หากท่านใดมีอาการคล้ายฉันก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคเดียวกันเสมอไป อีกทั้งรอยโรคก็อาจอยู่ที่จุดอื่น และการรักษาก็อาจต่างกันไป สิ่งสำคัญคือถ้าพบอาการผิดปกติ ให้หมอตรวจรักษาน่าจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด

ขอให้เพื่อนผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพดีกันถ้วนหน้าค่ะ.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น