xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องดื่มบุฟเฟต์ที่ญี่ปุ่นหัวละ 27 บาท ร้านอยู่ได้อย่างไร ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว กว่าสองปีที่ผ่านมาเราต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของผู้คน ผมคิดว่าหลายท่านไม่ได้ออกเดินทางไปเที่ยวที่ไหนเลยในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผมเองก็ไม่ได้ไปไหนมาสองปีกว่าไม่ได้กลับญี่ปุ่นนานเลยครับ เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาผมจึงไปญี่ปุ่น เพราะเข้าญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องกักตัวแล้ว จึงไปทำธุระและถือโอกาสไปเที่ยวด้วย


ปกติเวลาที่เราไปเที่ยวที่ไหน เรามักจะเข้าร้านอาหารสวยๆ บรรยากาศดีๆ หรือไปร้านที่คนแนะนำในย่านยอดนิยม หรือร้านคาเฟ่ที่มีชื่อเสียงที่คนรู้จักกันดีใช่ไหมครับ เพื่อนๆ หลายคนก็แนะนำผมว่าถ้าไปเกียวโตลองไปร้านนั้นร้านนี้นะ แต่ปรากฏว่าด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถาน ทำให้ส่วนใหญ่ผมฝากท้องไว้ที่ร้านอาหารแนวครอบครัวที่เป็นร้านแฟรนไชส์ที่มีสาขาอยู่ทั่วไปมากกว่า ร้านแนวครอบครัว ファミレス FamiResu→Family Restaurant เป็นร้านอาหารสำหรับทุกคนในครอบครัว จะมีอาหารหลากหลายที่เหมาะกับคนทุกวัยในครอบครัวนั่นเอง และมีอยู่ร้านหนึ่งที่ผมไปบ่อยๆ เป็นร้านที่ขายอาหารอิตาเลียน เช่น พิซซ่า สปาเกตตี แต่ก็มีเมนูอาหารชุดที่เป็นข้าวด้วย มีขนมเค้ก และเครื่องดื่ม ถ้าบอกชื่อร้านคนที่อยู่ญี่ปุ่นจะต้องรู้เลยว่าร้านนี้อาหารไม่แพง


ผมไม่ได้เข้าร้านนี้มานานแล้ว เห็นสาขาหนึ่งตั้งอยู่ย่านกลางเมืองแต่ภายในกว้างขวางมาก และลูกค้าก็เต็มร้านเช่นกัน วันนั้นผมได้กินอาหารอร่อยถูกใจได้รับบรรยากาศเดิมๆ เหมือนสมัยก่อน เมื่อไปย่านไหนแล้วเจอร้านนี้ที่สาขาอื่นก็ตามผมจึงแวะตลอด ผมคิดว่าร้านแฟรนไชส์ที่มีสาขาอยู่ทั่วไปมีการรักษามาตรฐานทั้งเรื่องอาหาร การบริการ ต่างๆ ที่เสมอต้นเสมอปลายเหมือนกันทั่วประเทศ น่าเชื่อถือ เรารับรู้ข้อมูลและที่สำคัญราคาก็ไม่แพงจะถือว่าถูกเลยก็ได้ครับ เมื่อผมเล่าให้เพื่อนฟังเพื่อนผมบอกว่าไม่ได้ไปร้านคาเฟ่ชิคๆ ชิลๆ หรือร้านอาหารคูลๆ ที่เปิดย่านแหล่งท่องเที่ยวเลยหรือ ผมบอกว่าไม่ค่อยได้เข้าเลย ผมเข้าแต่ร้านแนวครอบครัว เพื่อนผมก็บอกว่าน่าเสียดาย


คนที่อยู่ญี่ปุ่นตลอดอาจเบื่อแล้วที่จะเข้าร้านอาหารแนวครอบครัวดังกล่าว แต่คนที่นานๆ ไปจะรู้สึกตื่นเต้น และส่วนตัวผมคิดว่าร้านแนวครอบครัวยังมีข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ร้านกว้างขวางอยู่ในย่านตัวเมือง แนวสถานีรถไฟ หาง่าย และนั่งนานๆ ได้ ลูกค้าสามารถนั่งรับประทานอาหารและนั่งคุยกันได้ เพราะร้านแนวนี้จะมี Drink bar เป็นเคาน์เตอร์เครื่องดื่มราคาไม่แพง สนนราคาต่อหัวแค่ 105-210 เยน เมื่อเราสั่งพร้อมกับเมนูอาหารที่เราเลือก ถ้าคิดเรทเงินช่วงนี้ก็แค่ 27-54 บาทเองนะครับ เราจะได้สนุกกับการเติมเครื่องดื่มหลายชนิดที่ตู้กดเติมเองได้ไม่อั้น ทั้งน้ำอัดลม น้ำผลไม้ โกโก้ ชากาแฟร้อนเย็นสารพัดประเภท เป็นต้น แม้จะสั่งแค่เค้กหนึ่งชิ้นกับเครื่องดื่ม เราก็สามารถนั่งคุยกับเพื่อนๆ 2- 3 ชั่วโมงได้ไม่มีใครว่า แต่ห้ามใช้พื้นที่ร้านสำหรับนั่งติวหรือเรียนหนังสือแบบธุรกิจส่วนตัว หรือนัดไปขายออนไลน์ ขายสินค้า หรือว่าไปนอนหลับ แบบนี้ไม่ได้ครับ


วันสุดท้ายก่อนที่ผมจะเดินทางกลับเมืองไทยผมไปพักที่โอซาก้าหนึ่งคืน แถวนั้นไม่มีร้านที่เข้าบ่อยๆ แต่มีร้านอาหารแนวครอบครัวแฟรนไชส์อื่น แต่ผมก็เข้าครับวันนั้นมีเมนูอาหารกลางวันประจำวันเป็นชุดแฮมเบอร์เกอร์ที่เลือกได้ว่าจะรับประทานคู่กับข้าวสวยหรือขนมปัง และมี Drink bar (บาร์เครื่องดื่ม) ด้วย

ในร้านมีลูกค้าจำนวนมาก ทั้งรุ่นคุณลุงคุณป้า รุ่นเกษียณอายุ พนักงานบริษัท คนทั่วไปที่อยู่ย่านนั้น คนเต็มร้านเลยแต่พนักงานมีไม่กี่คนเอง เมื่อผมกดสั่งอาหารก็มีพนักงานมารับออเดอร์และเขาคนเดิมก็เป็นคนเอาอาหารมาเสิร์ฟ ที่ป้ายชื่อเขียนว่า “ผู้จัดการร้าน” นะครับ ดูยิ้มแย้มแบบแห้งๆ แต่กระตือรือร้นเต็มที่กับงานบริการมาก คอยแจ้งข้อมูลและแนะนำเรื่องเมนูเครื่องดื่มต่างๆให้ลูกค้า อย่างที่ไม่คิดว่าผู้จัดการร้านจะมาเสิร์ฟและทำงานหน้าร้านด้วย มาคิดดูนะครับร้านอาหารขายเมนู Drink bar แค่ 27 บาทต่อคน อาหารก็ไม่แพง ลองเทียบราคาเครื่องดื่มที่เมืองไทย ได้ข่าวว่าตอนนี้แค่ร้านธรรมดาก็แก้วละ 30-40 บาท ถ้าร้านคาเฟ่ตามสถานที่ท่องเที่ยวราคาเป็น 100-200 บาท ก็มี แล้วร้านแนวครอบครัวที่ญี่ปุ่นเค้าบริหารให้อยู่รอดกันได้อย่างไร คิดว่าเพราะการลดต้นทุนภายในแน่ๆ


ก่อนหน้านี้ผมเคยเล่าเรื่องการทำงานแบบ ワンオペ One ope หรือ ワン‐オペレーション One operation ที่นำมาใช้ในภาษาญี่ปุ่นในความหมายที่ว่าพนักงานในระบบขององค์กรจะต้องสามารถทำงานทั้งหมดได้ด้วยตัวคนเดียว ส่วนใหญ่ใช้กับงานร้านอาหาร โดยเฉพาะถ้าพูดถึงบรรยากาศการทำงานของคนที่เป็นหัวหน้าที่ญี่ปุ่นที่ดูเหมือนจะความแตกต่างกับหัวหน้าที่เมืองไทยมากอย่างหนึ่งคือ ตำแหน่งเท็นโจ Tencho 店長 ในที่นี้พูดถึง ผู้จัดการร้านอาหาร นะครับ ผู้จัดการร้านอาหารที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ต้องทำงานหนักที่สุดในร้านและเหนื่อยแทบตายก็ว่าได้ ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นและร้านอาหารยังดีอยู่ก็ยังมีคนช่วยกันหลายคน แต่เมื่อมีคนทำงานรุ่นใหม่ๆ น้อยลง ผู้จัดการร้านก็ต้องทำงานแทนเกือบทุกหน้าที่ ปกติแล้วบางบริษัทอาจจะให้ผู้จัดการร้านหยุดได้เดือนละ 3 วัน แต่กลายเป็นว่าผู้จัดการร้านส่วนใหญ่จะมาทำงานที่ร้านทุกวัน คิดว่าทำงานเหนื่อยและหนักมาก แต่ทำไมคนอยากเป็นผู้จัดการร้าน คงเพราะใช้ระบบจูงใจให้ทำงานที่เรียกว่า やりがい搾取 Yarigai sakushu คือลักษณะที่จูงใจให้คนทำงานนึกถึง "ความท้าทาย" แทนรางวัลทางการเงิน เพื่อให้ให้คนทำงานนั้นยอมอุทิศตน ใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมและทํางานด้วยค่าจ้างต่ำ ชั่วโมงการทํางานนาน


ซึ่งเมื่อเห็นสภาพแบบนี้แล้ว ก็มองย้อนกลับไปถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น ทำให้เห็นได้ชัดเลยว่าตอนนี้เกือบจะทุกที่ต้องรัดเข็มขัดอย่างมาก แม้ว่าร้านอาหารจะขายอาหารที่ราคาคงเดิมแต่จะไปลดต้นทุนภายใน และบีบคนทำงานในบริษัทตัวเอง ทำให้พนักงานต้องทำงานด้วยความเหนื่อยยากและลำบากมากขึ้น เป็นเรื่องที่น่าสงสารอย่างมาก พนักงานต้องเคร่งเครียดและต้องยอมรับกับสภาพงานที่ตัวเองเลือกไม่ได้ ผมก็แอบคิดนะครับว่าการทำงานหนักมากๆ อย่างผู้จัดการร้านอาหารแนวนี้ ถ้าเค้าอยากลาออกเค้าจะทำอย่างไรกับชีวิต? แล้วผมจะเล่าในโอกาสต่อไปนะครับ วันนี้เล่าสู่กันฟัง สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น