xs
xsm
sm
md
lg

ส่องญี่ปุ่นก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ฉันเพิ่งได้กลับไปเยี่ยมครอบครัวสามีที่ญี่ปุ่นเป็นเวลาสั้น ๆ ในช่วงที่ยังไม่เปิดประเทศเต็มตัว เลยอยากมาเล่าประสบการณ์ให้ฟังตั้งแต่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองไปจนถึงออกจากญี่ปุ่น และว่าญี่ปุ่นเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในช่วงที่ผ่านมา

หลายท่านคงทราบแล้วว่าญี่ปุ่นจะเปิดรับนักท่องเที่ยวตามปกติตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมนี้ แต่ก็มีเงื่อนไขเรื่องวัคซีนหรือการตรวจโควิดก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมงด้วย หากเพื่อนผู้อ่านจะไปญี่ปุ่น ลองตรวจสอบรายละเอียดให้แน่ใจก่อนเดินทางนะคะ เพราะกฎเกณฑ์การเข้าเมืองของญี่ปุ่นยุคโควิดมีการเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายหน อัพเดทบ่อยมากทีเดียว


ประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการผ่อนปรนการเดินทางเข้าญี่ปุ่น

รายชื่อวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลญี่ปุ่น และข้อกำหนดเกี่ยวกับใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด

ก่อนฉันกับสามีจะไปญี่ปุ่น เราได้ลงทะเบียนไว้ใน “My SOS” ซึ่งเป็นแอพลิเคชันของทางการญี่ปุ่น เพื่อกรอกรายละเอียดต่าง ๆ ก่อนเข้าญี่ปุ่น และต้องส่งผลตรวจโควิดภายใน 72 ชั่วโมงที่เป็นลบจากคลินิกหรือโรงพยาบาล พอกรอกรายละเอียดแต่ละอย่างแล้ว สถานะการลงทะเบียนของเราบนแอพจะเปลี่ยนสีไปเรื่อย ๆ ตามสถานะการตรวจสอบ จากแดงเป็นเหลือง และจากเหลืองเป็นเขียวหรือน้ำเงินในขั้นสุดท้าย แสดงว่าผ่านหมด

ภาพจาก jw-webmagazine.com
พอไปถึงสนามบินญี่ปุ่นจะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก เขาจะขอดูหน้าจอแอพนี้ ซึ่งเราต้องเปิดจากแอพให้เจ้าหน้าที่เห็น ห้ามใช้ "สกรีนช็อต" แคปชันรูปจากหน้าจอมา พอเขาเห็นสีบนหน้าจอแอพ ก็จะให้กระดาษตามด้านล่างนี้ แล้วบอกให้ไปยังจุดต่อไป ซึ่งจะมีการสแกนคิวอาร์โค้ดจากบนแอพ จำได้ว่ากว่าจะผ่านด่านตรวจเรื่องโควิดนี้ก็ต้องเลี้ยวไปทางโน้นทางนี้ แวะตามจุดต่าง ๆ เพื่อดูแอพนี้หลายหน จากนั้นจึงเข้าด่านตรวจคนเข้าเมืองตามปกติ



(ใบสีขาวคือข้อควรปฏิบัติหลังเข้าประเทศ /ใบสีฟ้าให้ยื่นเจ้าหน้าที่ในจุดถัดไป)
แนะนำว่าถึงจะลงทะเบียนในแอพแล้ว ก็ให้ถือเอกสารผลตรวจโควิดที่เป็นลบ และเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนติดตัวไปด้วย เผื่อมือถือมีปัญหาหรืออะไร จะได้มีสำรองให้เจ้าหน้าที่ดูนะคะ

ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะประกาศให้ประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากในที่สาธารณะก็ได้ แต่เท่าที่เห็นคนก็ยังสวมหน้ากากกันอยู่ไม่ต่ำกว่า 95% เพื่อนบอกว่าถ้าไม่สวมก็อาจโดนมองในแง่ลบ ส่วนคนฝรั่งที่แลดูเหมือนนักท่องเที่ยวไม่ค่อยเห็นสวมหน้ากากกันนัก

ตามโรงแรมและร้านอาหารก็ยังขอให้ลูกค้าสวมหน้ากาก และพ่นมือด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์ก่อนเข้าใช้บริการ สามีฉันเห็นป้ายขอความร่วมมือป้องกันโควิดในแต่ละแห่ง เลยแนะให้ฉันถ่ายรูปมาฝากเพื่อนผู้อ่านด้วย


ป้ายติดอยู่หน้าลิฟต์ บอกว่าขอความร่วมมือในการรักษาระยะห่างตอนใช้ลิฟต์ (ซึ่งจากรูปดูแล้วเหมือนว่าทุกคนควรยืนหันหน้าเข้าหามุมลิฟต์กันคนละมุม ??) และขอให้ไม่พูดคุยกันในลิฟต์เพื่อไม่ให้ละอองฝอยแพร่กระจาย แต่เท่าที่ขึ้นลิฟต์มาก็ไม่เห็นมีใครหันหน้าเข้าหามุมลิฟต์กันสักคน ส่วนเรื่องพูดกันในลิฟต์นี้ ฉันเห็นคนที่มาด้วยกันก็คุยกันตามปกติ


ป้ายหน้าห้องอาหาร บอกว่าขอความร่วมมือในการไม่พูดคุยกันระหว่างรับประทานอาหาร และหากจะคุยขอให้สวมหน้ากากก่อน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อผ่านละอองฝอย รวมทั้งขอให้อย่าคุยกันเสียงดัง โต๊ะหนึ่งให้ไม่เกิน 4 คน อย่าใช้บริการนาน และอย่าดื่มเหล้าหนัก

ลองนึกภาพดูว่าหากกำลังรับประทานอาหาร แล้วจะพูดอะไรทีก็ต้องหยิบหน้ากากมาสวมทุกครั้ง และถอดออกทุกครั้งเมื่อตักข้าวเข้าปาก ก็คงเพลิดเพลินกับอาหารและบทสนทนากับคนตรงหน้าได้ยากเต็มที และเท่าที่ฉันเหลือบดูก็ยังไม่เห็นว่ามีลูกค้าโต๊ะอื่น ๆ ทำอย่างที่ป้ายขอร้องไว้แต่อย่างใด

แม้สิ่งที่ขอความร่วมมือเหล่านี้อาจมีส่วนช่วยป้องกันการแพร่โควิด แต่ดูแล้วก็ไม่เข้ากับความเป็นจริงเท่าใดนัก และอาจไม่มีประโยชน์เท่าไหร่

นอกจากนี้ ในห้องอาหารบางแห่งมีซองกระดาษไว้ใส่หน้ากากวางไว้ให้หยิบเอง


เวลาจะถอดหน้ากากก็ให้เปิดซองนี้ จับด้านในซองให้แนบกับหน้ากากที่เราสวม แล้วค่อยถอดออก หนีบหน้ากากไว้ในซอง สำหรับพกพาได้หรือจะทิ้งลงถังขยะทั้งอย่างนี้ก็ได้ ละเอียดลออจริง ๆ แต่ก็สะดวกดีเหมือนกันเวลาอยู่ที่โต๊ะอาหาร และไม่ต้องคิดมากว่าจะเอาหน้ากากไปวางไว้ไหนดี


มีร้านอาหารอยู่ร้านหนึ่งตลกดีค่ะ ปกติเวลาสั่งกับข้าวมาแล้ว เขาจะช่วยตักแบ่งลงจานหรือชามเล็กให้ตามจำนวนคน แต่วันนั้นที่เราไป เขาเอาจานชามเล็กมาวางพร้อมช้อนกลางให้เราตักเอง เพราะ “เป็นมาตรการป้องกันโควิด” เขาจึงไม่ตักอาหารแบ่งให้เราอีก ฉันก็งงอยู่ค่ะว่ามันป้องกันโควิดได้อย่างไร ทีตอนยกอาหารออกมาจากครัวมาเสิร์ฟที่โต๊ะไม่ยักมีปัญหานี้

ส่วนเวลาขึ้นรถเมล์หรือรถไฟ สังเกตว่าเขาจะเปิดหน้าต่างไว้เป็นบางบาน แม้ว่าจะเปิดเครื่องปรับอากาศไปด้วย ตอนแรกนึกว่าคนขับลืมปิดหน้าต่าง เปลืองไฟแย่เลย แต่ก็นึกได้ว่าเขาคงทำแบบนี้เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศออกจากตัวรถ เป็นมาตรการป้องกันโควิดอย่างหนึ่ง

ตามร้านอาหารบางแห่งที่คับแคบอย่างร้านราเมง ก็ยังมีแผงพลาสติกใสกั้นเป็นคอก ๆ ไว้ ส่วนบุฟเฟ่ต์อาหารเช้าในโรงแรมบางแห่งก็มีถุงมือพลาสติกไว้ให้สวมเวลาคีบอาหาร โดยไม่บังคับว่าต้องสวม เพียงแต่บอกว่าหากกังวลก็ให้สวมไว้ และเวลาจะไปตักอาหารขอให้สวมหน้ากาก พนักงานยังแจ้งด้วยว่าทางห้องอาหารจะเปลี่ยนที่คีบอาหารทุก ๆ 30 นาที คงเพื่อให้ลูกค้าสบายใจว่าทางห้องอาหารระมัดระวังเรื่องโควิดเป็นอย่างดี 

ฉันสังเกตว่าตามห้องน้ำสาธารณะในเกือบทุกแห่งห้ามใช้เครื่องเป่ามือให้แห้งหลังล้างมือ หลายท่านคงเคยได้ยินกันมาหลายปีแล้วว่าไม่ควรใช้เครื่องเป่ามือเพราะเต็มไปด้วยเชื้อโรค และไม่นานมานี้ก็มีการศึกษาที่พบว่าการใช้เครื่องเป่ามือให้แห้งอาจแพร่เชื้อโรคได้ยิ่งกว่ากระดาษเช็ดมือ และเครื่องนี้ยังพัดเอาแบคทีเรียจากภายในห้องน้ำกลับมาสู่มือเราได้อีกด้วย

ห้องน้ำสาธารณะของญี่ปุ่นมักมีเครื่องเป่ามือให้แห้ง และไม่มีกระดาษให้เช็ดมือ เมื่อมีการห้ามใช้เครื่องเป่ามือนี้ แต่ละคนก็คงต้องหาวิธีทำให้มือแห้งกันเอาเอง เพราะฉะนั้นหากจะเดินทางไปญี่ปุ่นก็อาจพกผ้าขนหนูไว้เช็ดมือเสียหน่อยก็คงดี จริง ๆ ถ้าใช้กระดาษเช็ดมืออาจจะดีกว่า เพียงแต่คงหาที่ทิ้งยาก เพราะห้องน้ำญี่ปุ่นไม่มีถังขยะสำหรับทิ้งกระดาษ ผ้าขนหนูพกพาจึงอาจเป็นตัวเลือกรองลงมา แต่ต้องคอยซักผงซักฟอกให้สะอาดแล้วตากให้แห้งทุกวัน เพราะผ้าขนหนูที่เช็ดแล้วก็เป็นที่สะสมของแบคทีเรียเช่นกัน


สำหรับการซื้อของแบบยกเว้นภาษีสำหรับผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นนั้นยังมีอยู่ตามเดิม ให้สังเกตจากป้ายหน้าร้านว่าร้านไหนมีการยกเว้นภาษี โดยยอดรวมสินค้าที่ซื้อต้องไม่ต่ำกว่า 5,500 เยนก่อนบวกภาษี สังเกตว่าเดี๋ยวนี้ร้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยเย็บกระดาษติดไว้ในพาสปอร์ตเรา เพื่อให้เอาไปยื่นที่ด่านศุลกากรก่อนออกจากญี่ปุ่นอย่างเมื่อก่อนแล้ว แต่ก็ยังมีร้านที่ทำแบบเดิมอยู่บ้าง

เดี๋ยวนี้ร้านสะดวกซื้อและร้านร้อยเยนบางแห่งมีเครื่องให้ชำระเงินด้วยตัวเอง โดยเราหยิบสินค้าสแกนทีละชิ้น และจ่ายด้วยเงินสด บัตรเครดิต หรือบัตรเติมเงิน เป็นต้น สะดวกรวดเร็วมาก แต่ดูเหมือนคนญี่ปุ่นจะยังชอบระบบเก่ามากกว่าหรืออย่างไรไม่แน่ชัด คนส่วนใหญ่จึงไปต่อคิวให้พนักงานคิดเงินให้ ทั้งที่จุดชำระเงินด้วยตัวเองว่าง

นอกจากนี้ ฉันยังแนะนำให้เอาถุงผ้าติดตัวไปด้วยเสมอระหว่างเดินทาง เพราะญี่ปุ่นก็ไม่มีการให้ถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา หรือร้านเสื้อผ้า เขาจะถามว่าเอาถุงไหม ถ้าจะเอาก็คือมีค่าถุงเพิ่มขึ้นมาอีก

ตอนจะกลับอเมริกา เรานั่งสายการบินของอเมริกา กัปตันประกาศว่า “เราเป็นสายการบินอเมริกา พวกคุณกำลังจะไปอยู่บนผืนแผ่นดินอเมริกา เพราะฉะนั้นพวกคุณไม่ต้องใส่หน้ากาก ขอให้สำราญกับการไม่ต้องใส่หน้ากากนะครับ” จากนั้นก็มีแอร์โฮสเตสชาวญี่ปุ่นมาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเธอแปลส่วนอื่น ๆ ทั้งหมด ยกเว้นเรื่องที่ว่าไม่ต้องใส่หน้ากากก็ได้ ฉันกับสามีก็หันมามองหน้าขำ ๆ เพราะทราบดีว่ามุมมองสาธารณะต่อเรื่องการสวมหน้ากากของสองประเทศนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ส่วนตอนที่เครื่องใกล้จะลง กัปตันก็ย้ำอีกครั้งว่า “สหรัฐ ฯ ไม่บังคับสวมหน้ากาก คุณไม่จำเป็นต้องสวมก็ได้ แอร์โฮสเตสญี่ปุ่นก็แปลให้ว่า “ทางการสหรัฐ ฯ ไม่บังคับสวมหน้ากาก แต่ถ้าคุณกังวล คุณก็สามารถสวมหน้ากากได้” ฟังแล้วชักสงสัยว่าไม่ถูกกันส่วนตัวหรือเปล่า

จากทั้งหมดที่เห็นมาทำให้รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นยังคงเฝ้าระวังโควิดกันค่อนข้างมากอยู่ แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก็คือแม้ว่าคนญี่ปุ่นส่วนมากจะยังคงสวมหน้ากาก แต่อัตราผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นเองก็เพิ่มสูงมากอยู่ดีในช่วงที่ผ่านมา และเป็นช่วงที่แทบไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียด้วย เพียงแต่ต่อไปถ้าคนต่างชาติเข้ามาเยอะ คนญี่ปุ่นก็อาจกังวลเรื่องโควิดมากขึ้น และอาจตำหนิคนต่างชาติที่ไม่สวมหน้ากากหรือไม่ค่อยเคร่งครัดเรื่องโควิดแบบคนญี่ปุ่นก็เป็นได้

ถ้าเพื่อนผู้อ่านไปเที่ยวญี่ปุ่นหลังจากนี้ อย่าลืมเล่าให้ฟังนะคะว่าเป็นอย่างไรบ้าง แล้วพบกันสัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.



กำลังโหลดความคิดเห็น