xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะมาเป็นโถสุขาอุ่น ๆ ของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก rinto.life
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน สิ่งหนึ่งที่คนต่างชาติรู้สึกทึ่งเกี่ยวกับญี่ปุ่นก็คงเป็น โถสุขา ที่มีฟังก์ชันแห่งความสะดวกครบครัน ทั้งฝาครอบโถที่เปิดปิดอัตโนมัติ โถนั่งอุ่น ๆ ปุ่มกดฉีดน้ำอุ่นชำระล้าง และซาวน์เอ็กเฟ็คต์ปิดบังเสียงระหว่างทำธุระ แต่ก่อนสิ่งนี้จะพัฒนามาเป็นสิ่งประดิษฐ์อันเลิศหรูแห่งญี่ปุ่นได้ ญี่ปุ่นก็เคยผ่านช่วงที่ห้องน้ำไม่สะดวกสบายมาก่อนเหมือนกัน

ปัจจุบันคนญี่ปุ่นเรียกห้องน้ำว่า “โทอิเระ” (トイレ) ซึ่งคาดว่าคงทับศัพท์มาจาก “toilet” ในภาษาอังกฤษ และถ้าเรียกให้สุภาพก็เป็น “โอะ-เทะ-อา-ไร” (お手洗い) แต่บางแห่งก็เรียกห้องน้ำว่าเป็น “ข่าว้ายะ” (厠) ซึ่งให้ความหมายว่าเป็นห้องน้ำที่อยู่นอกตัวบ้านหรืออาคาร บางทีก็หมายถึงห้องน้ำที่ยื่นออกไปในแม่น้ำแบบโบราณได้ด้วย

ห้องน้ำแบบที่ยื่นออกไปในแม่น้ำแบบโบราณบางทีก็เขียนด้วยตัวอักษร “川屋” อ่านว่า “ข่าว้ายะ” เหมือนกัน แต่ให้ความหมายชัดเจนว่าเป็นเพิงที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เวลาขับถ่ายอะไรก็ลงแม่น้ำไป ว่ากันว่าห้องน้ำแบบนี้เป็นห้องน้ำที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น และคาดว่ามีมาตั้งแต่ต้นยุคโจมง (ประมาณ 13,000 ปีก่อนคริสตศักราช) โดยพบหลักฐานโครงไม้กระดานที่ยื่นไปเหนือแม่น้ำซึ่งพบในจังหวัดฟุคุอิ ตอนแรกคาดกันว่ามันคงเป็นสะพาน แต่ภายหลังมีการยืนยันว่าเป็นห้องน้ำโบราณ และยังพบฟอสซิลอุจจาระข้างแม่น้ำในบางแห่งด้วย

ห้องน้ำโบราณแบบขุดคูน้ำเข้ามาในเขตรั้ว ภาพจาก biz-lixil.com
ในยุคอาซุกะถึงยุคนารา (ปลายศตวรรษที่ 7-8) มีการขุดคูคลองเข้ามาในเขตรั้วเพื่อใช้เป็นห้องน้ำ และต่อมายังมีการสร้างห้องน้ำแบบที่มีน้ำไว้ให้ราดหลังการใช้งานด้วย รวมทั้งมีก้านไม้วางไว้ให้สำหรับเช็ดทำความสะอาดตัวเองหลังใช้ ได้ยินแล้วแอบตกใจ แต่ก็เพิ่งทราบมาว่าคนไทยสมัยโบราณก็ใช้วิธีเดียวกัน หรือไม่ก็ใช้ใบไม้ ได้ยินว่ายุคนี้ก็ยังมีคนไทยที่ใช้วิธีนี้อยู่บ้างเหมือนกันในชนบทบางแห่ง

พูดถึงเรื่องเช็ดก้นแล้ว นึกได้ว่าเคยคุยกับกลุ่มคนลาวที่โตในอเมริกาซึ่งพูดไทยเก่งมาก ฉันถามว่าทำไมพูดไทยเก่งขนาดนี้ เขาเล่าว่าดูละครไทยเยอะ แล้วเขาก็เปรยว่า “คนไทยใช้คำพูดกันสุภาพนะ ไม่เหมือนคนลาว” ฉันแปลกใจเพราะรู้สึกว่าภาษาลาวอ่อนหวานน่าฟังออก จะไม่สุภาพได้อย่างไร เขาบอกว่า “ก็กระดาษทิชชูม้วนที่เอามาตั้งโต๊ะกินข้าวเนี่ย คนไทยเรียกว่า ‘กระดาษทิชชู’ ถูกไหม” ฉันพยักหน้า เขาเล่าต่อ “แต่ของลาวเรียกกันโต้ง ๆ เลยว่า ‘กระดาษปาดก้น’ ทั้ง ๆ ที่เอามันมาใช้เช็ดปากบนโต๊ะอาหาร” ฉันหัวเราะชอบใจในความตรงไปตรงมาของการประดิษฐ์คำในภาษาลาว ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกว่าภาษาลาวและคนลาวน่ารักดี

ห้องน้ำโบราณแบบใช้น้ำราด (ในอาคาร) ภาพจาก ranhaku.com

ห้องน้ำโบราณแบบใช้น้ำราด (ภายนอกอาคาร) ภาพจาก shirobito.jp
ต่อมาในสมัยเฮอัน (ศตวรรษที่ 8-12) ชนชั้นสูงมีการใช้ห้องน้ำแบบพกพาที่มีลักษณะคล้ายกล่อง เรียกว่า “ฮิ-โด-โนะ”(樋殿)
หรือ “ฮิ-โนะ-ฮะ-โกะ” (樋筥) โดยจะวางกล่องนี้ไว้ใต้พื้นห้องที่เจาะเป็นร่องไว้

พอเสร็จธุระ คนรับใช้ก็จะนำไปทำความสะอาด และมีหมอที่คอยตรวจสอบสุขภาพของชนชั้นสูงเหล่านี้ด้วยการตรวจสอบสิ่งที่ขับถ่ายออกมา

ส่วนเวลาสตรีชั้นสูงจะใช้ห้องน้ำ สาวใช้ก็จะตามมาด้วยเพื่อช่วยยกชายกิโมโน 12 ชั้นขึ้นวางบนแท่น พอเสร็จธุระ ก็ช่วยยกชายกิโมโนลงให้ ห้องน้ำแบบนี้ชนชั้นสูงใช้กันมาจนถึงปลายยุคเอโดะ ส่วนประชาชนทั่วไปไม่มีห้องน้ำแบบนี้ ก็จะอาศัยพื้นที่ข้างถนนหรือตามแม่น้ำเอาตามสะดวก

ภาพจาก radonna.biz
และตั้งแต่ยุคคามาคุระ (ศตวรรษที่ 12) จนถึงยุคเอโดะ (ศตวรรษที่ 17-19) มีการใช้ของเสียจากการขับถ่ายไปเป็นปุ๋ยสำหรับการเกษตร จึงมีการสร้างห้องน้ำสาธารณะเพื่อเก็บสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ เมื่อการขับถ่ายข้างทางลดลงบ้านเมืองจึงสะอาดขึ้น จนคณะเยซูอิตที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสค์ในญี่ปุ่นยุคเซ็งโงขุ (ยุคสงครามกลางเมือง) ไปจนถึงปลายสมัยเอโดะถึงกับกล่าวไว้ในบันทึกว่าบ้านเมืองญี่ปุ่นสะอาดมาก

ในยุคเอโดะถึงยุคเมจิ (ครึ่งหลังศตวรรษที่ 17 - ต้นศตวรรษที่ 20) จะใช้ห้องน้ำดังรูปด้านล่างนี้ สิ่งที่ขับถ่ายออกมาจะถูกกักเก็บไว้ในถังใต้โถสุขานั้นเอง แล้วใช้เป็นปุ๋ยการเกษตร

ห้องน้ำยุคเอโดะถึงยุคเมจิ ภาพจาก radonna.biz
ในต้นยุคเมจิ (ครึ่งหลังศตวรรษที่ 19) เริ่มมีการใช้โถสุขาเซรามิก เนื่องจากแบบเดิมที่เป็นไม้นั้นผุพังได้ง่าย แรกเริ่มยังทำเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบเดิม ต่อมาหันมาใช้โถแบบโค้งมน ส่วนโถทางซ้ายเป็นโถถ่ายเบาสำหรับผู้ชาย

โถสุขายุคเมจิ ภาพจาก radonna.biz
และต่อมาในยุคไทโช (ค.ศ. 1912-1926) ก็เริ่มมีการใช้สุขาแบบที่มีการบำบัดน้ำเสีย แต่กว่าถังบำบัดน้ำเสียจะมีการใช้แพร่หลายก็หลังยุคสงครามโลกแล้ว โดยบริษัทโทโยโทกิ (ปัจจุบันคือ TOTO) ได้ผลิตโถสุขาแบบนั่งยอง ๆ และมีชักโครก แต่ช่วงแรกระบบบำบัดน้ำเสียยังไม่แพร่หลาย สุขาแบบนี้จึงมีเฉพาะในสถานที่หรูหราหรือเป็นทางการเท่านั้น

ในยุค 1970 ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเติบโตนั้น การใช้สุขาแบบชักโครกเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีทั้งแบบนั่งยอง ๆ และแบบนั่งบนฝา สำหรับสุขาชักโครกแบบฝรั่งที่มีน้ำอุ่นฉีดออกมานั้น แต่เดิมสหรัฐคิดค้นขึ้นเพื่อใช้ในการแพทย์ พอญี่ปุ่นนำเข้ามาขายก็มีการต่อยอดพัฒนาจนกลายเป็นโถสุขาไฮเทค มีเซนเซอร์และปุ่มกดทำอะไรได้หลายอย่าง รวมถึงสามารถดับกลิ่นและฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติได้ด้วย กลายเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นไปแล้ว ปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้โถสุขาไฮเทคกันทั้งตามบ้านเรือนและในที่สาธารณะ แต่ก็ยังอาจพบโถสุขาแบบนั่งยอง ๆ ได้ในบางแห่ง

ห้องน้ำบางแห่งมีโถสุขาทั้งสองแบบ ภาพจาก tatsuya-ryokan.com
ทำไมตะวันตกไม่นิยมใช้โถสุขาอุ่นแบบญี่ปุ่น

ฉันกับสามีเคยสงสัยว่าทำไมประเทศตะวันตกไม่มีโถสุขาอุ่นไฮเทคแบบญี่ปุ่น ทั้งที่ต่างชาติก็ดูออกจะทึ่งกัน แล้วมันก็น่าจะขายดี พอไปค้นหาข้อมูลแล้วก็พบว่าเหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ บ้านญี่ปุ่นหนาวเย็นในฤดูหนาว เพราะเปิดเครื่องทำความอุ่นเฉพาะในห้องที่ใช้งานประจำเท่านั้น หรือไม่ก็ใช้เครื่องทำความร้อนเครื่องเล็ก ๆ ตั้งไว้เฉพาะจุด อย่างที่บ้านเกิดของสามีฉันจะเปิดเครื่องทำความร้อนเฉพาะในห้องนั่งเล่น พอเดินออกจากห้องก็จะหนาวมากจนแทบจะเต้นไปตามทางเดิน จะอาบน้ำทีก็ตัวสั่นงันงก จะเข้านอนก็หนาวสั่นอีก 

บางทีคนญี่ปุ่นก็ใช้ผ้าห่มไฟฟ้าเพื่อให้ความอุ่นเวลานอนแทนเครื่องทำความร้อน พอออกจากที่นอนก็จะหนาวจนไม่อยากลุก เพราะบ้านหนาวอย่างนี้เอง พอนั่งลงกับโถสุขาที่ไม่อุ่นก็จะสะดุ้ง ดังนั้นหากบ้านไหนหรือร้านอาหารใดไม่มีโถสุขาอุ่นก็จะใช้ผ้านุ่ม ๆ สำหรับคลุมฝาโถคลุมไว้ เพื่อไม่ให้นั่งแล้วเย็นเยียบ แต่บางที่ซึ่งมีโถอุ่นก็ยังใช้ผ้าคลุมอีกชั้น ก็จะรู้สึกสบายยิ่งขึ้น

ในทางตรงกันข้ามยุโรปหรืออเมริกาดูจะนิยมใช้เครื่องทำความร้อนแบบที่ให้ความอุ่นทั่วทั้งบ้าน (central heat) ทำให้ไม่มีส่วนไหนของบ้านที่หนาวจนรู้สึกไม่สบายตัว ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้โถสุขาอุ่นหรือน้ำอุ่นฉีด นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีกเช่น แบรนด์ของญี่ปุ่นยังตีตลาดแบรนด์ท้องถิ่นไม่ได้ หรือยุโรปมีสิ่งปลูกสร้างโบราณที่อนุรักษ์ไว้ไม่ให้ทุบทิ้งหรือสร้างใหม่ จึงไม่เอื้อต่อการติดตั้งโถสุขาญี่ปุ่น และทั้งยุโรปและอเมริกาก็นิยมห้องอาบน้ำและห้องสุขาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน การใช้โถสุขาญี่ปุ่นที่ต้องใช้ไฟฟ้าจึงอาจเสี่ยงโดนน้ำเสียหาย เป็นต้น

“Radiator” เครื่องทำความร้อนแบบอุ่นทั่วบ้านประเภทหนึ่ง ติดไว้หลายจุดในบ้าน พอเปิดแล้วทุกเครื่องจะทำงานพร้อมกัน
ห้องน้ำสาธารณะญี่ปุ่น VS อเมริกา

ห้องน้ำสาธารณะมักมีภาพว่าไม่สะอาด แต่ห้องน้ำสาธารณะของญี่ปุ่นหลายแห่งสะอาดมาก และหันมาใช้โถสุขาอุ่นแทนที่โถแบบนั่งยอง ๆ เยอะขึ้นมาก ห้องน้ำส่วนใหญ่จะมีที่ให้แขวนกระเป๋า มีที่ให้วางข้าวของอยู่ด้านหลังโถ ที่นั่งสำหรับเด็กทารกที่มาด้วย รวมถึงแท่นสำหรับยืนเปลี่ยนเสื้อผ้าในห้องน้ำ ทำให้ไม่ต้องยืนกับพื้นส่วนที่ไม่ค่อยสะอาด และอาจมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ให้อีก

แต่พอไปห้องน้ำสาธารณะอเมริกาแล้วจะรู้สึกไม่สะดวกเท่าไหร่ โดยเฉพาะมักไม่มีที่ให้แขวนกระเป๋าหรือวางของ เห็นหลายคนเวลาเข้าห้องน้ำก็เอากระเป๋าวางกับพื้นซึ่งฉันรู้สึกว่ามันน่าจะสกปรกออก แถมที่น่าตกใจคือมีช่องว่างระหว่างบานประตูกับขอบประตูเกือบ 1 ซม. ถ้าเดินผ่านไปมาก็สามารถมองเห็นคนข้างในได้ แต่ก็ยังดีว่าคนเขาไม่ได้ต่อแถวกันหน้าห้อง ไม่อย่างนั้นคงประดักประเดิดน่าดู

ส่วนที่ดีของห้องน้ำสาธารณะในอเมริกาคือ มักจะมีกระดาษให้วางบนฝาโถเหมือนบนเครื่องบิน แต่หลายแห่งเซนเซอร์ทำงานดีเกินเหตุ พอวางกระดาษบนฝาโถเสร็จ เซนเซอร์ก็สั่งให้ชักโครกทำงาน เลยดูดเอากระดาษที่เพิ่งวางลงไปด้วย บางทีเลยหัวเสียด้วยเรื่องกระดาษวางฝาโถนี่เอง เพราะต้องวางกันใหม่อีกรอบสองรอบ

วันนี้ขอลาไปก่อนนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ..

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น