xs
xsm
sm
md
lg

ช้อปทั้งทีจ่ายยังไงให้คล่องตัว: เทียบวิธีจ่ายเงินของไทย-ญี่ปุ่น-อเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก oggi.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ฉันได้กลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ประเทศไทย หลังจากไม่สามารถเดินทางได้เพราะโรคระบาดนานเกือบ 3 ปี ความเปลี่ยนแปลงของเมืองไทยที่ฉันรู้สึกว่าเด่นชัดที่สุดในการกลับบ้านครั้งนี้ ก็คือเรื่องระบบการจ่ายเงินด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด ซึ่งแม้จะมีข้อดีหลายอย่างและสะดวกสบายทั้งกับฝั่งร้านค้าและลูกค้าเอง แต่สำหรับฉันแล้วรู้สึกไม่สะดวกมากทีเดียว

วันหนึ่งฉันเรียกช่างมาซ่อมอุปกรณ์บางอย่างให้ที่บ้าน ตอนจ่ายเงินฉันยื่นเงินสดให้ เขาบอกว่า “สแกนเอาก็ได้นะ” ฉันไม่ทราบว่าเขาหมายถึงอะไร ก็นึกเอาเองว่าบริษัทนี้คงมีให้จ่ายเงินผ่านแอพลิเคชันของทางร้านเหมือนที่อเมริกากระมัง

ระหว่างไปเดินดูข้าวของในตลาด สามีผู้ช่างสังเกตสังกาเหลือบไปเห็นป้ายที่มีข้อความและคิวอาร์โค้ดแปะอยู่หน้าร้านค้าหลายร้าน เขาถามฉันว่ามันคืออะไร ฉันมองตาม เห็นชื่อบัญชีและคิวอาร์โค้ด ก็ถามน้องต่ออีกทีว่ามันคืออะไร เธออธิบายสั้น ๆ ว่าเป็นการจ่ายเงินโดยตัดเงินจากบัญชีธนาคาร


“สแกน” ที่ช่างซ่อมอุปกรณ์ว่าคงหมายถึงอย่างนี้นี่เอง พ่อเสริมว่าวิธีนี้ช่วยให้เจ้าของร้านได้เงินจากลูกค้าเต็มเม็ดเต็มหน่วย เลี่ยงการถูกยักยอกไปโดยลูกจ้างที่ไม่ซื่อสัตย์ได้ แล้วก็ดีกันทั้งสองฝ่ายตรงที่ไม่ต้องพกเงินสดไว้กับตัวเยอะ ไม่เสี่ยงถูกมิจฉาชีพรูดบัตรเครดิตไปใช้ด้วย

ไปค้นข้อมูลดูแล้วก็รู้สึกว่าวิธีจ่ายเงินแบบนี้มีข้อดีหลายอย่างที่เหมาะกับเมืองไทย แต่อย่างไรก็ตามการที่ร้านส่วนใหญ่รับเพียงเงินสดหรือสแกนเท่านั้น และหลายร้านก็ไม่ค่อยจะรับบัตรเครดิตทั้งที่ยอดเงินก็ไม่น้อย ทำให้ฉันรู้สึกไม่สะดวกเลย เพราะไม่ได้พกเงินสดไว้มากนัก และไม่มีบัญชีธนาคารออนไลน์ของไทยสำหรับสแกนคิวอาร์โค้ดด้วย แล้วก็มาคิดต่อว่า เอ…ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมา เขาจะเจอปัญหาแบบเดียวกันนี้ไหมนะ เพราะนักท่องเที่ยวไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารในประเทศไทยได้

อเมริกานิยมเงินสด บัตรเครดิต เดบิต และแอพบนมือถือ

ที่อเมริกานั้นคนจะนิยมใช้ทั้งเงินสดและบัตรเครดิต แต่บางร้านโดยเฉพาะตามย่านไชน่าทาวน์จะรับเฉพาะเงินสด ส่วนร้านที่รับบัตรเครดิตนั้นอาจมีกำหนดขั้นต่ำว่าต้องซื้อเท่าไหร่ และตั้งแต่เกิดเงินเฟ้อมาก็มีร้านอาหารมากขึ้นที่เริ่มหันมาคิดค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตกับลูกค้าด้วย แต่หากเรามีบัตรเครดิตที่ให้เงินคืนเป็นเปอร์เซ็นต์สูงกว่าค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย ก็คุ้มกว่าหากจะจ่ายด้วยบัตร

แต่ว่าก็มีบางร้านก็ไม่กำหนดขั้นต่ำในการใช้บัตรเครดิตเลย ทำให้บางทีซื้อโดนัทชิ้นเดียว 1 เหรียญกว่า ๆ ก็จ่ายบัตรได้ ในขณะที่บางร้านก็ไม่รับเงินสดเลย แต่รับเฉพาะบัตรเครดิต หรือ apple pay หรือจ่ายผ่านแอพ ฯ ของร้านเท่านั้น

ภาพจาก nationalprocessing.com
ร้านอาหารหลายร้านในอเมริกายังให้ลูกค้าโต๊ะหนึ่ง ๆ ต่างคนต่างจ่ายด้วยบัตรเครดิตกันคนละใบได้ด้วย เช่น ถ้าไปกันสามคน ก็จ่ายการ์ดสามใบ เขาก็จะหารให้เท่า ๆ กัน เว้นแต่จะบอกเขาว่าการ์ดไหนจะให้ตัดเงินเท่าใด แต่บางร้านก็รับเพียงบัตรเดียว ไม่สามารถหารแบ่งจ่ายได้

การจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตนั้น ถ้าเป็นร้านอาหารก็ต้องให้บัตรไว้กับพนักงาน แต่ถ้าเป็นร้านค้าก็มักจะให้ลูกค้าเป็นคนเอาบัตรเสียบหรือรูดที่เครื่องด้วยตนเอง เดี๋ยวนี้ยังมีระบบแตะบัตรหรือมือถือที่เครื่องคิดเงินด้วย แตะปุ๊บก็มีเสียงติ๊ง จ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว สะดวกมาก

ร้านกาแฟหรือร้านอาหารบางแห่งที่มีหลายสาขานั้น นอกจากจะจ่ายด้วยบัตรเครดิตได้แล้ว ยังสามารถจ่ายผ่านแอพลิเคชันของร้านได้ด้วย โดยเอาคิวอาร์โค้ดของแอพ ฯ ในมือถือเราให้ทางร้านสแกน แต่ก่อนหน้านั้นเราต้องเติมเงินไว้ในแอพ ฯ หรือผูกเบอร์บัตรเครดิตเอาไว้ในแอพล่วงหน้าก่อน

ญี่ปุ่นกับระบบจ่ายเงินหลากรูปแบบ

ส่วนในประเทศญี่ปุ่นนั้น แม้ในยุคดิจิตอลนี้ญี่ปุ่นก็ยังนิยมใช้เงินสดมากกว่าวิธีอื่น ๆ เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งจับต้องได้ ปลอดภัย และไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนตัว จึงไม่ต้องกลัวว่าข้อมูลส่วนตัวจะรั่วไหล หรือห่วงว่ามีคนเอาบัตรเครดิตเราไปใช้จนเกิดความเสียหาย

ถึงบางร้านจะรับแต่เงินสด แต่กระนั้นร้านที่รับบัตรเครดิตก็มีอยู่ทั่วไปแทบทุกหนแห่งโดยเฉพาะในตัวเมือง ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้า หรือร้านอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่เจอที่ไหนกำหนดขั้นต่ำในการใช้บัตรเครดิต และไม่มีการหักค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิตกับลูกค้า

ภาพจาก rakuten-card.co.jp
ได้ยินว่าที่ร้านค้าญี่ปุ่นไม่เก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจากลูกค้าก็เพราะว่า คนญี่ปุ่นรู้สึกว่าหากค่าสินค้าและบริการเดียวกันแต่เก็บไม่เท่ากันระหว่างคนจ่ายเงินสดกับคนจ่ายด้วยบัตร ก็จะเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ทางร้านกับบริษัทบัตรเครดิตยังตกลงกันว่าจะไม่เก็บค่าธรรมเนียมจากลูกค้าด้วย ซึ่งหากละเมิดสัญญา ทางร้านจะไม่สามารถใช้บัตรเครดิตนั้นได้อีก และถึงแม้จะมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับทางฝั่งยุโรปและอเมริกา แต่บางร้านก็ยังยินดีรับบัตรเครดิตอยู่ดีเพราะเพิ่มยอดขาย บ้างก็ว่าเพื่อความสะดวกของลูกค้า

นอกจากเงินสดและบัตรเครดิตแล้ว ญี่ปุ่นยังรองรับการจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบัตรเติมเงินของร้านสะดวกซื้อ/ซูเปอร์สโตร์ หรือบัตรเติมเงินรถไฟ/รถเมล์ และแอพชำระเงินประเภทต่าง ๆ ซึ่งสามารถใช้จ่ายได้ในร้านค้าจำนวนมาก รวมถึงตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติด้วย

ถ้าไปร้านสะดวกซื้อจะเห็นว่าทางร้านติดป้ายแสดงโลโก้ของบัตรต่าง ๆ หรือแอพชำระเงินเรียงกันเป็นตับ บ่งบอกว่าทางร้านรับการชำระเงินแบบไหนบ้าง ก็น่าทึ่งอยู่เหมือนกันที่สามารถรองรับได้หลากหลายถึงเพียงนี้

ภาพจาก card-db.com
สำหรับแอพฯ จ่ายเงินนั้นอาจต้องมีมือถือและซิมการ์ดของญี่ปุ่นจึงจะสามารถใช้ได้ แต่สำหรับบัตรเติมเงินนั้นนักท่องเที่ยวก็สามารถซื้อได้ วิธีที่ฉันคิดว่าสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาญี่ปุ่น คือซื้อบัตรเติมเงินรถไฟ อย่างบัตร SUICA ของบริษัทรถไฟ JR นั้นสามารถซื้อได้จากเครื่องขายอัตโนมัติ เสียค่ามัดจำบัตร 500 เยนแล้วเติมเงินไว้ขึ้นรถไฟ/รถเมล์ในโตเกียวได้ และใช้แทนเงินสดเพื่อจ่ายเงินเวลาซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา ร้านอาหาร นอกจากนี้ยังใช้กับตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ  รวมถึงจ่ายค่าแท็กซี่ และอื่น ๆ อีกมากมาย วิธีใช้ก็เพียงเพียงแค่แตะบัตรลงบนเครื่องก็ชำระเงินเสร็จแล้ว และเมื่อจะกลับประเทศหากต้องการคืนบัตร ก็จะได้รับเงินที่เหลือในบัตรและค่ามัดจำบัตรคืนมา โดยหักค่าธรรมเนียมเพียง 220 เยน

วิธีชำระเงินที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ยุคนี้แต่ละประเทศมีวิธีชำระเงินที่สะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก สำหรับเมืองไทยแล้วระบบสแกนคิวอาร์โค้ดที่แสนสะดวกอาจจะเหมาะกับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยจริง แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนที่มาเมืองไทยเป็นครั้งคราวแล้วอาจไม่สะดวกก็ได้ เพราะหากไม่มีบัญชีธนาคารออนไลน์ของไทยก็ไม่อาจใช้ระบบนี้ได้แล้ว ถ้าจะใช้บัตรเครดิตก็ไม่ค่อยมีร้านที่รับมากนัก เหลือทางออกคือต้องจ่ายด้วยเงินสด ซึ่งก็หมายถึงต้องถือเงินสดไว้มากพอ หรือถ้าไม่พอก็ต้องไปถอนเงินจากเอทีเอ็มซึ่งก็มีค่าบริการระหว่างประเทศและเสียอัตราแลกเปลี่ยนอีก

(เครื่องจ่ายเงินที่ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น ให้ลูกค้าเลือกกดปุ่มบนหน้าจอว่าจะจ่ายเงินด้วยวิธีใด) ภาพจาก note.com
จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ฉันพบว่าการที่ร้านค้าเกือบทุกแห่งญี่ปุ่นยินดีรับบัตรเครดิต ซึ่งเป็นวิธีการจ่ายเงินแบบที่ฉันชินในสังคมอเมริกา มีส่วนสำคัญที่ทำให้รู้สึกว่าสนุกกับการจับจ่ายใช้สอยในญี่ปุ่น เลยเดาว่านักท่องเที่ยวจากหลายประเทศที่นิยมใช้บัตรเครดิตเหมือนกัน ก็คงรู้สึกสะดวกกับการกินเที่ยวและช้อปปิ้งในญี่ปุ่น พอไม่รู้สึกว่าติดขัดหรือไม่สะดวก ก็น่าจะทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นบวกต่อการท่องเที่ยวนั้นไปด้วย ยิ่งเชิญชวนให้อยากมาอีก อยากจับจ่ายใช้สอยในญี่ปุ่นอีก

เศรษฐกิจของไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวอยู่มาก หากเมืองไทยจะยังคงระบบสแกนคิวอาร์โค้ดสำหรับคนไทยไว้ ไปพร้อม ๆ กับมีระบบชำระเงินที่หลากหลายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินอกเหนือจากเงินสดควบคู่กันไปด้วย ก็น่าจะช่วยให้พวกเขาใช้จ่ายเงินในประเทศเราได้สะดวกขึ้นมาก แบบเดียวกับญี่ปุ่นซึ่งมีทั้งระบบชำระเงินที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น