xs
xsm
sm
md
lg

ขำขันกับเรื่อง "หน้าแตก" แบบญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก woman.mynavi.jp/
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ช่วงที่ฉันยังไม่คุ้นเคยกับญี่ปุ่นมากนัก มีหลายเรื่องที่ทำไม่เหมือนชาวบ้านเขาด้วยความไม่รู้ หรือบางทีก็มาจากความไม่เข้าใจภาษา เลยหน้าแตกมาหลายหน บางอย่างกลายเป็นความรู้ประดับสมอง ในขณะที่บางอย่างก็เป็นเรื่องชวนขำไปแทน

คนญี่ปุ่นไม่ค่อยคลุกอาหารในจาน

จังหวัดฮิโรชิมามีอาหารขึ้นชื่ออย่างหนึ่งคือ “โอโคโนมิยากิ” (お好み焼き) หรือที่คนไทยเรียกว่าเป็น “พิซซ่าญี่ปุ่น” แต่โอโคโนมิยากิของฮิโรชิมาไม่ได้เป็นก้อนแป้งแบบโอโคโนมิยากิของภูมิภาคคันไซ แต่ทำจากเส้นยากิโซบะเป็นหลัก และปกติจะไม่ใส่มายองเนสแบบคันไซ แต่เดี๋ยวนี้คนที่หันมาใส่มายองเนสก็มีเยอะขึ้น ซอสแบบคันไซกับฮิโรชิมาก็คนละรสกัน และซอสโอโคโนมิยากิของฮิโรชิมาก็เป็นของขึ้นชื่ออย่างหนึ่งด้วย ทำให้บางคนซื้อไปเป็นของฝากกัน

ตอนที่ฉันรับประทานโอโคโนมิยากิแบบฮิโรชิมาครั้งแรก รู้สึกแปลก ๆ เพราะคุ้นเคยกับแบบคันไซ และด้วยความที่มันเป็นเส้น พอใส่ซอสอะไรเรียบร้อยแล้ว ฉันก็เอาตะเกียบคลุกแบบเดียวกับเวลารับประทานก๋วยเตี๋ยวแห้งที่ไทย ที่พอปรุงเสร็จแล้วก็ต้องคลุก พอเหลือบไปเห็นคนอื่นเขาไม่คลุกกัน ก็ถามด้วยความแปลกใจว่า อ้าว…ไม่คลุกเหรอ เพื่อนก็ส่ายศีรษะ มองโอโคโนมิยากิในจานของฉันโดยไม่พูดอะไร

ภาพจาก okonomi.co.jp
ใจฉันตอนนั้นอยากแย้งว่าถ้าไม่คลุกแล้วรสชาติจะเข้ากันทั่วถึงได้อย่างไร แต่ก็อดทนไม่คลุกตามความเคยชินเหมือนเวลารับประทานก๋วยเตี๋ยวแห้ง พอชินแล้ว ต่อมาก็รู้สึกเป็นปกติไปเองที่ไม่คลุก ส่วนเวลาฉันทำเกี๊ยวแห้งหรือก๋วยเตี๋ยวแห้งที่บ้าน หรือกระทั่งทำสลัดแล้วราดน้ำสลัดไว้ด้านบน ก็ต้องบอกสามีเสมอว่าให้คลุกด้วย ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่คลุก

บอกรักบนรถไฟ

ครั้งหนึ่งมีน้องฝึกงานชาวไทยมาช่วยทำงานด้วย เขาพูดภาษาญี่ปุ่นพอได้อยู่บ้าง วันหนึ่งฉันกับพวกเพื่อนร่วมงานต้องออกไปทำงานกันนอกสถานที่ น้องคนนี้ก็มาด้วย ระหว่างขึ้นรถไฟไปยังจุดหมายปลายทาง เขาก็เหลือบมองดูหน้าจอซึ่งบอกว่าต่อไปเป็นสถานีอะไร พอเขาเห็นว่าสถานีถัดไปคือที่ที่เราจะลง เขาก็หันมาบอกฉันว่า “すきです” (Suki-desu) แปลเป็นไทยว่า ‘ผมชอบคุณ’

ฉันมองหน้าเขายิ้ม ๆ เดาได้ว่าเขาออกเสียงผิด ยังไม่ทันจะอธิบายให้เขาฟัง สาวญี่ปุ่นซึ่งยืนอยู่ใกล้ ๆ ก็หันมามองตาโตอย่างสนใจที่มีคนมาบอกรักกันอย่างโจ่งแจ้งบนรถไฟ ฉันหน้าแดงขึ้นมาฉับพลัน แล้วบอกน้องด้วยเสียงค่อนข้างดังพอให้เธอได้ยินด้วยอีกคนว่า “つぎ!” (Tsu-gi) แปลว่า ‘ถัดไป’ แล้วย้ำกับน้องว่าออกเสียงสองคำนี้ให้ถูกด้วยนะจ๊ะ ถึงจะรู้ว่าพูดผิด แต่ได้ยินแล้วมันก็เขินนะเออ…

ภาพจาก news.merumo.ne.jp
สะกดผิดก็เป็นเรื่อง

งานหลายอย่างในที่ทำงานฉันต้องทำกันเป็นทีม และออกนอกสถานที่บ่อย เวลาอย่างนี้เราจะตั้งไลน์กลุ่มเฉพาะกิจของทีมเป็นคราว ๆ ไป เช้าวันหนึ่งระหว่างที่ฉันกำลังนั่งรอเวลาอยู่ในห้องทำงาน ก็เห็นเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งส่งข้อความเข้ากลุ่มมาว่า “พี่ ก. กำลังขับรถไปสแตนบาย ลาออก”

อ่านจบปุ๊บฉันก็หัวเราะก๊ากเสียงดังเพราะรู้ว่าเพื่อนสะกดผิด คือเขาต้องการจะบอกว่า พี่ ก. กำลังขับรถไปสแตนบายที่ร้านไฟฟ้าชื่อ “ลาอ๊อกซ์” (LAOX) แต่เขาคงรีบพิมพ์หรือไม่ก็ใช้วิธีพูดแล้วให้มือถือพิมพ์ให้ มันเลยพิมพ์ “ลาอ๊อกซ์” เป็น “ลาออก” ไปเสียอย่างนั้น เพื่อนร่วมงานอีกคนส่งข้อความมาบอกว่า “ฉันกำลังอยู่บนรถไฟ กลั้นหัวเราะแทบตายแน่ะ” ส่วนนายส่งมาว่า “ไม่ต้องลาออกนะ”

อีกครั้งหนึ่งพวกเราโดนนายสั่งมาว่าให้หาร้านอาหารเทปปังยากิ (ปิ้งย่างบนกระทะเหล็กแบน ๆ) แบบชั้นหนึ่ง เพื่อที่จะพาผู้ใหญ่ไปในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ตอนนั้นเราแยกเป็นสองทีมระหว่างทีมประจำสถานที่กับทีมที่วิ่งเต้นอยู่นอกสถานที่ ฉันโทรไปสอบถามคนญี่ปุ่นที่น่าจะมีข้อมูล และจดมาตามที่ได้ยิน ก่อนจะส่งชื่อร้านไปในไลน์กลุ่ม

ภาพจาก ozmall.co.jp
ร้านที่ฉันวางแผนว่าจะพาแขกไปนั้นชื่อว่า プレジデント千房 (Purejidento Chibō) อยู่ที่ 銀座コリドー (Ginza koridō) หรือ ระเบียงกินซ่า แต่ฉันกลับพิมพ์ลงไปว่า “プレジデント死亡 (Purejidento Shibō ) อยู่ที่ 銀座コーリドア(Ginza kōridoa)” ซึ่งแปลว่า ‘ประธานาธิบดีเสียชีวิต อยู่ที่ประตูน้ำแข็งกินซ่า’

คำว่า 千房 (Chibō) ที่เป็นชื่อร้าน กับคำว่า 死亡 (Shibō) ที่แปลว่า เสียชีวิต ออกเสียงคล้ายกัน และคำว่า コリドー (koridō) ที่แปลว่า ระเบียง กับ คำว่า コーリドア ที่แปลว่า ประตูน้ำแข็ง เป็นเสียงสั้น-ยาวในภาษาญี่ปุ่น แต่ความหมายแตกต่างกันคนละเรื่องเลย

การพิมพ์ผิดนั้นทำเอาเพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ชาวญี่ปุ่นสองคนที่วิ่งเต้นอยู่ข้างนอกปล่อยก๊าก พวกเธอกลับมาเล่าว่าก่อนหน้านั้นกำลังเครียดกันน่าดูเพราะต้องหาร้านกระทันหัน พอเห็นฉันส่งข้อความที่สะกดผิด ๆ ถูก ๆ ไปเลยหายเครียดเลย ฉันก็เพิ่งรู้ตอนนั้นเองว่าสะกดผิด พอรู้ความหมายเลยพลอยขำไปด้วยอีกคน

คนญี่ปุ่นไม่พูด “สวัสดีปีใหม่” ถ้ายังอยู่ท้ายปีเก่า

เรื่องนี้หน้าแตกของจริง ตอนนั้นฉันยังรู้ภาษาญี่ปุ่นไม่มากนัก ระหว่างไปเที่ยวช่วงสิ้นปีถึงปีใหม่ ที่โรงแรมมีคนญี่ปุ่นนั่งอยู่ในล็อบบี้รอเคาน์ดาวน์ด้วยกันหลายคน ฉันก็นั่งคุยภาษาญี่ปุ่นแบบงู ๆ ปลา ๆ กับพวกเขาไปตามเรื่องเพื่อฝึกภาษา พอจะขอตัวลุกจากไป ฉันก็ทำอย่างที่คนไทยมักทักทายกันในวันสิ้นปี โดยพูดกับพวกเขาว่า “สวัสดีปีใหม่” เป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งก็คือ “明けましておめでとうございます” (อาเกมะฉิเตะ โอะเมเดโต โกะไซมัส)

ปรากฏว่าพวกเขายิ้มค้าง แต่ไม่พูดอะไรตอบกลับมา ฉันรู้สึกพิกลแต่ก็แน่ใจว่าคำว่า "สวัสดีปีใหม่" ของญี่ปุ่นเขาพูดกันอย่างนี้ เลยหันไปพูดแบบนี้กับคนญี่ปุ่นที่นั่งถัดไป หวังว่าจะมีคนพูดตอบกลับมา แต่พอทักครบทุกคนจนเหนื่อยแล้วไม่มีใครตอบกลับมาเลย ก็รู้สึกไม่ชอบมาพากล และชักเสียกำลังใจ อยากหลีกลี้หนีหน้าคนญี่ปุ่นไปพักใหญ่ ๆ เลยทีเดียว

ภาพจาก ameblo.jp
หลายปีต่อมา ถึงได้รู้ว่าถ้ายังอยู่ท้ายปี เขาจะพูดกันว่า “良いお年を” (โยย-โอะ-โต-ฉิ-โอะ) แปลประมาณว่า ‘ขอให้เข้าสู่ปีที่ดี’ ส่วนที่ฉันพูดผิดไปนั้น เอาไว้พูดได้ตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไปเท่านั้น แหม…นึกแล้วก็อยากให้ตอนโน้นมีคนบอกจังค่ะ ไหน ๆ ก็หน้าแตกไปแล้ว อย่างน้อยได้ความรู้มาก็ยังดี แต่คนญี่ปุ่นเขาคงกลัวเราจะรู้สึกขายหน้า เลยยิ้มให้แทนตามมารยาทอันสุภาพ

ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด


ไม่ทราบว่าคนอื่นเป็นกันไหมนะคะ อย่างเวลาฉันได้ยินคำที่ไม่รู้จัก ในหัวมันจะชอบไปโยงกับคำที่รู้จักแทน คงเพราะสมองมันพยายามจะสื่อความหมายของสิ่งที่ได้รับรู้ ทั้ง ๆ ที่ก็พอรู้อยู่ว่าวิธีนี้มันทำให้เรื่องยุ่งกว่าเดิม

วันหนึ่งฉันไปซื้อกางเกงยีนส์ พอไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์ พนักงานก็ถามฉันว่า ไม่ต้องการจะ "Shichaku" หรือคะ ? …เอาละสิ Shichaku (しちゃく) แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ ฉันไม่เข้าใจที่เธอพูด ก็เลยย้อนถามกลับไปว่าเธอพูดว่าอะไร ?  แต่เธอก็ถามฉันใหม่ด้วยรูปประโยคเดิมเป๊ะ

ภาพจาก premiumoutlets.co.jp
มืดแปดด้าน…แม้จะรู้ว่าไม่น่าใช่อย่างที่ฉันกำลังคิด แต่สมองก็ยังดื้อดึง เลยหลุดปากถามเธอออกไปจนได้ว่า “คุณถามฉันว่า ไม่ต้อง Chitchaku (ちっちゃく) เหรอคะ ??” เธอกลั้นหัวเราะ โบกมือเป็นทำนองปฏิเสธ แล้วก็ยิ้มไม่พูดอะไรต่อ

การฟังไม่ได้ศัพท์นี้เกิดจากเสียงของคำว่า Shichaku 試着 ที่แปลว่า "ลองสวม" แต่ฉันกลับกระเดียดไปคิดว่าเป็นคำว่า Chitchaku 小っさく ที่แปลว่า "เล็กลง" เพราะเสียง Shi กับ Chi ในภาษาญี่ปุ่น ออกเสียงใกล้กันสำหรับคนต่างชาติ

ที่จริงแล้วเธอถามฉันว่า “ไม่ต้องลองสวมหรือคะ?” ส่วนฉันถามเธอว่า “คุณถามฉันว่า ไม่ต้องทำให้มันเล็กลงหรือคะ ? ”

โอ๊ย…ถามไปได้…

ไปร้านอาหารกับคนอื่น อย่าเพิ่งรีบดื่มน้ำ

ในเมืองไทยนั้นเวลาเราไปร้านอาหารกันเป็นกลุ่ม หลังสั่งอาหารและเครื่องดื่มแล้ว พอพนักงานยกเครื่องดื่มมาเสิร์ฟ ปกติแล้วคนก็มักยกแก้วขึ้นดื่มเลย แต่ที่ญี่ปุ่นเขาไม่ได้ทำกันอย่างนั้นเสมอไป

คราวหนึ่งฉันไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่จัดในร้านอาหารแห่งหนึ่ง พนักงานถามว่าจะดื่มอะไร แต่ละคนก็สั่งเครื่องดื่มกันจนครบ พอพนักงานยกมาเสิร์ฟ ฉันซึ่งกำลังหิวน้ำก็ยกแก้วขึ้นจิบทันที ก่อนจะสังเกตว่าคนรอบข้างไม่มีใครสักคนเดียวที่ยกแก้วขึ้นดื่ม ฉันจึงรู้สึกขึ้นได้ว่าเอาแล้วสิ พลางยกแก้วลงวางอย่างเงียบกริบ

ภาพจาก diamond.jp
สักพักทุกคนก็มองไปยังเจ้าของงาน เขาเริ่มพูดอะไรเล็กน้อยเป็นการเปิดงาน พอพูดจบทุกคนจึงค่อยกล่าว “คัมไป” (乾杯) แล้วชนแก้วกับคนรอบข้าง แล้วถึงยกขึ้นดื่มได้ ตอนนั้นฉันละอยากขุดรูดำดินหนีไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด แต่นับแต่นั้นมา ฉันก็ไม่เคยยกแก้วขึ้นดื่มก่อนที่คนอื่น ๆ จะดื่มเลย เพราะบางทีแม้ไปกับเพื่อนแบบกันเอง ก็ยังต้องมีการชนแก้วกันแบบนี้เหมือนกัน

เรื่องหน้าแตกมีอะไรให้ขำเยอะ แต่ก็เป็นความรู้ได้ด้วยเหมือนกันนะคะ ถ้าเพื่อนผู้อ่านมีประสบการณ์ทำนองนี้ อย่าลืมเล่าสู่กันฟังบ้าง แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ..

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น