xs
xsm
sm
md
lg

บริการญี่ปุ่น เอาใจคนข้าวของเยอะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก tori-dori.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่อำนวยความสะดวกสบายให้แทบทุกอย่าง เหมือนรู้ใจผู้ใช้บริการไปหมดทุกจุด แม้กระทั่งแก่ผู้ที่จะเดินทางเข้าออกสนามบินใหญ่บางแห่งในญี่ปุ่น ก็ยังมีบริการเรื่องสัมภาระของผู้โดยสารหลายอย่างที่ช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้นมากทีเดียว

ส่งกระเป๋าเดินทางระหว่างบ้าน-สนามบิน

บริการส่งของของญี่ปุ่นนั้นเป็นอะไรที่น่าทึ่งมาแต่ไหนแต่ไร เพราะส่งได้ทั้งอาหารสด อาหารแช่เย็น อาหารแช่แข็ง ไปจนถึงของชิ้นใหญ่อย่างไม้สกีและถุงกอล์ฟ แม้กระทั่งกระเป๋าเดินทางก็ยังส่งได้ระหว่างบ้านและสนามบิน

อาจเพราะสนามบินใหญ่ของกรุงโตเกียวอย่างนาริตะหรือฮาเนดะมีรถไฟที่วิ่งเข้าออกจากตัวเมืองแล่นผ่าน ทำให้คนจำนวนมากนิยมเดินทางด้วยรถไฟ ทว่าการต้องลากกระเป๋าออกจากบ้านไปขึ้นรถไฟก็เป็นเรื่องวุ่นวายพอดู ไหนจะต้องหาทางขึ้นลงชานชาลาที่มีลิฟต์หรือบันไดเลื่อน หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องยกกระเป๋าหนัก ๆ เดินขึ้นลงบันไดในสถานี ซึ่งบางสถานีก็ต้องลงไปลึกมาก

ยิ่งถ้าเป็นช่วงที่รถไฟคนแน่นจะลำบากพอควร เพราะนอกจากจะขึ้นลงลำบากแล้ว สัมภาระของเรายังเกะกะขวางทางผู้โดยสารคนอื่นไปด้วย แม้อาจจะไม่มีใครว่าอะไรตรง ๆ แต่เจ้าของสัมภาระอาจไม่สบายใจเอง และหากสัมภาระเราเป็นกล่องที่หิ้วลำบากก็อาจจะยิ่งยุ่งยากเข้าไปอีก

ดังนั้นบริการส่งสัมภาระล่วงหน้าจากบ้านหรือโรงแรมไปยังสนามบิน (เฉพาะบางสนามบิน) จึงตอบโจทย์ในส่วนนี้ได้ดี บริษัทที่ให้บริการได้แก่ ยามาโตะคุโรเนโกะ (แมวดำ)และ ไปรษณีย์ญี่ปุ่นให้ตรวจสอบก่อนว่าของที่เราจะส่งมีของต้องห้ามไหม ขนาดและน้ำหนักสัมภาระของเราอยู่ในเกณฑ์ที่เขากำหนดหรือเปล่า และต้องส่งสัมภาระล่วงหน้าก่อนเดินทางกี่วัน ทั้งนี้เราสามารถให้ทางบริษัทมารับของจากที่บ้าน/โรงแรม หรือจะเอาไปส่งเองที่ร้านหรือร้านสะดวกซื้อที่ให้บริการก็ได้ อย่างหลังจะได้ส่วนลด 100 เยน แต่ถ้าขนาดใหญ่เกินไป ร้านสะดวกซื้ออาจไม่รับ ให้ลองตรวจสอบก่อนเอาไปส่งนะคะ จะได้ไม่เสียเที่ยว

ราคาค่าส่งแต่ละร้านไม่ค่อยจะแตกต่างกันมากนัก อาจถูกหรือแพงกว่ากันไม่กี่ร้อยเยน ราคาจะคิดต่อสัมภาระเป็นชิ้น ๆ ไป แล้วแต่ขนาด(กว้าง+ยาว+สูง) และน้ำหนัก อย่างของร้านแมวดำ ถ้าเป็นสัมภาระขนาด 160 ซม. น้ำหนักต้องไม่เกิน 25 กก. ราคาอยู่ที่ 2,730 เยน (ณ ต.ค. 2565) รวมภาษีและค่าบริการสนามบินแล้ว

เมื่อส่งสัมภาระแล้ว พอถึงวันเดินทางเราก็ไปรับสัมภาระคืนที่สนามบินตามจุดที่บริษัทส่งของระบุไว้ ซึ่งในสนามบินเดียวกันอาจมีหลายจุด ต้องดูให้ดีว่าต้องไปรับจากอาคารไหน ชั้นไหน และไปรับภายในช่วงเวลาที่เขากำหนด จะได้ไม่ขลุกขลัก

(จุดรับส่งกระเป๋าเดินทางของบริษัทยามาโตะคุโรเนโกะ) ภาพจาก japan.travel
ส่วนการส่งสัมภาระจากสนามบินไปยังบ้าน/โรงแรม ก็สามารถทำได้เช่นกัน คือไปขอรับบริการได้จากร้านสาขาภายในสนามบินเลย ฉันเคยใช้บริการครั้งหนึ่ง วันต่อมาก็ได้รับของแล้ว อาจมีบางบริษัทและบางสนามบินที่สามารถส่งของให้ภายในวันเดียวกันได้ ต้องลองถามดู เพราะแต่ละแห่งรายละเอียดปลีกย่อยไม่เหมือนกัน

สายการบินญี่ปุ่นอย่าง ANA และ JAL ก็มีให้บริการส่งสัมภาระแบบเดียวกับที่พูดถึงนี้ และหากถือบัตรเครดิตบางประเภท ก็สามารถใช้สิทธิ์ลดราคาค่าบริการหรือกระทั่งส่งฟรีได้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีบริการเสริมอื่นอีกที่สะดวกสบายหากเดินทางกับสายการบิน เช่น หากเดินทางภายในญี่ปุ่นด้วยสายการบิน ANA ก็สามารถส่งสัมภาระที่สนามบินต้นทางก่อนขึ้นเครื่อง แล้วพอลงเครื่องก็ไม่ต้องไปรับสัมภาระ แต่เขาส่งไปให้ถึงบ้าน/ที่พักเลย และบางเที่ยวบินและบางสนามบินยังสามารถส่งถึงที่ภายในวันเดียวกันได้ด้วย

และหากเดินทางจากญี่ปุ่นไปต่างประเทศด้วยสายการบิน ANA หรือ JAL ก็สามารถให้เขามารับสัมภาระที่บ้านเรา แล้วเราไปรับอีกทีจากสนามบินปลายทางเลย สำหรับค่าบริการและรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้จากสายการบินโดยตรง

(จุดรับส่งกระเป๋าเดินทางของสายการบิน ANA) ภาพจาก watayamori.co.jp
บริการส่งสัมภาระระหว่างโตเกียว-เกียวโต-โอซากา

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา มีกฎใหม่สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยรถไฟชิงกันเซ็นสายโทไคโด/ซันโย/คิวชู (ระหว่างโตเกียว-เกียวโต-โอซากา-ภูมิภาคคิวชู) ว่าหากมีสัมภาระขนาดกว้าง+ยาว+สูงระหว่าง 161 - 250 ซม. จะต้องจองที่นั่งแถวหลังสุดเพื่อวางสัมภาระด้านหลังที่นั่งตนเอง ซึ่งหากไม่ได้จองมา เจ้าหน้าที่จะให้ไปเก็บไว้ในที่เฉพาะ และเสียค่าธรรมเนียม 1 พันเยน ส่วนสัมภาระขนาดกว้าง+ยาว+สูงเกิน 250 ซม. ไม่สามารถเอาขึ้นรถไฟได้

ไม่ทราบเป็นเพราะกฎนี้หรือเปล่า บริษัท QL Liner จึงให้บริการส่งสัมภาระสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีสัมภาระเกะกะ และต้องการเดินทางระหว่างจังหวัดโตเกียว-เกียวโต-โอซากา (ซึ่งมักจะเดินทางกันด้วยรถไฟด่วนชิงกันเซ็น) บริการส่งสัมภาระนี้จะรับสัมภาระจากโรงแรมที่เราพักในโตเกียวตอนเช้า แล้วไปส่งให้ถึงโรงแรมที่เราจะพักในเกียวโตหรือโอซากาภายในเย็นวันเดียวกัน

แต่มีข้อแม้คือ ต้องเป็นโรงแรมที่มีรายชื่ออยู่บนเว็บไซต์ของบริษัทเท่านั้น และต้องฝากกระเป๋ากับทางโรงแรมล่วงหน้าภายในเวลาที่กำหนด ขนาดกว้าง+ยาว+สูงของสัมภาระต้องไม่เกิน 240 ซม. และน้ำหนักไม่เกิน 30 กก. หากจะใช้บริการ ต้องจองล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 2 วัน ซึ่งถ้า จองจากเว็บไซต์  ราคาจะอยู่ที่ 2,800 เยนต่อชิ้น (ณ ต.ค. 2565)

บริการหีบห่อสำหรับโหลดเป็นสัมภาระ

ฉันเคยใช้บริการนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ คือเที่ยวบินที่ฉันโดยสารระหว่างอเมริกากับเอเชียนั้นสามารถโหลดสัมภาระได้คนละ 2 ชิ้น ชิ้นละไม่เกิน 23 กก. ฉันกับสามีมีกระเป๋าเดินทางกันคนละใบเพราะไม่อยากหิ้วพะรุงพะรังไปกว่านี้ แต่ตอนออกจากญี่ปุ่นจะกลับอเมริกาก็น้ำหนักเกินจนได้ (ทั้งคนทั้งกระเป๋า) ตอนนั้นก็ชักกังวลว่าจะทำอย่างไรดี ไม่มีกระเป๋าสำรองเสียด้วย

พนักงานสายการบินแนะนำว่าให้ไปซื้อลังกระดาษภายในสนามบิน แล้วบรรจุของที่น้ำหนักเกินแยกไปเป็นสัมภาระอีกชิ้นหนึ่ง จะได้ไม่ต้องเสียค่าน้ำหนักเกิน ได้ยินแล้วเหมือนมีพระมาโปรด รู้สึกรักสายการบินนั้นขึ้นมาฉับพลัน

ฉันจำไม่ได้ว่าตอนนั้นซื้อลังกระดาษจากไปรษณีย์หรือร้านแมวดำ พอไปถึงหน้าร้านก็เห็นมีคนมาแพ็คของใส่ลังกันอยู่หลายคน แสดงว่าคงมีคนที่น้ำหนักกระเป๋าเกินและต้องมาแพ็คแยกแบบนี้อยู่เป็นประจำ ร้านก็ใจดี เตรียมเทปกาวอะไรให้ยืมใช้จนแพ็คของเสร็จ

(ไปรษณีย์ในสนามบิน) ภาพจาก 135east.com
ลังกระดาษเป็นสินค้าที่ทางร้านมีอยู่แล้วไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ก็จริง แต่การมาตั้งร้านให้บริการอยู่ในพื้นที่ขาออกของสนามบิน
ทำให้สินค้านี้มีประโยชน์มาก นึกทีไรก็รู้สึกขอบคุณทุกที

ฝากเสื้อโค้ท
ฉันเคยไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยตอนฤดูหนาว พอกลับมาถึงญี่ปุ่น เพื่อนญี่ปุ่นก็ถามว่าฉันทำอย่างไรกับเสื้อโค้ท เอาติดตัวไปถึงเมืองไทยแล้วหอบกลับมาด้วยหรือ ฉันตอบแบบงง ๆ ว่าใช่แล้ว มีวิธีอื่นด้วยหรือ เธอว่าที่สนามบินมีบริการรับฝากเสื้อโค้ทด้วยนะจะบอกให้

บริการนี้เหมาะสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น และจะเดินทางไปต่างประเทศในฤดูหนาว แต่ประเทศเป้าหมายอากาศร้อน
เอาเสื้อโค้ทติดตัวไปด้วยก็จะเกะกะโดยไม่ได้ใช้ ทีนี้กว่าจะออกจากบ้านมายังสนามบินก็ต้องเดินทางไปขึ้นรถไฟหรือรถลีมูซีนท่ามกลางอากาศหนาวก็เลยต้องสวมเสื้อโค้ทไว้ และขากลับจากต่างประเทศมาถึงญี่ปุ่นก็อากาศหนาว และจำเป็นต้องสวมเสื้อโค้ทอีก บริการนี้เลยเกิดขึ้น

(จุดรับส่งกระเป๋าเดินทางและฝากเสื้อโค้ทของสายการบิน JAL) ภาพจาก matsunosuke.jp
ถ้าต้องการใช้บริการนี้ก็มองหาเคาน์เตอร์ JAL ABC เป็นเคาน์เตอร์เดียวกับที่รับส่งสัมภาระให้นั่นเอง แต่บริการนี้ไม่ต้องจองล่วงหน้าเหมือนตอนส่งสัมภาระจากบ้านมาสนามบิน และบัตรเครดิตบางประเภทก็ให้ส่วนลดหรือให้ฝากได้ฟรีอีกเช่นกัน ค่าบริการในการฝากขึ้นอยู่กับระยะเวลา ส่วนผ้าพันคอหรือถุงมือสามารถฝากพร้อมกันได้โดยไม่มีค่าบริการเพิ่ม พนักงานจะใส่ถุงพลาสติกสำหรับเสื้อโค้ทไว้ให้ เวลาไปรับก็ไปรับจากอาคารผู้โดยสารขาเข้าได้ตามที่เขากำหนดไว้ให้ในใบรับ แต่ละสนามบินจะคิดค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน และอาจมีเฉพาะบางสนามบินเท่านั้น

ล็อกเกอร์เก็บสัมภาระชั่วคราว

ตามสถานีรถไฟในญี่ปุ่นหลายแห่งจะมีล็อกเกอร์ให้ฝากของได้ชั่วคราว เรียกว่า “โค-อิน-ลก-ก้า” (コインロッカー  coin locker) คิดค่าบริการต่อวัน ล็อกเกอร์เล็กสุดราคา 300 เยน ส่วนล็อกเกอร์ใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 600 เยน ขนาดพอใส่กระเป๋าแบ็คแพ็คที่ไม่ใหญ่เกินไปได้อยู่ ล็อกเกอร์ใหญ่จะมีจำนวนจำกัดและอาจมีแค่บางสถานีเท่านั้น ส่วนตามสนามบินจะมีล็อกเกอร์ใหญ่กว่า และสามารถฝากได้หลายวันกว่า

(ล็อกเกอร์ในสนามบินฮาเนดะ) ภาพจาก tokyo-haneda.com
ฉันเคยไปเดินเล่นในเมืองแล้วซื้ออะไรติดไม้ติดมือมาพะรุงพะรังไปหมด แล้วหลังจากนั้นมีธุระต้องไปที่อื่นต่อ เลยฝากของไว้ในล็อกเกอร์ขนาดเล็กที่สถานีรถไฟแล้วเดินตัวปลิว เปลืองสตางค์หน่อยแต่ก็สบายขึ้นมาก และเคยฝากกระเป๋าเดินทางขนาดเล็กไว้ที่ล็อกเกอร์ใหญ่ของสถานีรถไฟต่างจังหวัดเหมือนกัน เพราะจะไปธุระที่อื่นก่อนแล้วต้องกลับมาที่สถานีเดิมอีก

เวลาจ่ายเงินให้หยอดเหรียญ 100 เยนตามจำนวนที่กำหนด แต่บางล็อกเกอร์ก็สามารถใช้บัตรเติมเงินรถไฟ SUICA หรือ PASMO จ่ายได้

หวังว่าคงพอเป็นประโยชน์สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในญี่ปุ่นหรือจากญี่ปุ่นไปต่างประเทศบ้างนะคะ แล้วพบกันสัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น