สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว เพื่อนๆ เคยทำงานในองค์กรหรือบริษัทญี่ปุ่นไหมครับ คิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีเรื่องอะไรที่ชอบและไม่ชอบบ้าง แต่ถ้ามองในแง่ดีก็มีเรื่องดีๆ หลายเรื่องเหมือนกันนะครับ ระบบหนึ่งที่มีในองค์กรหรือบริษัทญี่ปุ่นคือพนักงานสามารถทำงานกันได้ยาวนานไปจนเกษียณอายุทำงานเลยทีเดียว สามารถไต่เต้าไปตามระดับอาวุโส จะได้เรียนรู้งานไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เริ่มเข้างานและอาจจะได้หมุนเวียนไปแผนกต่างๆ เพื่อเรียนรู้งาน และเมื่อมีอายุมากขึ้น มีประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้นก็จะได้รับการเลื่อนขั้นให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ ถ้ามองในแง่ดีก็คือเด็กที่เข้ามาทำงานจะได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคนิคต่างๆ จากรุ่นพี่เพื่อที่จะปลูกฝังให้เขาได้ไต่เต้าและเติบโตขึ้นมาในองค์กรในรุ่นต่อๆ ไป
ซึ่งพนักงานที่เข้ามาเป็นเด็กใหม่ในองค์กรก็จะได้รับความปลอดภัยและอุ่นใจได้ว่าเขาจะสามารถทำงานในบริษัทนี้ไปได้เรื่อยๆ ไม่ค่อยมีใครโดนไล่ออก (ถ้าไม่ทำผิดกฎระเบียบร้ายแรงหรือถ้าบริษัทไม่ล้มละลายไปเสียก่อน) ทว่าข้อเสียของระบบนี้ก็มีคือ แม้ว่าเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานจะเก่งมากๆ หรือมีความคิดความสามารถมากก็จะไม่สามารถแซงขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้แบบทันทีทันใด เขาจะไม่สามารถเลื่อนขั้นก้าวข้ามหน้าข้ามตาคนที่ทำงานมานานกว่าเพื่อขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้าได้ ซึ่งก็เข้าใจความรู้สึกของคนเก่งเหล่านี้นะครับ
มีแหล่งข่าวกล่าวว่าเด็กจบใหม่ในหลายๆ ประเทศ แถบประเทศตะวันตกมีอัตราการตกงานและหางานทำไม่ได้เยอะมาก แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้วเด็กจบใหม่คือเป้าหมายของบริษัทต่างๆ ที่จะนำบุคลากรรุ่นใหม่เหล่านั้น เข้าไปเรียนรู้งานและพัฒนาให้เป็นคนของบริษัทในรุ่นต่อๆ ไปกันเลยทีเดียว จึงทำให้เด็กจบใหม่ต้องแย่งชิงกันเข้าทำงานบริษัทใหญ่ๆ และสวัสดิการดีๆ คือ ถ้าเด็กใหม่คนใดได้ผ่านเข้าไปทำงานบริษัทใหญ่ๆ และมีสวัสดิการดีๆ ก็จะได้ทำงานที่นั่นตลอดไป และปัจจุบันนี้ แม้ว่าคนที่เคยทำงานบริษัทใหญ่ๆ มีชื่อเสียงอาจจะยังพอมีโอกาสลาออกและย้ายไปสมัครทำงานบริษัทเล็กๆ ได้บ้างแต่ก็ไม่มากนัก ตรงข้ามกับคนที่ทำงานบริษัทเล็กๆ บางทีก็เสียเปรียบตรงที่ไม่สามารถย้ายไปสมัครงานบริษัทใหญ่ๆ ได้อีก สมมุติว่าพนักงานทำงานไม่ไหวจริงๆ อยากจะลาออก แต่เมื่อทำงานที่บริษัทใดๆ นั้นจนกระทั่งเวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้วเขาจะไม่สามารถไปสมัครงานใหม่หรือเข้าไปทำงานในบริษัทใหญ่ๆ บริษัทอื่นๆ ได้อีก
สามารถพูดได้เลยครับว่าระบบการทำงานขององค์กรญี่ปุ่นจะค่อนข้างแตกต่างจากที่เราทราบกัน ที่เมืองไทยอาจจะนิยมทำงานเพื่อหาประสบการณ์ 2-3 ปีแล้วย้ายงาน ย้ายบริษัทเพื่ออัพเงินเดือนไปเรื่อยๆ แต่ที่ญี่ปุ่น 99% แทบจะไม่เป็นแบบนี้เลย (●´ω`●)ดังนั้นผู้สําเร็จการศึกษาใหม่จะมีความกดดันในการแย่งชิงกันเข้าทำงานมากเพราะต่างก็คิดว่าเป็นโอกาสเดียวในชีวิตในการหางานทํา เหมือนเป็นโอกาสแรกและครั้งสุดท้ายสําหรับผู้สําเร็จการศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่บริษัทที่ใหญ่และมีสวัสดิการที่ดี
ดังนั้นจะเห็นว่าคนต่างชาติไม่ว่าจะเป็นคนชาติตะวันตกหรือคนชาติไหนก็ตาม หลายคนที่ไม่สามารถอดทนทำงานในองค์กรญี่ปุ่นได้นาน เพราะไม่ได้มีมุมมองที่จะต้องทำงานบริษัทใดบริษัทหนึ่งบริษัทเดิมไปตลอดชีวิต และเงินเดือนที่เขาได้รับก็อาจจะไม่ได้สูงมากเท่าไหร่ ชาวต่างชาติที่มีทักษะและประสบการณ์ เป็นบุคคลที่มีความคิดความสามารถจึงเลือกที่จะทำงานในองค์กรต่างประเทศเสียมากกว่าองค์กรธุรกิจญี่ปุ่น
ผมได้อ่านเรื่องที่คนต่างชาติคนหนึ่งเขียนแชร์ในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค จึงอยากยกตัวอย่างเรื่องที่คนต่างชาติคนนั้นไม่เข้าใจว่าทำไมองค์กรญี่ปุ่นจึงเป็นแบบนี้ เป็นประเด็นที่มีคนเข้ามาพูดคุยกันกว้างขวางทีเดียวครับ
เขาบอกว่าการมาถึงที่ทำงานก่อนเวลาเข้างาน 5 นาที โดนหัวหน้าดุว่า
"มาสายเกินไปแล้ว!! ต้องมาก่อนเข้างาน 30 นาที" แต่เมื่อพนักงานทำงานเกินเวลา 5 ชั่วโมง แถมไม่ได้เงินค่าแรง บริษัทบอกไม่เป็นไร!?
การทำงานล่วงเวลา หรือการทำ OT ถือเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องพบเจออยู่บ่อยๆ
และที่ญี่ปุ่นมีคำว่า service zangyo サービス残業 เป็นการทํางานล่วงเวลาที่ไม่ได้รับค่าจ้าง!! เช่น อยู่ทำงานต่อให้เสร็จจนดึกดื่น และทำงานในวันหยุดของตัวเอง เป็นต้น ที่จริงแล้วชั่วโมงการทํางานของพนักงานถูกกําหนดโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงาน แต่การทํางานล่วงเวลาแบบ service zangyo เป็นโซนสีเทาที่นอกเหนือจากข้อกําหนดที่ว่าให้นายจ้าง "จ่ายค่าจ้างเพิ่มเติมสําหรับงานล่วงเวลา" ที่กําหนดไว้ในมาตรา 37 วรรค 1 ของพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงาน
นอกจากนี้ service zangyo (การทํางานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง) ยังมีในทุกอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรที่เกี่ยวกับการศึกษา, ธุรกิจสนับสนุนการเรียนรู้, อุตสาหกรรมบริการด้านอาหาร หรือร้านอาหารต่างๆ และบริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เช่น โรงพยาบาล สถานดูแลผู้ป่วย ฯลฯ และอีกมากมาย พูดไปก็เหมือนกับการบริจาคแรงงานเพื่อทุ่มเทให้กับบริษัทโดยที่ไม่ได้รับค่าจ้างแรงงานนอกเวลาซึ่งเรื่องนี้มีจริงๆ ในบริษัทและองค์กรญี่ปุ่นครับ
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่คนต่างชาติไม่เข้าใจ แม้แต่ตัวผมเองถึงจะเป็นคนญี่ปุ่นผมก็มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมยังไม่เข้าใจนักนั่นก็คือ ในองค์กรญี่ปุ่นที่มีรุ่นพี่ที่ที่ทำงานมานานแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่สมัยที่รุ่นนั้นเริ่มทำงานพวกเขาจะจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาแต่ว่าได้ทำงานจนมีทักษะการเรียนรู้ของบริษัทและมีประสบการณ์จนไต่เต้าเป็นระดับผู้บริหารแต่เมื่อมีเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่จบมหาวิทยาลัยเข้าไปทำงาน ก็จะมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นคือ เด็กมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่คุยกับคนรุ่นลุงระดับผู้บริหารไม่รู้เรื่อง!! (คุยกันไม่รู้เรื่องจริงๆ ) อันนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในหลายองค์กรในบริษัทญี่ปุ่น เพื่อนๆ เคยเจอไหมครับ วันนี้เล่าสู่กันฟัง สวัสดีครับ