xs
xsm
sm
md
lg

คนญี่ปุ่นงง ทำไมขนมค่อยๆ ชิ้นเล็กลงเรื่อยๆ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ปกติที่ญี่ปุ่นจะเลื่อนชั้นเรียนเข้าสู่ปีการศึกษาใหม่ประจำปี และมีช่วงเวลารับพนักงานเข้าทำงานใหม่ในวันที่ 1 เมษายนของทุกปี รวมไปถึงเรื่องงบประมาณของรัฐบาลก็เริ่มต้นที่เดือนเมษายนเช่นกัน ต่อจากนั้นช่วงที่มักจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือมีการโยกย้ายตำแหน่งการทำงานต่างๆ ก็ราวๆ เดือนตุลาคมนี่แหละครับ


ซึ่งเดือนตุลาคมปีนี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะมาก ประเด็นหนึ่งที่กำลังพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นคือ เรื่องราคาสินค้าที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้นหลายรายการ เป็นที่ทราบกันว่าเศรษฐกิจของโลกรวมทั้งประเทศญี่ปุ่นไม่ค่อยจะสู้ดีนักจากผลกระทบจากหลายเหตุการณ์ในโลก ท่ามกลางสภาวะที่บริษัทต่างๆ ต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องพยายามหาทางปรับตัวเพื่อการอยู่รอดโดยการลดต้นทุนภายในบริษัทบ้าง และใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อลดต้นทุนของสินค้ากันเรื่อยๆ จนบางครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัวว่าจริงๆ แล้วก่อนหน้านี้มีสินค้าหลายรายการลดปริมาณลงจากเดิม ถึงแม้เราจะจ่ายเงินเท่าเดิม แต่เรากลับได้ของน้อยลงกว่าเดิม


วันนี้ผมจะยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ถูกพูดถึงในโลกโซเชียลมีเดียของญี่ปุ่น นั่นคือขนม Country Ma'am คันทรี มาม เป็นซอฟท์ คุกกี้ มีหลายรสชาติ เช่น วานิลลาโกโก้ ช็อกโกแล็ตชิป เป็นต้น เป็นคุกกี้ที่หลายคนชื่นชอบ รับประทานได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ คิดว่าเพื่อนๆ อาจจะเคยเห็นตามซูเปอร์มาร์เก็ตของญี่ปุ่น และอาจจะเคยซื้อมาเป็นของฝาก เพราะเป็นขนมคุกกี้ที่บรรจุแยกชิ้นสามารถนำมาแบ่งเพื่อนๆ ได้หลายคน


ในบทความพูดว่า ถ้าพอจำได้สมัยก่อนจะชิ้นใหญ่กว่านี้ และในหนึ่งแพ็คมีจำนวนชิ้นมากกว่านี้ ทำไมขนมค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ! แบบนี้แล้ว Country Ma'am ในปี 2040 จะเป็นอย่างไร?

คันทรี มาม ซอฟท์ คุกกี้ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกในปี 1984 ในภาพคุกกี้โฮมเมดของแม่ชาวอเมริกัน เป็นคุกกี้ชนิดนุ่ม ครั้งแรกๆ ผู้บริโภคจะเห็นคือในหนึ่งแพ็คเกจมี คันทรี มาม 30 ชิ้นต่อถุงในปี 2005, มี 28 ชิ้น ในปี 2007, มี 24 ชิ้นในปี 2008, และ 20 ชิ้นตั้งแต่ปี 2014! นอกจากนี้ น้ําหนักต่อชิ้นคือ 11 กรัม ในปี 2005 แต่ลดลงเหลือ 10 กรัมในปี 2016


บทความพูดถึงตรงนี้ก็มีคนมาแสดงความคิดเห็นว่า “เป็นคุณแม่( Ma'am มาม) ที่มีรอยยิ้มใจดีบนใบหน้าของเธอเสมอ แต่ฉันเดาว่ามีเธอน่าจะเจอวิกฤตที่รุนแรงเกี่ยวกับงบประมาณของครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังแน่นอน...”

ไม่ใช่แค่คันทรี มาม แต่ดูเหมือนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็มีการลดขนาดและปริมาณลงด้วย เช่น มันฝรั่งทอดของคาลบี้ ซึ่งมีปริมาณลดลง หรือ “การิการิคุง” ที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นจาก 60 เยนเป็น 70 เยนในปี 2016 ตอนนั้นปริมาณ 110 มล. และปริมาณลดลงเหลือ 105 มล. ในปี 2020


การลดปริมาณสินค้า / ลดขนาดผลิตภัณฑ์แต่ราคาไว้เหมือนเดิม เพื่อลดต้นทุนสำหรับผู้ผลิต คือเทคนิคหรือกลยุทธ์หนึ่งในการคงกำไรให้ธุรกิจ เรียกว่าเทคนิค "shrinkflation การหดตัว" นอกจากนี้ยังมีคําศัพท์ในทางการตลาดที่ว่า "skimpflation" ก็ถือกําเนิดขึ้นมาเช่นกัน เป็น "บริการ" ที่ถูกละเลย การปฏิบัติด้วยวิธีนี้เป็นสัญญาณว่าคุณภาพของบริการที่มีให้จะลดลงในราคาคงที่.. ซึ่งกำลังเป็นความกังวลว่าจะมีผลกระทบอย่างมากต่อวัฒนธรรมการต้อนรับและงานบริการในญี่ปุ่น


เดือนตุลาคมนี้ราคาสินค้าและอาหารจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น มายองเนส แฮมและไส้กรอก ราคาเบียร์และน้ําอัดลมก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน และประมาณหนึ่งในสามของรายการ มากกว่า 20,000 รายการที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และผู้ผลิตจะดําเนินการเพื่อ "ขึ้นราคาจริง" และอาจขึ้นราคาโดยลดปริมาณลง!! ด้วย


แม้ว่าการลดปริมาณแต่ราคาเท่าเดิมนั้น อาจจะไม่ค่อยมีผลกระทบกับผู้สูงอายุนัก เพราะบางคนก็ไม่ต้องการกินอะไรปริมาณมาก แต่ว่าแรงงานหรือคนวัยหนุ่มสาวเยาวชน พนักงานบริษัทต่างๆ ที่ยังต้องใช้แรงงานทำการทำงานมาเจอข้าวกล่องปริมาณน้อย บางทีดูภายนอกเหมือนปริมาณเท่าเดิมนะแต่กลายเป็นว่าร้านทำให้เป็นรูปแบบอาร์ตๆ ฐานสูง ข้างในกลวงบ้าง หรือรูปแบบแปลกๆ บ้าง ถ้าให้เทียบปริมาณแล้วลดลงแน่นอน การที่ปริมาณอาหารต่างๆ ลดลง เขาไม่พอกิน ทำให้ต้องซื้อมากกว่าเดิมจากทีแรกเคยซื้อหนึ่งกล่องก็อิ่ม แต่ถ้าต้องซื้อสองกล่องก็ต้องใช้เงินมากกว่าเดิมด้วย ซึ่งตรงนี้มีเสียงสะท้อนออกมามากเหมือนกัน


แน่นอนว่าเราเคยเห็นขนมบางรายการที่เคยจำได้ว่าเมื่อก่อนชิ้นใหญ่กว่านี้ เมื่อก่อนเคยได้เยอะกว่านี้ใช่ไหม ผู้บริโภคหลายคนก็รู้สึกแบบนี้เหมือนกัน ถ้าถามว่าทำไมหลายธุรกิจจึงเลือกใช้เทคนิค "ลดปริมาณ" แทนการ "ขึ้นราคา" ก็คงเพราะถ้าสินค้าราคาเดิมจะส่งผลกระทบกับความรู้สึกของลูกค้าและการตัดสินใจซื้อน้อยกว่าการประกาศขึ้นราคาสินค้านั่นเอง แต่ก็อย่าลดปริมาณมากจนลูกค้าเสียความรู้สึกนะครับ และเพื่อนๆ ละครับ ถ้าให้เลือกระหว่างให้สินค้าปรับราคาสูงขึ้นในปริมาณเดิม กับลดปริมาณลงแต่ราคาเท่าเดิม เพื่อนๆ คิดว่าอยากให้เป็นแบบไหนมากกว่ากันครับ วันนี้สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น